ประวัติศาสตร์  ภูมิศาสตร์ บุคคลสำคัญ ประเทศและทวีป »

ประเทศไทย 77 จังหวัด »

จังหวัดลพบุรี

ข้อมูล » ประวัติศาสตร์-ความเป็นมา ศิลปะ-วัฒนธรรม-ประเพณี สถานที่สำคัญ-แหล่งท่องเที่ยว โรงแรม-ที่พัก

ประวัติศาสตร์-ความเป็นมา จังหวัดลพบุรี(2)

เมื่อเริ่มเข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์ คือ มนุษย์รู้จักใช้ตัวอักษรนั้น ที่จังหวัดลพบุรีได้ค้นพบหลักฐานเป็นตัวอักษรชนิดที่เก่าสุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย เป็นจารึกอักษรปัลลวะ ภาษาบาลี ประมาณพุทธศตวรรษที่ 11 - 12 แต่หลักฐานซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เมืองลพบุรีตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 11 - 18 มีไม่มากพอต่อการคลี่คลายเหตุการณ์ทางด้านประวัติศาสตร์เมืองลพบุรีมากนัก และเป็นดังนี้จนถึงราวศตวรรษที่ 19 เพราะฉะนั้นเหตุการณ์ซึ่งพบว่าเมื่อเริ่มมีการใช้ตัวอักษรที่เมืองลพบุรี หรือปรากฏศิลปกรรมต่างๆ สะท้อนให้เห็นว่าสังคมเริ่มมีศาสนาอักษรศาสตร์ในราวพุทธศตวรรษที่ 11 จนถึงช่วงแรกของพุทธศตวรรษที่ 19 ก่อนที่เมืองลพบุรีเป็นเมืองบริวารของอาณาจักรอยุธยา สมควรเรียกว่าเป็นสมัยกึ่งก่อนประวัติศาสตร์ (Pre to History) มีระยะเวลานานราว 8 ศตวรรษ

ลพบุรีในราวพุทธศตวรรษที่ 11 - 15 มีหลักฐานไม่มากนักที่สามารถนำมาใช้เพื่อเพิ่มพูนความรู้เรื่องเมืองลพบุรีในระยะพุทธศตวรรษที่ 11 - 15 กล่าวคือ พงศาวดารเหนือกล่าวถึงพระยากาฬวรรณดิศได้ให้พราหมณ์ยกพลสร้างเมืองละโว้ตั้งแต่ พ.ศ. 1002 ปีที่พระองค์ครองราชย์ใช้เวลาสร้าง 19 ปี แต่เรื่องดังกล่าวคงจะต้องหาหลักฐานอื่นมาสอบเทียบ เพราะพงศาวดารเหนือเขียนขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ห่างจากเหตุการณ์ที่เป็นจริงหลายศตวรรษ รวมทั้งข้อความในพงศาวดารส่วนใหญ่ค่อนข้างสับสน ทั้งศักราชก็คลาดเคลื่อนอยู่มาก นอกจากนี้ยังมีตำนานและภาษาบาลีเหนือเขียนขึ้นราว 500 ปีเศษมาแล้ว เนื้อเรื่องไม่สับสน ศักราชเชื่อถือได้และถูกนำมาใช้อ้างอิงกันอย่างกว้างขวางคือตำนานชินกาลมาลีปกรณ์ กล่าวถึงฤษีวาสุเทพได้สร้างเมืองหริภุญไชย (ลำพูน) ใน พ.ศ. 1204 ต่อมาอีก 2 ปี (พ.ศ. 1260) ได้ส่งทูตล่องไปตามแม่น้ำปิงไปเมืองลวปุระทูลขอเชื้อสายกษัตริย์ลวปุระให้มาปกครองกษัตริย์ลวปุระจึงได้พระราชทานพระนางจามเทวี พระราชธิดาให้ไปครองเมืองหริภุญไชย ชื่อเมืองลวปุระในตำนานชินกาลมาลีปกรณ์เป็นที่ยอมรับว่าคือเมืองลพบุรีในปัจจุบัน

หลักฐานที่มีอายุในศตวรรษดังกล่าวที่เกี่ยวข้องกับเมืองลพบุรีอีกคือการค้นพบศิลาจารึกที่สำคัญ 3 หลัก คือ

  1. จารึกหลักที่ 18 จารึกบนเสาแปดเหลี่ยมพบที่ศาลสูง (ศาลพระกาฬ) เป็นจารึกเนื่องในพุทธศาสนาภาษามอญโบราณ ลักษณะของเสาแปดเหลี่ยมเป็นศิลปกรรมที่ได้รับอิทธิพลศิลปะแบบหลังคุปตะของอินเดีย ศาสตราจาย์ยอร์ซ เซเดส์ นักปราชญ์ทางด้านความรู้เกี่ยวกับเอเซียตะวันออกเฉียงใต้กล่าวว่ามีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 13 หรือ 14
  2. จารึกหลักที่ 16 จารึกบนฐานพระพุทธรูปยืนพบที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดลพบุรี ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์ เป็นจารึกภาษาสันสกฤต กล่าวถึง “นายกอารุซวะ เป็นอธิบดีแก่ชาวเมืองตังคุร และเป็นโอรสของพระราชาแห่งศามพูกะ ได้สร้างรูปพระมุนีองค์นี้” เมืองตังคุรและเมืองศามพูกะนี้ยังไม่ทราบแน่นอนว่าอยู่ที่แห่งใด แต่คงอยู่ในที่ราบภาคกลางของประเทศไทยเพราะลักษณะพระพุทธรูปที่พบเป็นศิลปแบบที่ได้รับการสร้างสรรค์ขึ้นในภาคกลางของประเทศไทย
  3. จารึกภาษาบาลีบนเสาแปดเหลี่ยมพบที่เมืองโบราณซับจำปา อำเภอชัยบาดาล มี ข้อความคัดลอกจากคัมภีร์พุทธสาสนา อายุราวพุทธศตวรรษที่ 13

สำหรับศิลปกรรมที่พบในจังหวัดลพบุรีที่มีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ 13 - 15 นั้น เป็นศิลปกรรมทางด้านพุทธศาสนาที่เก่าสุดแบบหนึ่งในประเทศไทย ซึ่งคงได้รับอิทธิพลศิลปกรรมอินเดียแบบคุปตะและแบบหลังคุปตะ (ศิลปะอินเดียวภาคกลางและภาคตะวันตก อายุราวพุทธศตวรรษที่ 9 - 13) ชื่อเรียกศิลปกรรมแบบดังกล่าวได้เรียกว่าศิลปะแบบทวารวดี บัดนี้มีผู้เสนอให้เรียกว่า ศิลปมอญแบบภาคกลางประเทศไทย เพราะชาวมอญเป็นผู้กำเนิดเอกลักษณ์ผลงานศิลปะที่สร้างขึ้น ชนิดของศิลปกรรม ได้แก่ พระพุทธรูป พระธรรมจักรกวางหมอบ เศียรอสูร หรือเทวดา และปติมากรรมตกแต่งสถูป เท่าที่พบแกะสลักจากหินปูนและทำด้วยปูนปั้น

จึงสรุปด้วยว่าเมื่อเข้าสู่สมัยทางประวัติศาสตร์ในราวพุทธศตวรรษที่ 11 - 15 ลพบุรีคงเป็นเมืองสำคัญเมืองหนึ่ง แว่นแคว้นอื่นจึงได้ยอมรับอำนาจและขอเชื้อสายไปปกครอง สังคมเดิมแบบก่อนประวัติศาสตร์คือสังคมเผ่าได้เปลี่ยนเป็นสังคมเมืองที่มีกษัตริย์ปกครอง มีภาษาที่ใช้คือภาษาสันสกฤต ภาษาบาลี และภาษามอญโบราณ ประชาชนนับถือพุทธศาสนา

ในราวพุทธศตวรรษที่ 16 - 18 หลักฐานทางด้านประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเมืองลพบุรีมีมากขึ้นถ้าได้เปรียบเทียบกับใน 5 ศตวรรษแรก หลักฐานที่สำคัญ ได้แก่ จารึกซึ่งค้นพบทั้งในประเทศไทย กัมพูชาประชาธิปไตย และหลักฐานที่ปรากฏในจดหมายเหตุจีน

สำหรับหลักฐานทางด้านโบราณวัตถุสถานพบในเมืองลพบุรี ที่มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 16 - 18 มีความสำคัญช่วยสนับสนุนหลักฐานด้านประวัติศาสตร์ให้มั่นคงมากยิ่งขึ้น จากหลักฐานต่างๆ ที่ปรากฏอาจจะกล่าวได้ว่า ในระยะราวพุทธศตวรรษที่ 16 -18 ลพบุรีตกอยู่ภายใต้อำนาจทางการของอาณาจักรกัมพูชาเป็นครั้งคราว รวมทั้งได้ยอมรับเอาศิลปวัฒนธรรมของอาณาจักรกัมพูชาซึ่งมีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่เมืองพระนคร กล่าวคือ ได้ค้นพบศิลาจารึกภาษาขอมที่เมืองลพบุรีที่สำคัญคือ จารึกหลักที่ 19 พบที่ศาลสูง (ศาลพระกาฬ) ระบุศักราช 944 ตรงกับ พ.ศ. 1565 มีข้อความกล่าวถึงพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 (ครองราชย์ พ.ศ. 1555 - 1593) มีประกาศให้บรรดานักบวชอุทิศกุศลแห่งการบำเพ็ญตะบะของตนถวายแด่ พระองค์ และออกพระราชกำหนดเพื่อป้องกันมิให้นักบวชเหล่านั้นถูกรบกวนภายในอาวาสของตน นอกจากนั้นพบจารึกหลักที่ 21 ที่ศาลเจ้าลพบุรี ศาสตราจารย์ ยอร์ซ เซเดส์ กล่าวว่ามีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 16 เป็นจารึกภาษาเขมร จารึกขึ้นเพื่อให้ทราบถึงสิ่งของต่างๆ ที่อุทิศถวายแด่เทวรูปพระนารายณ์ในโอกาสที่มีการทำพิธีฉลองเทวรูป จารึกหลักนี้ออกชื่อเมือง “โลว” คือเมืองละโว้เป็นหลักฐานแสดงให้เห็นว่าที่เมืองละโว้มีผู้นับถือไวษณพนิกายของศาสนาฮินดูด้วย

การตกอยู่ภายใต้อิทธิพลทางการเมืองของอาณาจักรกัมพูชาเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว จดหมายเหตุจีนระบุว่า พ.ศ. 1658 และ พ.ศ. 1698 ละโว้ส่งทูตไปจีน ศาสตราจารย์ ยอร์ซ เซเดส์ ให้ข้อสังเกตว่า พ.ศ. 1658 ปีที่ละโว้ส่งทูตไปจีนคราวแรก พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 แห่งอาณาจักรกัมพูชา (ครองราชย์ราว พ.ศ. 1656 - ราว 1693) เพิ่งครองราชย์ได้เพียง 2 ปี คงจะเป็นสมัยที่พระองค์ยังไม่มีอำนาจมั่นคงนัก ลพบุรีจึงเป็นนครอิสระส่งทูตไปจีนได้ และใน พ.ศ. 1698 ปีที่ละโว้ส่งทูตไปจีนคราวหลังพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 สวรรคตแล้ว การส่งทูตไปเมืองจีนอาจจะเป็นความพยายาม ของละโว้ที่จะตัดความสัมพันธ์ฐานเป็นประเทศราชของอาณาจักรกัมพูชา

เรื่องที่ละโว้ส่งทูตไปจีนนี้ได้รับการขยายความให้กระจ่างชัดมากยิ่งขึ้น เมื่อค้นพบศิลาจารึกที่ดงแม่นางเมืองที่จังหวัดนครสวรรค์ มีศักราชตรงกับ พ.ศ. 1710 ระบุเรื่องราวราชวงศ์ศรีธรรมา โศกราช ซึ่งมีนักประวัติศาสตร์บางกลุ่มกล่าวกันว่า เป็นราชวงศ์อิสระในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และลงความเห็นว่าคงเป็นราชวงศ์ปกครองเมืองลพบุรี จึงได้มีการสันนิษฐานว่าราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราชนั้นเองที่เป็นผู้พยายามแยกตัวเป็นอิสระจากอาณาจักรกัมพูชา

หลักฐานอื่นๆ ที่แสดงให้เห็นอิทธิพลทางการเมืองของอาณาจักรกัมพูชาต่อเมืองลพบุรีอีกคือ ปรากฏภาพสลักนูนต่ำทหารละโว้บนผนังระเบียงปราสาทนครวัตซึ่งสร้างขึ้นในรัชสมัยพระเจ้า สุริยวรมันที่ 2 คู่กันกับภาพทหารสยาม โดยทหารละโว้มีนายทัพเป็นแม่ทัพขอม แสดงถึงอำนาจของอาณาจักรกัมพูชาที่มีเหนืออาณาจักรละโว้ในขณะนั้น จารึกปราสาทพระขรรค์ พ.ศ. 1734 ตรงกับ รัชกาลพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (ครองราชย์ พ.ศ. 1724 - ราว 1762) กล่าวถึงเมืองลโวทยะปุระซึ่งเป็นเมืองหนึ่งในจำนวน 23 เมืองที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ได้พระราชทานพระชัยพุทธมหานาถ ซึ่งเป็น พระพุทธรูปฉลองพระองค์ไปประดิษฐาน นอกจากนั้นในจดหมายเหตุจีนของ เจา ซู กัว แต่งขึ้นใน พ.ศ. 1768 กล่าวว่า ละโว้เป็นประเทศราชประเทศหนึ่งของอาณาจักรกัมพูชา

<<< ย้อนกลับ || อ่านต่อ >>>

จังหวัด » กรุงเทพฯ กาญจนบุรี ชัยนาท นครนายก นครปฐม นนทบุรี ประจวบฯ ปทุมธานี เพชรบุรี ราชบุรี ลพบุรี สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สระบุรี สิงห์บุรี สุพรรณบุรี อยุธยา อ่างทอง อุทัยธานี

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย