ประวัติศาสตร์  ภูมิศาสตร์ บุคคลสำคัญ ประเทศและทวีป »

ประเทศไทย 77 จังหวัด »

จังหวัดราชบุรี 

ข้อมูล » ประวัติศาสตร์-ความเป็นมา ศิลปะ-วัฒนธรรม-ประเพณี สถานที่สำคัญ-แหล่งท่องเที่ยว โรงแรม-ที่พัก

ประวัติศาสตร์-ความเป็นมา จังหวัดราชบุรี(2)

ในด้านประติมากรรมรูปคนที่ทำด้วยดินเผา และปูนปั้นที่พบ แสดงให้เห็นถึงลักษณะรูปร่างหน้าตาการแต่งกาย และการดำรงชีวิตของผู้คนในสมัยนั้น มีลักษณะใบหน้าที่ค่อนข้างกลมแบน คิ้วโก่ง ตาโปนยาว โหนกแก้มสูง จมูกแบนใหญ่ ปากกว้าง และริมฝีปากหนา

โบราณวัตถุที่พบได้แก่เครื่องปั้นดินเผาที่ทำเป็นภาชนะ และเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ เช่น แว ตะคันเบี้ย ตะเกียงที่ประดับลวดลาย ลูกกระสุน เครื่องโลหะที่ทำเป็นเครื่องประดับหรือเครื่องใช้และอาวุธ เครื่องประดับแก้วที่ส่วนใหญ่เป็นลูกปัด เครื่องใช้เครื่องประดับที่ทำจากหิน เช่นที่ลับมีด ก้อนเส้าแทนเตา เครื่องบดสมุนไพร ลูกปัด เครื่องปั้นดินเผาที่เป็นภาชนะดินเผา มีหม้อ ไห ชาม กาน้ำ ซึ่งขึ้นรูปด้วยหม้อ และใช้แป้นหมุน มีทั้งเนื้อหยาบและเนื้อละเอียด มีลายประดับและไม่มีลายประดับ ตะเกียงที่มีต้นแบบมาจากตะเกียงสำริด ที่ชาวตะวันตกนำเข้ามา โลหะที่พบมากที่สุดตามลำดับ ได้แก่  สำริด  ตะกั่ว  เหล็ก  ทองคำ และทองแดง

แหล่งโบราณคดีบนเทือกเขางู ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของตัวเมืองราชบุรี อยู่ในเขตตำบลเกาะพลับพลา อำเภอเมือง ฯ หลักฐานที่พบในถ้ำทั้ง 4 แห่ง สันนิษฐานว่าได้ทำขึ้นในช่วงประมาณพุทธศตวรรษที่ 12 - 13 เพื่อใช้เป็นสถานที่พระภิกษุมาจำพรรษา ปฏิบัติธรรมที่ห่างไกลจากผู้คน ถ้ำทั้ง 4 แห่งได้แก่ ถ้ำฤาษี ถ้ำจีน ถ้ำจาม และถ้ำฝาโถ ในแต่ละถ้ำจะมีพระพุทธรูปปางต่าง ๆ เช่น ปางปฐมเทศนาในถ้ำฤาษี ถ้ำจีนและถ้ำจาม พระพุทธรูปปางแสดงยมกปาฏิหาริย์ ปางสมาธิและปางปรินิพพานที่ถ้ำจาม และพระพุทธรูปปางปรินิพพานที่ถ้ำฝาโถ

นอกจากแหล่งโบราณคดีทั้งสองแห่งที่กล่าวแล้ว ยังพบหลักฐานในวัฒนธรรมทวาราวดี ในเขตจังหวัดราชบุรีอีกหลายแห่ง ในเขตอำเภอต่าง ๆ ได้แก่ อำเภอเมือง ฯ อำเภอวัดเพลง อำเภอบ้านโป่ง และอำเภอจอมบึง

ในเขตอำเภอเมือง ฯ พบที่วัดมหาธาตุ ตำบลหน้าเมือง ที่ฐานชั้นล่างสุดทางด้านทิศใต้ ขององค์ปรางค์ประธาน มีการใช้อิฐแบบทวาราวดีเรียงเป็นแนวยาว พระพุทธรูปหลายองค์มีลักษณะพุทธศิลปแบบทวาราวดี เช่นมีจารึกคาถาหัวใจพระพุทธศาสนา เย ธมฺมา เป็นอักษรปัลลวะ ภาษาบาลีที่เบื้องพระปฤษฎางค์เศียรพระพุทธรูปขนาดใหญ่ มีพระพักตร์เป็นแบบพื้นเมือง พระขนงโก่งยาวต่อกันเป็นรูปปีกกา พระนาสิกใหญ่แบน พระโอษฐ์หนา ขมวดพระเกศาเป็นลายก้นหอยเวียนขวาขนาดใหญ่ อันเป็นเอกลักษณ์สำคัญของพระพุทธรูปในพุทธศิลปแบบทวาราวดี ที่วัดเขาเหลือพบเทวรูปพระอิศวร มีลักษณะพระพักตร์และขมวดพระเกศา คล้ายกับประติมากรรมในศิลปอินเดียสมัยคุปตะ และรูปพระโพธิสัตว์ที่ทำขึ้นในช่วง
พุทธศตวรรษที่ 12 - 13 ในบริเวณวัดเขาสะดึง พบชิ้นส่วนประติมากรรมหินขนาดเล็กรูปคชลักษมีเป็นภาพแสดงกำเนิดของพระลักษมี นอกจากนี้ยังพบเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์ถัง (พ.ศ. 1161 - 1450) เป็นแจกันเคลือบสีเขียวมีหูจับ

ในเขตอำเภอวัดเพลง ทั้งสองฝั่งแม่น้ำอ้อม พบร่องรอยชุมชนโบราณที่มีแนวคูน้ำคันดินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ในวัฒนธรรมทวาราวดีหลายแห่ง โดยเฉพาะตั้งแต่บริเวณโคกพริกถึงเวียงทุน ที่พบเนินดินโบราณกระจายอยู่ทั่วไป ที่โคกพริกเคยพบซากสถูปและเครื่องประดับประเภทลูกปัดจำนวนมาก ในแม่น้ำอ้อมเคยพบซากเรือจม ภายในเรือมีเครื่องปั้นดินเผาสมัยต่าง ๆ

ในเขตอำเภอบ้านโป่ง ที่บริเวณวัดขุนสีห์ ตำบลบ้านม่วง พบร่องรอยเนินดินที่มีเศษภาชนะดินเผา เนินดินมีลักษณะเป็นซากสถูป พบชิ้นส่วนประดับสถาปัตยกรรมทั้งที่เป็นดินเผา และปูนปั้นในศิลปทวาราวดีเป็นจำนวนมาก

ในเขตอำเภอจอมบึง พบที่ถ้ำพระพิมพ์บริเวณเชิงเขาสำประแจ พบพระพิมพ์เป็นพระพุทธรูปปางปฐมเทศนาภายใต้สถูปแบบพุทธคยา มีสถูปขนาดเล็กอยู่โดยรอบ ที่ฐานมีจารึกคาถาหัวใจพระพุทธศาสนา เย ธมฺมา

วัฒนธรรมทวาราวดีเจริญรุ่งเรืองอยู่ในพื้นที่จังหวัดราชบุรีประมาณ 500 ปี ก็เสื่อมสลายลง และอิทธิพลวัฒนธรรมเขมร ได้แพร่ขยายเข้ามาแทนที่ ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 15 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 16 เมืองคูบัวซึ่งเคยมีความสำคัญยิ่งเมืองหนึ่ง ในภาคกลางของประเทศไทย ก็ถูกทิ้งร้างไป และเกิดศูนย์กลางการค้าแห่งใหม่บนคาบสมุทรภาคใต้ของไทย เช่นที่เมืองไชยา นครศรีธรรมราช และเมืองสทิงพระในจังหวัดสงขลา

เมืองราชบุรีปัจจุบันอยู่ในเขตตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง ฯ อยู่ทางริมฝั่งด้านตะวันตกของแม่น้ำแม่กลอง ฟากเดียวกันกับเมืองโบราณคูบัว และเทือกเขางู มีผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้างประมาณ 750 เมตร ยาวประมาณ 1,250 เมตร ตัวเมืองแต่เดิมมีกำแพงล้อมรอบสามด้านคือด้านทิศเหนือ ด้านทิศใต้ และด้านทิศตะวันตก ส่วนด้านทิศตะวันออกใช้แม่น้ำแม่กลองเป็นคูเมือง และใช้เป็นเส้นทางคมนาคมทางน้ำ ภายในเมืองมีวัดมหาธาตุตั้งอยู่เกือบใจกลางเมือง สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยทวาราวดีในห้วงเวลาเดียวกับการสร้างเมือง ประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ 15 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 16 ต่อมาเมื่อวัฒนธรรมขอมแพร่ขยายเข้ามา จึงได้มีการสร้างศาสนสถานที่เรียกว่า ปราสาท ซ้อนทับในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 18 เพื่อใช้เป็นศูนย์กลางเมืองตามคติความเชื่อเรื่องจักรวาลของขอม เมื่อปราสาทชำรุดหักพังลงจึงได้สร้าง พระปรางค์ ตามลักษณะและรูปแบบสมัยอยุธยา

อิทธิพลวัฒนธรรมขอมที่สำคัญได้แก่ ทับหลังเหนือกำแพงแก้วที่ก่อด้วยศิลาแลงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า วางเรียงซ้อนกันล้อมองค์พระปรางค์ ทั้ง 4 ด้าน สลักจากหินทรายสีชมพู เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิประทับในซุ้มเรือนแก้ว ต่อเนื่องกันเป็นแนวยาวตลอดความยาวของกำแพง อันเป็นศิลปขอมแบบบายน (ประมาณ พ.ศ. 1720 - 1760) รูปครุฑยุดนาคประดับราวบันไดทางเข้าระเบียงคด ล้อมรอบองค์ด้านทิศตะวันออก สลักจากหินทรายแดง ด้านหน้าเป็นรูปครุฑยุดนาคสามเศียรอยู่ตอนกลาง ล้อมรอบด้วยนาคห้าเศียรอีกชั้นหนึ่ง ด้านหลังเป็นรูปนาคห้าเศียรไม่มีรูปครุฑประกอบ คล้ายกับศิลปบายนของขอม พระพิมพ์ดินเผาที่ขุดพบที่ฐานพระปรางค์ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ แบ่งออกได้เป็นสามแบบคือ แบบแรกเป็นภาพพระพุทธรูปปางสมาธิ องค์เดียวประทับภายในซุ้ม แบบที่สองเป็นภาพพระพุทธรูปทรงเครื่องปางมารวิชัยสามองค์ ประทับในซุ้มเรือนแก้ว และแบบที่สามเป็นภาพพระพุทธรูปทรงเครื่องปางมารวิชัย เรียงเป็นแถวอยู่ด้านล่างในซุ้มเรือนแก้ว ลักษณะพระพุทธรูปในพระพิมพ์เหมือนแบบพระพิมพ์ในศิลปขอมแบบบายน ที่พบทั่วไปในบริเวณภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย

เมืองโบราณโกสินารายณ์  ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำแม่กลอง ในเขตตำบลท่าผา อำเภอบ้านโป่ง ผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส กว้างยาวด้านละประมาณ 950 เมตร พบร่องรอยแนวกำแพงเมืองเหลืออยู่เฉพาะทางด้านทิศเหนือ ด้านทิศใต้และด้านทิศตะวันออกเป็นคันดินสูงประมาณ 60 เซนติเมตร  กว้างประมาณ 10 เมตร ด้านตะวันตกถูกรื้อทิ้งไปแล้ว นอกกำแพงเมืองทางด้านทิศเหนือ มีสระน้ำขนาดใหญ่กว้างประมาณ 200 เมตร ยาวประมาณ 400 เมตร เรียกว่า สระโกสินารายณ์ ถือว่าเป็นสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ และนำมาใช้เป็นชื่อเรียกเมืองโบราณด้วย ภายในตัวเมืองมีซากโบราณสถานขนาดใหญ่เรียกว่า จอมปราสาท ตั้งอยู่บริเวณเกือบกึ่งกลางเมือง มีขนาดกว้างประมาณ 85 เมตร ยาวประมาณ 100 เมตร สูงประมาณ 1 เมตร มีสระน้ำอยู่ภายในตัวเมืองรวม 4 สระ สระนาค อยู่ทางด้านทิศตะวันออก สระจรเข้ อยู่ทางด้านทิศตะวันตก สระมังกร และสระแก้ว อยู่ทางด้านทิศเหนือใกล้กำแพงเมือง สระนาคและสระโกสินารายณ์มีคลองขนาดเล็กเชื่อมต่อกันกับแม่น้ำแม่กลอง นอกตัวเมืองมีเนินโบราณสถานขนาดเล็ก กระจายอยู่อีกหลายแห่ง ลักษณะของผังเมืองตลอดจนองค์ประกอบภายในได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมขอม

จอมปราสาทที่ตั้งอยู่กลางเมือง สันนิษฐานว่า เดิมรูปทรงเป็นปราสาทที่นิยมสร้างในวัฒนธรรมขอม โดยส่วนฐานก่อด้วยศิลาแลง มีมุขยื่นออกไปทั้งสี่ด้าน ภายในใช้หินและทรายบดอัดเป็นฐานราก มีพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร เปล่งรัศมีสลักจากหินทราย สูงประมาณ 155 เซนติเมตร พระวรกายตอนบนมีรูปพระอมิตาภะปางสมาธิสลักโดยรอบพระอุระ และมีรูปนางปรัชญาปารมิตาประทับนั่งถือดอกบัวอยู่ที่บั้น พระองค์สามองค์และเบื้องพระอุระอีกหนึ่งองค์ พระวรกายเบื้องล่างทรงผ้าโจงกระเบนสั้น เป็นลักษณะของประติมากรรมในศิลปขอมแบบบายน

ลวดลายปูนปั้นที่ใช้เป็นเครื่องประดับตกแต่งส่วนต่าง ๆ ของโบราณสถานจอมปราสาท ทำเป็นรูปเทวดาหรือกษัตริย์ มนุษย์ อมนุษย์ และรูปสัตว์ต่าง ๆ เช่น นาค สิงห์ สิงห์ ช้าง ฯลฯ ส่วนใหญ่มีขนาดเล็ก ชิ้นส่วนลวดลายปูนปั้นเหล่านี้ส่วนมากมีรูปแบบที่ผสมผสาน ระหว่างวัฒนธรรมขอมกับทวาราวดี และบางชิ้นมีลักษณะที่แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมจีน ที่แพร่เข้ามาในเวลานั้น

พระพุทธรูปสำริดปิดทองทรงเครื่องปางประทานธรรม สูงประมาณ 112 เซนติเมตร พบบริเวณกลางทุ่งนาในเขตอำเภอเมือง ฯ เป็นปางที่นิยมสร้างมาตั้งแต่วัฒนธรรมทวาราวดี ส่วนเครื่องทรงตลอดจนส่วนประกอบอื่น ๆ เป็นศิลปะขอมแบบนครวัด นอกจากนั้นยังมีเทวรูปพระอิศวรปางมหาฤาษี พบที่วัดสระกระเทียม อำเภอบ้านโป่งเป็นแบบที่นิยมกันในศิลปขอมแบบนครวัด - บายน

จากร่องรอยหลักฐานต่าง ๆ ทางโบราณคดีที่กล่าวมาแล้ว แสดงให้เห็นว่า ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16 - 18 อันเป็นช่วงระยะเวลาที่อาณาจักรขอมเรืองอำนาจ ชาวเมืองราชบุรี และโกสินารายณ์ก็ได้รับเอาวัฒนธรรมขอมมาผสมผสานกับวัฒนธรรมทวาราวดี อันเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมในหลาย ๆ ด้าน เช่นระบบการวางผังเมืองที่เปลี่ยนจากรูปวงรี มาเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าหรือสี่เหลี่ยมจตุรัส การสร้างศาสนสถานขนาดใหญ่ไว้กลางเมือง ระบบชลประทานที่มีการขุดสระน้ำไว้ใช้ภายในตัวเมือง และบริเวณใกล้เคียง นอกเหนือไปจากการขุดคลองเชื่อมต่อกับแม่น้ำเพื่อนำน้ำมาใช้ในตัวเมือง การก่อสร้างอาคารที่นำเอาหินทรายและศิลาแลง มาใช้ในการสร้างศาสนสถานขนาดใหญ่แทนการก่ออิฐถือปูนขนาดเล็ก และมีการตกแต่งอาคารด้วยการสลักลวดลายบนชิ้นส่วน ประกอบสถาปัตยกรรมที่เป็นหินทรายเพิ่มเติม จากการประดับตกแต่งลวดลายปูนปั้น รวมทั้งการผสมผสานรูปแบบศิลปกรรมทวาราวดีกับ ศิลปกรรมขอมเข้าด้วยกัน

ในด้านคติความเชื่อในศาสนา พระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานนิกายวัชรยานตามแบบวัฒนธรรมขอม ซึ่งเน้นการสร้างศาสนสถาน และรูปเคารพขนาดใหญ่ มีการประกอบพิธีกรรมที่สลับซับซ้อน โดยมีพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร เป็นประติมากรรมที่ได้รับการเคารพบูชา ในช่วงเวลาเดียวกันได้มีศิลปะจีนแทรกเข้ามาในศิลปขอมด้วย ดังจะเห็นได้จากเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์ ซุ่ง และสมัยราชวงศ์ หยวน ได้พบแผ่นดินเผาจารึกอักษรจีนอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 18 - 19 เอ่ยพระนามพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรร่วมกับเหรียญกษาปณ์จีน ที่เรียกว่าอีแปะอีกด้วย กล่าวได้ว่าเมืองราชบุรีในช่วงเวลาดังกล่าวน่าจะเป็นเมืองท่าค้าขายที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่ง ทางด้านทิศตะวันตกของไทย รวมทั้งเป็นแหล่งขนถ่ายสินค้าจากชุมชนภายนอก เข้าไปยังชุมชนที่อยู่ลึกเข้าไปในภูมิภาค โดยอาศัยลำน้ำที่มีเครือข่ายถึงกัน

อิทธิพลของวัฒนธรรมขอมมีความเจริญรุ่งเรืองในจังหวัดราชบุรี รวมทั้งดินแดนในภูมิภาคอื่น ๆ ของไทยเป็นอยู่ประมาณ 300 ปี ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16 - 18 หลังจากนั้นก็เสื่อมลง บรรดาเมืองและนครรัฐต่าง ๆ ในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเริ่มมีการรวมตัวกันเป็นปึกแผ่น และได้มีการพัฒนาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมตนเองขึ้น ก่อตัวเป็นต้นเค้าของวัฒนธรรมไทยมาตั้งแต่ปลายพุทธศตวรรษที่ 17

ในช่วงสมัยสุโขทัย เมืองราชบุรีมีรายชื่อเป็นหัวเมืองในราชอาณาจักรสุโขทัย และน่าจะมีสภาพเป็นเมืองท่าบนเส้นทางติดต่อการค้า และการคมนาคมระหว่างหัวเมืองในเขตที่ราบลุ่มน้ำเจ้าพระยา ไปยังเมืองตะนาวศรี ซึ่งเป็นเมืองท่าชายฝั่งทะเลอันดามัน ในบริเวณอ่าวมะตะบัน

ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวแคว้นสุพรรณภูมิ เจริญรุ่งเรืองควบคู่กับแคว้นละโว้ ในบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา และเมืองราชบุรีจัดเป็นเมืองสำคัญเมืองหนึ่ง ของแคว้นสุพรรณภูมิ เช่นเดียวกับเมืองเพชรบุรี และเมืองสิงห์บุรี ก่อนที่แคว้นละโว้จะรวมกับแคว้นสุพรรณภูมิเป็นอาณาจักรอยุธยา เห็นได้จากร่องรอยหลักฐานทางศิลปกรรม ทั้งที่โบราณสถานและโบราณวัตถุ เช่น เจดีย์ประธานวัดเจติยาราม หรือวัดเจดีย์หัก ในเขตตำบลเจดีย์หัก อำเภอเมือง ฯ ลักษณะของเจดีย์ที่ก่ออิฐไม่สอปูน มีฐานแปดเหลี่ยมรองรับองค์ระฆังกลม รูปทรงสูงเพรียว มีลักษณะคล้ายกับกลุ่มเจดีย์แบบเมืองสรรค์ ที่อำเภอสรรค์บุรี จังหวัดชัยนาท และกลุ่มเจดีย์ในจังหวัดสุพรรณบุรี ที่เรียกว่า แบบสุพรรณภูมิ เช่นที่วัดศรีรัตนมหาธาตุ วัดพระรูป วัดพระอินทร์ รวมทั้งเจดีย์แบบอโยธยา เช่นที่วัดบางกระซ้าย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

เมื่อสมเด็จพระเจ้าอู่ทองทรงรวบรวมแคว้นสุพรรณภูมิ และแคว้นละโว้เข้าด้วยกัน และสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เมืองราชบุรีก็ถูกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกรุงศรีอยุธยา จัดเป็นเมืองในมณฑลราชธานี ต่อมาในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงขยายการปกครองราชธานีครอบคลุมเมืองใหญ่ที่เป็นเมืองหน้าด่านทั้งสี่ เช่น ลพบุรี สุพรรณบุรี นครนายก ทำให้เมืองชั้นในอย่างราชบุรี ถูกลดฐานะลงเป็นเมืองจัตวา มีผู้ปกครองเรียกว่า ผู้รั้ง ขึ้นตรงต่อราชสำนัก ไม่มีอำนาจสั่งการเช่นเจ้าเมืองในสมัยก่อน มีกรมการเมืองชั้นรองลงมาเรียกว่าจ่าเมือง ทั้งผู้รั้งและจ่าเมืองต้องทำตามคำสั่งของต้นสังกัด ทั้งฝ่ายกลาโหมและฝ่ายจตุสดมภ์

<<< ย้อนกลับ || อ่านต่อ >>>

จังหวัด » กรุงเทพฯ กาญจนบุรี ชัยนาท นครนายก นครปฐม นนทบุรี ประจวบฯ ปทุมธานี เพชรบุรี ราชบุรี ลพบุรี สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สระบุรี สิงห์บุรี สุพรรณบุรี อยุธยา อ่างทอง อุทัยธานี

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย