ประวัติศาสตร์  ภูมิศาสตร์ บุคคลสำคัญ ประเทศและทวีป »

ประเทศไทย 77 จังหวัด »

จังหวัดสระบุรี

ข้อมูล » ประวัติศาสตร์-ความเป็นมา ศิลปะ-วัฒนธรรม-ประเพณี สถานที่สำคัญ-แหล่งท่องเที่ยว โรงแรม-ที่พัก

ประวัติศาสตร์-ความเป็นมา จังหวัดสระบุรี (2)

เมืองสระบุรีเริ่มปรากฏชื่อในสมัยอยุธยาตอนกลาง มีคำว่าเมืองสระบุรีปรากฏในพงศาวดารครั้งแรก ในรัชสมัยสมเด็จพระมหินทราธิราช คราวที่พระเจ้าหงสาวดียกทัพมาล้อมกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระมหินทร์ ฯ ทรงมีพระราชสาส์นถึงพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชแห่งนครเวียงจันทน์ ให้นำทัพมาช่วยไทย แต่ทัพลาวถูกทัพพม่าซุ่มโจมตีที่เมืองสระบุรี ทัพลาวแตกกลับไปเวียงจันทน์ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2112 แต่จะตั้งเมื่อใดไม่มีหลักฐาน

ในสมัยอยุธยา เมืองสระบุรีมีบทบาทที่เกี่ยวข้องในเรื่องการสงคราม และการพระศาสนาเป็นสำคัญเช่นใน ปี พ.ศ.2125   พระเจ้าแปรยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงมีรับสั่งให้พระยานครนายก พระยาปราจีนบุรี พระวิเศษเมืองฉะเชิงเทรา และพระสระบุรี รวมสี่หัวเมืองให้พระยานครนายก เป็นแม่ทัพใหญ่คุมพล 10,000 คน ออกไปตั้งค่าย ขุดคู ปลูกยุ้งฉาง ถ่ายลำเลียงไว้ตำบลทำนบรักษาไว้ให้มั่นคง

ปี พ.ศ.2126 สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงยกทัพไปตีเมืองเขมร มีรับสั่งให้พระสระบุรี คุมพล 1,000 คน อยู่รักษาฉางหลวง แล้วให้แต่งกองทัพออกไปลาดตระเวณฟังราชการให้ถึงทัพหลวง

ปี พ.ศ.2149 ได้พบรอยพระพุทธบาทที่สระบุรี ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม หลังจากนั้นมาก็ถือเป็นราชประเพณีนิยมที่พระมหากษัตริย์ จะเสด็จมานมัสการรอยพระพุทธบาท และทรงทำนุบำรุงรอยพระพุทธบาท รวมทั้งเสด็จไปนมัสการพระพุทธฉายที่สระบุรี

ปี พ.ศ.2203 สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงยกทัพไปช่วยเชียงใหม่ปราบฮ่อ ได้ให้พระสระบุรีเป็นยกกระบัตรไปร่วมรบด้วย

ปี พ.ศ.2227 เกิดกบฎอ้ายธรรมเถียร คนนครนายกปลอมตนว่าเป็นเจ้าฟ้าอภัยทศ ลวงผู้คนให้หลงเชื่อมาถึงสระบุรี และลพบุรี แล้วบุกเข้าไปถึงกรุงศรีอยุธยา แต่พ่ายแพ้ถูกปประหารชีวิต

ปี พ.ศ.2235 เกิดกบฎบุญกว้าง ทำเป็นมีวิชาอาคมดี นำพวก 28 คน เข้ายึดเมืองนครราชสีมาได้ เจ้าเมืองนครราชสีมาลวงว่าควรนำกำลังไปตีกรุงศรีอยุธยา บุญกว้างเชื่อจึงนำกำลังผู้คนยกผ่านมาถึงลพบุรี กรมการเมืองสระบุรีได้มีหนังสือแจ้งมายังเมืองหลวง ให้นำกำลังไปกำจัดพวกบุญกว้างได้หมด

เมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ.2310 จีนค่ายคลองสวนพลู 400 คน ได้พากันไปลอกเอาเงินดาดพื้น และลอกทองหุ้มพระมณฑปน้อยเอาไป สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ซ่อมพระมณฑปพระพุทธบาท แต่ยังไม่แล้วเสร็จ

พ.ศ.2314 พระเจ้าสุริยวงศ์ แห่งนครหลวงพระบาง มีเรื่องวิวาทกับเจ้าสิรบุญสาร แห่งนครเวียงจันทน์ พระเจ้าสุริยวงศ์ยกทัพไปล้อมนครเวียงจันทน์ พระเจ้าสิริบุญสารได้ส่งสาส์นไปยังพม่าที่นครเชียงใหม่ให้ยกทัพมาช่วย ชาวเวียงจันทน์เกรงว่าจะเกิดศึกใหญ่จึงพากันอพยพมายังเมืองนครราชสีมา สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้ชาวลาวเหล่านี้ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เมืองสระบุรี

พระวอกับพระตาเกิดผิดใจกันกับพระเจ้าสิริบุญสาร จึงพาไพร่พลหนีมาตามลำดับ พระเจ้าสิริบุญสารก็ตามมาตีจนพระตาตาย พระวอพาไพร่พลหนีมายังบ้านดอนมดแดง เมืองอุบล ฯ เมื่อปี พ.ศ.2319 พระเจ้าสิริบุญสารให้พระยาสุโพยกทัพมาตีและฆ่าพระวอตาย สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงเห็นว่าพระเจ้าสิริบุญสารฆ่าพระวอผู้เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร จึงได้ทรงมอบให้เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก และเจ้าพระยาสุรสีห์ ฯ นำทัพไปตีนครเวียงจันทน์ และยึดนครเวียงจันทน์ได้ และได้กวาดต้อนชาวเวียงจันทน์มาเป็นจำนวนมาก ได้ให้ชาวเวียงจันทน์ดังกล่าวไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เมืองสระบุรี เมื่อปี พ.ศ.2322 เรียกว่า ลาวเวียง

ในปี พ.ศ.2330 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทำมณฑปน้อยกั้นรอยพระพทุธบาทภายในพระมณฑปใหญ่ เสาทั้งสี่รวมทั้งเครื่องบน และยอดล้วนหุ้มแผ่นทองทั้งสิ้น

พ.ศ.2347 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้โปรดเกล้า ฯ ให้กรมหลวงเทพหริรักษ์ และพระยายมราช นำทัพไปขับไล่พม่าออกจากเมืองเชียงแสน เมื่อได้เมืองเชียงแสนแล้วก็ได้รวบรวมชาวเชียงแสนได้ 23,000 ครอบครัว แบ่งออกเป็นห้าส่วน ให้ไปอยู่ที่เมืองเชียงใหม่ เมืองลำปาง เมืองน่าน เมืองเวียงจันทน์ และส่วนหนึ่งลงมากรุงเทพ ฯ และได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เมืองสระบุรี กับเมืองราชบุรี

พ.ศ.2368 เจ้าอนุวงศ์ ราชบุตรพระเจ้าสิริบุญสาร ผู้เคยมาอยู่กรุงเทพ ฯ ตั้งแต่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ต่อมาได้กลับไปอยู่ที่เวียงจันทน์ ได้กราบทูลขอชาวลาวที่อยู่ในเมืองไทยกลับไปยังเวียงจันทน์ แต่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่ทรงอนุญาติ เมื่อเจ้าอนุวงศ์กลับไปนครเวียงจันทน์แล้ว ในปี พ.ศ.2369 ได้นำทัพลงกรุงเทพ ฯ มาโดยได้ลวงเจ้าเมืองตามหัวเมืองต่าง ๆ ที่ผ่านมาว่า ทางกรุงเทพ ฯ สั่งให้นำทัพมาช่วยรบกับอังกฤษ แล้วได้ลงมาตั้งอยู่ ณ ตำบลขอนขว้าง ใกล้กับเมืองสระบุรี ได้เกลี่ยกล่อมพระสระบุรี ซึ่งเป็นลาวพุงดำ และนายครัวลาวพุงขาวเข้าด้วย ได้กวาดต้อนครอบครัวอพยพไทยจีนลาว ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองสระบุรีได้เป็นอันมาก

พ.ศ.2400 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้บูรณะมณฑปพระพุทธบาท และสร้างที่ประทับใหม่หลายหลัง ในพระราชวังท้ายพิกุล ในปี พ.ศ.2403 พระองค์ได้เสด็จ ฯ ไปนมัสการพระพุทธบาททรงยกพระมณฑป และทรงบรรจุพระบรมธาตุแล้ว เสด็จประทับแรมที่เขาแก้ว ตำบลต้นตาล อำเภอเสาไห้

พ.ศ.2402 - 2408 พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างที่ประทับขึ้นที่ตำบลสีเทา อำเภอแก่งคอย และจัดให้เขาคอกเป็นที่ฝึกทหาร

ต่อมา เมื่อเปลี่ยนแปลงตัวเจ้าเมืองคนใหม่ ก็ย้ายที่ทำการเจ้าเมืองต่อไปอยู่ที่บ้านไผ่ล้อมน้อย ตามบ้านเรือนที่เจ้าเมืองสร้างอยู่อาศัย แต่ก็คงยังอยู่ในเขตอำเภอเสาไห้นั่นเอง ศาลากลางเมืองสระบุรียังคงอยู่ตรงนั้นเรื่อยมาตราบเท่าสิ้นเจ้าเมืองที่ทางมณฑลกรุงเก่าส่งมาปกครอง เพราะเมืองสระบุรีสมัยนั้น สมัยแบ่งการปกครองเป็นมณฑล เมืองสระบุรีขึ้นอยู่กับมณฑลกรุงเก่า คือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปัจจุบัน

<<< ย้อนกลับ || อ่านต่อ >>>

จังหวัด » กรุงเทพฯ กาญจนบุรี ชัยนาท นครนายก นครปฐม นนทบุรี ประจวบฯ ปทุมธานี เพชรบุรี ราชบุรี ลพบุรี สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สระบุรี สิงห์บุรี สุพรรณบุรี อยุธยา อ่างทอง อุทัยธานี

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย