ประวัติศาสตร์  ภูมิศาสตร์ บุคคลสำคัญ ประเทศและทวีป »

ประเทศไทย 77 จังหวัด »

จังหวัดปราจีนบุรี

ข้อมูล » ประวัติศาสตร์-ความเป็นมา ศิลปะ-วัฒนธรรม-ประเพณี สถานที่สำคัญ-แหล่งท่องเที่ยว โรงแรม-ที่พัก

ประวัติศาสตร์-ความเป็นมา จังหวัดปราจีนบุรี

จังหวัดปราจีนบุรีเคยเป็นหัวเมืองเก่าแก่มาตั้งแต่โบราณตั้งแต่สมัยอาณาจักรสุวรรณภูมิ อาณาจักรทวาราวดี อาณาจักรฟูนัน อาณาจักรอีศานปุระ อาณาจักรลพบุรี ซึ่งแต่เดิมเคยมีชื่อตามหลักศิลาจารึกว่า "เมืองอวัธยปุระ" "เมืองพระรถ" หรือ "เมืองมโหสถ" เมืองอวัธยปุระ อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี นอกจากเมืองโบราณและโบราณสถาน โบราณวัตถุ ขนาดใหญ่และสวยงาม อันแสดงให้เห็นถึงระดับความเจริญแล้ว ตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ อันเป็นที่ตั้งของเมือง ยังแสดงให้เห็นชัดมีความสำคัญเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและการคมนาคมในทางภูมิศาสตร์ ภายในเมืองมีโคกเนินที่เป็นศาสนสถาน ทั้งที่สร้างด้วยศิลาแลงและอิฐหลายแห่ง ซึ่งล้วนมีขนาดใหญ่ บริเวณเหล่านี้มีเศษกระเบื้องเกลื่อนกลาด เศษกระเบื้องที่พบมีหลายสมัย นับตั้งแต่สมัยทวาราวดี ลพบุรี จนถึงสุโขทัยและอยุธยา ที่เมืองอวัธยปุระนี้ การชลประทานเพื่อกักน้ำไว้ใช้เจริญมาก บริเวณเมืองอวัธยปุระได้พบหลักศิลาจารึกที่เนินสระบัว ตำบลโคกปีบ อำเภอโคกปีบ จังหวัดปราจีนบุรี มีข้อความว่า มหาศักราช 683 ปีฉลูนักษัตร แรม 1 ค่ำ เดือน 7 วันพุธ (ตรงกับ พ.ศ. 1304)

เมืองอวัธยปุระ "เมืองพระรถ" เมืองมโหสถ หรือเมืองปราจีนบุรีในปัจจุบัน ได้เกิดขึ้นในอาณาจักรสุวรรณภูมิ เมื่อพระพุทธศาสนาล่วงมาได้ 300 ปี ประมาณพุทธศตวรรษที่ 3 สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช กษัตริย์แห่งอินเดีย ได้จัดส่งพระเถระ 2 รูป คือ พระโสณะ และพระ- อุตระ เข้ามาเผยแพร่พุทธศาสนาในอาณาจักรสุวรรณภูมิ ลัทธิหินยาน ซึ่งเป็นลัทธิหนึ่งในพุทธศาสนา จึงอุบัติขึ้นในดินแดนสุวรรณภูมิ และเจริญรุ่งเรืองสืบมาซึ่งจะเห็นได้จากโบราณวัตถุต่างๆ เป็นต้นว่า รูปธรรมจักรและกวาง สถูปศิลา พระพุทธรูปปางต่างๆ อันหมายถึง อุเทสิกะเจดีย์ ต้นศรีมหาโพธิ์ ซึ่งได้พันธุ์มาจากเมืองพุทธคยา ประเทศอินเดีย อันหมายถึง บริโภคเจดีย์ ซึ่งประดิษฐานอยู่ในเมืองนี้

ตลอดมา ต่อมาเมืองอวัธยปุระได้ตกอยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรฟูนันระยะหนึ่ง จนกระทั่งจวบถึงพุทธศตวรรษที่ 11 อาณาจักรทวาราวดีได้มีอำนาจในบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาโดยสืบเชื้อสายมาจากอาณาจักรสุวรรณภูมิ และได้แผ่อำนาจมาถึงเมืองอวัธยปุระ จนกระทั่งในพุทธศตวรรษที่ 16 อาณาจักรทวาราวดีถึงจุดเสื่อม และล่มจมลง เมืองอวัธยปุระจึงต้องตกไปอยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรอีศานปุระ (อาณาจักรเจนละ)

จากหลักฐานการค้นพบศิลาจารึกที่บริเวณเนินสระบัว ตำบลโคกปีบ อำเภอโคกปีบ จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งจารึกเป็นตัวอักษรขอมโบราณ จึงเป็นหลักฐานยืนยันว่าเมืองอวัธย-ปุระ น่าจะมีชนชาติขอมอาศัยอยู่ด้วย และนับถือพุทธศาสนาลัทธิมหายาน เมืองอวัธยปุระในสมัยนี้มีสภาพเป็นหัวเมืองใหญ่มีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจและการปกครอง ทั้งได้ถ่ายทอดคติความเชื่อในพุทธ-ศาสนาลัทธิมหายานและศาสนาพราหมณ์ นิกายต่างๆ เริ่มแพร่หลาย ดังนั้นพระพุทธรูปในลัทธิมหายานและรูปศิวลึงค์ เทวสถาน อันเป็นเครื่องหมายแทนรูปเคารพตามคติความเชื่อในสมัยนั้น จึงปรากฏร่องรอยทิ้งซากปรักหักพังให้เห็นดังในปัจจุบัน นักประวัติศาสตร์โบราณคดี กำหนดเรียกศิลปโบราณวัตถุที่ขุดพบในจังหวัดปราจีนบุรี และแถบตะวันออกของประเทศไทยว่า "กลุ่มของโบราณดงศรีมหาโพธิ" ศิลปโบราณวัตถุดังกล่าวนี้เป็นเครื่องหมายสัญลักษณ์ เพื่อระลึกถึงพระพุทธเจ้าศาสดาแห่งพระพุทธศาสนา

ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 14-18 อาณาจักรลพบุรีเริ่มมีอำนาจขึ้นในดินแดนสุวรรณภูมิ ต่อมาในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 กษัตริย์แห่งอาณาจักรขอม ได้แผ่ขยายอาณาเขตไปทั่วคาบสมุทรอินโด-จีน ตลอดแหลมสุวรรณภูมิ เมืองอวัธยปุระ หรือ เมืองศรีมโหสถ จึงตกอยู่ภายใต้อำนาจด้วย

ในสมัยสุโขทัยไม่พบหลักฐานทางประวัติศาสตร์กล่าวถึงเมืองอวัธยปุระ (ศรีมโหสถ) หรือเมืองปราจีนบุรี อาจมิได้มีความสัมพันธ์ทางการเมืองกับสุโขทัย หรือยังอยู่ในอำนาจขอม

เมื่อสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีของไทยในปีพุทธศักราช 1893 ทรงนำแบบแผนการปกครองและวิธีการทหารมาจากกรุงสุโขทัย ทรงกำหนดให้มีเมืองป้อมปราการด่านชั้นในขึ้น สำหรับป้องกันราชธานีทั้ง 4 ทิศ และกำหนดให้เมือง ปราจิณเป็นหัวเมืองชั้นในด้านตะวันออก ขึ้นอยู่ในอำนาจของเจ้าพระยาจักรี ตำแหน่งสมุหนายก เมือง ปราจิณ จัดเป็นหัวเมืองชั้นโท เจ้าเมืองมีบรรดาศักดิ์เป็นชั้นพระยา

ต่อมาในรัชสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระองค์ทรงได้ปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงการปกครองกรุงศรีอยุธยาใหม่ คือ ทรงจัดแบ่งออกเป็นหัวเมืองชั้นนอก และหัวเมืองชั้นใน และแบ่งหัวเมืองออกเป็นชั้นๆ คือ ชั้นเอก ชั้นโท ชั้นตรี และชั้นจัตวา เมืองปราจิณ ถูกกำหนดให้เป็นเมืองจัตวา (ชั้น 4) ใช้ขุนนางที่มีบรรดาศักดิ์ พระ หรือ พระยา ปกครอง

ล่วงมาถึงสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ทรงสร้างเมืองใหม่ขึ้นหลายเมืองด้วยกัน เมือง ปราจิณถูกตัดแบ่งแยกอาณาเขตจากเดิมจัดตั้งเป็นเมืองใหม่เพิ่มขึ้น คือ ท้องที่เขตเมืองปราจิณทางด้านใต้ กับท้องที่เมืองชลบุรีด้านเหนือ ตั้งเป็นเมืองใหม่ คือ เมืองฉะเชิงเทรา ในสมัยสมเด็จพระมหา- จักรพรรดินี้ พระเจ้าแปรกษัตริย์พม่าได้ยกกองทัพมารุกรานไทย เกิดสงครามระหว่างไทยกับพม่าหลายครั้ง ฝ่ายพระยาละแวกถือโอกาสที่ไทยมีศึกสงครามจึงยกกองทัพมากวาดต้อนครอบครัวชาวเมืองปราจิณ และหัวเมืองด้านตะวันออกไปเป็นจำนวนมาก หลังจากสงครามพม่าสงบลงแล้ว สมเด็จพระมหา-จักรพรรดิ จึงโปรดให้พระยาพะเยาเป็นแม่ทัพยกทัพไปตีเมืองละแวก พระยาละแวกเห็นว่าจะสู้ไม่ได้จึงขอยอมรับผิด ยอมอ่อนน้อมขอเป็นเมืองออกถวายเครื่องบรรณาการ และนำครอบครัวชาวไทยที่กวาดต้อนไปจากเมืองปราจิณกลับคืน

ในสมัยของพระมหาธรรมราชา กรุงศรีอยุธยาตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า บ้านเมืองบอบช้ำจากพิษสงคราม เขมรฉวยโอกาสส่งกองทัพมารุกรานหัวเมืองต่างๆ ของไทยหลายครั้ง เมื่อพม่ายกกองทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาใน พ.ศ. 2128 พระยาละแวกได้ยกกองทัพมาช่วยโดยเดินทางมาทางด่านเมือง ปราจิณ ครั้งนี้กองทัพพม่าแตกพ่ายไป ต่อมาพระยาละแวกเริ่มเอาใจออกห่าง จนกระทั่งปี พ.ศ. 2130 พระเจ้าหงสาวดี นันทบุเรง ทรงยกกองทัพใหญ่เข้าโจมตีกรุงศรีอยุธยาอีก ฝ่ายพระยาละแวกเมื่อทราบว่าไทยมีศึกกับพม่า จึงแต่งทัพเข้ามาตีหัวเมืองทางภาคตะวันออกของไทย ตีเมืองปราจิณแตก พระยาศรีไสยณรงค์และพระยาสีหราชเดโช ยกทัพออกไปตีต้านทัพทางด้านหณุมาน (ปัจจุบันคืออำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี และทางด่านพระจารึกหรือด่านพระกริศ (เข้าใจว่าอยู่ในเขตอำเภอวัฒนา-นคร จังหวัดปราจีนบุรี) และแล้วจึงยกทัพกลับมาตั้งมั่นอยู่ ณ เมืองปราจิณ จนกระทั่งพม่าเลิกทัพแล้วจึงยกทัพกลับกรุงศรีอยุธยา

ต่อมาในสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่เข้มแข็ง ทรงร่วมกับสมเด็จพระเอกาทศรถ พระอนุชา ปรับปรุงกองทัพไทยให้เข้มแข็ง หลังจากสมเด็จพระนเรศวรฯ ทรงประกาศอิสรภาพกรุงศรีอยุธยาไม่ขึ้นต่อกรุงหงสาวดีอีกต่อไป ณ เมืองแครง ใน พ.ศ. 2127 พระยาละแวกได้ขอเป็นไมตรีกับกรุงศรีอยุธยา

พ.ศ. 2135 สมเด็จพระนเรศวรมหาราชโปรดให้จัดเตรียมทัพเพื่อยกเข้าตีกรุงกัมพูชา ทรงสั่งให้เจ้าเมืองทางหัวเมืองด้านตะวันออก 4 หัวเมือง คือ พระยานครนายก พระยาปราจิณ พระวิเศษเมืองฉะเชิงเทรา และ พระสระบุรี ตั้งค่ายขุดคู ปลูกยุ้งฉางลำเลียงไว้ที่ตำบลทำนบ และให้รักษาฉางข้าว พ.ศ. 2136 สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงยกทัพหลวงไปตีเมืองละแวก ต่อมาโปรดให้ พระยาปราจิณ พระยานครนายก และพระวิเศษเข้าร่วมกระบวนทัพหลวง และโปรดให้พระยาปราจีนตั้งกองรวบรวมเสบียงอาหารอยู่ที่เมืองโพธิสัตว์พร้อมด้วยทหาร 3,000 คน ในที่สุดก็สามารถตีกรุงกัมพูชาเป็นผลสำเร็จ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชโปรดให้ตั้งพิธีปฐมกรรม และประหารชีวิตพระยาละแวก หลังจากนั้นมาราษฎรเมืองปราจิณก็อยู่เย็นเป็นสุข ไม่ถูกรบกวนจากพวกเขมรอีก

 || อ่านต่อ >>>

จังหวัด » จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ตราด ปราจีนบุรี ระยอง สระแก้ว

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย