ประวัติศาสตร์  ภูมิศาสตร์ บุคคลสำคัญ ประเทศและทวีป »

ประเทศไทย 77 จังหวัด »

จังหวัดเชียงใหม่

ข้อมูล » ประวัติศาสตร์-ความเป็นมา ศิลปะ-วัฒนธรรม-ประเพณี สถานที่สำคัญ-แหล่งท่องเที่ยว โรงแรม-ที่พัก

ประวัติศาสตร์-ความเป็นมา จังหวัดเชียงใหม่(2)

นอกเหนือจากเมืองต่างๆแล้ว บริเวณลุ่มแม่น้ำปิงมีชุมชนสำคัญอีกชุมชนหนึ่ง ที่มีความเจริญรุ่งเรืองและมีวิวัฒนาการสืบต่อกันมาเป็นเวลานานคือ เมืองหริภุญไชย หรือลำพูน มีเอกสารหลายเรื่องที่กล่าวถึงเมืองนี้ ได้แก่ ตำนานลำพูน ตำนานพระธาตุหริภุญไชย จามเทวีวงศ์ ตำนานมูลศาสนา และชินกาลมาลีปกรณ์ นอกจากนี้ยังมีการศึกษาค้นคว้าจากโบราณสถานและโบราณวัตถุ ซากเมืองโบราณต่างๆ เช่น เมืองท่ากาน เวียงมะโน เวียงเถาะ ซึ่งเป็นเมืองบริวารของลำพูน อาจารย์ ร.ศ.ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม ได้ศึกษาเรื่องนี้อย่างละเอียด ในรายงานเรื่องแคว้นหริภุญไชย : โบราณคดีไทยในทศวรรษที่ผ่านมา หลักฐานที่สำคัญอีกชิ้นหนึ่ง คือ ศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ 2 ได้กล่าวถึงเมืองลำพูน ซึ่งตรงสมัยพ่อขุนศรีนาวนำถมผู้ปกครองสุโขทัยก่อนสมัยพ่อขุนรามคำแหง จาก หลักฐานต่างๆ พอช่วยให้ทราบเรื่องราวของหริภุญไชยได้พอสรุปดังนี้ เมืองนี้ตามตำนานเล่าว่าสร้างขึ้นโดย ฤาษี ชื่อ วาสุเทพ เมื่อสร้างเสร็จได้ไปทูลเชิญ พระนางจามเทวีจากเมืองละโว้มาปกครอง ราว พ.ศ. 1200 พระนางได้นำบริวารและพระสงฆ์เสด็จขึ้นมาทางน้ำมาปกครองเมืองหริภุญไชย และมีเชื้อสายของพระนางปกครองสืบมาหลายพระองค์ นับเวลานานถึงหกร้อยปี จนกระทั่งถึงสมัยพระยาบาหรือยีบา ได้เสียเอกราชแก่พระยามังรายในราว พ.ศ. 1824 หริภุญไชยจึงมีสภาพเป็นเมืองหนึ่งของดินแดนล้านนาไทยเรื่อยมา และในสมัยพระยากาวิละได้ฟื้นฟูเมืองลำพูนให้เจริญขึ้น และมอบให้เชื้อสายของพระองค์ไปปกครองเรื่อยมา อนึ่งในสมัยพระนางจามเทวีนี้ พระนางได้ทรงสร้างเมืองลำปางหรือเขลางค์นครให้ราชบุตรปกครองอีกเมืองหนึ่งด้วย5 เมืองหริภุญไชยเป็นเมืองโบราณที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีศิลปวัฒนธรรมและพระพุทธศาสนารุ่งเรืองมาก มีศิลปกรรมที่มีลักษณะของตนเอง คือ ศิลปสกุลช่างหริภุญไชย ตลอดจนพบว่ามีการใช้ภาษามอญโบราณในศิลาจารึกของหริภุญไชยด้วย

เมื่อพระยามังราย ราชบุตรของพระยาลาวเมงและพระนางเทพคำข่าย เจ้าหญิงแห่งเมืองเชียงรุ้ง เสด็จขึ้นครองราชย์ที่เมืองเงินยางเชียงแสน ประมาณ พ.ศ. 1805 พระองค์ทรงมีพระประสงค์ที่จะรวบรวมแคว้นต่างๆ ที่กระจัดกระจายและเป็นอิสระต่างๆ ให้รวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยจะทรงขยายอำนาจลงมาทางใต้บริเวณลุ่มแม่น้ำปิง และพยายามขยายลงไปถึงบริเวณ ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและสาละวิน บริเวณลุ่มแม่น้ำปิงขณะนั้นมีเมืองหริภุญไชยเป็นเมืองสำคัญและมีความอุดมสมบูรณ์มั่งคั่งทางเศรษฐกิจ พระยามังรายมีพระประสงค์จะยึดครองเมืองหริภุญไชยไว้ในอำนาจ จึงทรงย้ายเมืองหลวงหรือทรงมาสร้างเมืองอีกเมืองหนึ่ง คือ เมืองเชียงรายทางใต้ลงมาในราว พ.ศ. 1806 แต่พระองค์พบว่าภูมิประเทศไม่เหมาะแก่การขยายอำนาจลงมาทางใต้ จึงทรงย้ายไปประทับที่เมืองฝางในราวปี พ.ศ. 1817 ที่เมืองนี้อยู่ไม่ไกลจากเมืองหริภุญไชยมากนัก พระองค์ทราบถึงความมั่นคงและความมั่งคั่งของรัฐหริภุญไชยดี จึงดำเนินนโยบายแบบบ่อนทำลาย โดยให้อ้ายฟ้าทหารของพระองค์มาเป็นไส้ศึกในเมืองหริภุญไชย โดยใช้เวลาทั้งหมดเกือบ 7 ปี อ้ายฟ้าสามารถทำให้ประชาชนในเมืองนี้ไม่พอใจพระยายีบาหรือพระยาบา กษัตริย์ของตนโดยอ้ายฟ้าดำเนินกลวิธีต่างๆ หลายวิธี เช่น เกณฑ์แรงงานอย่างหนักในการไปขุดเหมืองชลประทาน ที่เรียกว่า เหมืองอ้ายฟ้าหรือเหมืองแข็ง เกณฑ์ประชาชนตัดไม้ลากไม้ในฤดูฝนมาทำคุ้มที่ประทับของพระยาบา ทำให้ไร่นาของประชาชนได้รับความเสียหายมาก นอกจากนี้อ้ายฟ้ายังได้กราบทูลให้พระยาบาห้ามประชาชนเข้ามาร้องทุกข์กับกษัตริย์โดยตรงดังเช่นที่เคยปฏิบัติมา ให้ทุกคนติดต่อร้องทุกข์กับอ้ายฟ้า แล้วอ้ายฟ้าก็ตัดสินไม่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนมาก อ้ายฟ้าได้กล่าวกับประชาชนว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่ตนทำไปนั้นเป็นบัญชาจากพระยาบา ทั้งสิ้น ประชาชนจึงไม่ชอบพระยาบามาก และเมื่อมีศึกพระยามังรายมาประชิด ประชาชนจึงไม่กระตือรือร้นจะช่วยรบกับผู้ปกครอง ในที่สุดพระยามังรายจึงยึดหริภุญไชยไว้ในอำนาจได้สำเร็จเมื่อ พ.ศ. 1824

เมื่อพระยามังรายได้เมืองหริภุญไชยแล้ว ได้ประทับอยู่ระยะหนึ่ง แล้วยกให้อ้ายฟ้าไป ปกครองแทนพระองค์ โดยพระองค์ได้สร้างเมืองใหม่อีกเมืองหนึ่งทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ชื่อเมืองชะแว เมืองนี้น้ำท่วมจึงได้ย้ายมาสร้างเมืองอีกเมืองหนึ่ง คือ เวียงกุมกาม ซึ่งอยู่ในเขตอำเภอสารภีในปัจจุบัน เมืองนี้น้ำก็ท่วมอีก ไม่เหมาะจะให้เป็นเมืองหลวงถาวรได้ จึงได้พยายามแสวงหาทำเล ภูมิประเทศเพื่อสร้างเมืองใหม่

ในที่สุดทรงพบบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำปิง ตอนเหนือของเวียงกุมกาม บริเวณเชิงภูเขาสุเทพ จึงได้เชิญพระสหายของพระองค์มาช่วยคิดการสร้างเมือง คือ พระยาร่วง (พ่อขุนรามคำแหง) แห่งเมืองสุโขทัย พระยางำเมืองแห่งเมืองพะเยา   สร้างเสร็จใน พ.ศ. 1839 จึงให้ชื่อเมืองนี้ว่า นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ เป็น ศูนย์กลางการเมืองการปกครองและศูนย์กลางความเจริญของล้านนาตลอดมา

เมื่อพ่อขุนมังรายสร้างเมืองเชียงใหม่แล้ว ได้ทรงปกครองและประทับอยู่เมืองนี้ตลอด พระชนม์ชีพของพระองค์ พระองค์เป็นกษัตริย์ที่มีพระปรีชาสามารถ ทรงเป็นนักรบ นักปกครอง และอาจจะกล่าวว่าพระองค์เป็นนักพัฒนาก็ได้ ด้วยทรงเป็นผู้นำในการสร้างบ้านเมืองหลายเมือง ด้านการปกครองในสมัยนี้สันนิษฐานว่าพ่อขุนมังรายจะทรงปกครองเฉพาะเมืองเชียงใหม่เท่านั้น ส่วนเมืองอื่นเช่นเมืองเชียงราย เมืองหริภุญไชยนั้น คงแต่งตั้งให้ราชโอรสหรือข้าราชการขุนนางที่มีความสามารถไปปกครองแทน เช่น เมืองเชียงรายได้ให้ราชโอรสขุนครามไปปกครอง เมืองหริภุญไชยให้อ้ายฟ้าอามาตย์เอกไปครอง ส่วนด้านการตุลาการหรือการพิจารณาคดีนั้น สันนิษฐานว่าพ่อขุนมังรายจะทรงรวบรวมกฎหมายขึ้นใช้ปกครองที่เรียกว่า มังรายศาสตร์ ซึ่งสันนิษฐานว่ามังรายศาสตร์นี้อาจจะได้รับ อิทธิพลมาจากกฎหมายธรรมศาสตร์ของมอญจากหริภุญไชยก็อาจเป็นได้ และกฎหมายนี้คงได้ใช้ ปกครองบ้านเมืองสืบมา ด้านการส่งเสริมอาชีพประชาชน พ่อขุนมังรายได้ส่งเสริมให้ประชาชนประกอบอาชีพหลายอาชีพ นอกเหนือจากการเกษตรกรรม

ด้านความสัมพันธ์กับอาณาจักรเพื่อนบ้านนั้น เชียงใหม่มีความสัมพันธ์อันดีกับอาณาจักรสุโขทัย และอาณาจักรพะเยาตลอดจนอาณาจักรพุกาม ซึ่งความสัมพันธ์นี้จะนำไปสู่การแลกเปลี่ยนและการรับเอาวัฒนธรรมระหว่างล้านนาไทยเชียงใหม่กับอาณาจักรใกล้เคียง

ราว พ.ศ. 1854 เมื่อสิ้นสมัยพ่อขุนมังรายแล้ว เชียงใหม่ได้ปกครองโดยราชโอรสเชื้อสายราชวงศ์มังรายอีกหลายพระองค์ คือ พระยาคราม (พ.ศ. 1855 - 1855) พระยาแสนภู (พ.ศ. 1855 - 1887) พระยาน้ำท่วม (พ.ศ. 1865 - 1866) พระยาคำฟู (พ.ศ. 1866 - 1869) และ (พ.ศ. 1878-1879) และ พระยาผายู (พ.ศ. 1880 - 1899) ในช่วงระยะเวลาที่พระยาดังกล่าวปกครองบ้านเมืองนั้น บ้านเมืองอยู่ในระยะก่อร่างสร้างเมืองให้มั่นคงยิ่งขึ้น ในที่นี้จะขอกล่าวถึงพระราชกรณียกิจของกษัตริย์เชียงใหม่เฉพาะพระองค์ที่สำคัญเท่านั้น หลังจากสมัยพระยาผายูแล้วกษัตริย์องค์ต่อมาคือ พระยากือนา ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 1898 - 1928 พระยากือนา ทรงเป็นราชโอรสของพระยาผายูเป็นกษัตริย์ลำดับที่ 6 ของราชวงศ์มังราย ในรัชสมัยของพระองค์นั้น พุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ได้เข้ามาแพร่หลายและประดิษฐานในล้านนาไทย

กล่าวคือ ในราว พ.ศ. 1912 พระยากือนาได้อาราธนาพระสงฆ์จากอาณาจักรสุโขทัย สุมนเถระนำเอาพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์เข้ามาเผยแพร่ประดิษฐานในล้านนาไทยและเจริญรุ่งเรืองสืบมาจนทุกวันนี้ ในสมัยโบราณก่อนที่รับลัทธิลังกาวงศ์เข้ามาเผยแพร่พุทธศาสนาในล้านนานั้น จากหลักฐานทางโบราณคดีตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีบางอย่าง สันนิษฐานว่าล้านนาไทยจะนับถือพุทธศาสนามาก่อนแล้ว เป็นนิกายมหายาน เพราะได้มีการขุดพบเศียรพระพุทธรูปแบบทวารวดีที่หริภุญไชย และพบเจดีย์มนต์ตามคติมหายาน เพราะได้มีการขุดพบเศียรพระพุทธรูปแบบทวารวดีที่หริภุญไชย และพบเจดีย์มนต์ตามคติมหายานที่อำเภอเชียงแสนและล้านนาไทยมีประเพณีทำบุญปอยข้าวสัง อุทิศส่วนกุศลแก่ ผู้ตายซึ่งประเพณีนี้เหมือนพิธีกงเต๊กตามคติมหายาน เป็นต้น เมื่อพุทธศาสนาเข้ามาแพร่หลายในล้านนาแล้ว มีผลทำให้มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างล้านนาไทยกับอาณาจักรสุโขทัย ทั้งทางศาสนา ศิลปกรรม ประเพณีและพุทธศาสนาได้เข้ามามีบทบาทในการดำเนินชีวิตของคนล้านนาไทยด้วย พระสงฆ์มีบทบาทและได้รับการยกย่องจากสังคมล้านนามาก เช่น ทางด้านการศึกษา พระสงฆ์มีฐานะเป็นครูของประชาชน ด้านการเมืองตั้งแต่สมัย พระยากือนาเป็นต้นไปพบหลักฐานว่าพระสงฆ์ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพิจารณาตัดสินคดีต่างๆ ร่วมกับขุนนางของบ้านเมือง นอกจากนี้พระสงฆ์ยังมีบทบาทในการว่ากล่าวตักเตือนกษัตริย์ล้านนาไทยผู้ประพฤติไม่ถูกต้องอีกด้วย และเป็นที่พึ่งของประชาชนในยามบ้านเมืองอยู่ในความยุ่งยาก เช่น สงคราม เป็นต้น นับว่าพระสงฆ์เริ่มมีบทบาทตั้งแต่สมัยพระเจ้ากือนาเป็นต้นไป

<<< ย้อนกลับ || อ่านต่อ >>>

จังหวัด » กำแพงเพชร เชียงราย เชียงใหม่ ตาก นครสวรรค์ น่าน พะเยา พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน สุโขทัย อุตรดิตถ์

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย