ประวัติศาสตร์  ภูมิศาสตร์ บุคคลสำคัญ ประเทศและทวีป »

ประเทศไทย 77 จังหวัด »

จังหวัดอุบลราชธานี

ข้อมูล » ประวัติศาสตร์-ความเป็นมา ศิลปะ-วัฒนธรรม-ประเพณี สถานที่สำคัญ-แหล่งท่องเที่ยว โรงแรม-ที่พัก

ประวัติศาสตร์-ความเป็นมา จังหวัดอุบลราชธานี

ในสมัยก่อนกรุงรัตนโกสินทร์ ดินแดนอันเป็นที่ตั้งของเมืองหรือจังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดใกล้เคียงในปัจจุบัน ได้มีกลุ่มชนตั้งหลักแหล่งทำมาหากินอยู่ประปรายบ้างแล้ว ส่วนใหญ่เป็นพวกที่สืบเชื้อสายมาจากขอมหรือที่เรียกกันในสมัยต่อมาว่าพวกข่า ส่วย กวย ฯลฯ ในราวพุทธศตวรรษที่ 20ได้เกิดการแย่งชิงราชสมบัติขึ้นในกรุงศรีสัตนาคนหุต (เวียงจันทน์) ไพร่บ้านพลเมืองต่างอพยพหลบภัยสงครามข้ามลำน้ำโขงมาทางฝั่งตะวันตก และได้ตั้งหลักแหล่งทำมาหากินอยู่ตามบริเวณพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด และบริเวณใกล้เคียง (ในปัจจุบัน) เรื่อยลงไปโดยตลอดจนถึงเมืองนครจำปาศักดิ์ โดยแยกย้ายกันตั้งบ้านเรือนอยู่เป็นกลุ่ม ๆ ในท้องที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ บุคคลผู้เป็นที่เคารพนับถือของแต่ละกลุ่มชน ก็จะได้รับการยกย่องนับถือและยอมรับให้เป็นหัวหน้าปกครองดูแลพลเมืองให้อยู่เย็นเป็นสุข และพ้นจากการรุกรานของกรุงศรีสัตนาคนหุต

ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2310 ขณะที่กรุงศรีอยุธยากำลังจะเสียแก่พม่านั้น ได้เกิดสงครามกลางเมืองเพื่อแย่งชิงราชสมบัติในกรุงศรีสัตนาคนหุตอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้เพราะพระเจ้าองค์หล่อผู้ครองกรุงศรี-สัตนาคนหุตถึงแก่กรรม โดยไม่มีโอรสสืบราชสมบัติ แสนท้าวพระยานายวอ และนายตา จึงพร้อมใจกันอัญเชิญกุมารองค์หนึ่ง (ในจำนวน 2 องค์ ที่สืบเชื้อสายมาจากพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต องค์ก่อนและได้หลบหนีภัยการเมืองมาอยู่กับนายวอ นายตา เมื่อคราวพระเจ้าองค์หล่อยกกำลังกองทัพมาจับพระ-ยาแสนเมืองฆ่าเสีย เมื่อ พ.ศ. 2275) ขึ้นครองกรุงศรีสัตนาคนหุตทรงพระนามว่า “พระเจ้าสิริบุญสาร”

เมื่อพระเจ้าสิริบุญสาร ครองกรุงศรีสัตนาคนหุต พระองค์ทรงแต่งตั้งราชกุมารผู้อนุชาเป็นพระมหาอุปราช พร้อมทั้งทรงแต่งตั้งนายวอ นายตา เป็นเสนาบดี ให้มีบรรดาศักดิ์เป็นพระ เป็นผลให้พระวอพระตาเกิดความโทมนัสเป็นอย่างยิ่ง ด้วยมิได้เป็นพระมหาอุปราชดังประสงค์ ดังนั้น พระวอพระตาจึงอพยพครอบครัวไพร่พลจากกรุงศรีสัตนาคนหุตข้ามลำน้ำโขงมาทางฟากตะวันตก ตั้งหลักแหล่งอยู่ที่เมืองหนองบัวลำภู ดำเนินการปรับปรุงสภาพเมืองใหม่ สร้างค่ายประตูหอรบให้แข็งแรง เปลี่ยนนามเมืองใหม่ว่า “เมืองนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน” หรือที่ปรากฏในเอกสารบางแห่งว่า “เมืองจำปานครขวางกาบแก้วบัวบาน”

พระเจ้าสิริบุญสารทรงทราบข่าวการสร้างเมืองใหม่ของพระวอ พระตา พระองค์เข้าพระทัยว่าการที่พระวอ พระตา ปรับปรุงสร้างบ้านเมืองก็เพราะจะคิดการศึกต่อพระองค์ จึงทรงให้แสนท้าว-พระยาไปห้ามปรามพระวอ พระตาไว้แต่ทั้งสองกับไม่ยอมรับฟัง พระเจ้าสิริบุญสารทรงมีรับสั่งให้ยกกองทัพไปปราบปราม ทั้งสองฝ่ายสู้รบกันอยู่เป็นเวลานานถึงสามปีก็ไม่สามารถจะเอาชนะกันได้ พระ-วอ พระตา เห็นว่ากำลังของฝ่ายตนมีน้อยกว่าคงจะต้านทานไว้ไม่ได้ ในที่สุดจึงได้แต่งเครื่องราชบรรณาการไปอ่อนน้อมต่อพม่า พร้อมทั้งขอกำลังกองทัพมาช่วยการศึกที่เกิดขึ้น แต่เมื่อทัพพม่ายกมาถึงมองละแงะ แม่ทัพพม่ากลับนำทัพเข้าช่วยพระเจ้าสิริบุญสารทำสงครามกับพระวอ พระตา แม้ว่าพระวอ พระตา และไพร่พลจะพยายามต้านทานกองทัพฝ่ายพระเจ้าสิริบุญสารและทัพมองละแงะอย่างสุดความสามารถก็ตาม แต่ด้วยจำนวนไพร่พลน้อยกว่าจึงพ่ายแพ้ไปในที่สุด พระตาเสียชีวิตในสงคราม ดังนั้น พระวอ ท้าวคำผง ท้าวฝ่ายหน้า ท้าวทิดพรหม บุตรพระตา และท้าวก่ำบุตรพระวอ จึงพากันอพยพครอบครัวไพร่พลหนีภัยลงมาทางใต้ จนถึงเมืองนครจำปาศักดิ์ได้รับความอนุเคราะห์จากพระเจ้าองค์หลวงไชยกุมาร เจ้าเมืองนครจำปาศักดิ์ ให้ตั้งบ้านเรือนอาศัยอยู่ในบริเวณตำบลเวียงดอน-กอง หรือที่เรียกว่าบ้านดู่บ้านแก แขวงเมืองนครจำปาศักดิ์

ต่อมาใน พ.ศ. 2314 (จ.ศ. 1133 ปีเถาะ ตรีศก) รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระเจ้าสิริบุญสารทราบว่า พระวออพยพครอบครัวไพร่พลมาตั้งอยู่ที่เวียงดอนกอง แขวงเมืองนคร-จำปาศักดิ์ จึงให้อัครฮาดคุมกำลังกองทัพลงมาปราบปรามพระวออีกเมื่อพระเจ้าองค์หลวงไชยกุมาร ทราบเหตุ จึงให้พระยาพลเชียงสายกทัพจากเมืองนครจำปาศักดิ์ มาช่วยพระวอต้านทานทัพของพระ-เจ้าสิริบุญสาร พร้อมทั้งทรงมีศุภอักษรไปถึงพระเจ้าสิริบุญสาร เพื่อขอยกโทษให้พระวอ พระเจ้าสิริบุญ-สารมีพระราชสาส์นตอบมาว่า “พระวอเป็นคนอกตัญญู จะเลี้ยงไว้ก็คงไม่มีความเจริญแต่เมื่อเจ้าเมืองนครจำปาศักดิ์ให้มาขอโทษไว้ดังนี้แล้ว ก็จะยกให้มิให้เสียไมตรี” จากนั้นพระองค์จึงโปรดให้อัครฮาดยกกำลังกองทัพกลับกรุงศรีสัตนาคนหุต

ในปลายปี พ.ศ. 2314 พระวอเกิดขัดใจกับพระเจ้าองค์หลวงไชยกุมารเกี่ยวกับกรณีการสร้างเมืองใหม่ที่ตำบลศรีสุมังของพระเจ้าองค์หลวงไชยกุมาร จึงอพยพครอบครัวไพร่พลมาอยู่ที่บริเวณดอนมดแดง (ริมฝั่งซ้ายแม่น้ำมูล ห่างจากที่ตั้งศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี ไปทางทิศตะวันออกระยะทางประมาณ 16 กิโลเมตร) และได้แต่งตั้งให้ท้าวเพี้ยคุมเครื่องราชบรรณาการไปถึงเจ้าเมืองนครราชสีมา ขอเป็นข้าขอบขัณฑสีมาของราชอาณาจักรสยามเพื่อหามิตรประเทศเพราะมีศัตรูอยู่รอบด้าน ทางเหนือก็พระเจ้าสิริบุญสารแห่งกรุงศรีสัตนาคนหุต ทางใต้ก็พระเจ้าองค์หลวงไชยกุมารแห่งเมืองนครจำปาศักดิ์ ประกอบกับยังไม่มีกองกำลังที่เข้มแข็งพอที่จะต่อสู้กับข้าศึกศัตรูได้ในยามที่ถูกศัตรูรุกราน แต่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ก็มิได้ทรงดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้แต่ประการใด คงเนื่องด้วยเพราะกำลังติดพันกับศึกพม่าและอีกประการหนึ่งในช่วงระยะเวลานั้น ดินแดนที่ราบสูงเลยเมืองนครราชสีมาขึ้นไปนั้น เป็นอาณาเขตของกรุงศรีสัตนาคนหุต ซึ่งพระเจ้าสิริบุญสาร และพระเจ้าตากสินมหาราชได้เคยทำสัญญาทางพระราชไมตรีกันไว้

 || อ่านต่อ >>>

จังหวัด » กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครพนม นครราชสีมา บุรีรัมย์ บึงกาฬ มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย ศรีสะเกษ สกลนคร สุรินทร์ หนองคาย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ อุดรธานี อุบลราชธานี

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย