ประวัติศาสตร์  ภูมิศาสตร์ บุคคลสำคัญ ประเทศและทวีป »

ประเทศไทย 77 จังหวัด »

จังหวัดอุบลราชธานี

ข้อมูล » ประวัติศาสตร์-ความเป็นมา ศิลปะ-วัฒนธรรม-ประเพณี สถานที่สำคัญ-แหล่งท่องเที่ยว โรงแรม-ที่พัก

สถานที่สำคัญ-แหล่งท่องเที่ยว จังหวัดอุบลราชธานี

วัดมหาวนาราม
ตั้งอยู่ที่ถนนสรรพสิทธิ์   เป็นวัดเก่าแก่เดิมเป็นเพียงสำนักสงฆ์ฝ่ายวิปัสสนากัมมัฎฐานตั้งขึ้นในเวลาใกล้เคียงกับการสร้างเมืองอุบลราชธานี ต่อมาได้ยกฐานะเป็นวัดและถือเป็นวัดประจำเจ้าเมืองคนที่สอง จึงให้ชื่อว่าวัดป่าหลวงมณีโชติ แต่ชาวบ้านเรียกว่า วัดหนองตะพังหรือหนองสระพัง ต่อมาจึงเปลี่ยนชื่ออีกครั้งตามสมัยนิยมเป็นวัดมหาวนาราม สร้างเมื่อ พ.ศ. 2350 โดยมีพระมหาราชครูศรีสัทธรรมวงศา เป็นเจ้าอาวาสรูปแรก และเป็นผู้สร้างพระพุทธรูป พระอินทร์แปง หรือพระเจ้าใหญ่อินทร์แปลงซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ก่ออิฐถือปูนพร้อมกับลงรักปิดทองลักษณะศิลปะแบบลาว

วัดบูรพาราม
อยู่ในตัวเมืองอุบลราชธานี เป็นวัดที่เคยเป็นที่จำพรรษาของอาจารย์สี ทาชยเสโน อาจารย์มั่น ภูริทัตตะเถระ อาจารย์ลี ธัมมธโร อาจารย์เสาว์ กันตสีโล และอาจารย์สิงห์ ขันตยคโม ปัจจุบันคงมีแต่รูปเหมือนทำจากหินบริสุทธิ์จากลำน้ำต่างๆ เป็นที่เคารพสักการะของชาวเมือง

วัดสุปัฏนารามวรวิหาร
อยู่ถนนสมเด็จ เป็นวัดธรรมยุติ วัดแรกของจังหวัดอุบลราชธานี จัดสร้างโดยพระราชศรัทธาในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โดยได้เริ่มสร้างวัดในปี พ.ศ. 2396 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯพระราชทานนามว่าวัดสุปัฎนาราม ลักษณะของพระอุโบสถแบ่งเป็นสามส่วน คือ ส่วนหลังคาเป็นศิลปะแบบไทย ส่วนกลางเป็นศิลปะตะวันตก และส่วนฐานเป็นศิลปะแบบขอม ภายในพระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานพระประธานของวัด คือพระสัพพัญญูเจ้า เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย

ทุ่งศรีเมือง
ตั้งอยู่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัด เป็นสวนสาธารณะประจำเมืองที่มีสภาพภูมิทัศน์งดงาม เดิมเป็นที่ทำนาของเจ้าเมืองต่อมาสมัยรัชกาลที่ 5 โปรดฯ ให้งดการทำนาที่ทุ่งศรีเมือง เพื่อรักษาไว้ให้เป็นที่พักผ่อนของชาวเมือง และเป็นที่จัดเทศกาลงานบุญต่างๆ ทุ่งศรีเมืองมีประตูทางเข้า 4 ทิศ คือ ประตูอุบลเดชประชารักษ์ อุบลศักดิ์ประชาบาล อุบลการประชานิตย์ และอุบลกิจประชากร ภายในทุ่งศรีเมือง มีปฏิมากรรมจำลองเทียนพรรษาแกะสลักที่งดงาม มีสวนสุขภาพ และสนามเด็กเล่น ภายในทุ่งศรีเมืองมีสถานที่น่าสนใจที่สำคัญคือ ศาลหลักเมือง ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของทุ่งศรีเมือง เป็นสถานที่สักการะของชาวเมือ

วัดทุ่งศรีเมือง
ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมือง สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้สร้างวัดนี้คือ ท่านเจ้าอริยวงศาจารย์ญาณวิมลอุบล คณะภิบาลสังฆปาโมก(สุ้ย) เจ้าคณะเมืองอุบลราชธานี ในสมัยนั้นท่านได้เคยศึกษาพระธรรมวินัย ที่วัดสระเกศราชวรวิหาร กรุงเทพฯ ท่านจึงได้นำพระพุทธบาทจำลองจากวัดสระเกศฯ มายังอุบลราชธานี และได้สร้างหอพระพุทธบาทขึ้นเป็นที่ประดิษฐาน หอพระพุทธบาทหลังนี้คือ พระอุโบสถที่พระสงฆ์ใช้ทำสังฆกรรมมีลักษณะของศิลปะแบบรัตนโกสินทร์ตอนต้น และศิลปะเวียงจันทน์ผสมกันอยู่ ภายในมีจิตรกรรมฝาผนังทุกด้านเขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3

วัดศรีอุบลรัตนาราม
หรือวัดศรีทอง ตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ของศาลากลางจังหวัด สร้างเมื่อ พ.ศ. 2398 มีพระอุโบสถที่สร้างตามแบบพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรฯ กรุงเทพฯ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองคือพระแก้วบุษราคัม เป็นพระพุทธปฏิมากรปางมารวิชัย สมัยเชียงแสน แกะสลักจากแก้วบุศราคัม

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอุบลราชธานี
ตั้งอยู่ที่ถนนเขื่อนธานี เป็นอาคารปั้นหยาชั้นเดียว สร้างเมื่อ พ.ศ. 2461 เดิมใช้เป็นศาลากลางจังหวัด ต่อมาทางจังหวัดได้มอบอาคารหลังนี้ให้กรมศิลปากร เพื่อจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอุบลราชธานี ภายในมีการจัดแสดงเรื่องราวท้องถิ่น ได้แก่ สภาพภูมิศาสตร์ ประวัติการตั้งเมือง โบราณวัตถุซึ่งเป็นหลักฐานทางด้านศิลปโบราณคดี หัตถกรรมพื้นบ้าน การละเล่นพื้นเมือง และเครื่องใช้ของเจ้าเมืองอุบล

วัดแจ้ง
ตั้งอยู่ที่ถนนสรรพสิทธิ์ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2431 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระอุโบสถที่สร้างเสร็จในราวปี 2455   ได้รับการยกย่องว่ารูปทรงสวยงาม และมีงานจำหลักไม้ที่มีฝีมือแบบพื้นฐานโดยแท้   อุโบสถมีลักษณะไม่ใหญ่มาก ฐานเตี้ยหลังคาชั้นเดียวเดิมมุงด้วยกระเบื้องดินเผา มีบันไดอยู่ด้านหน้า ราวบันไดปั้นเป็นรูปจระเข้หมอบ ส่วนหน้าบันหน้าอุดปีกนก และรวงผึ้งสลักไม้เป็นลายดอกบัว กอบัวอย่างสวยงาม หางหงส์ซึ่งมีลักษณะพิเศษคือ ทำเป็นรูปหัวนาคตรงหงอนสะบัดปลายเป็นนกเปลว

หาดวัดใต้
อยู่ในเขตเทศบาลเมือง ลักษณะเป็นเกาะหาดทรายกลางลำน้ำมูล

วัดบ้านนาเมือง
ตั้งอยู่ที่บ้านนาเมือง เป็นวัดที่มีพระอุโบสถแปลกตา สร้างเป็นรูปเรือสุพรรณหงส์ประดับตกแต่งด้วยเซรามิค

วัดหนองบัว
อยู่ชานเมืองอุบลราชธานี ภายในวัดมีสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจ คือ พระธาตุเจดีย์ศรีมหาโพธิ์ ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์ครบรอบ 25 ศตวรรษ ของพุทธศาสนาในปี พ.ศ. 2500 โดยได้จำลองแบบมาจากเจดีย์ที่พุทธคยา ประเทศอินเดีย นับเป็นวัดเดียวในภาคอีสานที่มีเจดีย์แบบนี้

วัดหนองป่าพง
เมื่อ พ.ศ. 2497 หลวงปู่ชา (พระโพธิญาณเถร) ได้ทำการบุกเบิกปรับปรุงพื้นที่ให้เหมาะสมแก่การปฎิบัติธรรมและได้จัดตั้งเป็นสำนักสงฆ์ขึ้นในปีนั้น และเปลี่ยนสภาพเป็นวัดในโอกาสต่อมา เป็นวัดที่มีบรรยากาศร่มรื่นเงียบสงบ เหมาะแก่การเล่าเรียนพระธรรมวินัยและปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน

วัดป่านานาชาติ
ตั้งอยู่ที่บ้านบุ่งหวาย เป็นสาขาที่ 19 ของวัดหนองป่าพง ในวัดจะมีชาวต่างประเทศบวชจำพรรษาเป็นจำนวนมาก เพื่อศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย และปฏิบัติทางวิปัสสนากัมมัฏฐาน พระภิกษุชาวต่างประเทศในวัดเกือบทุกรูปสามารถพูดภาษาไทย สวดภาษาบาลีได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังเป็นพระที่เคร่งครัดในพระธรรมวินัย

วัดภูเขาแก้ว
อยู่บนเนินเขา   ก่อนถึงอำเภอพิบูลมังสาหารประมาณ 1 กิโลเมตร ภายในวัดมีพระอุโบสถสวยงาม ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบทั้งหลัง ภายในพระอุโบสถจะตกแต่งด้วยภาพนูนสูงอยู่เหนือบานประตู และหน้าต่างขึ้นไปเป็นเรื่องราวและภาพจำลองเกี่ยวกับพระธาตุที่สำคัญของประเทศไทย

แก่งสะพือ
เป็นแก่งหินที่สวยงามในแม่น้ำมูล ตั้งอยู่ในตัวอำเภอพิบูลมังสาหาร เป็นแก่งที่มีหินน้อยใหญ่สลับซับซ้อน เมื่อกระแสน้ำไหลผ่านกระทบหิน เกิดเป็นฟองขาวมีเสียงดังตลอดเวลา หน้าฝนน้ำจะท่วมมองไม่เห็นแก่ง ในเดือนเมษายนของทุกปี ช่วงเทศกาลสงกรานต์ มีการจัดงานประเพณีสงกรานต์แก่งสะพือ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและประเพณีอันดีงามด้วย

เขื่อนสิรินธร
ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมือง 70 กิโลเมตร   เป็นเขื่อนหินแกนดินเหนียว สร้างกั้นลำโดมน้อยอันเป็นสาขาของแม่น้ำมูล   อำนวยประโยชน์ในการผลิตกระแสไฟฟ้าและการชลประทาน บริเวณริมทะเลสาบมีสวนสิรินธร ปลูกไม้ดอกไม้ประดับ มีรูปปั้นและน้ำพุสวยงาม

ช่องเม็ก
อยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ 90 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 217 เป็นจุดผ่านแดนถาวรไทย-ลาว ที่มีถนนเชื่อมต่อสู่แขวงจำปาสักซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญทางภาคใต้ของประเทศลาว ในบริเวณด่านนอกจากจะเป็นที่ตั้งของหน่วยราชการ แล้วยังมีตลาดสินค้าชายแดนร้านค้าปลอดภาษีในเขตประเทศลาว

วัดทุ่งศรีวิไล
อยู่ที่บ้านชีทวน มีหลวงพ่อพระพุทธวิเศษ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปหินศิลาแลงแกะสลักปางนาคปรก ศิลปะทวารวดี เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง ที่เคารพสักการะของชาวบ้านชีทวน

อุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ
เขตอำเภอสิรินธรและอำเภอโขงเจียม ภูมิประเทศเป็นที่ราบสูงและเนินเขาเตี้ยๆ สภาพป่าทั่วไปเป็นป่าแพะหรือป่าแดง ต้นไม้ในป่ามีลักษณะแคระแกรน บางส่วนเป็นทุ่งหญ้า

ถ้ำเหวสินธุ์ชัย
บริเวณถ้ำมีพระพุทธไสยาสน์บรรยากาศสงบเงียบ เหมาะสำหรับเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม รอบๆวัดมีก้อนหินขนาดใหญ่เรียงรายอยู่มากมาย มีต้นไม้และดอกไม้ตามฤดูกาลสวยงาม มีน้ำตกไหลจากหน้าผาด้านบนผ่านลงมาบริเวณด้านหน้าพระนอน ก่อนที่จะตกลงสู่หุบเหวเบื้องล่าง

วัดถ้ำคูหาสวรรค์
สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2521 โดย หลวงปู่คำคนิง จุลมณี ซึ่งใช้เป็นที่ปฏิบัติธรรมจำพรรษา ปัจจุบันหลวงปู่ท่านได้มรณภาพแล้ว แต่ร่างกายของท่านไม่เน่าเปื่อย บรรดาลูกศิษย์ได้เก็บร่างของท่านไว้ในโลงแก้วเพื่อบูชา

เขื่อนปากมูล
เป็นเขื่อนหินถมแกนดินเหนียวสร้างกั้นแม่น้ำมูลที่บ้านหัวเหว่ อำเภอโขงเจียม เพื่อประโยชน์ในด้านการเกษตรและผลิตกระแสไฟฟ้า

อุทยานแห่งชาติผาแต้ม
ครอบคลุมพื้นที่อำเภอโขงเจียม อำเภอศรีเมืองใหม่ และอำเภอโพธิ์ไทรมีพื้นที่ติดกับประเทศลาว โดยมีแม่น้ำโขงเป็นเส้นแบ่งพรมแดน   สภาพภูมิประเทศเป็นที่ราบสูงและเนินเขา มีหน้าผาสูงชันซึ่งเกิดจากการแยกตัวของผิวโลก สภาพป่าโดยทั่วไปเป็นป่าเต็งรัง มีหินทรายลักษณะแปลกตากระจายอยู่ทั่วบริเวณ มีพันธุ์ไม้ดอกที่สวยงามขึ้นอยู่ตามลานหิน

น้ำตกห้วยทรายใหญ่
อยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าบุณฑริก-เขายอดมน เป็นน้ำตกที่สวยงาม ลักษณะเป็นน้ำตกที่ไหลมาตามลานหินลดหลั่นลงไปด้านล่าง บริเวณร่มรื่นมีน้ำมากในช่วงปลายฤดูฝน

อุทยานแห่งชาติภูจอง-นายอย
ในเขตอำเภอบุณฑริก อำเภอนาจะหลวย และอำเภอน้ำยืน มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศลาวและกัมพูชาหรือที่เรียกว่า สามเหลี่ยมมรกต พื้นที่เป็นภูเขาในเทือกเขาพนมดงรัก สภาพป่ามีความอุดมสมบูรณ์

แก่งลำดวน
อยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ายอดโดม เป็นน้ำตกที่ไหลมาตามธารหิน มีต้นไม้ร่มรื่นโดยเฉพาะต้นลำดวนซึ่งมีอยู่มากในบริเวณนี้ มีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติผ่านถ้ำและแก่งต่าง ๆ

ปราสาทบ้านเบ็ญ
ตั้งอยู่ที่บ้านหนองอ้ม เป็นศาสนสถานขอมขนาดย่อมประกอบด้วยปรางค์อิฐ 3 หลัง ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงที่สร้างแยกกัน กรมศิลปากรได้ทำการขุดแต่งในปี พ.ศ. 2533 ได้พบทับหลังรูปเทพนพเคราะห์ หรือเทวดาประจำทิศทั้ง 9 องค์ และรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ อายุประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ 15 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 16

จังหวัด » กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครพนม นครราชสีมา บุรีรัมย์ บึงกาฬ มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย ศรีสะเกษ สกลนคร สุรินทร์ หนองคาย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ อุดรธานี อุบลราชธานี

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย