ประวัติศาสตร์  ภูมิศาสตร์ บุคคลสำคัญ ประเทศและทวีป »

ประเทศไทย 77 จังหวัด »

ข้อมูล » ประวัติศาสตร์-ความเป็นมา ศิลปะ-วัฒนธรรม-ประเพณี สถานที่สำคัญ-แหล่งท่องเที่ยว โรงแรม-ที่พัก

ประวัติศาสตร์-ความเป็นมา จังหวัดยะลา(2)

ปัตตานีเป็นเมืองประเทศราชของไทยตลอดมา จนกระทั่งกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า เมื่อปี พ.ศ.2310 จึงตั้งตนเป็นอิสระ

ในสมัยธนบุรี (พ.ศ.2310 - 2325)   เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ตั้งกรุงธนบุรีเป็นราชธานีแล้ว ได้เสด็จยกทัพหลวงลงไปปราบหัวเมืองปักษ์ใต้ ที่ตั้งตัวเป็นอิสระคือ เมืองนครศรีธรรมราชเมืองไทรบุรี และเมืองปัตตานี ตีได้ถึงเมืองนครศ่รีธรรมราช แต่เมืองไทรบุรีและเมืองปัตตานียังตั้งตัวเป็นอิสระอยู่

หลังจากไทยได้ปราบศึกเก้าทัพทางหัวเมืองปักษ์ใต้ได้เรียบร้อยในปี พ.ศ.2328 แล้ว สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ทรงมีพระราชดำริว่า หัวเมืองมลายู ซึ่งรวมทั้งเมืองปัตตานี ไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู เคยเป็นเมืองประเทศราชของไทย จึงโปรดให้มีหนังสือรับสั่งถึงบรรดาเจ้าเมืองมลายูเหล่านั้น บรรดาเจ้าเมืองมลายูอื่น ๆ ต่างเข้าอ่อนน้อมยอมเป็นเมืองประเทศราชดังเดิมแต่โดยดี ยกเว้นเจ้าเมืองปัตตานีไม่ยอมเข้าอ่อนน้อม พระองค์จึงมีรับสั่งให้กองทัพเข้าตีเมืองปัตตานี เมื่อตีได้แล้วก็ทรงแต่งตั้งชาวมลายู ผู้สวามิภักดิ์ต่อไทยคนหนึ่ง ให้เป็นเจ้าเมืองปัตตานี แต่ปรากฎว่าในปี พ.ศ.2334 เจ้าเมืองปัตตานีได้คบคิดกับโต๊ะสาหยัด ซึ่งอ้างตนเป็นผู้วิเศษกับพวกสลัดมลายู รวมกำลังกันเข้าโจมตีเมืองสงขลา จนพระยาสงขลา (บุญหุ้ย) และกรมการเมืองต้องหนีไปตั้งหลักที่เมืองพัทลุง และขอกำลังสนับสนุนจากเมืองนครศรีธรรมราชและทัพหลวงลงไปปราบปราม

หลังจากนั้นสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงโปรดเกล้า ฯ ให้ปรับปรุงการปกครองหัวเมืองปัตตานีให้แยกออกเป็นเจ็ดหัวเมือง คือ เมืองปัตตานี   เมืองหนองจิก  เมืองยะลา   เมืองรามัน  เมืองยะหริ่ง   เมืองสายบุรี และเมืองระแงะ โดยให้เมืองสงขลาคอยควบคุมดูแลหัวเมืองทั้งเจ็ด และยกฐานะเมืองสงขลา ขึ้นตรงต่อกรุงเทพ ฯ

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เกิดเหตุการณ์วุ่นวายในเมืองไทรบุรี โดยในปี พ.ศ.2374 ตนกูเคน หลานชายเจ้าพระยาไทรบุรี (ปะแงรัน) ได้รวบรวมกำลังชาวมลายูเข้าตีเมืองไทรบุรีซึ่งข้าราชการไทยปกครองอยู่ และตีได้สำเร็จ พระยาไทรบุรีและฝ่ายไทยถอยลงมาตั้งมั่นอยู่ที่เมืองพัทลุง ฝ่ายไทยได้ส่งกองทัพมาปราบ โดยขั้นแรกเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) ผุ้รับผิดชอบเมืองไทรบุรีได้ส่งพระสุรินทร ซึ่งเป็นข้าหลวงฝ่ายพระราชวังบวร อยู่ ณ เมืองนครศรีธรรมราช ให้ลงไปเกณฑ์กองทัพเมืองสงขลาและเมืองปัตตานี ซึ่งขึ้นอยู่กับเมืองสงขลา พระยาสงขลา (เซ่ง)   ให้พระสุรินทร์ออกไปเกณฑ์กำลังคน ในหัวเมืองปัตตานีเอาเอง ปรากฎว่าชาวมลายูในหัวเมืองทั้งเจ็ดขัดขืนและกลับเข้าร่วมมือกับพวกขบถ โดยก่อการขบถขึ้นทั้งเจ็ดหัวเมือง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้า ฯ ให้ยกทัพบกไปปราบถึงเจ็ดทัพและทัพเรือสองทัพ กองทัพไทยสมทบกันปราบปรามพวกเจ็ดหัวเมืองได้เรียบร้อย ได้ตัวผู้ว่าราชการเมืองที่ไปเข้ากับพวกขบถเกือบหมด

หลังปราบขบถปัตตานีในปี พ.ศ.2375 แล้ว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ ทรงดำเนินพระบรมราโชบายเข้าควบคุมเมืองปัตตานีมากยิ่งขึ้น โดยโปรดเกล้า ฯ ให้เปลี่ยนตัวเจ้าเมืองที่ไม่ยอมสวามิภักดิ์ทั้งหมด และแต่งตั้งคนไทยหรือคนมลายูที่ภักดีต่อไทยเป็นเจ้าเมืองแทน ดังปรากฎว่าเจ้าเมืองหนองจิก คนเดิมซึ่งเสียชีวิตในการรบก็ได้ตั้งเจ้าเมืองใหม่เป็นคนไทย และเจ้าเมืองยะลาคนเดิมที่ถูกจับตัวได้ก็ได้ตั้งเจ้าเมืองยะลาคนใหม่เป็นคนไทย ส่วนเมืองรามัน เมืองระแงะ และเมืองสายบุรี เจ้าเมืองเดิมยอมมอบตัวต่อกองทัพไทยแต่โดยดี จึงได้รับพระราชทานอภัยโทษและโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นเจ้าเมืองต่อไป สำหรับเจ้าเมืองปัตตานีคนเดิม ที่หนีไปกลันตันนั้น ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ชาวมลายูผู้ภักดีต่อไทยเป็นเจ้าเมืองคนใหม่ และเจ้าเมืองยะหริ่งซึ่งเป็นคนไทยไม่ได้เข้าร่วมกับขบถจึงยังคงเป็นเจ้าเมืองยะหริ่งต่อไป

<<< ย้อนกลับ || อ่านต่อ >>>

จังหวัด » กระบี่ ชุมพร ตรัง นครศรีธรรมราช นราธิวาส ปัตตานี พังงา พัทลุง ภูเก็ต ยะลา ระนอง สงขลา สตูล สุราษฎร์ธานี

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย