สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

อหิงสา

11

ในโลกปัจจุบันซึ่งปกครองกันด้วยอำนาจอันเหี้ยมโหด แทบจะไม่น่าเชื่อว่าจะมีผู้ใดไม่ยอมรับว่าอำนาจคือธรรม หรืออำนาจคือความถูกต้องด้วยเหตุนี้ข้าพเจ้าจึงได้รับจดหมายหลายฉบับ เตือนไม่ให้ข้าพเจ้าเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการต่อสู้กับรัฐบาลซึ่งในบางกรณีอาจจะเกิดการใช้กำลังกันขึ้นบางคนเข้าใจว่า ข้าพเจ้ามีแผนลับ ๆ ที่จะใช้กำลัง จึงมาถามข้าพเจ้าอย่างซุบซิบว่า เมื่อไรจึงจะถึงโอกาสที่จะได้ใช้กำลังกันบ้างเขาเหล่านั้นเตือนข้าพเจ้าว่าอังกฤษจะไม่ยอมคืนเอกราชให้แก่อินเดียนอกจากจะใช้กำลังกับอังกฤษ จะโดยเปิดเผยหรือลับๆก็ตามนอกจากนี้ข้าพเจ้ายังทราบว่า มี  หลายคนที่ลงความเห็นว่าข้าพเจ้าเป็นคนเลวที่สุดที่ไม่ยอมแสดงความจริงใจของตนออกมาให้โลกภายนอกทราบ เพราะเขาเชื่อว่าในห้วงลึกแห่งจิตใจนั้น ข้าพเจ้าเชื่อในการใช้กำลังเช่นเดียวกับพวกเขา

นี้คืออานุภาพของลัทธิคมหอกคมดาบซึ่งมีอยู่เหนือจิตใจของคนส่วนใหญ่ โดยเหตุที่ความสำเร็จของการต่อสู้แบบอหิงสาขึ้นอยู่กับการไม่ใช้กำลังเป็นส่วนใหญ่และโดยเหตุที่ทรรศนะของข้าพเจ้าในเรื่องนี้มีผลกระทบต่อปฏิบัติการของคนจำนวนไม่น้อยข้าพเจ้าจึงขอชี้แจงความคิดเห็นของข้าพเจ้าให้แจ่มแจ้งเท่าที่จะทำได้ ดังต่อไปนี้

ข้าพเจ้าขอย้ำความเชื่อของตนเองว่า หากจะต้องเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่งระหว่างความขี้ขลาดกับการใช้กำลังแล้ว ข้าพเจ้าขอเลือกเอาการใช้กำลัง ตัวอย่างเช่น ในกรณีเหตุการณ์ปี ค.ศ.1908 (มหาตมา คานธี ถูกชาวผิวขาว รุมซ้อมในประเทศแอฟริกาใต้ เนื่องจากยื่นมือเข้าช่วยคนเอเชียเรียกร้องความเป็นธรรมจากรัฐบาล – ผู้แปล) ลูกชาย  คนหัวปีของข้าพเจ้าถามข้าพเจ้าว่า หากเขาอยู่ในที่เกิดเหตุในวันนั้น เขาควรจะวิ่งหนีโดยปล่อยให้ข้าพเจ้าโดนซ้อมจนสิ้นชีวิต  ณ  ที่นั้น หรือควรจะใช้กำลังเข้าช่วยป้องกันชีวิตให้ข้าพเจ้าข้าพเจ้าตอบลูกชายไปว่า เป็นหน้าที่ของเขาที่จะต้องปกป้องข้าพเจ้าแม้ด้วยการใช้กำลัง ข้าพเจ้าอยากจะพูดว่าด้วยเหตุผลเช่นเดียวกันนี้เองที่ข้าพเจ้ามีส่วนร่วมในสงคราม โบเออะ ในการรบพุ่งซึ่งเรียกกันว่า “กบฏซูลู” ตลอดจนในสงครามโลกครั้งที่1ในกรณีของผู้ที่เชื่อในการใช้กำลัง ข้าพเจ้าก็แนะนำให้พวกเขาฝึกฝนการใช้อาวุธ หากอินเดียจะปล่อยให้ความขี้ขลาดตาขาวเข้าครอบงำแล้วนั่งทำตาปริบๆ ดูการอัปยศอดสู ซึ่งเกิดแก่ตนเองแล้วไซร้ ข้าพเจ้าใคร่ขอแนะนำให้อินเดียจับอาวุธขึ้นพิทักษ์รักษาเกียรติยศและชื่อเสียงของตนจะดีกว่า

อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้ามีความเชื่อมั่นว่า อหิงสาหรือการไม่ใช้กำลังประเสริฐกว่าหิงสาอันได้แก่การใช้กำลังอย่างสุดที่จะคณนา เพราะว่าการให้อภัยเป็นการประเสริฐกว่าการลงโทษ การให้อภัยเป็นอาภรณ์ของนักรบแต่การละเว้นไม่ใช้กำลังจะเป็นการให้อภัยก็ต่อเมื่อผู้ละเว้นมีความสามารถที่จะใช้กำลัง (แต่ไม่ใช้ – ผู้แปล) ในกรณีของผู้ที่ละเว้นไม่ใช้กำลัง เพราะไม่มีความสามารถหรือไม่มีกำลังจะใช้นั้น ย่อมไม่ได้ชื่อว่า เป็นผู้ให้อภัย หนูที่ถูกแมวใช้เขี้ยวเล็บตะปบจนตายนั้นคงจะไม่ใช่ผู้ที่ให้อภัยแก่แมวแน่ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงมีความเห็นใจผู้ที่ส่งเสียงตะโกนให้ลงโทษนายพลได-เออร์(Dyer กับลูกน้องตามโทษานุโทษ(นายพลDyerเป็นผู้สั่งให้กราดกระสุนปืนยิงชาวอินเดียจำนวนมากมายล้มตายในกรณีแข็งข้อที่สวนสาธารณะ Jallianwala – ผู้แปล) ถ้าทำได้ ประชาชนคงจะตรูเข้าฉีกร่างของนายพลผู้นี้ออกเป็นชิ้น ๆ เป็นแน่ข้าพเจ้าไม่เชื่อว่าอินเดียไม่มีกำลังหรือความสามารถแต่ข้าพเจ้าปรารถนาที่จะใช้กำลังและความสามารถของอินเดียไปในทางที่ถูกต้องและประเสริฐกว่า

ท่านผู้อ่านโปรดอย่าได้เข้าใจผิด กำลังของคนเรานั้นมิได้เกิดจากร่างกาย กำลังเกิดจากจิตใจที่แข็งแกร่ง  ในด้านกำลังกายนั้นชาวซูลูมีเหนือกว่าชาวอังกฤษโดยทั่วไปอย่างเห็นได้ชัด แต่ชาวซูลูไม่กล้าสู้ชาวอังกฤษ เพราะกลัวปืนของชาวอังกฤษหรือไม่ ก็กลัวผู้ที่ใช้ปืนแทนชาวอังกฤษ แม้จะมีร่างกายกำยำล่ำสัน แต่ชาวซูลูก็กลัวตายและไม่มีกำลังใจ เราชาวอินเดียควรจะตระหนักว่า ชาวอังกฤษหนึ่งแสนคนจะไม่สามารถทำอะไรชาวอินเดียสามร้อยล้านคนได้(สมัยนั้นประชากรอินเดียมีประมาณ 300 ล้านคน – ผู้แปล)หากเราสละความกลัวเสียได้และมีความให้อภัยอยู่ในจิตใจพลังอันมหาศาลจะเกิดขึ้นในตัวเรา ศัตรูเองก็จะตระหนักถึงพลังอันนี้ และจะไม่มีคนอย่างนายพล Dyer หรือนายแฟรงค์ จอห์นสัน กล้าที่จะหยามเกียรติและหลู่ศักดิ์ศรีของเราที่ข้าพเจ้าพูดมานี้อาจจะไม่เป็นที่แจ่มแจ้งและท่านผู้อ่านอาจจะไม่เข้าใจเหตุผลของข้าพเจ้าอย่างถ่องแท้ ข้าพเจ้าต้องขออภัยไว้ด้วย เพราะบางสิ่งบางอย่างคำพูดของคนเราไม่สามารถเป็นสื่อให้เกิดความเข้าใจได้ข้าพเจ้ายอมรับว่ามีพวกเราจำนวนไม่น้อยที่ไม่กล้าแม้แต่จะโกรธหรือเกลียดชาวอังกฤษทั้งนี้และทั้งนั้น เพราะเราถูกเหยียบย่ำมาเสียนานจนหมดพลังแม้แต่จะโกรธหรือจะเกลียดแต่ข้าพเจ้าขอย้ำว่าการยึดมั่นและปฏิบัติตามหลักของอหิงสาจะเป็นประโยชน์แก่อินเดียมากกว่าจะปล่อยตัวของเราให้ตกเป็นเหยื่อของหิงสา เรามีกรณียกิจและหน้าที่ที่ประเสริฐกว่าที่เราจะต้องปฏิบัติและชี้ให้โลกให้เห็นเป็นตัวอย่าง

ข้าพเจ้ามิใช่เป็นนักเพ้อฝัน ข้าพเจ้าเป็นนักอุดมการณ์ที่นำอุดมการณ์มาปฏิบัติ อหิงสามิใช่เป็นความเชื่อและวัตรปฏิบัติของนักบุญหรือฤาษีมุนีเท่านั้นอหิงสาเป็นหลักการที่ใช้ได้กับสามัญชนคนธรรมดาทั่ว ๆ ไป อหิงสาเป็นกฎของมนุษย์เช่นเดียวกับที่หิงสาเป็นกฎของเดรัจฉาน เดรัจฉานไม่รู้จักคำว่ามโนธรรม เดรัจฉานรู้จักแต่การใช้กำลังตาม สัญชาตญาณของมัน มนุษย์มีศักดิ์ศรีที่จะต้องปฏิบัติตนตามกฎที่ประเสริฐกว่า อันได้แก่กฎแห่งมโนธรรม

ข้าพเจ้าพยายามชี้แนะอินเดียให้รู้จักกฎแห่งการยอมเสียสละอันเป็นกฎซึ่งมีมาแต่โบราณกาล หลักการสัตยาเคราะห์รวมทั้งกิ่งก้านอันเกิดจากหลักการนี้ ซึ่งได้แก่การดื้อแพ่งและการไม่ให้ความร่วมมือ(แก่รัฐบาลอังกฤษ–ผู้แปล)หาใช่อื่นใดไม่หากแต่เป็นชื่อใหม่ของกฎแห่งการยอมเสียสละนี้เอง บูรพาจารย์ของเราซึ่งได้แก่ฤาษีมุนีผู้ค้นพบกฎแห่งอหิงสา ในท่ามกลางหิงสกรรมเป็นอัจฉริยบุคคลที่ยิ่งใหญ่กว่านิวตัน ฤาษีมุนีเหล่านั้นเป็นนักรบที่แกล้วกล้ากว่าเวลลิงตัน แม้จะมีความชำนิชำนาญในการใช้อาวุธเป็นอย่างดีฤาษีมุนีดังกล่าวก็หาได้นิยมใช้อาวุธหรือเครื่องมือประหัตประหารอื่นใดไม่ตรงกันข้ามท่านพร่ำสอนโลกที่เหนื่อยอ่อนด้วยการรบราฆ่าฟันกันตลอดมาว่ามนุษยชาติจะ  อยู่รอดได้ด้วยอหิงสา ไม่ใช่ด้วยหิงสา

อหิงสาในสภาพที่เคลื่อนไหวก็คือการยอมรับทุกข์โดยเจตนาทั้งนี้มิใช่เป็นการยอมจำนน ต่อความประสงค์ของผู้กระทำชั่วอย่างหลับหูหลับตาหากแต่เป็นการใช้พลังจิตทั้งหมดเข้าต่อสู้กับผู้กดขี่ ด้วยหลักการและพลังจิตเช่นนี้แม้ปัจเจกชนก็จะสามารถสู้กับอำนาจ อันเกรียงไกรของจักรวรรดิที่ไม่เป็นธรรมได้ ทั้งนี้เพื่อรักษาเกียรติยศ ชื่อเสียง ศาสนา และวิญญาณของผู้ต่อสู้ไว้ ทั้งเป็นการกรุยทางไปสู่การกำจัดและการมีชีวิตใหม่ของจักรวรรดินั้นอีกด้วย

<< ย้อนกลับ| หน้าถัดไป >>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย