ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม อารยธรรม>>

อารยธรรมอินเดีย

โดย ดร.สุนันทา ฟาเบรอ

อารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ
อารยธรรมอารยัน
อารยธรรมสมัยคุปตะ
อารยธรรมสมัยสุลต่านเตลฮีและสมัยราชวงศ์โมกุล
สมัยตะวันตกเข้าสู่อินเดีย

อารยธรรมสมัยคุปตะ (320-186 ปีก่อนค.ศ.)

พวกกุชานครอบครองเส้นทางสายไหมระหว่างจีนถึงอินเดีย สินค้าประเภทฝ้ายจากเบงกอลและกุจราช ขนสัตว์จากทางเหนือของอินเดีย หินมีค่าจากทางใต้ เป็นที่ต้องการของคนต่างชาติ การติดต่อทางการค้าทำให้วัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาสู่อินเดีย ดาราศาสตร์ของอินเดียไปสู่โลกตะวันตก คือ กรีกและโรมันเช่นกัน ศิลปะกรีกและโรมันผสมกับศิลปพื้นเมืองของอินเดีย กลายเป็นศิลปะแบบคันธาราษฏร์ นักสอนศาสนาคริสต์เดินทางมาอินเดีย และพระนิกายมหายานเดินทางไปเอเซียกลาง จีน ญี่ปุ่น ส่วนศาสนาพุทธนิกายเถรวาทเข้าไปที่ศรีลังกา และต่อมาในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้

เมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 1 อาณาจักรโรมันกำลังรุ่งเรือง คนโรมันนิยมของหรูและแปลกตาจึงทำการค้ากับตะวันออก และจ่ายค่าสินค้าด้วยเงินและทองทำให้อินเดียร่ำรวย แต่อินเดียไม่ต้องการสินค้าจากโรมัน   ดินแดนทางใต้ของอินเดีย เป็นที่อยู่ของพวกดราวิเดียน ชนพื้นเมืองเดิม

มีผู้สันนิษฐานว่าอาจเป็นพวกที่อยู่ตามลุ่มแม่น้ำสินธุมาก่อน แล้วถูกพวกอารยันบุก รุกหนีลงมาทางใต้ พวกที่ยอมอ่อนน้อมต่ออารยันจะกลายเป็นพวกที่อยู่ในวรรณะศูทรไป มีการจารึกภาษาทมิฬทางใต้ อย่างไรก็ตาม พวกดราวิเดียนก็ได้รับวัฒนธรรมและภาษาของพวกอินโด-อารยันไว้ด้วย ในงานวรรณคดีภาษาทมิฬ กล่าวถึงการค้ากับพวกชนต่างชาติ อาณาจักรสำคัญทางใต้มีเกราลา โชลา ปันดีย์

ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 4 พระเจ้าจันทรคุปต์ที่ 1 ตั้งราชวงศ์คุปตะที่เมืองปัตลีบุตร โอรสของพระองค์ ชื่อ พระเจ้าสมุทรคุปต์ ทรงขยายดินแดนออกไปกว้างไกล ทรงทำเหรียญทองสลักเรื่องราวเกี่ยวกับพระองค์ แล้วนำไปไว้ที่เสาหินของพระเจ้าอโศก ราชวงศ์คุปตะรุ่งเรืองมากในสมัยของพระเจ้าจันทรคุปต์ ที่ 2 (ค.ศ.376-415) เพราะนอกจากจะชนะพวกสากะแล้ว ทรงรวมดินแดนตะวันออกและทางเหนือไว้ในอำนาจ ให้เมืองอุจเจนเป็นเมืองหลวง อารยธรรมอินเดียเจริญสูงสุด พระราชาทรงสนับสนุนศิลปะ วิทยาศาสตร์ วรรณคดี ทรงดูแลกวีและนักดนตรีด้วยพระองค์เอง กวีที่มีชื่อเสียงในสมัยนี้ คือ กลิทัษ

<< ย้อนกลับ | หน้าถัดไป >>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย