ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

เต๋าแห่งฟิสิกส์

บทที่ 1 ฟิสิกส์สมัยใหม่
บทที่ 2 การรู้และการเห็น
บทที่ 3 พ้นภาษา
บทที่ 4 ฟิสิกส์แนวใหม่
บทที่ 5 ศาสนาฮินดู
บทที่ 6 พุทธศาสนา
บทที่ 7 ปรัชญาจีน
บทที่ 8 ลัทธิเต๋า
บทที่ 9 นิกายเซน
บทที่ 10 เอกภาพแห่งสรรพสิ่ง
บทที่ 11 เหนือโลกแห่งความขัดแย้ง
บทที่ 12 จักรวาลอันเคลื่อนไหว
บทที่ 13 ความว่างและรูปลักษณ์

บทที่ 2 การรู้และการเห็น

10

2.9   ญาณทัศนะ

โดยทั่ว ๆ ไป แม้ว่าประสบการณ์อันลึกซึ้งในทางศาสนาจะไม่ปรากฏแก่ผู้ปฏิบัติธรรมที่มิได้ฝึกฝนมาอย่างเพียงพอก็ตาม ญาณทัศนะซึ่งเจาะตรงสู่ธรรมชาติของสรรพสิ่งก็เป็นที่ประจักษ์แก่ในเราได้ในชีวิตประจำวัน เราทุกคนคุ้นเคยกับสภาวะที่เราได้ลืมชื่อของบุคคล หรือสถานที่หรือคำพูดบางคำ และไม่อาจนึกถึงมันได้แม้จะใช้สมาธิมากที่สุดก็ตาม มัน “ติดอยู่แค่ริมฝีปากของเรา” แต่ก็นึกไม่ออก จนเราเลิกใส่ใจกับมันและหันไปสนใจสิ่งอื่น และทันทีทันใดนั้นในชั่วพริบตา เราก็จำชื่อซึ่งหลงลืมไปนั้นได้ ไม่มีความคิดร่วมอยู่ด้วยในกระบวนการนี้ หากเป็นความรู้ที่เกิดขึ้นทันทีทันใด ฉับพลัน ตัวอย่างของการระลึกได้อย่างฉับพลันเช่นนี้เป็นที่ประจักษ์ชัด โดยเฉพาะแก่พุทธศาสนา ซึ่งมีคำสอนว่าธรรมชาติเดิมของเราเป็นธรรมชาติแห่งพุทธะ และเราได้หลงลืมมันไป นักศึกษาเซนจะได้รับ โกอัน (Koan) ว่า “หน้าตาดั้งเดิมของเธอเป็นอย่างไร” และการ “ระลึกได้” อย่างฉับพลันถึงหน้าตาดั้งเดิมนี้ ถือเป็นการรู้แจ้งของผู้นั้น อีกตัวอย่างหนึ่งของญาณทัศนะอันเกิดขึ้นและเป็นไปเอง ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีก็คือเรื่องขำขัน ในวินาทีที่คุณเข้าใจเรื่องขำขันนั้น ๆ

คุณได้ประสบกับขณะแห่งการรู้แจ้งเป็นที่ทราบกันดีว่าขณะแห่งเหตุการณ์เช่นนี้ต้องเกิดขึ้นเอง มิได้เกิดจากการ “อธิบาย” เรื่องขำขันเรื่องนั้น นั่นคือ มิได้เกิดจากการวิเคราะห์ด้วยคิด ด้วยความรู้ที่ผุดขึ้นในใจอย่างฉับพลันถึงแก่นของเรื่องขำขันเท่านั้น เราจึงจะหัวเราะได้อย่างเต็มที่ตามที่ความมุ่งหมายของเรื่องนั้นประสงค์ ความคล้ายคลึงระหว่างญาณทัศนะในทางจิตวิญญาณและความเข้าใจในเรื่องขำขัน ต้องเป็นที่ทราบกันดีในหมู่ผู้บรรลุธรรม เนื่องจากท่านเหล่านั้นส่วนมากแสดงอารมณ์ขันออกมาในลักษณะต่าง ๆ กัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเซนซึ่งเต็มไปด้วยเรื่องตลกและเกร็ดขำขันต่าง ๆ และในคัมภีร์เต๋าเตอจิงกล่าวไว้ว่า “หากไม่ถูกหัวเราะเยาะนั้นก็มิใช่เต๋า”  ในชีวิตประจำวันของเรา ญาณทัศนะซึ่งเจาะตรงสู่ธรรมชาติของสิ่งต่าง ๆ นั้น โดยปกติจะเกิดขึ้นจำกัดอยู่ในระยะเวลาที่สั้นยาวนาน และในขั้นสัมบูรณ์จะกลายเป็นความหยั่งรู้อย่างต่อเนื่อง การตระเตรียมจิตใจให้พร้อมสำหรับการหยั่งรู้นี้ –การหยั่งรู้ในสัจจะโดยฉับพลัน ปราศจากความคิดปรุงแต่ง –เป็นวัตถุประสงค์สำคัญของทุกศาสนาและของแนวคำสอนอื่น ๆ ในตะวันออก ตลอดระยะเวลาอันยาวนานในประวัติศาสตร์วัฒนธรรมของอินเดีย จีน และญี่ปุ่น ได้มีการพัฒนาเทคนิค พิธีกรรม และศิลปะในแบบต่าง ๆ เพื่อนำให้บุคคลบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว ซึ่งทั้งหมดนี้อาจเรียกรวมว่า การภาวนา ในความหมายที่กว้างที่สุดได้ จุดมุ่งหมายขั้นพื้นฐานของเทคนิคเหล่านี้ คือการทำให้ใจที่เต็มไปด้วยความนึกคิดเงียบสงบลง เปลี่ยนความตระหนักรู้จากฐานของเหตุผลมาเป็นฐานของญาณทัศน์ ในการทำใจให้สงบนั้น วิธีภาวนาหลาย ๆ แบบได้แนะนำให้จดจ่อความสนใจอยู่ที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งเพียงสิ่งเดียว เช่น ลมหายใจ เสียงสวดมนต์ หรือนิมิตของมณฑล (ในพวกธิเบต) ในการภาวนาแบบอื่น ๆ แนะให้ใส่ใจในการเคลื่อนไหวของร่างกายซึ่งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเป็นไปเองโดยไม่ถูกความคิดรบกวน นี่คือ วิธี โยคะ ของฮินดู และไท้จิฉวน (T’ai Chi Ch’uan) ของเต๋า การเคลื่อนไหวเป็นจังหวะเช่นนี้นำไปสู่ความรู้สึกสงบและสติเช่นเดียวกับวิธีการภาวนาแบบแรกความรู้สึกเช่นนี้อาจเกิดขึ้นได้ในการเล่นกีฬาบางชนิด เช่น การเล่นสกี เป็นต้น

<< ย้อนกลับ | หน้าถัดไป >>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย