สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

ภาษาบาลีและภาษาสันสกฤตในภาษาไทย

วิธีสังเกตคำบาลี
วิธีสังเกตคำสันสกฤต
คำภาษาบาลีและสันสกฤตในวรรณคดีไทย
ประมวลคำภาษาบาลีและสันสกฤตที่ไทยนำมาใช้

วิธีสังเกตคำสันสกฤต

1.  พยัญชนะสันกฤต มี 35 ตัว คือ พยัญชนะบาลี 33 ตัว  + 2 ตัว  คือ ศ, ษ  ฉะนั้นจึงสังเกตจากตัว ศ, ษ  มักจะเป็นภาษาสันสกฤต เช่น กษัตริย์ ศึกษา เกษียร พฤกษ์ ศีรษะ เป็นต้น  ยกเว้นคำไทยบางคำที่ใช้เขียนด้วยพยัญชนะทั้ง 2 ตัวนี้ เช่น  ศอก  ศึก  ศอ  เศร้า  ศก ดาษ  กระดาษ  ฝรั่งเศส  ฝีดาษ  ฯลฯ

2. ไม่มีหลักการสะกดแน่นอน  ภาษาสันสกฤต ตัวสะกดตัวตามจะอยู่ข้ามวรรคกันได้ ไม่กำหนดตายตัว เช่น  อัปสร  เกษตร  ปรัชญา  อักษร เป็นต้น

3. สังเกตจากสระ สระในภาษาบาลี มี  8  ตัว  คือ  อะ  อา  อิ  อี  อุ  อู  เอ  โอ  ส่วนสันสกฤต คือ สระภาษาบาลี  8 ตัว +  เพิ่มอีก 6  ตัว  คือ สระ ฤ  ฤา ภ ภา   ไอ  เอา  ถ้ามีสระเหล่านี้อยู่และสะกดไม่ตรงตามมาตราจะเป็นภาษาสันสกฤต เช่น ตฤณมัย ไอศวรรย์ เสาร์  ไปรษณีย์  ฤาษี  คฤหาสน์ เป็นต้น

4.สังเกตจากพยัญชนะควบกล้ำ ภาษาสันสกฤตมักจะมีคำควบกล้ำข้างท้าย เช่น จักร  อัคร  บุตร  สตรี  ศาสตร์  อาทิตย์  จันทร์ เป็นต้น

5.สังเกตจากคำที่มีคำว่า “เคราะห์” มักจะเป็นภาษาสันสกฤต เช่น เคราะห์ พิเคราะห์ สังเคราะห์  อนุเคราะห์  เป็นต้น

6. สังเกตจากคำที่มี  “ฑ”  อยู่  เช่น จุฑา กรีฑา ครุฑ มณเทียร จัณฑาล เป็นต้น

7 .สังเกตจากคำที่มี  “รร”  อยู่ เช่น สรรค์  ธรรม์  วรรณ บรรพต ภรรยา บรรณารักษ์มรรยาท กรรม ทรรศนะ สรรพ เป็นต้น

ลักษณะการยืมคำภาษาบาลีและสันสกฤต

                ภาษาบาลีและสันสกฤตเป็นภาษาตระกูลเดียวกัน ลักษณะภาษาและโครงสร้างอย่างเดียวกัน ไทยเรารับภาษาทั้งสองมาใช้ พิจารณาได้ดังนี้

                1.  ถ้าคำภาษาบาลีและสันสกฤตรูปร่างต่างกัน เมื่อออกเสียงเป็นภาษาไทยแล้วได้เสียงเสียงตรงกันเรามักเลือกใช้รูปคำสันสกฤต เพราะภาษาสันสกฤตเข้ามาสู่ภาษาไทยก่อนภาษาบาลี เราจึงคุ้นกว่า เช่น

               บาลี             สันสกฤต                ไทย

                กมฺม            กรฺม                     กรรม

                จกฺก             จกฺร                      จักร 

2.  ถ้าเสียงต่างกันเล็กน้อยแต่ออกเสียงสะดวกทั้งสองภาษา มักเลือกใช้รูปภาษาสันสกฤตมากกว่าภาษาบาลี เพราะเราคุ้นกว่าและเสียงไพเราะกว่า เช่น

                บาลี                  สันสกฤต              ไทย

                ครุฬ                 ครุฑ                      ครุฑ

                โสตฺถิ                สฺวสฺติ                  สวัสดี

                3.  คำใดรูปสันสกฤตออกเสียงยาก ภาษาบาลีออกเสียงสะดวกกว่า จะเลือกใช้ภาษาบาลี เช่น

                บาลี                   สันสกฤต               ไทย

                ขนฺติ                กฺษานฺติ                      ขันติ

                ปจฺจย                 ปฺรตฺย                  ปัจจัย

                4.  รูปคำภาษาบาลีสันสกฤตออกเสียงต่างกันเล็กน้อยแต่ออกเสียงสะดวกทั้งคู่บางทีเรานำมาใช้ทั้งสองรูปในความหมายเดียวกัน เช่น

                บาลี                   สันสกฤต              ไทย

                กณฺหา               กฺฤษฺณา                กัณหา,กฤษณา

                ขตฺติย                 กฺษตฺริย                 ขัตติยะ,กษัตริย์

                5.  คำภาษาบาลีสันสกฤตที่ออกเสียงสะดวกทั้งคู่ บางทีเรายืมมาใช้ทั้งสองรูป แต่นำมาใช้ในความหมายที่ต่างกัน เช่น

                บาลี         สันสกฤต        ไทย            ความหมาย

                กิริยา         กฺริยา           กิริยา               อาการของคน

               โทส           เทฺวษ            โทสะ             ความโกรธ

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย