สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

ประชาคมโลก (Global Community)

คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย

เศรษฐกิจโลก

พัชรี สุวรรณศรี
สุภัทณี เปี่ยมสุวรรณกิจ

ระบบเศรษฐกิจแบบผสม (Mixed Economy)

ระบบเศรษฐกิจแบบผสม หมายถึง ระบบเศรษฐกิจที่รวมเอาลักษณะสำคัญของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมและสังคมนิยมเข้าไว้ด้วยกัน ระบบเศรษฐกิจแบบผสม หรือที่เรียกกันโดยทั่วๆ ไปอีกอย่างหนึ่งว่า ”ระบบเศรษฐกิจแบบ ทุนนิยมใหม่” เป็นระบบเศรษฐกิจที่ทั้งรัฐบาลและเอกชนรับผิดชอบร่วมกันในการตัดสินใจเกี่ยวกับปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจ อันได้แก่จะผลิตอะไร ในปริมาณเท่าใด ผลิตอย่างไร และแบ่งปันผลผลิตในหมู่สมาชิกของสังคมอย่างไร ระบบนี้รัฐบาลจะเข้ามามีบทบาทในการวางแผนในกิจกรรมทางเศรษฐกิจบางประการ ขณะเดียวกันก็ปล่อยให้เอกชนดำเนินการทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่โดยอาศัยกลไกราคาเป็นเครื่องนำทาง

ลักษณะที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจแบบผสม มีดังนี้

  1. เอกชนและรัฐบาลมีส่วนร่วมกันในการวางแผนเศรษฐกิจของประเทศว่าจะเป็นการผลิตสินค้าและบริการอะไร ปริมาณมากน้อยเท่าใด และการกระจายสินค้าและบริการที่ผลิตได้ไปสู่ใครอย่างไรบ้าง ทั้งนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการร่วมมือกันทั้งภาคเอกชนและภาครัฐบาล
  2. ทั้งเอกชนและรัฐบาลสามารถจะเป็นเจ้าของปัจจัยในการผลิตสินค้าและบริการอย่างเสรี แต่อาจมีการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการผลิตสินค้าและบริการบางประเภทที่รัฐบาลพิจารณาแล้วเห็นว่าหากปล่อยให้เอกชนดำเนินงานอาจไม่ปลอดภัยต่อความมั่นคงของชาติ หรือเอกชนอยู่ในฐานะที่เหมาะสมซึ่งจะดำเนินงานได้เพราะอาจจะขาดแคลนเงินทุน ขาดเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญ ฯลฯ กิจกรรมดังกล่าวนี้ เช่น กิจกรรมสาธารณูปโภค สาธารณูปการ การรักษาความปลอดภัย การป้องกันประเทศ เป็นต้น
  3. กลไกราคายังเป็นสิ่งที่สำคัญในการกำหนดราคาสินค้าและบริการต่างๆ ในระบบเศรษฐกิจแบบผสมนี้ แต่รัฐบาลยังมีอำนาจในการเข้าไปแทรกแซงภาคเอกชนเพื่อกำหนดราคาสินค้าให้มีเสถียรภาพและเกิดความเป็นธรรมทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค
  4. รัฐจะคอยให้ความคุ้มครองและความช่วยเหลือ ตลอดจนอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการในภาคเอกชนด้วยการสร้างพื้นฐานทางด้านเศรษฐกิจ เช่น การสร้างถนน สะพาน สนามบิน ฯลฯ ไว้คอยอำนวยประโยชน์ต่อเอกชนในการดำเนินธุรกิจ

ข้อดีของระบบเศรษฐกิจแบบผสม

  • เป็นการยกฐานะของคนในสังคมให้เท่าเทียมกันและเป็นการแลกเปลี่ยนแปลงจากทุนนิยมเป็นแบบสังคมนิยม โดยสันติวิธีทางรัฐสภา
  • รายได้ถูกนำมาเฉลี่ยให้ผู้ทำงานตามกำลังงานที่ได้กระทำ มิใช่ตามความจำเป็นแรงจูงใจในการทำงานจึงดีกว่า
  • เอกชนยังมีบทบาททางเศรษฐกิจ มีการแข่งขัน สินค้าจึงมีคุณภาพสูง
  • ผู้บริโภคมีโอกาสเลือกสินค้าได้มากพอสมควร
  • ความไม่เท่าเทียมในรายได้ และทรัพย์สินมีน้อย

ข้อเสียระบบเศรษฐกิจแบบผสม

  • ระบบนี้มีการวางแผนเพียงบางส่วน จึงอาจจะไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในกรณีที่ต้องการเร่งรัดพัฒนาเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว เช่น ยามสงคราม
  • การควบคุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจบางส่วนโดยรัฐ เป็นเครื่องกีดขวางเสรีภาพของเอกชน
  • การวางแผนจากส่วนกลางเพื่อประสานประโยชน์ของรัฐบาลเข้ากับเอกชนให้เกิดผลดีแก่ส่วนรวมอย่างแท้จริงทำได้ยาก
  • นักธุรกิจขาดความมั่นใจในการลงทุน เพราะไม่แน่ใจว่าในอนาคตกิจกรรมของตนจะถูกโอนเป็นของรัฐหรือไม่
  • การบริหารงานอุตสาหกรรมของรัฐมีประสิทธิภาพไม่ดีไปกว่าสมัยที่อยู่ในมือของเอกชน

อ่านต่อ >>>

» มนุษย์ภายใต้กระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก

» ภูมิศาสตร์และสภาวะแวดล้อมโลก

» สถานการณ์ด้านสังคมและวัฒนธรรม

» เศรษฐกิจโลก

» การเมืองระหว่างประเทศ

» ระบบกฎหมายของโลก

» สิทธิมนุษยชนในกระแสโลกาภิวัตน์

» เทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลง

» ประชาคมโลกภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์

» บรรณานุกรม

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย