สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

ประชาคมโลก (Global Community)

คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย

เทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology)

กรณีศึกษาการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในปัจจุบัน

เอาท์ซอร์ส Outsource (การแบ่งงานบางส่วนออกไปทำที่อื่น)

โทมัส ฟรีดแมน นักหนังสือพิมพ์ชาวอเมริกัน ผู้เขียนหนังสือเรื่อง “ใครว่าโลกกลม (The World is Flat)” ได้กล่าวถึงการแบนราบลงของสนามแข่งขันทุกแห่งบนโลก สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ประเทศกำลังพัฒนา บริษัทขนาดเล็ก หรือกลุ่มบุคคล/องค์กรบางกลุ่มสามารถเข้าร่วมแข่งขันในสมรภูมิทางเศรษฐกิจได้นั้น เป็นผลมาจากการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศที่ก้าวหน้าขึ้น ดังตัวอย่างต่อไปนี้

  • การจ้างงานบางอย่างถูกแบ่งงานไปยังที่อื่นมีความต่างทางด้านเวลา เช่น อเมริกากับอินเดียซึ่งอยู่คนละซีกโลก เวลาต่างกัน 12 ชั่วโมง ที่อเมริกาเป็นกลางคืนแต่อินเดียยังเป็นกลางวัน ทำให้งานบางอย่างสามารถส่งจากอเมริกาในตอนกลางคืนผ่านระบบอินเตอร์เน็ตไปให้ชาวอินเดียช่วยจัดการให้ อาทิ โรงพยาบาลบางแห่งส่งไฟล์ภาพสแกน CAT หรือ MRI ของคนไข้ผ่านอินเตอร์เน็ตไปให้หมอชาวอินเดียช่วยวินิจฉัย บริษัทบางแห่งอัดไฟล์เสียงบันทึกการประชุมส่งไปยังอินเดียให้ช่วยถอดบันทึกการประชุมและสรุปรายงานเพื่อส่งกลับมาในตอนเช้า
  • ประสิทธิภาพของการส่งข้อมูลผ่านอินเตอร์เน็ตที่สามารถส่งข้อมูลแบบมัลติมีเดียทั้งข้อความ ภาพ เสียง ภาพเคลื่อนไหวได้อย่างรวดเร็วผ่านเคเบิ้ลใยแก้วนำแสง ทำให้การแบ่งงานไปยังที่อื่นมีความสะดวกมากขึ้น อาทิ ในปี 2005 มีแบบฟอร์มเสียภาษีของอเมริกาจำนวนกว่า 400,000 รายการถูกสแกนส่งไปยังอินเดียให้นักบัญชีชาวอินเดียเป็นผู้จัดทำและมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นทุกปี ธุรกิจ E-tutoring ผ่านอินเตอร์เน็ต โดยในตอนเย็นเด็กนักเรียนชาวอเมริกันจะใช้อินเตอร์เน็ตในการติวเนื้อหาในการเรียน การทำการบ้าน รายงานโดยครูผู้สอนนั้นเป็นชาวอินเดีย หรือธุรกิจการตอบรับโทรศัพท์ เช่น การแจ้งเตือนชำระเงิน การจองตั๋วเครื่องบิน ร้านอาหารหรือโรงแรม การชักชวนทำบัตรเครดิต เป็นต้น ธุรกิจเหล่านี้มีบริษัทอยู่ที่อินเดียทั้งสิ้น ซึ่งชาวอเมริกันจำนวนมากอาจจะยังไม่ทราบว่าเมื่อใช้โทรศัพท์ติดต่องานดังกล่าวนั้น เป็นการโทรผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตซึ่งเสียค่าใช้จ่ายน้อยมาก โดยโอเปอเรเตอร์ที่รับสายอยู่ที่ประเทศอินเดีย
  • การแบ่งงานไปยังประเทศที่มีค่าแรงถูกกว่า เช่น ที่เมืองบังกาลอร์ ประเทศอินเดีย ที่รับแบ่งงานด้านซอฟต์แวร์จากอเมริกา โดยบริษัทซอฟต์แวร์หลายแห่งในเมืองซิลิกอนแวลเลย์ที่อเมริกา ได้จ้างวิศวกรคอมพิวเตอร์จากอินเดียในการพัฒนาซอฟต์แวร์ หรือที่เมืองต้าเหลียน ประเทศจีนซึ่งมีชาวจีนจำนวนมากที่สามารถสื่อสารภาษาญี่ปุ่นได้ และรับแบ่งงานหลายอย่างจากญี่ปุ่นผ่านทางอินเตอร์เน็ต เช่น ออกแบบซอฟต์แวร์ ออกแบบอาคารด้วยคอมพิวเตอร์ งานด้านกฎหมาย เป็นต้น โดยที่คิดค่าแรงถูกกว่าที่ญี่ปุ่นมาก

สังคมออนไลน์

  • ซอฟต์แวร์ที่พัฒนาขึ้นโดยชุมชนออนไลน์ อาทิ Linux, Apache, FireFox ล้วนแล้วแต่เป็นซอฟต์แวร์ที่นักคอมพิวเตอร์อิสระทั่วโลกช่วยกันพัฒนาขึ้นมาโดยคาดหวังว่าจะเป็นซอฟต์แวร์รหัสเปิด (Open source) ที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการปรับปรุงโปรแกรม ดาวน์โหลดไปใช้ได้ฟรีและมีประสิทธิภาพ ผลที่เกิดขึ้นคือซอฟต์แวร์รหัสเปิดเหล่านี้ได้รับการตอบสนองจากบรรดาผู้ใช้งานจำนวนมากทั่วโลก ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ผู้บริโภคไม่จำเป็นต้องไปซื้อหาซอฟต์แวร์เชิงพาณิชย์ซึ่งอาจมีราคาสูงมาใช้ นอกจากนี้ธุรกิจบางประเภทก็เคยใช้ซอฟต์แวร์ที่พัฒนาขึ้นโดยชุมชนออนไลน์มาพัฒนาธุรกิจของตนเองได้ ดังเช่นในปี ค.ศ.2000 ธุรกิจเหมืองทองคำของแคนาดา ชื่อว่า โกล์คอร์ปอิงค์ ได้ออกประกาศชวนนักธรณีวิทยาทั่วโลกร่วมแข่งขันออกแบบซอฟต์แวร์เพื่อค้นหาแหล่งแร่ทองคำที่เหมืองเรดเลกในแคนาดา โดยมีรางวัลรวมมูลค่ากว่า 575,000 ดอลล่าห์สหรัฐ โดยบริษัทได้มีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับเหมืองทั้งหมดผ่านทางเว็บไซต์ ซึ่งมีนักวิทยาศาสตร์ นักธรณีวิทยากว่า 1,400 คน จาก 50 ประเทศเข้ามาดาวน์โหลดข้อมูลและแข่งขันกันสร้างซอฟต์แวร์ในการวิเคราะห์ข้อมูลแหล่งแร่และจำลองภาพเสมือนจริง ผลที่ได้รับคือบริษัทมีผลผลิตทองคำเพิ่มขึ้นเกือบสิบเท่า และถือได้ว่าเป็นนวัตกรรมใหม่ของวงการเหมืองแร่
  • การอัพโหลด (Upload) ที่ทำให้คุณทุกคนกลายเป็นบุคคลสำคัญ ซึ่งโทมัส ฟรีดแมน เคยแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า สมัยก่อนสังคมออนไลน์ส่วนมากคือการดาวน์โหลดหรือบริโภคข้อมูลข่าวสารเพียงอย่างเดียว แต่ในปัจจุบันผู้บริโภคกำลังเปลี่ยนเป็นผู้ผลิตข้อมูลข่าวสารและอัพโหลดสู่ระบบเครือข่ายเพิ่มมากขึ้น ดังจะเห็นได้จาก นิตยสาร TIME ซึ่งเป็นนิตยสารที่มีการมอบตำแหน่ง “Person of the Year” หรือ ”บุคคลแห่งปี” ให้กับบุคคล หรือกลุ่มบุคคลที่ก่อให้เกิดผลกระทบในเชิงข่าวและวิถีชีวิตของคนหมู่มากสูงที่สุด แต่นิตยสาร TIME ได้มอบตำแหน่งนี้ประจำปี 2006 ให้กับ “คุณ (YOU)” ความหมายคือคุณทุกคนที่เข้าสู่สังคมออนไลน์ล้วนแล้วแต่เป็นบุคคลที่มีส่วนสำคัญในการสร้างสรรค์สังคมออนไลน์ขึ้นมา ผ่านทางสื่อออนไลน์ต่างๆ ดังตัวอย่างนี้
    - เว็บบล็อก (Web Blog) หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า บล็อก ซึ่งเปรียบเสมือนหนังสือพิมพ์หรือวารสารส่วนตัวที่ผลิตด้วยตัวคุณเอง โดยคุณสามารถอัพโหลดคอลัมน์หรือจดหมายข่าวเข้าไปในเว็บไซต์ เพื่อให้คนทั่วโลกได้เยี่ยมชมและแสดงความคิดเห็น โดยการทำข่าว อาจใช้เพียงเครื่องเล่น MP3 ในการบันทึกเสียงหรือใช้กล้องดิจิตอลที่อยู่ในโทรศัพท์มือถือในการบันทึกภาพก็สามารถทำข่าวสารเผยแพร่เองได้โดยไม่จำเป็นต้องมีพื้นฐานด้านการทำข่าว อาทิ บล็อกสถานการณ์อิรักที่จัดทำโดยทหารอเมริกันในสมรภูมิ บล็อกที่ติดตามผลงานและงานวิจารณ์ดนตรีของเด็กมัธยม บล็อกของเพื่อนหรือคนใกล้ชิด เป็นต้น ปัจจุบันมีการประมาณการกันว่ามีบล็อกอยู่ 24 ล้านบล็อกและกำลังเพิ่มขึ้นวันละกว่า 70,000 บล็อก และจะเพิ่มเป็นสองเท่าทุกๆ ห้าเดือน
    - คลิปวีดิโอออนไลน์ เช่น เว็บไซต์ Metacafe.com หรือ YouTube.com ที่เปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปได้นำคลิปวีดีโอสั้นๆ อัพโหลดเข้ามาเก็บไว้ในเว็บไซต์เพื่อเผยแพร่ให้คนทั่วโลกได้ชม ปัจจุบันพบว่ามีเว็บ YouTube มีอัตราการเจริญโตอย่างรวดเร็ว โดยมีผู้เข้ามาเยี่ยมชมเว็บไซต์ กว่า 100 ล้านครั้งต่อวัน ในแต่ละเดือนมีผู้อัพโหลดวิดีโอขึ้นเว็บกว่า 65,000 เรื่อง สมาชิกเพิ่มขึ้นเดือนละ 20 ล้านคน ซึ่งคลิปวีดิโอที่อัพโหลดเข้ามานั้นมีมากมายหลายประเภท อาทิ การแสดงโชว์ผาดโผน การเล่นดนตรีในแนวใหม่ ภาพเหตุการณ์จริงจากอุบัติเหตุหรือภัยธรรมชาติ วิดีโองานเทศกาศต่างๆ รวมไปถึงตัวอย่างภาพยนตร์และรายการโทรทัศน์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังสามารถแสดงความคิดเห็นและร่วมโหวตให้คะแนนคลิปยอดนิยม ทำให้คนบางคนที่อยู่ในคลิปวีดิโอกลายเป็นดาราดังภายในชั่วข้ามคืนก็มี
    - สารานุกรมเสรีออนไลน์ เช่น วิกิพีเดีย (Wikipedia.org) เป็นสารานุกรมที่ร่วมกันสร้างขึ้นโดยผู้อ่าน มีคนหลายๆ คนร่วมกันปรับปรุงวิกิพีเดียอย่างสม่ำเสมอ โดยบทความจะสมบูรณ์ยิ่งขึ้นทุกๆ การแก้ไข ผู้ที่เข้ามาอ่านสามารถเพิ่มเติมเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ลงไปได้หรือแก้ไขบทความที่มีเนื้อหาผิดพลาดหรือคลาดเคลื่อนได้ ทำให้วิกิพีเดียเป็นสารานุกรมที่ถือได้ว่าสร้างปรับปรุงแก้ไขและตรวจสอบโดยสังคมออนไลน์ และได้รับการยอมรับจากนักวิชาการและสื่อมวลชน เนื่องจากเนื้อหาเปิดเสรีให้สามารถนำไปใช้ได้ รวมถึงเปิดเสรีที่ให้ทุกคนแก้ไข ปัจจุบัน วิกิพีเดียมีทั้งหมด 250 ภาษา รวมทุกภาษามีบทความมากกว่า 6,000,000 บทความ และปัจจุบัน (พ.ค.2550)วิกิพีเดียไทยมีบทความกว่า 22,000 บทความ
  • การแบ่งทรัพยากรใช้ร่วมกัน เช่น โครงการ SETI@home หรือ Search for Extra-Terrestrial Intelligence at home เป็นโครงการทดลองทางวิทยาศาสตร์ ที่ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต ในการค้นหาสัญญาณจากต่างดาว ดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ เริ่มเผยแพร่สู่สาธารณะเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2542 โดยในระยะแรกเป็นโปรแกรมสกรีนเซฟเวอร์ จะทำงานเมื่อเครื่องคอมพิวเตอร์ไม่มีการใช้งานอื่น ปัจจุบัน SETI@home ได้รับการสนับสนุนจากผู้ใช้ทั่วไป มีจำนวนผู้ร่วมโครงการถึง 5.2 ล้านคน ได้รับการบันทึกใน กินเนสบุ๊ค (Guinness Book of World Records) ว่าเป็นโครงการ distributed computing ที่ใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน ด้วยจำนวนผู้ใช้ที่ยังทำการอยู่ในปัจจุบัน ประมาณ 3 แสนเครื่อง (5 ธ.ค. 49) โครงการนี้สามารถประมวลผลได้ 257 TeraFLOPS เปรียบเทียบกับ Blue Gene ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่เร็วที่สุดในโลกของ ไอบีเอ็ม สามารถคำนวณได้ 280 TFLOPS

ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence, AI)

  • เครื่องจักรที่สามารถทำงานได้เหมือนคน เช่น หุ่นยนต์ (Robot) ซึ่งเป็นเครื่องจักรกลชนิดหนึ่ง มีลักษณะโครงสร้างและรูปร่างแตกต่างกัน หุ่นยนต์ในแต่ละประเภทจะมีหน้าที่การทำงานในด้านต่าง ๆ ตามการควบคุมโดยตรงของมนุษย์ โดยทั่วไปหุ่นยนต์ถูกสร้างขึ้นเพื่อสำหรับงานที่มีความยากลำบากเช่น งานสำรวจในพื้นที่บริเวณที่เสี่ยงอันตรายหรืองานสำรวจดวงจันทร์ ดาวเคราะห์ที่ไม่มีสิ่งมีชีวิต ปัจจุบันเทคโนโลยีของหุ่นยนต์เจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว เริ่มเข้ามามีบทบาทกับชีวิตของมนุษย์ในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านอุตสาหกรรมการผลิต หุ่นยนต์ที่ใช้ในทางการแพทย์ หุ่นยนต์สำหรับงานสำรวจใต้ทะเล หุ่นยนต์ที่ใช้งานในอวกาศ หรือแม้แต่หุ่นยนต์ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นเครื่องเล่นของมนุษย์ จนกระทั่งในปัจจุบันนี้ได้มีการพัฒนาให้หุ่นยนต์นั้นมีลักษณะที่คล้ายมนุษย์ เพื่อให้อาศัยอยู่ร่วมกันกับมนุษย์ ให้ได้ในชีวิตประจำวัน
  • การทำงานต่างๆ เลียนแบบพฤติกรรมของคน เช่น การมองเห็น การได้ยิน การคิด การใช้เหตุผลและตัดสินใจ เป็นต้น ตัวอย่าง AI ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดอันหนึ่ง ได้แก่ ดีพ บลู ทู (Deep Blue II) ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ของบริษัท IBM ที่สามารถเอาชนะนายแกรี่ คาสปารอฟ แชมป์โลกหมากรุกเมื่อปี ค.ศ.1997 โดยซูเปอร์คอมพิวเตอร์ของ IBM เครื่องนี้ สามารถประเมินแนวทางที่เป็นไปได้นับพันวิธี ซึ่งสิ่งประดิษฐ์นี้แสดงให้เห็นว่าในอนาคตอันใกล้ระบบคอมพิวเตอร์จะมีความเฉลียวฉลาดและสามารถตอบสนองได้เหมือนกับมนุษย์มากขึ้น

เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ

  • ระบบระบุพิกัดบนพื้นโลก (Global Positioning System, GPS) คือเครื่องมือที่ทำงานโดยการรับสัญญาณจากดาวเทียมอย่างน้อย 4 เพื่อระบุพิกัดตำแหน่งบนพื้นโลก ปัจจุบันนี้ได้มีการใช้งาน GPS ในรูปแบบของการกำหนดพิกัดของสถานที่ต่าง ๆ การสำรวจ การนำทาง การทำแผนที่ การเดินป่า การเดินเรือ รวมถึงการค้นหาสถานที่สำคัญต่าง ๆ โดยเฉพาะในเรื่องการขนส่งมีการนำ GPS ไปใช้เป็นระบบติดตามรถยนต์ เพื่อควบคุมดูแลตลอดจนบันทึกเส้นทาง ลักษณะการขับรถ และการควบคุมเครื่องมืออุปกรณ์ในรถ เช่น อุณหภูมิ    ตู้แช่สินค้า ทำให้สามารถบริหารจัดการการขนส่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • เทคโนโลยีดาวเทียมสำรวจระยะไกล (Remote Sensing) โดยเฉพาะดาวเทียมรายละเอียดสูงซึ่งสามารถมองเห็นรายละเอียดของพื้นโลกได้ชัดเจน ปัจจุบันข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมเหล่านี้สามารถสืบค้นได้ฟรีผ่านทางอินเตอร์เน็ต เช่น โปรแกรม Google Earth เป็นโปรแกรมที่สามารถเรียกใช้ผ่านทาง Internet เป็นโปรแกรมที่ทำให้มองเห็นภาพถ่ายจากดาวเทียมแสดงถึงภูมิประเทศตลอดจนรายละเอียดของเมืองหรือพื้นที่ต่างๆ หลายที่ทั่วโลกได้อย่างชัดเจน สามารถนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์อย่างมากมายทั้งในด้านท่องเที่ยว การเรียนการสอนภูมิศาสตร์ การวางแผนการใช้ที่ดินของทั้งภาครัฐและเอกชน พร้อมทั้งการประยุกต์ทางธุรกิจต่างๆ
  • ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information System, GIS) คือ การนำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้ในการรวบรวม จัดเก็บ จัดการและวิเคราะห์ข้อมูลทางภูมิศาสตร์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในงานด้านวิเคราะห์ข้อมูลได้หลากหลาย เช่น การเปลี่ยนแปลงของการใช้พื้นที่ การแพร่ขยายของโรคระบาด การเคลื่อนย้ายถิ่นฐาน การบุกรุกทำลายป่าไม้ เป็นต้น สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในสาขาต่าง ๆ เช่น การเกษตร ป่าไม้ ธรณีวิทยา อุทกศาสตร์ สิ่งแวดล้อม การวิเคราะห์ภัยพิบัติ การวางผังเมือง เป็นต้น

อ่านต่อ >>>

» มนุษย์ภายใต้กระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก

» ภูมิศาสตร์และสภาวะแวดล้อมโลก

» สถานการณ์ด้านสังคมและวัฒนธรรม

» เศรษฐกิจโลก

» การเมืองระหว่างประเทศ

» ระบบกฎหมายของโลก

» สิทธิมนุษยชนในกระแสโลกาภิวัตน์

» เทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลง

» ประชาคมโลกภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์

» บรรณานุกรม

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย