สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

ประชาคมโลก (Global Community)

คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย

เทคโนโลยีชีวภาพ (Bio Technology)

ชีวจริยธรรม (Bioethics)

ชีวจริยธรรม หรือ Bioethics ในความหมายเบื้องต้นอย่างกว้าง คือ จริยธรรมของบุคคลหรือสังคม ต่อสรรพชีวิตหรือสิ่งมีชีวิตทั้งมวลที่เกิดขึ้นบนโลก ซึ่งแต่เดิมมีเฉพาะชีวิตที่เกิดขึ้นมาอย่างเป็นธรรมชาติ แต่ต่อมาจากความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์ ทำให้ชีวิตเกิดขึ้นมาได้จากกระบวนการหรือวิธีการทางวิทยาศาสตร์ อย่างไม่เป็นธรรมชาติด้วย ส่งผลให้เกิดความซับซ้อนต่อประเด็นของ ชีวจริยธรรมมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บทบาทและผลกระทบจากโครงการถอดรหัสพันธุกรรมมนุษย์  ( Human Genome Project ) ซึ่งเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1990 (พ.ศ.2533) และประกาศความสำเร็จของโครงการในการถอดรหัสยีนมนุษย์ได้ทั้งหมดเมื่อปี ค.ศ.2003 (พ.ศ.2546)

นอกจากนี้ความหมายของชีวจริยธรรมยังรวมถึง จริยธรรมของการนำความรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับพันธุกรรม (หรือยีน) ของมนุษย์ และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ไปใช้ให้ถูกต้อง (อย่างมีศีลธรรมและคุณธรรม) ด้วย ประเด็นปัญหาเกี่ยวกับเทคโนโลยีชีวภาพที่เกี่ยวข้องกับชีวจริยธรรมที่เป็นที่ถกเถียงกันในวงกว้างทั้งในกลุ่มนักวิทยาศาสตร์และประชาคมโลก มีดังนี้

สิทธิบัตรยีน

สิทธิบัตร เป็นรูปแบบการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาแบบหนึ่งที่ให้ความคุ้มครองสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ระบบสิทธิบัตรนี้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายภายใต้เหตุผลสนับสนุนที่ว่า การให้สิทธิบัตรจะทำให้นักประดิษฐ์มีกำลังใจที่จะทำงานประดิษฐ์ต่อไป ผู้ใดก็ตามที่ประดิษฐ์ ลอกเลียน หรือหาผลประโยชน์จากวัตถุที่อยู่ภายใต้การคุ้มครองแห่งสิทธิบัตรโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ถือสิทธิบัตรจะมีความผิดและอาจได้รับการลงโทษทางกฎหมาย ซึ่งปัจจุบันความก้าวล้ำทางเทคโนโลยีชีวภาพนี้ได้สร้างประเด็นข้อถกเถียงในการขอจดสิทธิบัตรในสิ่งประดิษฐ์ทางด้านนี้อย่างมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะนี้คือเรื่องของ “การจดสิทธิบัตรยีน”

เรื่องการจดสิทธิบัตรยีนในสหรัฐอเมริกา มีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งปกติสำนักงานสิทธิบัตรจะไม่รับจดการค้นพบกฎทางธรรมชาติ เช่น เซอร์ไอแซค นิวตัน ค้นพบกฎของแรงโน้มถ่วง หากมีการจดสิทธิบัตรไว้ คนที่ใช้แรงโน้มถ่วงก็ต้องเสียค่าสิทธิประโยชน์หมด กล่าวได้ว่าจะยืน เดิน นั่ง นอน ก็ต้องจ่ายสตางค์ค่าสิทธิประโยชน์ มิฉะนั้นถือว่าละเมิดสิทธิ์

บริษัทเอกชนต่าง ๆ ที่ทำงานด้าน Biotechnology ต่างอ้างว่ามีความจำเป็นต้องลงทุนหลาย ร้อยล้านเหรียญสหรัฐฯ ในการค้นหาลำดับยีนเพื่อนำไปสู่การผลิตตัวยาใหม่ๆ ตลอดจนการวิเคราะห์โรค หากไม่มีการป้องกันทรัพย์สินทางปัญญาที่ค้นพบแล้ว คงจะไม่มีบริษัทไหนกล้าลงทุนมหาศาลเช่นนี้ แต่หากมีการจดสิทธิบัตรยีน โดยเฉพาะผลิตจากพืช GMOs สังคมเกษตรกรรมจะได้รับผลกระทบเป็นอันดับแรก เกษตรกรอาจจะได้รับสิทธิในการเพาะปลูกพืช GMOs แต่เนื่องจากเมล็ดพันธุ์ที่ได้จากพืช GMOs นั้นไม่สามารถสืบพันธุ์ต่อได้ เมื่อเกษตรกรปลูกพืช GMOs หมดไปแล้วหนึ่งรุ่น หรือต้องการขยายพันธุ์พืชเพิ่ม เกษตรกรก็ต้องเอาเมล็ดพันธุ์มาจากเจ้าของลิขสิทธิ์ แน่นอนว่าเกษตรกรก็ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ด้วย ซึ่งเจ้าของลิขสิทธิ์ก็ไม่ใช้ใครอื่น แต่เป็นนายทุนที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจนั่นเอง และปัญหาสำคัญก็คือจะแน่ใจได้อย่างไรว่านายทุนจะไม่เอาเปรียบเกษตรกร

ในทางตรงกันข้าม ประเทศที่ไม่มีการยอมรับพืช GMOs ก็จะถูกกดดันจากประเทศมหาอำนาจอย่างรุนแรง อาจถูกกล่าวหาว่าเป็นประเทศที่ล้าหลัง และเพื่อหลุดพ้นจากคำว่า ประเทศล้าหลัง ประเทศนั้นก็จำต้องสั่งซื้อเทคโนโลยีจากประเทศมหาอำนาจ เพื่อนำมาผลิตพันธุ์พืช GMOs ผลที่เกิดขึ้นก็คือ เกิดการผูกขาดทางเศรษฐกิจ เช่น ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์เทคโนโลยีทุกปี การซ่อมบำรุงต้องได้รับความเห็นชอบจากประเทศมหาอำนาจเท่านั้น หรือแม้แต่การค้นคว้าทดลองพืช GMOs ก็ต้องรายงานต่อเจ้าของเทคโนโลยี เป็นต้น

นอกจากนี้ ประเทศที่มีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาจมีการจดลิขสิทธิ์พืช GMOs ที่ตนได้ทำการค้นคว้าทดลอง แม้ว่าพืชที่เป็นสายพันธุ์ธรรมชาติจะไม่ใช่ของประเทศตนก็ตาม เช่น ประเทศในเขตหนาวอาจมีการนำสายพันธุ์พืชในเขตร้อน อาทิ ยางพารา อ้อย ไปดัดแปลงพันธุกรรมเพื่อปลูกในเขตหนาวได้หรือจดสิทธิบัตรเพื่อนำกลับมาขายยังประเทศในเขตร้อน ซึ่งแม้ว่าจะมีกฎหมายควบคุมพืช GMOs แต่ก็จะแน่ใจได้อย่างไรว่านักกฎหมายจะตั้งข้อกฎหมายโดยไม่มีช่องว่าง หรือเปิดโอกาสให้กับประเทศมหาอำนาจเพื่อแสวงหาผลประโยชน์จากพันธุ์พืช  

การโคลนนิ่งมนุษย์

หากจำแนกตามวัตถุประสงค์ การโคลนนิ่งมนุษย์อาจแบ่งได้เป็นสองประเภทใหญ่ ๆ คือ การโคลนนิ่งเพื่อการบำบัดรักษา (therapeutic cloning) กับ การโคลนนิ่งเพื่อการสืบพันธุ์ (reproductive cloning)

  • การโคลนนิ่งเพื่อการบำบัดรักษา เช่น การนำเซลล์สมองใส่เข้าไปเพื่อบำบัดรักษาผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์หรือโรคพาร์คินสัน หรือการนำเซลล์ที่ทำหน้าที่สร้างเนื้อเยื่อใส่เข้าไปในร่างกาย เพื่อให้สร้างเนื้อเยื่อทดแทนในกรณีที่ผู้ป่วยมีบาดแผลพุพองจากไฟไหม้ เป็นต้น
  • การโคลนนิ่งเพื่อการสืบพันธุ์ เช่น คู่สมรสอยู่ในภาวะมีบุตรยากหรือเนื่องจากอยู่ในภาวะเป็นหมันถาวรคู่สมรสที่ไม่สามารถมีบุตรได้ด้วยวิธีการตามธรรมชาติ ความต้องการมีบุตรของกลุ่มรักร่วมเพศ การโคลนเพื่อหลีกเลี่ยงความผิดปกติทางพันธุกรรมของบุตร เป็นต้น

อย่างไรก็ตามประเด็นเรื่องของการโคลนนิ่งมนุษย์มีข้อที่ต้องพิจารณาสำคัญ คือ ความเสี่ยงในการโคลนนิ่ง เช่น เซลล์ที่นำมาโคลนอาจตายหรือได้มนุษย์ที่ผิดปกติ หรือหากนำเซลล์จากมนุษย์ที่มีอายุ 40 ปีมาโคลน มนุษย์ดังกล่าวจะมีอายุจริงเท่าไร ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบต่อความเสี่ยงเหล่านี้ มนุษย์ที่เกิดจากการโคลนนิ่งจะมีฐานะทางกฎหมายอย่างไร

นอกจากนี้การโคลนนิ่งยังไม่เป็นที่ยอมรับจากทางศาสนาคริสต์โดยมองว่าหน้าที่สร้างสิ่งมีชีวิตเป็นของพระเจ้า ไม่ใช่มนุษย์ นอกจากนี้ ประเด็นการโคลนนิ่งมนุษย์ยังกังวลเกี่ยวกับวัตถุประสงค์อื่นที่แฝงอยู่ ตัวอย่างเช่น อาจมีต้องการที่โคลนนิ่งตัวซัดดัม ฮุดเซนขึ้นมาเพื่อปกครองประเทศอิรักต่อไป หรืออาจโคลนนิ่งมนุษย์ขึ้นมาเพื่อเป็นทหารในการสู้รบ เป็นต้น

แม้ในปัจจุบันจะยังไม่ยอมให้โคลนมนุษย์ได้ทั้งคน แต่ถ้าเป็นอวัยวะต่างๆ อาทิ ไต ตับ ตา ปอด หัวใจ จะยอมให้มีการโคลนหรือไม่ เนื่องจากอวัยวะเหล่านี้เป็นที่ต้องการสำหรับผู้ป่วยที่จำเป็นต้องเปลี่ยนอวัยวะ ในปัจจุบันมีผู้บริจาคอวัยวะน้อย แต่ผู้รอรับบริจาคอวัยวะมีมาก เรื่องนี้จึงเป็นอีกเรื่องที่มีการถกเถียงกันมากขึ้นทุกวัน

อ่านต่อ >>>

» มนุษย์ภายใต้กระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก

» ภูมิศาสตร์และสภาวะแวดล้อมโลก

» สถานการณ์ด้านสังคมและวัฒนธรรม

» เศรษฐกิจโลก

» การเมืองระหว่างประเทศ

» ระบบกฎหมายของโลก

» สิทธิมนุษยชนในกระแสโลกาภิวัตน์

» เทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลง

» ประชาคมโลกภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์

» บรรณานุกรม

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย