สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

กษัตริย์

๔. ความสัมพันธ์ของพระมหากษัตริย์กับกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

สำหรับบทบัญญัติของกฎหมายไทยในหัวข้อเรื่องคำว่า “กษัตริย์” นี้ ได้รวบรวมเอกสารตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์โดยจัดแบ่งออกเป็น ๓ ภาค คือ

ภาค ๑ เป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับพระราชวงศ์ พระราชฐาน หรือระเบียบการปกครองในพระราชสำนัก ได้แก่ กฎมณเฑียรบาล

ภาค ๒ เป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับบุคลากรในราชสำนัก ได้แก่
๑. พระราชบัญญัติสมุหมนตรี รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๙
๒.พระราชบัญญัติราชองครักษ์ พุทธศักราช ๒๔๘๐
๓.พระราชบัญญัตินายตำรวจราชสำนัก พ.ศ. ๒๔๙๕

ภาค ๓ เป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ ได้แก่ พระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พุทธศักราช ๒๔๗๙

นอกจากนี้ยังมีกฎหมายที่เกี่ยวเนื่องกับพระมหากษัตริย์อยู่อีกหลายฉบับ แต่ได้มีการนำไปรวบรวมอยู่ในหัวข้อเรื่องอื่น ๆ อีก ได้แก่

๑.พระราชบัญญัติให้ใช้ตราแผ่นดิน รัตนโกสินทร์ศก ๑๐๘
๒.พระราชบัญญัติพระราชลัญจกร รัตนโกสินทรศก ๑๓๐
๓.พระราชบัญญัติเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔
๔.พระราชบัญญัติเหรียญราชรุจิ รัชกาลที่ ๙ พ.ศ. ๒๕๐๒
๕.พระราชบัญญัติเหรียญเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถเนื่องในมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบ พ.ศ. ๒๕๓๕
๖.พระราชบัญญัติเหรียญที่ระลึกพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร พ.ศ. ๒๕๓๙
๗.พระราชบัญญัติเหรียญเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหามงคลสมัยพระราชพิธีกาญจนาภิเษก พ.ศ. ๒๕๓๙
๘.พระราชบัญญัติเหรียญเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒ พ.ศ. ๒๕๔๒

 ภาค ๑
กฎหมายที่เกี่ยวกับพระราชวงศ์ พระราชฐานหรือระเบียบการปกครองในพระราชสำนัก

กฎมณเฑียรบาล

ส่วนที่ ๑
ความเบื้องต้น

กฎมณเฑียรบาล

กฎมณเฑียรบาลเป็นกฎหมายประเภทหนึ่งซึ่งในอดีตมีความสำคัญอย่างมากในระบบกฎหมายของไทย ซึ่งแสดงถึงรูปแบบ (กฎ) และเนื้อหาสาระเป็นพิเศษแตกต่างไปจากกฎหมายอื่น กฎมณเฑียรบาลนี้ตราขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น แม้ต่อมาจะมีการยกเลิกไปก็มีการตรากฎมณเฑียรบาลว่าด้วยเรื่องอื่น ๆ ขึ้นใหม่อีกหลายฉบับ บางฉบับใช้ชื่อว่ากฎมณเฑียรบาล บางฉบับก็มิได้ใช้ชื่อรูปแบบเช่นนั้น แต่เลี่ยงไปออกเป็นรูปแบบอื่น เช่น ประกาศพระบรมราชโองการบ้าง พระราชกฤษฎีกาบ้าง แต่ด้วยเหตุที่เนื้อความเป็นเรื่องที่ปกติแล้วจะพึงตราเป็นกฎมณเฑียรบาล จึงนิยมถือว่าเป็นกฎมณเฑียรบาลด้วยเช่นกัน

กฎมณเฑียรบาลมีหลายฉบับ บางฉบับยังคงใช้มาจนทุกวันนี้ แต่ที่มีความสำคัญที่สุดก็คือ กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ เนื่องจากเป็นกฎหมายที่กล่าวถึงกฎเกณฑ์การสืบราชสมบัติของพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขของประเทศ ซึ่งแยกออกมาบัญญัติไว้ในกฎมณเฑียรบาลตั้งแต่ก่อนมีรัฐธรรมนูญ เมื่อมีรัฐธรรมนูญแล้วก็มิได้นำมาบัญญัติซ้ำ หากแต่รัฐธรรมนูญทุกฉบับยอมรับตลอดมาว่าให้นำกฎมณเฑียรบาลมาใช้ได้ในกรณีราชบัลลังก์ว่างลง ดังที่เคยนำมาใช้แล้วเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๗ และ พ.ศ. ๒๔๘๙ เป็นเหตุให้ได้อัญเชิญพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอานันทมหิดลขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ ๘ และอัญเชิญสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดชขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ ๙ ข้อนี้เท่ากับว่ารัฐธรรมนูญยอมรับสถานะทางกฎหมายของกฎมณเฑียรบาล และยอมรับรูปแบบของกฎหมายชนิดนี้ว่ามีได้ในระบบกฎหมายไทย

 ส่วนที่ ๒
ความหมายและขอบเขต

ความหมาย

กฎมณเฑียรบาล ตามความหมายที่ปรากฏในพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน หมายถึง ข้อบัญญัติพิเศษเกี่ยวกับพระราชฐาน พระราชวงศ์ และระเบียบการปกครองในราชสำนัก

นอกจากนี้ยังมีผู้ทรงคุณวุฒิทางกฎหมายที่ได้ให้ความหมายของกฎมณเฑียรบาล ซึ่งพอจะประมวลได้ดังนี้

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้ทรงอธิบายว่า “ชื่อกฎมณเฑียรบาลนี้แปลว่าสำหรับรักษาเรือนเจ้าแผ่นดิน”

ศาสตราจารย์ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช อธิบายว่า กฎมณเฑียรบาลเป็นกฎหมายรักษาวินัย ความสงบ ตลอดจนความปลอดภัยในพระบรมมหาราชวังและองค์พระมหากษัตริย์

ศาสตราจารย์ ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ อธิบายไว้ว่า กฎมณเฑียรบาลตามที่เข้าใจกันโดยทั่ว ๆ ไปว่าเป็นกฎหมายส่วนพระองค์พระมหากษัตริย์ หรือระเบียบข้อบังคับในราชสำนัก

ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากความหมายข้างต้นก็คงพอจะเห็นได้ว่า กฎมณเฑียรบาลนั้นมิได้มุ่งหมายที่จะดูแลรักษาพระราชวังและพระราชฐานเท่านั้น แต่ยังมุ่งหมายที่จะอภิบาลดูแล ถวายอารักขาและความปลอดภัย ตลอดจนการรักษาพระบรมเดชานุภาพและการผดุงพระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชบริพาร หรือบุคคลอื่น ๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับพระราชวัง พระราชฐานนั้นด้วย

ขอบเขต

กฎหมายทั้งหลายย่อมมีขอบเขตในตัวเองว่าจะว่าด้วยเรื่องอันใด ใช้กับใคร ในสถานการณ์ใด กฎมณเฑียรบาลก็เช่นกัน จะมีขอบเขตโดยเฉพาะซึ่งกำหนดไว้ ดังนี้

๑.ขอบเขตด้านสถานที่ (Place)

ข้อกำหนดของกฎมณเฑียรบาลมุ่งหมายที่จะดูแลรักษาพระราชวังและพระราชฐานอันเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ แต่โดยธรรมเนียมที่ถือกันมาแล้ว ไม่ว่าพระมหากษัตริย์จะประทับ ณ ที่ใด แม้นอกพระบรมมหาราชวังก็ถือว่าสถานที่นั้นเป็นพระราชวังหรือพระราชฐานด้วย การกระทำผิดในสถานที่ดังกล่าวย่อมเป็นการละเมิดพระราชอาชญาพระผู้เป็นเจ้า อันถือว่าขัดต่อกฎมณเฑียรบาล

๒.ขอบเขตด้านตัวบุคคล (Person)

กฎมณเฑียรบาลมีความมุ่งหมายจะกำหนดขอบเขตในเรื่องของการอภิบาลดูแลรักษา การถวายอารักขาและความปลอดภัย ตลอดจนการรักษาพระบรมเดชานุภาพและการผดุงพระเกียรติยศของบุคคล อันได้แก่พระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการในพระองค์ แม้ว่าพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จะทรงพระราชอำนาจเด็ดขาดเป็นล้นพ้น แต่กฎมณเฑียรบาลก็อาจกำหนด “แนวทาง” เพื่อพระราชจรรยานุวัตรว่า พระมหากษัตริย์ในอดีตทรงปฏิบัติมาเช่นไร พระมหากษัตริย์ในรัชกาลต่อ ๆ ไปก็พึงทรงปฏิบัติตาม ซึ่งกฎมณเฑียรบาลเหล่านี้มักจะนำโบราณราชนิติประเพณีมากำหนดไว้ พระบรมวงศานุวงศ์เป็นผู้ที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับพระมหากษัตริย์ การประพฤติปฏิบัติตนของพระบรมวงศานุวงศ์อาจจะกระทบต่อพระราชฐานะและพระบารมีของพระมหากษัตริย์ได้ กฎมณเฑียรบาลจึงได้บังคับครอบคลุมไปถึงการประพฤติปฏิบัติพระองค์ของพระบรมวงศานุวงศ์ด้วย ไม่ว่าพระบรมวงศานุวงษ์พระองค์นั้นจะประทับอยู่ในเขตพระราชฐานหรือไม่ก็ตาม ด้วยเหตุผลเดียวกันนี้ ข้าราชการในพระองค์ก็ย่อมต้องผูกพันให้ปฏิบัติตามกฎมณเฑียรบาลด้วย อย่างไรก็ตาม กฎมณเฑียรบาลย่อมไม่ใช้บังคับกับประชาชนทั่วไป เว้นเสียแต่ว่าบุคคลนั้นจะได้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์หรือพระราชฐาน เช่น การเข้าไปในเขตที่ประทับ การเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท การถวายฎีการ้องทุกข์ เป็นต้น

ส่วนที่ ๓
ประวัติความเป็นมาและวิวัฒนาการ

ประวัติความเป็นมา

กฎมณเฑียรบาลของไทยนั้นน่าจะมีที่มาจากพราหมณ์ โดยเฉพาะคณะพราหมณ์พิธีต่าง ๆ ซึ่งรอบรู้โบราณราชประเพณีและมีหน้าที่รักษาโบราณราชประเพณี “เพื่อบูชาองค์พระมหากษัตริย์ที่เป็นเทวราช” ซึ่งศาสตราจารย์ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช อธิบายว่า “ที่ประทับของพระมหากษัตริย์คือพระราชวังนั้น เจตนาให้มีกฎเกณฑ์และพิธีการต่าง ๆ เหมือนกับว่าเป็นเทวสถาน คือ เป็นเทวสถานของพระผู้เป็นเจ้าในลัทธิพราหมณ์” เมื่อคตินี้มาถึงเมืองไทย เราก็สมมุติให้พระราชวังเป็นเทวสถาน สมมุติว่าพระมหากษัตริย์เป็นพระผู้เป็นเจ้า และมีสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งสร้างไว้สำหรับพิธีกรรมเพื่อจะปฏิบัติบูชาแด่องค์พระมหากษัตริย์ และที่สำคัญต้องมีพราหมณ์ประจำราชสำนัก ส่วนกฎระเบียบและวิธีปฏิบัติที่พึงกระทำภายในพระราชสำนักและที่บุคคลอื่นพึงกระทำต่อพระมหากษัตริย์นั้น พวกพราหมณ์คงจะได้เล่าเรียนสะสมความรู้กันต่อ ๆ มาจากพราหมณ์ตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์จนย้อนไปได้ถึงคัมภีร์มนูธรรมศาสตร์ของอินเดีย การกล่าวถึงความรู้ด้านนี้จึงเรียกว่า โบราณราชประเพณีบ้าง นิติศาสตร์ราชประเพณีบ้าง และเมื่อประยุกต์เข้ากับหลักธรรมในทางพุทธศาสนาว่าด้วยทศพิธราชธรรม ข้อที่ ๑๐ ว่าด้วยอวิโรธนธรรม คือ การประพฤติปฏิบัติมิให้ผิดเพี้ยนไปจากระเบียบวิธีปฏิบัติแต่เดิม กฎและธรรมเนียมปฏิบัติเหล่านี้จึงใช้สืบต่อกันมาด้วยวาจาและความทรงจำในฐานะที่เป็นโบราณราชบัญญัติ ซึ่งก็คงจะมีการดัดแปลงแก้ไขให้เหมาะสมกับภูมิประเทศและธรรมเนียม อื่น ๆ ของไทย

ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี มีการประมวลความรู้ของพราหมณ์เป็นลายลักษณ์อักษรและใช้เป็นหลักราชการ เรียกชื่อว่า “กฎมณเฑียรบาล” เป็นครั้งแรก สืบเนื่องจากเมื่อตั้งบ้านเมืองขึ้นใหม่จำเป็นต้องมีกฎระเบียบให้เป็นหลักฐานมั่นคง ป้องกันพราหมณ์ต่าง ๆ ถกเถียงแปลความผิดเพี้ยนไปตามความทรงจำของแต่ละคน และเพื่อให้พระมหากษัตริย์และบรรดาผู้เกี่ยวข้องปฏิบัติตนได้ถูกต้อง จึงได้มีการประชุมปรึกษาพราหมณ์และบัญญัติกฎมณเฑียรบาลขึ้น โดยถือกันว่า เป็นการนำเอาความที่มีมาแต่โบราณมาเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรมิใช่การสร้างสรรค์ ขึ้นใหม่แต่อย่างใด การตรากฎมณเฑียรบาลขึ้นใช้บังคับนี้สันนิษฐานว่า ตราขึ้นในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถตามที่ระบุพระนามไว้ในคำปรารภกฎมณเฑียรบาลซึ่งเป็นฉบับเก่าที่สุดตามที่เหลือร่องรอยให้ตรวจชำระใหม่ในสมัยรัชกาลที่ ๑ ซึ่งจะแบ่งออกเป็น ๓ แผนก คือ แผนกแรกจะเป็นแบบแผนกพระราชพิธีและพระราชานุกิจทั้งในทางปกครองและส่วนพระองค์ แผนกที่สองจะเป็นแบบแผนว่าด้วยตำแหน่งหน้าที่ราชการ และแผนกสุดท้ายจะเป็นแบบแผนว่าด้วยวิธีปฏิบัติในราชสำนัก และต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี ในรัชกาลที่ ๑ ได้มีการตรวจชำระกฎหมายตราสามดวง ซึ่งรวมถึงกฎมณเฑียรบาลที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาด้วย โดยได้ปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมกับภูมิประเทศและธรรมเนียมประเพณี ดังปรากฏหลักฐานในคำปรารภ “กฎมณเฑียรบาลเล่มที่ ๑” ของกฎหมายตราสามดวง ความว่า “ตราขึ้นเมื่อศักราช ๗๒๐ วันเสาเดือนห้าขึ้นหกค่ำ ชวดนักสัตวศก สมเดจพระเจ้ารามาธิบดีบรมไตรโลกนารถมหามงกุฎเทพมนุษวิสุทธิ สุริยวงษองคพุทรางกูร บรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว” ภายหลังจากนี้ก็ไม่ปรากฏว่ามีการแก้ไขเพิ่มเติม กฎมณเฑียรบาลฉบับนี้แต่ประการใด จนกระทั่งกฎมณเฑียรบาลฉบับนี้ ค่อย ๆ ถูกยกเลิกเพิกถอนไปโดยตัวบทกฎหมายใหม่เป็นเรื่อง ๆ ไป ซึ่งก็มิใช่ว่าจะเลิกเสียทีเดียวทั้งฉบับ บางเรื่องก็หมดความจำเป็นหรือไม่อาจปฏิบัติได้โดยอัตโนมัติตามสภาพเศรษฐกิจสังคมและการเมืองการปกครอง ที่นับว่าเป็นจุดเปลี่ยนแปลงอันสำคัญคือการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. ๒๔๗๕ ซึ่งมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy) ขึ้น เป็นเหตุให้ข้อกำหนดส่วนใหญ่ในกฎมณเฑียรบาลฉบับกรุงศรีอยุธยาไม่อาจใช้บังคับได้ต่อไป

วิวัฒนาการ

ภายหลังจากที่กฎมณเฑียรบาลฉบับกรุงศรีอยุธยาสิ้นผลใช้บังคับแล้ว ในรัชกาลต่อ ๆ มาก็มีการตรากฎมณเฑียรบาลว่าด้วยเรื่องอื่น ๆ ขึ้นใหม่อีกหลายฉบับ บางฉบับใช้ชื่อว่ากฎมณเฑียรบาล บางฉบับก็มิได้ใช้ชื่อเช่นนั้น แต่เลี่ยงไปออกเป็นกฎหมายรูปแบบอื่น เช่น ประกาศพระบรมราชโองการบ้าง พระราชบัญญัติบ้าง พระราชกฤษฎีกาบ้าง พระราชกำหนดบ้าง แต่ด้วยเหตุที่เนื้อหาสาระเป็นเรื่องที่ปกติแล้วจะพึงตราเป็นกฎมณเฑียรบาล จึงถือว่าเป็นกฎมณเฑียรบาลด้วยเช่นกัน

ในสมัยรัชกาลที่ ๔ มีการออกประกาศว่าด้วยพระราชนิยมในเรื่อง ต่าง ๆ อันมีพระราชประสงค์ให้ประชาชนปฏิบัติ ประกาศบางเรื่องว่าด้วยความประพฤติของข้าราชการในราชสำนัก เช่น ประกาศ จ.ศ. ๑๒๑๖ ว่าด้วยเวลากราบทูลข้อราชการและกิจธุระ ประกาศ จ.ศ. ๑๒๑๗ ว่าด้วยห้ามมิให้เรือที่โดยเสด็จตัดกระบวน ประกาศ จ.ศ. ๑๒๑๙ ว่าด้วยการยิงกระสุนทางเสด็จพระราชดำเนิน เป็นต้น ซึ่งประกาศเหล่านี้บางฉบับถือว่าเป็นกฎมณเฑียรบาลได้

ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิกธรรมเนียมหมอบกราบเวลาเข้าเฝ้า เรียกกันโดยทั่วไปว่ากฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการเปลี่ยนธรรมเนียมใหม่ นอกจากนี้ยังมีประกาศพระบรมราชโองการห้ามคนแต่งกายไม่สมควรมิให้เข้ามาในพระราชฐานที่เสด็จออก ซึ่งนับว่าเป็นกฎมณเฑียรบาลอีกฉบับหนึ่ง

ในสมัยรัชกาลที่ ๖ ได้ทรงกำหนดเขตพระราชฐานว่าที่ใดเป็นที่รโหฐานอันข้าราชการจะเข้าไปมิได้ โดยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทาน พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยที่รโหฐานในพระราชสำนัก ซึ่งถือเป็นกฎมณเฑียรบาลฉบับหนึ่งด้วย และหลังจากนั้นก็ได้มีการตรากฎมณเฑียรบาลขึ้นอีกหลายฉบับ เช่น กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยครอบครัวแห่งข้าราชการในพระราชสำนัก พระพุทธศักราช ๒๕๔๗ กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการค้าขายแลการสมาคมแห่งข้าราชการในพระราชสำนัก กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการเสกสมรสแห่งเจ้านายในพระราชวงศ์ และที่สำคัญก็คือ กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ เป็นต้น

ในสมัยรัชกาลที่ ๗ ภายหลังที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. ๒๔๗๕ ก็ได้มีการตรากฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการเสกสมรสพระราชวงศ์แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๕ โดยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร มีประธานคณะกรรมการราษฎรเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

ส่วนที่ ๔
สถานะทางกฎหมาย สภาพบังคับและการตรากฎมณเฑียรบาล

สถานะทางกฎหมายของกฎมณเฑียรบาล

ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ การตรากฎมณเฑียรบาลจะเป็นการประมวลโบราณนิติประเพณีลงไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งแรกเริ่มคงจะมุ่งหมายเพียงว่าให้เป็นรูปแบบของกฎหรือกฎหมายที่ว่าด้วยมณเฑียรบาล ซึ่งหมายถึงเพียงการบันทึกคำฟ้องในคดีความไว้เป็นหลักฐานเท่านั้น ภายหลังจึงมาเข้าใจเป็นว่าระเบียบหรือกฎเกณฑ์ข้อบังคับต่าง ๆ อย่างไรก็ตามเมื่อใช้คำว่ากฎมณเฑียรบาล ในสมัยอยุธยานั้นคงมิได้มุ่งหมายจะให้เป็นรูปแบบกฎหมายอย่างพระราชบัญญัติ พระราชกฤษฎีกา คงจะมุ่งหมายเพียงจะแสดงเนื้อหาของรูปแบบที่เป็นกฎเท่านั้น ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๖ เมื่อเกิดความจำเป็นต้องตรากฎว่าด้วยเนื้อหาใหม่ ๆ ในการเกี่ยวด้วยพระราชสำนักเพิ่มขึ้น จึงใช้คำว่า “กฎมณเฑียรบาล” ในรูปแบบของกฎหมายทำนองเดียวกับพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา แต่ละฉบับมีสถานะแตกต่างกันออกไป ซึ่งต้องพิจารณาจากความประสงค์ของผู้ตราและเนื้อหาของกฎมณเฑียรบาลนั้น ๆ บางฉบับเท่ากับพระราชบัญญัติ บางฉบับอาจมีสถานะต่ำกว่านั้น แต่ส่วนใหญ่จะมีสถานะเท่ากับพระราชบัญญัติ ยกเว้นกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ เท่านั้น ซึ่งเดิมมีสถานะสูงกว่าพระราชบัญญัติ เพราะรัฐธรรมนูญบางฉบับกำหนดให้กระบวนการนิติบัญญัติในการแก้ไขกฎมณเฑียรบาลให้กระทำได้อย่างเดียวกันกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ แต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ ซึ่งใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน ได้เปลี่ยนแปลงการแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลดังกล่าวไว้ในมาตรา ๒๒ ว่า ให้เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะ ซึ่งทำให้สถานะที่เดิมสูงกว่าพระราชบัญญัติอาจเปลี่ยนไปด้วย

อนึ่ง ในปัจจุบันแม้ว่ารัฐธรรมนูญจะรับรองสถานะของกฎมณเฑียรบาลเพียงเรื่องเดียว คือ กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ และมิได้บัญญัติรับรองสถานะของกฎมณเฑียรบาลในเรื่องอื่น ๆ ไว้เลยก็ตาม แต่ก็ยึดถือเป็นหลักกฎหมายทั่วไปว่า กฎมณเฑียรบาลซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับมาตั้งแต่ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ย่อมมีผลใช้บังคับต่อไปได้เท่าที่ยังไม่มีกฎหมายที่ตราขึ้นในภายหลังมายกเลิกหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลง

สภาพบังคับของกฎมณเฑียรบาล

กฎมณเฑียรบาลอาจมีส่วนที่เกี่ยวกับการปฏิบัติหรือพระราชจรรยานุวัตรของพระมหากษัตริย์อยู่บ้าง แต่ก็มิได้กำหนดสภาพบังคับ (Sanction) เอาแก่พระมหากษัตริย์ หากเลี่ยงไปถือเอาว่าพระราชจรรยานุวัตรดังกล่าวมีเพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกร หากไม่ทรงปฏิบัติตามผลร้ายก็จะตกแก่ราษฎร เช่น ข้าวยากหมากแพง ฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล กฎมณเฑียรบาลไม่ว่าในสมัยใดย่อมมีสภาพบังคับหรือโทษกำหนดไว้ด้วยเสมอ เช่น กฎมณเฑียรบาลสมัยอยุธยากล่าวถึง “โทษ ๓ ประการ ทีหนึ่งให้ภากธรรม สองทีส่งมหาดไทยจำ สามส่งองครักษจำ” บางความผิดก็ระบุโทษว่า “โทษเจ้าพนักงานถึงตาย” “โทษทวีคูนตายทังโคต” บางความผิดโทษมีลักษณะทางแพ่งอยู่บ้าง เช่น “ลงพระราชอาญาตี ๓๐ ที แล้วให้ไหมทวีคูนตามบันดาศักดิ์ แลอย่าให้เฝ้าพระบาทพระเจ้าอยู่หัว” “ถ้าผู้ใดไปสู้สองคนรอดตัวออกมา ได้ทั้งอาวุธข้าศึกมาด้วย บำเหนจ์ขันทองเสื้อผ้าตั้งให้เปนขุน”

เมื่อมีการตราพระราชกฤษฎีกา ประกาศพระบรมราชโองการ และกฎมณเฑียรบาลอื่น ๆ ในเวลาต่อมา เช่น ในสมัยรัตนโกสินทร์ กรณีใดที่มีพระราชประสงค์เป็นคำสั่งห้ามก็กำหนดโทษไว้ด้วยเสมอ เช่น ประกาศพระราชกระแสรัชกาลที่ ๕ ตอนหนึ่งว่า ถ้ามีคนแต่งตัวไม่เรียบร้อยผ่านเข้าออกเขตพระราชฐาน ให้นายประตูขับไล่ห้ามปราม ถ้าไม่ฟังให้จับส่งศาลกระทรวงวัง ตัดสินลงโทษปรับไม่เกินคราวละ ๒๐ บาท เป็นต้น กฎมณเฑียรบาลในสมัยรัชกาลที่ ๖ ก็มีโทษต่าง ๆ เช่นกัน ตั้งแต่สถานเบา เช่น ภาคทัณฑ์จนถึงคัดออกจากราชการ ถอดจากยศบันดาศักดิ์ เป็นต้น

แต่ที่นับว่าแปลกจากหลักเกณฑ์ข้างต้นก็คือ กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ เท่านั้น ซึ่งกล่าวถึงกฎเกณฑ์การสืบราชสมบัติแต่มิได้กำหนดโทษหรือสภาพบังคับเอาไว้ ทั้งนี้ก็เป็นเพราะลักษณะพิเศษบางประการของกฎมณเฑียรบาลฉบับนั้นนั่นเอง เช่นเดียวกับบทบัญญัติอื่น ๆ ในรัฐธรรมนูญ การฝ่าฝืนกฎมณเฑียรบาลฉบับดังกล่าวย่อมตกเป็นอันไร้ผล เช่น การอัญเชิญผู้ขาดคุณสมบัติตามกฎมณเฑียรบาลขึ้นครองราชย์ เป็นต้น การ

ตรากฎมณเฑียรบาล

กฎมณเฑียรบาลมิใช่สิ่งที่จะต้อง “ตรา” ขึ้นใช้บังคับเสมอไป เพราะอาจมีพระบรมราชโองการตรัสสั่งด้วยพระโอษฐ์ก็ได้ ซึ่งในสมัยอยุธยาก็มีการ “ตรา” กฎมณเฑียรบาลขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษร และมีการตรวจชำระใหม่ในสมัยรัชกาลที่ ๑ ดังปรากฏในคำปรารภของกฎมณเฑียรบาล

มาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์มีการตรากฎมณเฑียรบาลในรูปแบบอื่น ๆ อยู่หลายครั้งโดยไม่ใช้คำว่ากฎมณเฑียรบาล เหตุผลส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะว่ากฎมณเฑียรบาลที่มีอยู่แล้วเป็นบทพระอัยการที่ไม่อาจต่อเติมเสริมแต่งได้ จึงต้องเลี่ยงไปออกกฎมณเฑียรบาลในชื่ออื่น และความคิดนี้ยังเคารพยึดถือกันอย่างเคร่งครัด จนกระทั่งในสมัยรัชกาลที่ ๖ ก็ได้มีการตรากฎมณเฑียรบาลไว้ในฐานะเป็นรูปแบบกฎหมายชนิดหนึ่งโดยใช้คำว่ากฎมณเฑียรบาลเป็นครั้งแรกในทำนองเดียวกับคำว่า พระราชบัญญัติ พระราชกฤษฎีกา โดยเมื่อจะกล่าวถึงเรื่องใดก็จะเติมคำว่า “ว่าด้วย” เรื่องนั้น ๆ ต่อท้ายคำว่ากฎมณเฑียรบาล แต่เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแล้วก็มิได้ยอมรับรูปแบบกฎหมายชื่อนี้สำหรับการออกกฎหมายอีกต่อไป เว้นแต่จะเป็นการตรากฎมณเฑียรบาลเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ ดังนั้น กฎมณเฑียรบาลที่ตราขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษรจึงมี ๒ รูปแบบ คือ กฎมณเฑียรบาลที่ตราขึ้นในรูปแบบของกฎมณเฑียรบาล และกฎมณเฑียรบาลที่ตราขึ้นในรูปแบบอื่น เช่น เป็นประกาศพระบรมราชโองการ พระราชกฤษฎีกา พระราชบัญญัติ

กรณีมีปัญหาว่า ถ้าจะมีการตรากฎมณเฑียรบาลขึ้นใหม่ในปัจจุบันจะสามารถกระทำได้หรือไม่ ซึ่งเมื่อพิจารณาจากรัฐธรรมนูญแล้วจะเห็นได้ว่า รูปแบบของกฎหมายย่อมเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ส่วนการตรากฎกระทรวง เทศบัญญัติหรือกฎหมายอนุบัญญัติอื่น ๆ ก็เป็นไปตามที่กฎหมายแม่บทกำหนดไว้ การตรากฎมณเฑียรบาลขึ้นใหม่จึงไม่อาจทำได้เพราะขาดกระบวนการที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้และไม่ปรากฏรูปแบบของกฎหมายนี้ในรัฐธรรมนูญ เว้นแต่จะเป็นการตรากฎมณเฑียรบาลแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พุทธศักราช ๒๔๖๗ แต่หากมีความจำเป็นจะต้องตรากฎมณเฑียรบาลในเรื่องอื่น ๆ ให้มีผลเป็นกฎหมายก็อาจทำได้โดยตราเป็นระเบียบประเพณีแห่งราชสำนัก ซึ่งไม่ถือว่าเป็นกฎหมาย ถ้าจะให้เป็นกฎหมายก็ต้องตราเป็นพระราชบัญญัติ หรือถ้าจะรักษาคำว่า “กฎมณเฑียรบาล” ไว้ ก็อาจตราเป็นพระราชบัญญัติให้ใช้กฎมณเฑียรบาล ว่าด้วยเรื่องนั้น ๆ ทำนองเดียวกับการตราพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายและพระธรรมนูญศาลยุติธรรม อันเป็นรูปแบบของกฎหมายโดยปกติในระบบกฎหมายไทย

ส่วนที่ ๕
กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง

กฎมณเฑียรบาลที่ได้นำมารวบรวมนี้ เป็นกฎมณเฑียรบาลที่ใช้บังคับมาตั้งแต่ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ย่อมมีผลใช้บังคับต่อไปได้เท่าที่ยังไม่มีกฎหมายที่ตราขึ้นในภายหลังมายกเลิก และในปัจจุบันก็ยังไม่ปรากฏว่ามีกฎหมายใดมายกเลิกกฎมณเฑียรบาลเหล่านี้

สำหรับในส่วนของกฎมณเฑียรบาลฉบับที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมนั้น เนื่องจากรูปแบบการแก้ไขเพิ่มเติมของกฎมณเฑียรบาลยังไม่สอดคล้องกับรูปแบบที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน ดังนั้น หากจะนำมาแก้ไขให้เป็นฉบับเดียวก็อาจจะเกิดความสับสนได้ จึงได้นำกฎมณเฑียรบาลฉบับที่แก้ไขเพิ่มเติมลงพิมพ์ทั้งฉบับ

กฎมณเฑียรบาลที่ได้นำมารวบรวมนี้มี ๒ รูปแบบ ได้แก่

๑.กฎมณเฑียรบาลที่ได้ตราขึ้นในรูปแบบของกฎมณเฑียรบาล

ผู้จัดทำได้นำมารวบรวมไว้มีอยู่ ๕ ฉบับ ได้แก่

๑.๑กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยครอบครัวแห่งข้าราชการในพระราชสำนัก พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ตราขึ้นใช้บังคับกับข้าราชการในราชสำนัก ๑๒ ประเภท ในเรื่องการจดทะเบียนครอบครัวและเคหสถาน การมีครอบครัวและเคหสถาน ครอบครัวของคนโสด คนหม้ายและคนไม่มีเคหสถาน รวมทั้งกำหนดโทษทัณฑ์ต่าง ๆ เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ ๑ สิงหาคม พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ หลังจากนั้นก็มีการประกาศเกี่ยวกับกฎมณเฑียรบาลฉบับนี้อีกหลายครั้ง ดังนี้

(๑)กฎเสนาบดีกระทรวงวัง ว่าด้วยการจดทะเบียนแลระเบียบ น่าที่ตามความในกฎมณเฑียรบาล ว่าด้วยครอบครัวแห่งข้าราชการในพระราชสำนัก พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ กฎเสนาบดีนี้ เมื่อได้รับพระบรม ราชานุญาตให้ประกาศโฆษณาแล้ว ให้นับว่าเป็นส่วนหนึ่งแห่งกฎมณเฑียรบาล ว่าด้วยครอบครัวแห่งข้าราชการในพระราชสำนักด้วย จึงถือว่าเป็นกฎมณเฑียรบาลฉบับที่ ๒ ว่าด้วยครอบครัวแห่งข้าราชการในพระราชสำนัก

(๒)กฎมณเฑียรบาล ว่าด้วยข้าราชการในพระราชสำนักเพิ่มเติม พระพุทธศักราช ๒๔๕๘ ตราขึ้นเพื่อกำหนดให้ข้าราชการในพระราชสำนักที่ต้องปฏิบัติตามกฎมณเฑียรบาล ว่าด้วยครอบครัวแห่งข้าราชการในพระราชสำนักฯ จะทำการโฆษณาประกาศข้อความอย่างใด ๆ ต่อสาธารณชน จะต้องขออนุญาตต่อผู้บังคับบัญชา และเมื่อได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรแล้วจึงจะนำความนั้นออกโฆษณาได้

(๓)กฎมณเฑียรบาล ว่าด้วยครอบครัวแห่งข้าราชการในพระราชสำนักเพิ่มเติม (ครั้งที่ ๓) พระพุทธศักราช ๒๔๖๐ กำหนดให้ชายผู้เป็นบิดามีหน้าที่เลี้ยงดูบุตรที่อาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย (เช่น บุตรที่เกิดจากบิดาหลับนอนกับหญิงมารดาชั่วคราว) จนบุตรมีอายุ ๑๖ ปี

(๔)ประกาศเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาล ว่าด้วยครอบครัวแห่งข้าราชการในพระราชสำนัก พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ พระพุทธศักราช ๒๔๖๒ กำหนดให้ข้าราชการในกรมธรรมการเป็นข้าราชการในพระราชสำนักเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งประเภทด้วย

๑.๒กฎมณเฑียรบาล ว่าด้วยการค้าขายแลการสมาคมแห่งข้าราชการในพระราชสำนัก พระพุทธศักราช ๒๔๕๑

กฎมณเฑียรบาลนี้กำหนดแบบธรรมเนียมและวิธีการสำหรับข้าราชการในราชสำนักที่จะลงทุนค้าขาย จัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัท การเข้าเป็นสมาชิกสโมสรหรือสมาคมต่าง ๆ เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ ๑ กันยายน พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ เป็นต้นไป หลังจากนั้นก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตรากฎเสนาบดีเพิ่มเติมดังนี้

-กฎเสนาบดีกระทรวงวัง ว่าด้วยการจดทะเบียนค้าขายและสมาคมแห่งข้าราชการในพระราชสำนัก พระพุทธศักราช ๒๔๕๗

กฎเสนาบดีนี้ กฎมณเฑียรบาลมิได้ระบุให้เป็นส่วนหนึ่งของกฎมณเฑียรบาลดังเช่นกรณีกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยครอบครัวแห่งข้าราชการในพระราชสำนัก ดังนั้น จึงเป็นเพียงส่วนประกอบของกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการค้าขายแลการสมาคมเท่านั้น

๑.๓กฎมณเฑียรบาลเพิ่มเติม พระพุทธศักราช ๒๔๕๘

กำหนดห้ามมิให้ผู้ใดรับหญิงนครโสเภณีหรือหญิงหาเลี้ยงชีพโดยทางบำรุงกามเข้ามาร่วมสังวาศกันในเขตพระราชสำนัก และกำหนดระวางโทษแก่ผู้ฝ่าฝืน รวมทั้งผู้รู้เห็นเป็นใจด้วย

๑.๔กฎมณเฑียรบาล ว่าด้วยการเศกสมรศแห่งเจ้านายใน พระราชวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๑กำหนดให้เจ้านายในพระราชวงศ์ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไปจะทำการเศกสมรศกับผู้ใด ต้องนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตก่อน หลังจากนั้นภายหลังที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ และมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. ๒๔๗๕ แล้ว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ทรงมีพระราชดำริที่จะเปลี่ยนแปลงกฎมณเฑียรบาล ว่าด้วยการสมรสของเจ้านายในพระราชวงศ์ให้เหมาะสมแก่สมัย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตรากฎมณเฑียรบาลเพิ่มเติมดังนี้

- กฎมณเฑียรบาล ว่าด้วยการสมรสพระราชวงศ์แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๕

ตราขึ้นโดยได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร และนายกรัฐมนตรี (ในขณะนั้นเรียกว่าประธานคณะกรรมการราษฎร) เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ กฎมณเฑียรบาลที่แก้ไขเพิ่มเติมนี้ มีสาระสำคัญเพิ่มขึ้นอีกประการหนึ่ง คือ เจ้าหญิงองค์ใดถ้าจะสมรสกับผู้ที่มิใช่เจ้าในพระราชวงศ์ ต้องกราบถวายบังคมลาออกจากฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์เสียก่อน หากฝ่าฝืนจะต้องถูกถอดจากฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์

๑.๕กฎมณเฑียรบาล ว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗

เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ เป็นต้นไป กฎมณเฑียรบาลฉบับนี้ค่อนข้างจะมีความสำคัญ เพราะเป็นการบัญญัติถึงกฎเกณฑ์เกี่ยวกับวิธีการเข้าสู่ตำแหน่งพระมหากษัตริย์อันเป็นประมุขของประเทศ เป็นการกำหนดเกี่ยวกับพระราชวงศ์ผู้ซึ่งสมควรที่จะสืบราชสมบัติต่อจากพระมหากษัตริย์พระองค์ก่อน เพื่อมิให้พระราชบัลลังก์ต้องว่างเว้นจากองค์พระมหากษัตริย์ กฎมณเฑียรบาลฉบับนี้ พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช ๒๔๗๕ ซึ่งถือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย ได้บัญญัติไว้เป็นส่วนหนึ่งในหมวดพระมหากษัตริย์ว่า การสืบราชสมบัติให้เป็นไปตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสัตตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ และก็มีบัญญัติสืบต่อกันมาในรัฐธรรมนูญเกือบทุกฉบับ โดยกำหนดวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมไว้ด้วยว่า ให้กระทำได้โดยวิธีการอย่างเดียวกันกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ จนกระทั่งถึงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๓๔ เรื่อยมาถึงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ได้บัญญัติถึงการแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลฉบับนี้ว่าให้เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ เมื่อมีพระราชดำริประการใดให้คณะองคมนตรีร่างกฎมณเฑียรบาลแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อมีพระราชวินิจฉัย เมื่อทรงเห็นชอบและลงพระปรมาภิไธยแล้ว ให้ประธานองคมนตรีแจ้งประธานรัฐสภาเพื่อให้รัฐสภาทราบ และให้ประธานรัฐสภาลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ และเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับเป็นกฎหมาย ดังนั้น จึงถือว่ากฎมณเฑียรบาลฉบับนี้เป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญ

๒.กฎมณเฑียรบาลที่ได้ตราขึ้นในรูปแบบอื่น ๆ

ผู้จัดทำได้นำมารวบรวมไว้มีอยู่ ๓ ฉบับ ได้แก่

๒.๑พระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยที่ระโหฐานในพระราชสำนักนิ์ รัตนโกสินทรศก ๑๓๑

ตราขึ้นเพื่อกำหนดเขตพระราชฐานว่าที่ใดเป็นที่รโหฐานอันข้าราชการจะเข้าไปมิได้เพราะความจำเป็นในส่วนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็มีอยู่บ้างคือเมื่อเป็นเวลาที่ว่างพระราชกิจแล้วก็ย่อมจะมีพระราชประสงค์ที่ทรงพระสำเร็จอย่างสามัญชนบ้าง และต้องมีเวลาที่ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ข้าราชการบางคนได้เข้าเฝ้าบ้าง โดยไม่เกี่ยวแก่ทางหน้าที่ราชการ หลังจากนั้นมีการแก้ไขเพิ่มเติมอีกครั้งคือ

- พระราชกฤษฎีกาที่ระโหฐานเพิ่มเติม พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ ตราขึ้นเพื่อกำหนดสถานที่ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จแปรพระราชสำนักแลประพาศ ณ ที่ต่าง ๆ เพื่อทรงพระราชวิจารณ์ตรวจตรากิจการทั้งปวง เป็นเขตที่แคบกว่าที่รโหฐานซึ่งผู้ใดที่มิใช่เจ้าพนักงานจะเข้าไปมิได้

๒.๒พระราชกฤษฎีกาวางระเบียบการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ กำหนดขึ้นเพื่อวางระเบียบเกี่ยวกับการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาให้เป็นที่เรียบร้อย

๒.๓พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยพระราชวงศ์ แลผู้มีบรรดาศักดิ์ทำลายชีพตนเอง พระพุทธศักราช ๒๔๕๘ ตราขึ้นเพื่อห้ามมิให้เจ้าพนักงานจัดเครื่องประดับเกียรติยศศพพระราชทานให้แก่ข้าราชการที่ทำลายชีพตนเอง

 ภาค ๒
กฎหมายเกี่ยวกับบุคลากรในพระราชสำนัก

หมวด ๑
พระราชบัญญัติสมุหมนตรี รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๙

ส่วนที่ ๑
ประวัติความเป็นมา

 พระราชบัญญัติสมุหมนตรีนี้ ได้มีบัญญัติขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๓ (ร.ศ. ๑๒๙) ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ สืบเนื่องจากการที่ได้ทรงมีพระราชดำริว่า ข้าราชการพลเรือนผู้ที่ได้เคยใช้สอยเป็นที่ไว้วาง พระราชหฤทัยได้นั้น ยังไม่มีเครื่องหมายประดับดังเช่นข้าราชการฝ่ายทหารตำแหน่งราชองครักษ์ที่ทำหน้าที่ใกล้ชิดพระองค์ ซึ่งมีเครื่องหมายราชองครักษ์เป็นสำคัญ จึงมีพระราชประสงค์ที่จะแต่งตั้งข้าราชการฝ่ายพลเรือนผู้ที่ไว้วางพระราชหฤทัย และให้มีเครื่องหมายตำแหน่งสมุหมนตรีประดับ โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติสมุหมนตรี รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๙ ขึ้นไว้

 ส่วนที่ ๒
สาระสำคัญ

สาระสำคัญของกฎหมายสมุหมนตรีที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน

กฎหมายฉบับนี้ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๒๗ หน้า ๔๐ วันที่ ๑๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ มีสาระสำคัญคือ สมุหมนตรีนั้น จะแต่งตั้งจากข้าราชการฝ่ายพลเรือน โดยจะทรงมีพระบรมราชโองการสั่งอธิบดีกรมพระอาลักษณ์ หรือเสนาบดีเจ้ากระทรวงซึ่งผู้นั้นรับราชการอยู่ ถ้ามีพระบรมราชโองการสั่งเสนาบดี เจ้ากระทรวง เสนาบดีเจ้ากระทรวงต้องแจ้งมายังกรมพระอาลักษณ์เพื่อจะได้ส่งเครื่องหมายตำแหน่งสมุหมนตรีซึ่งมีลักษณะเป็นเข็มอักษรพระบรมนามาภิไธยย่อไปยังผู้นั้น แล้วให้ประกาศแจ้งความตั้งสมุหมนตรีในหนังสือราชกิจจานุเบกษา โดยให้มีผลเมื่อผู้นั้นได้รับพระราชทานเข็มสมุหมนตรีและได้ลงประกาศตั้งในหนังสือราชกิจจานุเบกษาแล้ว และผู้ที่เป็นสมุหมนตรีนี้มีเกียรติยศเสมอราชองครักษ์พิเศษ ซึ่งจะพ้นจากการเป็นสมุหมนตรีเมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ออก โดยประกาศแจ้งในหนังสือราชกิจจานุเบกษา

หมวด ๒
พระราชบัญญัติราชองครักษ์ พุทธศักราช ๒๔๘๐

ส่วนที่ ๑
ความหมาย ประวัติความเป็นมาและวิวัฒนาการ

ความหมาย

คำว่า “ราชองครักษ์” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน หมายถึง นายทหารชั้นสัญญาบัตรรักษาพระองค์พระมหากษัตริย์ มี ๓ พวก คือ ราชองครักษ์ประจำ ราชองครักษ์เวร และราชองครักษ์พิเศษ

ประวัติความเป็นมา

ราชองครักษ์ ซึ่งเดิมเรียกว่า “นายทหารรักษาพระองค์” กำเนิดในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ โดยเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๓ ในคราวเสด็จประพาสประเทศสิงคโปร์และปัตตาเวีย (อินโดนีเซีย) ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ นายพลโท พระบรมวงศ์เธอกรมหลวงอดิศรอุดมเดช (ขณะนั้นดำรงพระยศ นายร้อยเอก พระองค์เจ้าสุขสวัสดิ์) เป็นนายทหารรักษาพระองค์ตามเสด็จ โดยให้ปฏิบัติหน้าที่รับใช้เบื้องพระยุคลบาท พิทักษ์รักษาความปลอดภัยและถวายพระเกียรติยศ ซึ่งนับว่าเป็น “ราชองครักษ์” พระองค์แรกที่ตามเสด็จต่างประเทศ

นายทหารรักษาพระองค์ ในสมัยแรกได้คัดเลือกมาจากบรรดา นายทหารที่เคยใกล้ชิดพระองค์มาก่อนและนายทหารจากกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ โดยได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อนายทหารรักษาพระองค์เหล่านี้เป็น “ราช-แอด-เดอ-แกมป์” ในปี พ.ศ. ๒๔๑๕ ซึ่งมีหน้าที่อยู่เวรประจำในพระบรมมหาราชวัง นำแขกเมืองเข้าเฝ้าฯ คอยเฝ้าฯ ตามตำแหน่งเมื่อมีข้าราชการเฝ้าฯ บังคับบัญชาทหารที่รักษาการณ์อยู่ในเขตพระราชฐานชั้นใน ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๓๐ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งกรมยุทธนาธิการขึ้น และให้เปลี่ยนนาม “ราช-แอด-เดอ-แกมป์” เป็น “แอด-เดอ-แกมป์-หลวง” หลังจากนั้นในปี พ.ศ. ๒๔๓๔ ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนนาม “แอด-เดอ-แกมป์-หลวง” เป็น “ราชองครักษ์” สืบมาจนปัจจุบัน

วิวัฒนาการ

สำหรับกฎหมายราชองครักษ์นี้ได้มีการตราเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๔๔๑ ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งทรงมีพระราชดำริเห็นว่า “ทุกวันนี้มีราชองครักษ์อยู่หลายพวกการแต่งกายก็เป็นหลายอย่าง และหน้าที่ราชการก็ต่างกัน มิได้เป็นการเรียบร้อย สมควรแก่ระเบียบแห่งราชการ” จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติราชองครักษ์ ร.ศ. ๑๑๗ ขึ้นเป็นครั้งแรก พร้อมกับให้ตั้งกรมราชองครักษ์ขึ้น (ยังคงสังกัดอยู่กับกรมยุทธนาธิการ) มีสมุหราชองครักษ์ซึ่งทรงแต่งตั้งจากนายทหารชั้นนายพลเป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบ

พระราชบัญญัติราชองครักษ์ ร.ศ. ๑๑๗ นี้ ได้แบ่งราชองครักษ์ออกเป็น ๒ ประเภท คือ ราชองครักษ์วิเศษ และราชองครักษ์ประจำการ ซึ่ง ราชองครักษ์วิเศษนั้นจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากนายทหารที่รับราชการอยู่ในตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง ราชองครักษ์วิเศษไม่ต้องรับราชการในหน้าที่ ราชองครักษ์ เว้นแต่จะมีพระบรมราชโองการตรัสสั่งให้มารับราชการเป็นบางครั้ง บางคราว เมื่อเวลามาประจำการก็ต้องอยู่ในบังคับบัญชาของสมุหราชองครักษ์ ส่วนราชองครักษ์ประจำการ จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากนายทหารประจำการที่มียศร้อยเอกขึ้นไปไม่เกินสิบนาย มีหน้าที่ประจำรักษาพระองค์และไม่ต้องเกี่ยวข้องกับการรับราชการในกรมกองเดิม

ในปี พ.ศ. ๒๔๕๓ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะให้นายทหารเรือได้รับราชการเป็นราชองครักษ์เวร หรือ ราชองครักษ์ประจำด้วย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติ ราชองครักษ์ ร.ศ. ๑๒๙ ขึ้นใหม่ โดยให้กรมราชองครักษ์ขึ้นอยู่ในทำเนียบกระทรวงกลาโหม มีตำแหน่งสมุหราชองครักษ์ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากนายทหารชั้นนายพลหนึ่งคนเป็นหัวหน้ารับผิดชอบ มีการแบ่งราชองครักษ์ออกเป็น ๓ ประเภท คือ ราชองครักษ์พิเศษ ราชองครักษ์เวร และราชองครักษ์ประจำ โดยราชองครักษ์พิเศษมีหน้าที่รับราชการในหน้าที่ราชองครักษ์เป็นบางครั้ง บางคราวตามแต่จะได้มีพระบรมราชโองการดำรัสสั่ง หรือตามคำสั่งของสมุหราชองครักษ์ ราชองครักษ์เวรมีหน้าที่ผลัดเปลี่ยนกันเป็นเวรรับราชการในหน้าที่ราชองครักษ์ ตามคำสั่งของสมุหราชองครักษ์ แต่ยังคงรับราชการอยู่ตามสังกัดกรมกองทหารที่ตนมีตำแหน่งราชการอยู่ ราชองครักษ์ประจำมีหน้าที่ประจำอยู่ในกรมราชองครักษ์ตามหน้าที่ที่สมุหราชองครักษ์จะได้จัดโดยต้องขาดจากหน้าที่ราชการตามตำแหน่งในกรมกองเดิม อนึ่ง ราชองครักษ์เวรและราชองครักษ์ประจำนั้น จะทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากทั้งนายทหารบกและนายทหารเรือ

ต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๔๕๙ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์ที่จะแก้ไขพระราชบัญญัติองครักษ์ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น และให้นายทหารบก นายทหารเรือ และนายเสือป่าเป็นราชองครักษ์ได้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติองครักษ์ พระพุทธศักราช ๒๔๕๙ ขึ้นใหม่ มีสาระสำคัญเพิ่มเติมที่สำคัญคือ กำหนดให้นายเสือป่าเป็นราชองครักษ์ได้ และมีตำแหน่ง “ผู้ช่วยสมุหราชองครักษ์” เพิ่มขึ้น นอกจากนี้แบ่งราชองครักษ์ออกเป็น ๒ ประเภท คือ ราชองครักษ์พิเศษ และราชองครักษ์เวร โดยราชองครักษ์พิเศษนี้อาจเป็นนายทหาร นายเสือป่า ประจำการหรือนอกประจำการก็ได้ และจะเป็นตำแหน่งกิตติมศักดิ์ เป็นบุคคลที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัย มีความดีความชอบในราชการมาแล้ว จะไม่มีหน้าที่ประจำแต่อย่างใด ส่วนราชองครักษ์เวรต้องเป็นผู้ที่รับราชการประจำในทหารบก ทหารเรือ หรือเสือป่า โดยยังคงทำงานประจำอยู่ตามตำแหน่งของตน แต่ผลัดเปลี่ยนกันเป็นเวรรับราชการในหน้าที่ราชองครักษ์ตามคำสั่งของสมุห ราชองครักษ์ และถ้าต้องออกจากตำแหน่งที่ตนประจำอยู่เมื่อใด ก็ต้องขาดจากตำแหน่งราชองครักษ์ด้วย

ในปี พ.ศ. ๒๔๖๙ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ทรงเห็นว่าพระราชบัญญัติราชองครักษ์ที่ใช้อยู่ได้ล่วงพ้นกาลสมัย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติราชองครักษ์ พุทธศักราช ๒๔๖๙ ขึ้นใหม่ โดยมีสาระสำคัญคือ กรมราชองครักษ์ มีสมุหราชองครักษ์เป็นหัวหน้ากับราชองครักษ์อีกหนึ่งนายเป็นผู้ช่วย เรียกว่า “ปลัดกรมราชองครักษ์” โดยให้ยกเลิกตำแหน่ง “ผู้ช่วยสมุหราชองครักษ์” ส่วนราชองครักษ์ให้แบ่งออกเป็น ๓ ประเภท คือ ราชองครักษ์พิเศษ ราชองครักษ์เวร และราชองครักษ์ประจำ การแต่งตั้ง สมุหราชองครักษ์ และราชองครักษ์ทุกประเภท ให้เป็นไปตามประกาศพระบรมราชโองการ และในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติราชองครักษ์ แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. ๒๔๗๕ ขึ้น โดยมีสาระสำคัญคือ ให้ยกเลิกการใช้ “ปลอกแขน” ซึ่งเป็นเครื่องหมายแสดงว่าราชองครักษ์กำลังปฏิบัติหน้าที่ มาเป็นใช้ “ครุฑเชิญมหามงกุฎสีทอง” แทน

ในปี พ.ศ. ๒๔๘๐ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติราชองครักษ์ พุทธศักราช ๒๔๘๐ ขึ้นใหม่ โดยยกเลิกพระราชบัญญัติฉบับเดิมในสมัยรัชกาลที่ ๗ ซึ่งต่อมาในสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ก็ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติราชองครักษ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๖ โดยได้แก้ไขมาตรา ๘ มาตรา ๙ มาตรา ๑๒ และมาตรา ๑๓ รวม ๔ มาตรา เพื่อให้สอดคล้องกับข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยเหล่าทหาร พ.ศ. ๒๔๙๕ ซึ่งมิได้แบ่งทหารออกเป็นพลรบและผู้ช่วยพลรบเหมือนแต่ก่อน หลังจากนั้นในปี พ.ศ. ๒๕๒๑ ก็ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมอีกครั้งโดยพระราชบัญญัติราชองครักษ์ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๑ โดยแก้ไขมาตรา ๔ และเพิ่มเติมมาตรา ๑๐ มาตรา ๑๐ ทวิ เนื่องจากในปัจจุบันมีข้าราชการที่มิใช่ราชองครักษ์ปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยสำหรับองค์พระมหากษัตริย์อยู่ด้วย สมควรกำหนดให้ข้าราชการเหล่านั้นมีหน้าที่และความรับผิดชอบตามกฎหมาย และสมควรให้ราชองครักษ์และเจ้าพนักงานที่แต่งตั้งจากข้าราชการดังกล่าว มีอำนาจหน้าที่ในการจับกุมปราบปรามผู้กระทำความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนพระองค์ และพระราชอาคันตุกะ พระราชบัญญัติทั้งสามฉบับนี้ยังคงมีผลใช้บังคับมาจนถึงปัจจุบัน

 ส่วนที่ ๒
สาระสำคัญ

สาระสำคัญของกฎหมายราชองครักษ์ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน

ปัจจุบันกฎหมายราชองครักษ์ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ พระราชบัญญัติราชองครักษ์ พุทธศักราช ๒๔๘๐ และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๖ และ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๑ มีสาระสำคัญ ดังนี้

๑.กำหนดให้มีราชองครักษ์สังกัดกรมราชองครักษ์ มีหน้าที่รักษาความปลอดภัยสำหรับองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนพระองค์ และพระราชอาคันตุกะ ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของสมุหราชองครักษ์

๒. สมุหราชองครักษ์ จะต้องเป็นนายทหารสัญญาบัตรประจำการ และต้องปฏิบัติหน้าที่ส่วนพระองค์พระมหากษัตริย์ให้ต้องตามพระราชประสงค์ โดยสมุหราชองครักษ์นี้จะมีหน้าที่รับผิดชอบเป็นผู้บังคับบัญชาของกรมราชองครักษ์ อีกทั้งยังมีอำนาจแต่งตั้งข้าราชการทหาร ข้าราชการตำรวจและข้าราชการพลเรือนเป็น เจ้าพนักงานเพื่อช่วยราชองครักษ์ในการปฏิบัติหน้าที่ การแต่งตั้งและการพ้นจากตำแหน่งสมุหราชองครักษ์ให้เป็นไปโดยประกาศพระบรมราชโองการ

๓. สมุหราชองครักษ์ ราชองครักษ์และข้าราชการที่ได้รับแต่งตั้งเป็น เจ้าพนักงานช่วยราชองครักษ์ในการปฏิบัติหน้าที่ มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายนี้

๔.ราชองครักษ์พิเศษ จะเป็นตำแหน่งกิตติมศักดิ์ แต่งตั้งจากนายทหารสัญญาบัตรและต้องปฏิบัติหน้าที่ราชองครักษ์ในบางโอกาสตามราชประเพณี การแต่งตั้งและการพ้นจากตำแหน่งราชองครักษ์พิเศษให้เป็นไปโดยประกาศพระบรมราชโองการ

๕.ราชองครักษ์เวร จะแต่งตั้งจากนายทหารสัญญาบัตรประจำการ โดยคงรับราชการตามตำแหน่งเดิม มีหน้าที่ประจำตามเสด็จ รักษาการ และปฏิบัติกิจการอย่างอื่นในส่วนพระองค์พระมหากษัตริย์ การแต่งตั้งราชองครักษ์เวรนี้ให้เป็นไปโดยพระบรมราชโองการ แต่จะพ้นจากตำแหน่งเมื่อออกจากประจำการ หรือไปรับราชการฝ่ายพลเรือนและพ้นจากตำแหน่งในกระทรวงกลาโหม หรือได้เป็นราชองครักษ์เวรครบ ๓ ปีบริบูรณ์ และเมื่อพ้นจากตำแหน่งไปแล้วอาจได้รับพระราชทานเข็มอักษรพระปรมาภิไธยย่อประกอบด้วยแพรแถบสีตามวันพระราชสมภพในรัชกาลนั้น ๆ เป็นเกียรติยศ

๖.ราชองครักษ์ประจำ จะแต่งตั้งจากนายทหารสัญญาบัตรประจำการ และเข้ารับราชการประจำในกรมราชองครักษ์ มีหน้าที่ปฏิบัติกิจการในส่วนพระองค์พระมหากษัตริย์แล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ การแต่งตั้งราชองครักษ์ประจำนี้ให้เป็นไปโดยพระบรมราชโองการ แต่จะพ้นจากตำแหน่งเมื่อออกจากประจำการ หรือไปรับราชการที่อื่นและขาดจากตำแหน่งหน้าที่ในกรมราชองครักษ์ และเมื่อพ้นจากตำแหน่งไปแล้วอาจได้รับพระราชทานเข็มอักษรพระปรมาภิไธยย่อประกอบด้วยแพรแถบสีตามวันพระราชสมภพในรัชกาลนั้น ๆ เป็นเกียรติยศ

ส่วนที่ ๓
แนวคำวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมาย

แนวคำวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมาย

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเคยมีคำวินิจฉัยในประเด็นปัญหาข้อกฎหมายตามพระราชบัญญัตินี้ โดยสรุปมีประเด็นดังนี้

๑.การแต่งตั้งรองสมุหราชองครักษ์จะสามารถกระทำได้หรือไม่ (เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๒)

คณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่า การแต่งตั้งตำแหน่งรองสมุห ราชองครักษ์ไม่สามารถกระทำได้ เนื่องจากตามพระราชบัญญัติราชองครักษ์ พ.ศ. ๒๔๘๐ ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะในเรื่องนี้ (ใช้บังคับอยู่ในขณะที่เกิดปัญหา) จะเห็นได้ว่าอันตำแหน่งราชองครักษ์แห่งพระมหากษัตริย์นั้น จะมีได้ก็แต่เฉพาะที่พระราชบัญญัตินี้ได้บัญญัติระบุไว้ กล่าวคือ ตำแหน่งสมุหราชองครักษ์ ราชองครักษ์พิเศษ ราชองครักษ์เวร และราชองครักษ์ประจำเท่านั้น นอกจากนี้ยังได้บัญญัติถึงคุณสมบัติของผู้ที่จะรับตำแหน่ง และเหตุที่จะต้องพ้นจากตำแหน่งไว้ด้วยทุกตำแหน่ง ฉะนั้นการตั้งตำแหน่งอื่นใดนอกจากที่กำหนดไว้ จึงต้องนับว่าเป็นการปฏิบัตินอกเหนือความประสงค์แห่งกฎหมาย และไม่อาจกระทำได้เพราะขาดหลักเกณฑ์อันเป็นข้อสำคัญเกี่ยวแก่คุณสมบัติของบุคคลที่จะแต่งตั้ง และเหตุที่จะทำให้พ้นจากตำแหน่งของบุคคล

๒.การแต่งตั้งราชองครักษ์ จะให้องคมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการตามมาตรา ๑๘ ของรัฐธรรมนูญ หรือจะให้รัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการตามมาตรา ๑๖๐ ของรัฐธรรมนูญ

คณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติราชองครักษ์ พุทธศักราช ๒๔๘๐ ที่กำหนดว่าราชองครักษ์สังกัดกรมราชองครักษ์ และราชองครักษ์ทุกประเภทแต่งตั้งจากนายทหารสัญญาบัตร ประกอบกับตามพระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชการสำนักงานเลขานุการรัฐมนตรี และสำนักงานปลัดกระทรวงในกระทรวงกลาโหม พ.ศ. ๒๔๙๑ กำหนดให้กรมราชองครักษ์เป็นส่วนราชการสำนักงานปลัดกระทรวง ก็ย่อมจะเห็นได้ชัดว่า ราชองครักษ์เป็นนายทหารสัญญาบัตรสังกัดกระทรวงกลาโหม มิใช่ข้าราชการในพระองค์ นอกจากนั้นตำแหน่ง “สมุห ราชองครักษ์” ก็มิใช่เป็นตำแหน่งข้าราชการในพระองค์ เพราะถ้าตำแหน่งนี้จะถือว่าเป็นตำแหน่งข้าราชการในพระองค์แล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นอันใดที่มาตรา ๑๘ แห่งรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้ระบุคำว่า “ข้าราชการในพระองค์” ไว้แล้ว จะต้องระบุถึงตำแหน่ง “สมุหราชองครักษ์” ไว้ด้วย ซึ่งเป็นอีกเหตุหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า เมื่อตำแหน่ง “สมุหราชองครักษ์” มิใช่เป็นตำแหน่ง “ข้าราชการในพระองค์” แล้ว ก็ไม่มีเหตุผลอันใดที่จะเห็นว่าตำแหน่ง “ราชองครักษ์” เป็นตำแหน่ง “ข้าราชการในพระองค์” ดังนั้น การแต่งตั้งราชองครักษ์จึงไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๘

โดยที่การแต่งตั้งสมุหราชองครักษ์และราชองครักษ์ทุกประเภทนั้น พระราชบัญญัติราชองครักษ์ พุทธศักราช ๒๔๘๐ กำหนดให้เป็นไปโดยประกาศพระบรมราชโองการ ดังนั้น การแต่งตั้งราชองครักษ์จึงอยู่ภายใต้บังคับแห่งรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๖๐ กล่าวคือ ต้องมีรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

ส่วนที่ ๔
กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

กฎหมายว่าด้วยราชองครักษ์ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่

๑.พระราชบัญญัติราชองครักษ์ พุทธศักราช ๒๔๘๐
๒.พระราชบัญญัติราชองครักษ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๖
๓.พระราชบัญญัติราชองครักษ์ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๑

ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง

กฎหมายราชองครักษ์นี้มีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีสำคัญที่เกี่ยวข้องดังนี้

๑.ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการขอพระราชทานเชิญเสด็จพระราชดำเนินหรือเสด็จไปในงานพระราชพิธี งานรัฐพิธี งานรับเสด็จพระราชอาคันตุกะ หรืองานต้อนรับราชอาคันตุกะ ตลอดจนงานพิธีต่าง ๆ พ.ศ. ๒๕๓๐ระเบียบฉบับนี้คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบเมื่อวันที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๓๐ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

๑.๑ในการขอพระราชทานเชิญเสด็จพระราชดำเนินไปในงานพิธีต่าง ๆ ให้กระทำโดยผ่านความเห็นชอบของนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีเจ้าสังกัด และเมื่อทรงตอบรับการเชิญเสด็จพระราชดำเนินแล้ว ก็ให้รายงานนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีเจ้าสังกัดทราบ พร้อมทั้งติดต่อกับกองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง และหน่วยรักษาความปลอดภัยด้วย

๑.๒กรณีที่เป็นงานพระราชพิธี งานรับเสด็จพระราชอาคันตุกะ หรืองานต้อนรับราชอาคันตุกะ ให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีแจ้งให้รัฐมนตรีทราบ เพื่อไปรับเสด็จและให้กระทรวง ทบวง กรม จัดข้าราชการไปรับเสด็จด้วย

๑.๓การรับเสด็จและการแต่งกาย ให้ถือปฏิบัติตามธรรมเนียมของสำนักพระราชวัง

๒.ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยสำหรับองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนพระองค์ และพระราชอาคันตุกะ พ.ศ. ๒๕๔๖ ระเบียบฉบับนี้คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบเมื่อวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ โดยมีหลักการสำคัญเกี่ยวกับการวางระเบียบการปฏิบัติราชการของส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อรักษาความปลอดภัยแด่องค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนพระองค์ และพระราชอาคันตุกะ

หมวด ๓
พระราชบัญญัตินายตำรวจราชสำนัก พ.ศ. ๒๔๙๕

ส่วนที่ ๑
ประวัติความเป็นมา

ประวัติความเป็นมา

นายตำรวจราชสำนัก เกิดขึ้นสืบเนื่องจากเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงสำเร็จการศึกษาจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และเสด็จฯ นิวัติประเทศไทยแล้ว รัฐบาลก็ได้กำหนดให้มีระเบียบการถวายความปลอดภัยในเขตพระราชฐานที่ประทับแรมขึ้น สำนักพระราชวังซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายราชสำนักได้ประชุมตกลงกับฝ่ายทหารและตำรวจ กำหนดให้มีระเบียบปฏิบัติขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๔ เรียกว่า “ระเบียบปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ฝ่ายราชสำนัก ทหาร และตำรวจ ในระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประทับ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน” ซึ่งคณะรัฐมนตรีลงมติอนุมัติให้ถือเป็นหลักปฏิบัติต่อไปได้ โดยในระเบียบนี้ได้กำหนดให้มีนายตำรวจประจำพระราชฐานที่ประทับด้วย โดยจัดนายตำรวจชั้นนายพันเข้าเป็นนายตำรวจเวรประจำพระราชฐาน อยู่ประจำ ณ กรมราชองครักษ์ ปฏิบัติหน้าที่ตรวจกิจรักษาการณ์ของตำรวจประจำพระตำหนัก ทำการติดต่อตำรวจสันติบาล ตำรวจนครบาลท้องที่ ตำรวจจราจรและตำรวจจักรยานยนต์ ตามเสด็จฯ ให้ทราบ พระราชกรณียกิจที่จะเสด็จฯ เป็นการล่วงหน้า

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัตินายตำรวจราชสำนัก พ.ศ. ๒๔๙๕ ขึ้น ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ไม่มีการแก้ไขเพิ่มเติม และใช้บังคับมาจนปัจจุบันนี้

ส่วนที่ ๒
สาระสำคัญ

สาระสำคัญของกฎหมายนายตำรวจราชสำนักที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน

พระราชบัญญัตินายตำรวจราชสำนัก พ.ศ. ๒๔๙๕ นี้ มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้มีนายตำรวจราชสำนัก ทำหน้าที่พิทักษ์รักษาให้ความปลอดภัยใน ราชสำนักและปฏิบัติตามพระราชประสงค์ตามคำสั่งของสมุหราชองครักษ์

กฎหมายนี้กำหนดให้มีนายตำรวจราชสำนัก ๓ ประเภท คือ

๑.นายตำรวจราชสำนักพิเศษ ซึ่งแต่งตั้งจากนายตำรวจชั้นสัญญาบัตร ทำหน้าที่นายตำรวจราชสำนักในบางโอกาส การแต่งตั้งและการพ้นจากตำแหน่งให้เป็นไปโดยพระบรมราชโองการ

๒.นายตำรวจราชสำนักเวร แต่งตั้งจากนายตำรวจชั้นสัญญาบัตรประจำการ ทำหน้าที่นายตำรวจเวรประจำราชสำนัก และคงรับราชการตามตำแหน่งเดิม การแต่งตั้งให้เป็นไปโดยพระบรมราชโองการ และให้พ้นจากตำแหน่งนายตำรวจราชสำนักเวรเมื่อพ้นจากตำแหน่งในกรมตำรวจ หรือเป็นนายตำรวจราชสำนักเวรครบ ๓ ปีบริบูรณ์

๓.นายตำรวจราชสำนักประจำ แต่งตั้งจากนายตำรวจชั้นสัญญาบัตรประจำการ ทำหน้าที่นายตำรวจประจำราชสำนักเป็นประจำ การแต่งตั้งและการพ้นจากตำแหน่งให้เป็นไปโดยพระบรมราชโองการ

นายตำรวจราชสำนักทั้ง ๓ ประเภทนี้ เมื่อพ้นจากตำแหน่งแล้วอาจได้รับพระราชทานเข็มอักษรพระปรมาภิไธยย่อประกอบด้วยแพรแถบสีตามวันพระราชสมภพในรัชกาลนั้น ๆ เป็นเกียรติยศ

นายตำรวจราชสำนักประจำนี้ เดิมจะสังกัดอยู่ในหน่วยงานต่าง ๆ ของกรมตำรวจจนกระทั่งในปี พ.ศ. ๒๕๒๐ ได้มีการจัดตั้ง “สำนักงานนายตำรวจ ราชสำนักประจำ” เป็นหน่วยงานเทียบเท่ากองบัญชาการ ขึ้นตรงต่อกรมตำรวจ แต่การปฏิบัติงานในหน้าที่ นายตำรวจราชสำนักยังคงอยู่ในบังคับบัญชาของสมุหราชองครักษ์ โดยมีสถานที่ตั้งอยู่ภายในบริเวณสวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต สำนักงานนายตำรวจราชสำนักประจำนี้มีหน้าที่ถวายความปลอดภัย ถวายพระเกียรติและปฏิบัติตามพระราชประสงค์ ซึ่งอำนาจหน้าที่ดังกล่าวนี้ จะปรากฏอยู่ในพระราชบัญญัตินายตำรวจราชสำนัก พ.ศ. ๒๔๙๕ และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยสำหรับองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนพระองค์ และพระราชอาคันตุกะ พ.ศ. ๒๕๔๖

ภาค ๓
กฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์

พระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. ๒๔๗๙

ส่วนที่ ๑
ประวัติความเป็นมาและวิวัฒนาการ

ในสมัยโบราณ จะมีความสับสนอยู่มากเกี่ยวกับทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ เพราะไม่มีการจำแนกว่าสิ่งใดเป็นพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ สิ่งใดเป็นพระราชทรัพย์ของสถาบันพระมหากษัตริย์ (ผู้ที่ได้รับราชาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์มีสิทธิใช้สอยได้) และสิ่งใดเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน

ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง การจัดทรัพย์สินของแผ่นดินและทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ อาจแยกได้ออกเป็น ๓ ประเภท คือ ประเภทแรก ทรัพย์สินที่เป็นของแผ่นดินเป็นส่วนรวม ซึ่งเป็นส่วนของ “พระคลังมหาสมบัติ” ประเภทที่สอง ทรัพย์สินที่เป็นของพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นส่วนของ “พระคลังข้างที่” และประเภทที่สาม ทรัพย์สินส่วนพระองค์ของมหากษัตริย์แต่ละพระองค์ ซึ่งการแยกการจัดการทรัพย์สินดังกล่าวนี้ เป็นแต่เพียงการแยกการจัดการในส่วนของการดูแลรักษาเท่านั้น พระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย่อมจะทรงมีพระบรมราชโองการเกี่ยวกับการจำหน่าย จ่าย โอนทรัพย์สินทั้งหลายประการใด ๆ ก็ได้ตามพระราชอัธยาศัย ต่อมาภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย ทรัพย์สินของแผ่นดินอันเป็นรายได้ของรัฐได้แยกเป็นส่วนหนึ่งต่างหากจากทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์และทรัพย์สินส่วนพระองค์

ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. ๒๔๗๗ รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติว่าด้วยการยกเว้นภาษีอากรอันเกี่ยวแก่ทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พุทธศักราช ๒๔๗๗ เพื่อแบ่งแยกทรัพย์สินส่วนพระองค์ออกจากทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พระราชบัญญัติฉบับนี้มีสาระสำคัญเป็นการจำแนกทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ออกเป็น ๒ ประเภท คือ ทรัพย์สินส่วนพระองค์ ซึ่งต้องเสียภาษีอากร และทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งได้รับการยกเว้นภาษีอากร โดยรัฐบาลได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่งเพื่อดำเนินการพิจารณาแบ่งแยกทรัพย์สินว่า ทรัพย์สินใดเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์หรือทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๘๐ ได้มีการตราพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พุทธศักราช ๒๔๗๙ ขึ้นอีกฉบับหนึ่ง ซึ่งวางระเบียบทรัพย์สินที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ชัดเจนขึ้นเป็นอันมาก อีกทั้งกำหนดวิธีการจัดการทรัพย์สินเป็นระเบียบแบบแผนยิ่งขึ้น พระราชบัญญัติฉบับนี้มีการแก้ไขเพิ่มเติมอีกสองครั้ง คือ พระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ (ฉะบับที่ ๒) พุทธศักราช ๒๔๘๔ และพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ (ฉะบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๙๑

โดยที่เมื่อพิจารณาเนื้อหาตามบทบัญญัติในพระราชบัญญัติว่าด้วยการยกเว้นภาษีอากรอันเกี่ยวแก่ทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พุทธศักราช ๒๔๗๗ แล้ว จะเห็นได้ว่า บทบัญญัติในพระราชบัญญัติว่าด้วยการยกเว้นภาษีอากรอันเกี่ยวแก่ทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ฯ นั้น มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ฯ เมื่อในมาตรา ๓ ของพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ฯ กำหนดว่า ให้ยกเลิกบรรดาบทกฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่น ๆ ในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ หรือซึ่งขัดแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ ดังนั้น พระราชบัญญัติว่าด้วยการยกเว้นภาษีอากรอันเกี่ยวแก่ทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ฯ จึงสิ้นผลบังคับใช้ต่อไป

ส่วนที่ ๒
สาระสำคัญ

สาระสำคัญของกฎหมายทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน

พระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. ๒๔๗๙ และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉะบับที่ ๒) พุทธศักราช ๒๔๘๔ และ (ฉะบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๙๑ มีสาระสำคัญเป็นการจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ โดยแบ่งทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ออกเป็น ๓ ประเภท คือ

๑.ทรัพย์สินส่วนพระองค์ เป็นทรัพย์สินที่เป็นของพระมหากษัตริย์อยู่แล้วก่อนเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ หรือทรัพย์สินที่รัฐทูลเกล้าฯ ถวาย หรือทรัพย์สินที่ทรงได้มาไม่ว่าในทางใดและเวลาใด นอกจากที่ได้มาในฐานะที่ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ ทั้งนี้ให้รวมถึงดอกผลที่เกิดจากบรรดาทรัพย์สินเช่นว่านั้นด้วย

๒.ทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เป็นทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์ซึ่งใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ เป็นต้นว่า พระราชวัง และ

๓.ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เป็นทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์นอกจากทรัพย์สินส่วนพระองค์และทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน

กรณีทรัพย์สินส่วนพระองค์ การดูแลรักษาและการจัดหาผลประโยชน์ กฎหมายกำหนดให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัยโดยจะแต่งตั้งบุคคลใดเป็นผู้ดำเนินการก็ได้ แล้วให้นายกรัฐมนตรีประกาศการแต่งตั้งนั้นในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องได้ทราบทั่วกันและเป็นการป้องกันมิให้มีผู้ใดนำไปแอบอ้างได้ และในกรณีทั้งปวงเกี่ยวกับทรัพย์สินส่วนพระองค์นี้ เช่น การทำนิติกรรมสัญญา การฟ้องร้องต่อสู้คดี ห้ามมิให้ระบุพระปรมาภิไธยหรือข้อความใด ๆ อันแสดงหรืออนุมานได้ว่าพระมหากษัตริย์เป็นคู่กรณีหรือคู่ความ แต่ให้ใช้ชื่อบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งและต่อท้ายด้วยคำว่า “ผู้จัดการทรัพย์สินส่วนพระองค์” เท่านั้น

สำหรับทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดินและทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ในส่วนที่เป็นเครื่องอุปโภคบริโภค ให้อยู่ในความดูแลรักษาของสำนักพระราชวัง แต่หากกรณีเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์นอกเหนือจากในส่วนที่เป็นเครื่องอุปโภคบริโภคนั้น กฎหมายกำหนดให้จัดตั้งสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ขึ้นเป็นนิติบุคคล ทำหน้าที่ดูแลและจัดหาผลประโยชน์ มีคณะกรรมการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นผู้ดูแลกิจการโดยทั่วไปของสำนักงาน อันประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานโดยตำแหน่ง และกรรมการอื่นอีกไม่น้อยกว่า ๔ คน ซึ่งพระมหากษัตริย์จะได้ทรงแต่งตั้ง และในจำนวนนี้ จะได้ทรงแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ดูแลรักษาและจัดหาผลประโยชน์ ตลอดจนลงชื่อผูกพันสำนักงาน แต่การจัดการบางเรื่องก็ต้องได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตก่อน

ส่วนที่ ๓
แนวคำวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมาย

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้เคยมีคำวินิจฉัยในประเด็นปัญหาข้อกฎหมายตามพระราชบัญญัติฉบับนี้โดยสรุปเป็นประเด็นดังนี้

๑.ทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์จะถูกบุคคลอื่นครอบครองปรปักษ์ได้หรือไม่

ประเด็นนี้เคยมีคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๐ ว่า โดยเหตุที่ทรัพย์สินส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์ไม่มีสภาพแตกต่างไปจากทรัพย์สินส่วนตัวอื่น ๆ ของเอกชนสามัญ ดังนั้นจึงอาจถูกราษฎรอื่นแย่งการครอบครองหรือครอบครองปรปักษ์ได้ ส่วนทรัพย์สินสาธารณสมบัติของแผ่นดินและทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์นั้น ผู้ใดจะอ้างการครอบครองปรปักษ์ไม่ได้

นอกจากนี้ยังมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๗๘๔/๒๕๑๖ ซึ่งวินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่อีกด้วยว่า ผู้ใดจะอ้างการครอบครองปรปักษ์ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มิได้

๒.สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นกระทรวง ทบวง กรม หรือทบวงการเมืองที่มีฐานะเทียบเท่าหรือไม่ และรัฐบาลมีความผูกพันต้องรับผิดชอบในหนี้สินและภาระผูกพันของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ หรือไม่

คณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นในประเด็นแรกว่า สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มิใช่ส่วนราชการตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ เนื่องจากเห็นว่า การจัดตั้งสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นนิติบุคคลก็เพื่อให้มีหน้าที่ดูแลรักษาและจัดหาประโยชน์ให้แก่ทรัพย์สินของรัฐที่จัดแยกเฉพาะไว้เพื่อใช้จ่ายสำหรับสถาบันพระมหากษัตริย์ และสำนักงานดังกล่าวก็อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของคณะกรรมการคณะหนึ่ง ซึ่งกรรมการเกือบทั้งหมดยกเว้นประธานซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นโดยตำแหน่งนั้น พระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้งด้วยพระองค์เอง การดำเนินงานของสำนักงานจึงมิได้อยู่ในการควบคุมหรือกำกับของรัฐบาล และสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ก็มิใช่หน่วยงานอื่นใดภายใต้รัฐบาลด้วย เพราะมิได้อยู่ในการควบคุมหรือกำกับของรัฐบาลที่จะจัดให้ดำเนินงานตามความประสงค์ของรัฐบาลได้ ดังนั้น จึงเห็นว่า สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นหน่วยงานอิสระที่มิได้อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของรัฐบาล จึงไม่มีฐานะเป็นกระทรวง ทบวง กรม และไม่มีฐานะเป็นทบวงการเมืองที่มีฐานะเทียบเท่ากระทรวง ทบวง กรม เนื่องจากคำว่า “ทบวงการเมืองที่มีฐานะเทียบเท่า” นั้น เป็นถ้อยคำทั่วไปที่อยู่ตามหลังคำที่มีความหมายเฉพาะ คำดังกล่าวจึงย่อมมีความหมายในทำนองเดียวกับคำที่มีความหมายเฉพาะเหล่านั้น (Ejusdem generic) ซึ่งในกรณีนี้ย่อมหมายถึง หน่วยงานภาครัฐที่มีฐานะเทียบเท่ากับกระทรวง ทบวง กรม

สำหรับประเด็นที่สอง เห็นว่า สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จัดตั้งขึ้นโดยมีฐานะเป็นนิติบุคคล และมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทำหน้าที่ดูแลรักษาและจัดหาผลประโยชน์ในทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์อื่นที่มิใช่ทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดินและทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์บรรดาที่เป็นเครื่องอุปโภคบริโภค ทั้งนี้ โดยมีคณะกรรมการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ดูแลโดยทั่วไปซึ่งกิจการของสำนักงานฯ ประกอบกับตามที่ได้วินิจฉัยในประเด็นที่หนึ่งแล้วว่า สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นหน่วยงานอิสระซึ่งมิได้อยู่ภายใต้การควบคุมหรือกำกับดูแลของรัฐบาล และมิใช่กระทรวง ทบวง กรม หรือทบวงการเมืองที่มีฐานะเทียบเท่า ดังนั้น รัฐบาลจึงไม่มีความผูกพันที่จะต้องรับผิดชอบในหนี้สินและภาระผูกพันของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

๓.ถนนหรือทางที่มีอยู่ในที่ดินที่เป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์และประชาชนได้ใช้สอยร่วมกันมาเป็นเวลาหลายสิบปี จะกลายเป็นทางสาธารณะโดยการอุทิศให้ประชาชนใช้โดยปริยายได้หรือไม่

คณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่า การโอนหรือจำหน่ายทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เพื่อประโยชน์ของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จะต้องได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตตามบทบัญญัติของมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พุทธศักราช ๒๔๗๙ จะต้องได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต และการโอนหรือจำหน่ายเพื่อสาธารณประโยชน์จะต้องมีกฎหมายบัญญัติให้โอนหรือจำหน่ายได้ เมื่อทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มีกฎหมายบัญญัติให้โอนหรือจำหน่ายได้ไว้เป็นพิเศษแตกต่างจากทรัพย์สินของเอกชน บรรดาถนนหรือทางที่มีอยู่ในที่ดินอันเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้จัดให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในที่ดินได้ใช้และบุคคลภายนอกก็ได้ร่วมใช้ด้วยนั้น ถึงแม้จะได้ใช้กันมาเป็นเวลาหลายสิบปี ก็ไม่มีผลตามกฎหมายให้ถนนหรือทางเหล่านั้นกลายเป็นทางหลวงหรือทางสาธารณะ เว้นแต่จะได้ตรากฎหมายบัญญัติโอนให้เป็นทางหลวงหรือทางสาธารณะ ดังนั้น ถนนหรือทางที่มีอยู่ในที่ดินของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ดังกล่าวจึงไม่สามารถตกเป็นทางสาธารณะโดยการอุทิศโดยปริยายได้

๔.พนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งได้แก่ คณะกรรมการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ พนักงานเจ้าหน้าที่ตลอดจนลูกจ้าง จะถือว่าเป็นข้าราชการ พนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ “หน่วยราชการ” “รัฐวิสาหกิจ” หรือ “หน่วยงานของรัฐ” ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๔๒ หรือไม่

คณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่า สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มิได้มีการจัดให้เป็นหน่วยราชการ ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินหรือกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม หรือกฎหมายอื่น จึงไม่ใช่หน่วยราชการ ส่วนที่ว่าจะเป็นรัฐวิสาหกิจหรือไม่นั้น เห็นว่า ฐานะและอำนาจหน้าที่ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ก็ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจเช่นเดียวกัน

สำหรับปัญหาที่ว่า สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นหน่วยงานของรัฐหรือไม่นั้น เห็นว่า สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นหน่วยงานของรัฐที่มีสถานะพิเศษมิได้ขึ้นอยู่ในกับของคณะรัฐมนตรีหรือกระทรวง ทบวง กรมใด จึงถือได้ว่าเป็น “หน่วยงานของรัฐ” ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๔๒ และด้วยเหตุนี้ ผู้อำนวยการ พนักงานเจ้าหน้าที่ ย่อมเป็นพนักงานหรือลูกจ้างตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาฯ แต่คณะกรรมการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์นั้น มิใช่พนักงานหรือลูกจ้างตามกฎหมายดังกล่าว เนื่องจากเป็นการปฏิบัติหน้าที่ในรูปคณะกรรมการ แต่ทั้งนี้ ก็มีข้อสังเกตว่า การเข้าไปตรวจสอบเกี่ยวกับกิจการของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์นั้น จะต้องคำนึงถึงสถานะพิเศษของสำนักงาน โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการดำเนินการต่าง ๆ ที่เป็นไปตามพระราชอัธยาศัยหรือที่ต้องได้รับพระบรมราชานุญาตนั้น บุคคลใด ๆ ไม่พึงดำเนินการสอบสวนให้เป็นที่กระทบกระเทือนต่อพระราชอำนาจดังกล่าว เพราะพระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ตามรัฐธรรมนูญ

อ่านต่อ >>>

วิวัฒนาการสถาบันพระมหากษัตริย์
พระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย
พระราชสถานะและพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญแห่ง
ราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐
ความสัมพันธ์ของพระมหากษัตริย์กับกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
บรรณานุกรม
 

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย