ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

เกร็ดความรู้ จากสารานุกรมไทย

ตบะ

โดยรูปคำแปลว่า ความเร่าร้อนหรือความเผาพลาญ หมายถึง วิธีข่มกิเลสโดยการทรมานตัว มีมาแต่สมัยพระเวท (ฤคเวท) จนถึงสมัยอุปนิษัท

ในชั้นเดิมคือ ในสมัยพระเวทตอนต้น การบำเพ็ญตบะยังจัดอยู่ในขั้นของพิธีกรรม ที่เรียกว่า ยัญ ได้แก่การเซ่นสรวงบูชา เป็นการทำอย่างเคร่งเครียด และพยายามมาก เป็นการทรมานกายอยู่ในตัว เพื่อให้เทพเจ้าเห็นใจให้ความกรุณาให้ความสำเร็จ ในสิ่งที่ร้องขอ ในตอนปลายสมัยพระเวท การบำเพ็ญตบะเป็นไปในทางบังคับเทพเจ้า ทำให้เทพเจ้าเร่าร้อน จนต้องอำนวยผลให้แก่ผู้บำเพ็ญตบะ

ต่อมาในสมัยอุปนิษัท นอกจากหวังเพื่อฤทธิ์อำนาจแล้ว ยังหวังประโยชน์เพื่อคติธรรมด้วย เป็นการย่างตนเอง ย่างกิเลสให้เหลือแต่ความบริสุทธิ์ เพื่อจะได้เข้าถึงพรหม ความคิดนี้เกิดมาจากเรื่องกรรม เพื่อจะใช้กรรมชั่วที่ตนทำไว้ คือรับกรรมเสียทันที เพื่อไม่ต้องรับความทรมานไปในภายหน้า อีกประการหนึ่งและเห็นกันว่ากิเลสเครื่องเศร้าหมองใจทั้งหลาย ก็เนื่องมาจากความผาสุขของร่างกาย ทางที่จะดับความปรารถนานี้ คือ ทรมานร่างกายเสียเอง กิเลสก็จะหมดไป เรื่องการทรมานร่างกาย ทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า "อัตตกิลมกานุโยค" ยังมีหลักปฏิบัติทางศาสนาที่คู่กับตบะอีกอย่างหนึ่งในยคุ อุปนิษัทคือ โยคะ

ในทางพระพุทธศาสนา ตบะมีความหมายหลายอย่าง คือ หมายถึง อินทรียสังวร คือการสำรวม-อินทรีย์หก (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) ควบคุมความรู้สึกที่เป็นปฏิกิริยาต่อการรับรู้ ทางอายตนะต่าง ๆ ให้เป็นไปแต่ในทางที่ดีงามไปให้กิเลสเข้าครอบงำ ประการหนึ่ง

ตบะ หมายถึง ความเพียร อันเป็นความเพียรชอบที่เรียกว่า สัมมาวายะมะ เป็นองค์หนึ่งในอริยมรรค มีองค์แปดประการ
ตบะ หมายถึง ขันติ คือ ความอดทนที่จะดำรงตนอยู่ในทางอันจะไปสู่จุดหมายของตนอย่างแน่แน่ มั่นคง จบบรรลุความสำเร็จประการหนึ่ง
ตบะ หมายถึง อธิจิต คือการฝึกจิตอย่างสูง หรือข้อปฏิบัติทั้งหลายในฝ่ายสมาธิ

ตบะในพระพุทธศาสนาจึงหมายถึงการเป็นอยู่อย่างง่าย ๆ ตัดความกังวลในการแสวงหาสิ่งปรนปรือความสุขแก่ตนเอง ให้เหลือน้อยที่สุด ให้เหลือเพียงเท่าที่จำเป็นแก่การดำรงชีวิตให้มีคุณภาพ เพื่อจะได้มุ่งอุทิศและจะสั่งตนให้แก่การปฏิบัติหน้าที่ ของตน ซึ่งได้แก่ บำเพ็ญ สมณธรรม ฝึกอบรมจิต

>>> กลับหน้าหลัก สารานุกรมไทย >>>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย