ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

เกร็ดความรู้ จากสารานุกรมไทย

ตักสิลา

เป็นชื่อนครหลวงของแคว้นคันธาระแห่งอินเดียโบราณ ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของชมพูทวีป ตัวเมืองตั้งอยู่ใกล้ภูเขามูรี บนพื้นที่ระหว่างแม่น้ำสินธุกับแม่น้ำเชลุม ปัจจุบันเหลือแต่ทรากปรักหักพัง

ในสมัยโบราณนครตักสิลา เป็นที่ชุมทางสายสำคัญถึงสามสาย สายที่หนึ่งมากจากฮินดูสถานและจากภาคตะวันออกของอินเดีย โดยเริ่มต้นจากนครปาฎลีบุตร ผ่านไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของจักรวรรดิ์เมารยะ สายที่สองตั้งต้นจากเอเซียตะวันตกผ่านนครบักเตรีย กาบิสี และปุษกลาวดี ผ่านแม่น้ำสินธูมาสิ้นสุดที่นครตักสิลา สายที่สามตั้งแต่แคว้นกัษมีระ ผ่านมาทางที่ราบระหว่างหุบเขาซึ่งเป็นที่ตั้งเมืองศรีนครในปัจจุบันมาถึงที่ราบหริปุระตรงไป ยังนครตักสิลา

ตักสิลาสมัยที่ยังรุ่งเรืองเคยเป็นราชอาณาจักร มีอาณาเขตทิศเหนือจดเทือกภูเขากัษมีระ ทิศตะวันตกจดแม่น้ำสินธู ทิศตะวันออกจดแม่น้ำเชลุม ทิศใต้จดแม่น้ำเชนาบและปันชนาด ในวรรณคดีโบราณของอินเดีย คัมภีร์รามายณะกล่าวว่า พระภรตราชโอรสพระนางไกยเกยี (สี) ซึ่งเป็นพระอนุชาต่างพระมารดาของพระรามได้ทรงสร้าง นครตักสิลาขึ้น และให้พระโอรสไปครอง คัมภีร์มหาภารตกล่าวว่า พระเจ้าชนเมชัยกรีธาทัพไปตีนครตักสิลาได้ ตักสิลาน่าจะมีอายุพอ ๆ กับนครพาราณสี ซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่าสามพันปี

พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ ทรงกรีธาทัพเข้าบุกอินเดียในปี พ.ศ.216 และตีได้เมืองตักสิลา และก่อนจะทรงยกทัพออกจากอินเดียก็ได้ทรงตั้งนายทหารชื่อ ฟิลิป อยู่ควบคุมดูแลตักสิลา ประมาณปี พ.ศ.226 กองทัพของจันทรคุปต์ก็สามารถขับไล่กองทัพกรีกที่เหลืออยู่ในอินเดียออกไปจนหมด และเริ่มต้นจักรวรรดิ์เมารยะ เมื่อพระเจ้าจันทรคุปต์สิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ.254 ทินทุสาร ราชโอรสขึ้นครองราชย์ พระองค์ได้ส่งเจ้าชายอโศก ราชโอรสไปปกครองตักสิลาเมื่อพระเจ้าอโศกขึ้นครองราชย์ พระองค์ได้ส่งเจ้าชายนกุละ ราชโอรสไปปกครองตักสิลา

เมื่อพระภิกขุเหี้ยนจัง (พระถังซำจั๋ง) ไปสืบศาสนาในอินเดียระหว่างปี พ.ศ.1172 - 1188 นครตักสิลากำลังอยู่ในยุคที่เสื่อมโทรมและในที่สุดก็ดับสูญไป ตักสิลาสมัยรุ่งเรืองมีชื่อเสียงทางด้านวิชาการมาก วรรณคดีพุทธศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งวรรณคดีชาดกได้พูดถึงตักสิลาบ่อย ๆ ในฐานะที่เป็นศูนย์กลางแห่งการศึกษามาตั้งแต่ก่อนพุทธกาล อาจารย์ประสิทธิ์ประสาทวิชาการเรียกกันว่า อาจารย์ทิศาปาโมกข์ แปลว่าผู้เป็นใหญ่ในทิศ วิชาที่สอนกัน มีไตรเพทและศิลปศาสตร์ 18 อย่าง

 

>>> กลับหน้าหลัก สารานุกรมไทย >>>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย