ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

เกร็ดความรู้ จากสารานุกรมไทย

นิติศาสตร์

"วิชากฎหมาย" ร่องรอยแห่งวิชานิติศาสตร์ ปรากฎมาแต่อดีตเป็นเวลาหลายพันปีมาแล้ว นิติศาสตร์ประกอบด้วยกฎหมายสองระบบคือ ระบบคอมมอนลอว์ ซึ่งเป็นระบบกฎหมายที่มิได้เขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษร และระบบประมวลกฎหมายคือ กฎหมายที่บัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ในประเทศที่ใช้ระบบคอมมอนลอว์นั้น ศึกษากฎหมายจากคำพิพากษาของศาลเป็นประการสำคัญ ส่วนในประเทศที่ใช้ประมวลกฎหมายยึดตัวบทกฎหมาย ที่บัญญัติไว้เป็นหลัก คำพิพากษาของศาลสูงเป็นเพียงตัวอย่างประกอบ

นิติศาสตร์ ที่ศึกษากันอยู่เวลานี้ ประกอบด้วยกฎหมายสาขาใหญ่ ๆ สามสาขาคือ

1. กฎหมายมหาชน 
เป็นกฎหมายที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับราษฎร ในฐานะเป็นฝ่ายปกครองราษฎร อันมีกฎหมายดังต่อไปนี้

ก.  กฎหมายรัฐธรรมนูญ  เป็นกฎหมายกำหนดโครงสร้างของรัฐ และระบอบการปกครองประเทศ กฎหมายนี้ถือว่าเป็นใหญ่กว่ากฎหมายทั้งปวง บทบัญญัติของกฎหมายอื่นใด หากขัดแย้งกับบทบัญญัติกฎหมายรัฐธรรมนูญแล้ว ถือว่าเป็นโมฆะ ไม่มีผลบังคับ
ข.  กฎหมายปกครอง  เป็นกฎหมายที่จัดระเบียบการปกครองประเทศ ซึ่งอาจประกอบด้วย พระราชบัญญัติต่าง ๆ
ค.  กฎหมายอาญา  เป็นกฎหมายที่กำหนดลักษณะความผิด และโทษที่ลงแก่ผู้กระทำผิด
ง.  กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  เป็นกฎหมายที่กำหนดระเบียบ และวิธีดำเนินกระบวนพิจารณาคดีอาญา เช่น การสอบสวน อำนาจศาล การยื่นฟ้อง การพิจารณา การรับฟังพยานหลักฐาน การตัดสินคดี และการอุทธรณ์ฎีกา
จ.  กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  เป็นกฎหมายที่กำหนดวิธีการเกี่ยวกับการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีแพ่ง
ฉ.  ธรรมนูญศาลยุติธรรม  เป็นกฎหมายที่จัดวางระเบียบการศาลยุติธรรม เช่น การจัดตั้งและยุบเลิกศาล อำนาจศาล องค์คณะผู้พิพากษา และอำนาจผู้พิพากษาในการพิจารณาตัดสินคดี

2. กฎหมายเอกชน
หรืออีกนัยหนึ่งว่ากฎหมายแพ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายที่ว่าด้วยความเกี่ยวพันระหว่างเอกชนต่อเอกชน ซึ่งมีฐานะทางกฎหมายเท่ากัน มีกฎหมายแพ่งว่าด้วยบุคคล ว่าด้วยทรัพย์ ว่าด้วยนิติกรรม ว่าด้วยหนี้ ว่าด้วยการซื้อขายแลกเปลี่ยน ว่าด้วยจำนำจำนองค้ำประกัน ว่าด้วยการรับขน ว่าด้วยการรับฝาก ว่าด้วยการกู้ยืม ว่าด้วยประนีประนอมความ ว่าด้วยเช่าทรัพย์ ว่าด้วยตั๋วเงิน ว่าด้วยประกัน ว่าด้วยหุ้นส่วน สมาคม ว่าด้วยครอบครัว และว่าด้วยมรดก

3. กฎหมายระหว่างประเทศ
เป็นกฎหมายว่าด้วยความเกี่ยวพันระหว่างรัฐต่อรัฐด้วยกัน แบ่งได้เป็นสามสาขาคือ

 ก. กฎหมายระหว่างปวระเทศแผนกคดีเมือง  ซึ่งว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่อรัฐ ในฐานะที่เป็นบุคคลตามกฎหมายระหว่างประเทศ เช่นการรับรองรัฐ การทูต การปักปันเขตแดน การทำสนธิสัญญา การใช้ทะเลหลวง องค์กรระหว่างประเทศ และหลักเกณฑ์ในการสงคราม
ข. กฎหมายระหว่างประเทศ แผนกคดีบุคคล  เป็นกฎหมายที่วางหลักความสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่อรัฐในทางแพ่ง เช่นหลักเกณฑ์ในการใช้กฎหมาย เกี่ยวกับการสมรสของคนต่างด้าว การได้สัญชาติของคนต่างงด้าวกรณีสมรส การได้สัญชาติของบุตรคนต่างด้าว หลักเกณฑ์ในการเลือกกฎหมาย ที่จะพึงใช้บังคับกับสัญญาที่ทำโดยคู่สัญญา ซึ่งอยู่ในประเทศต่างกัน ว่าจะใช้กฎหมายของประะเทศใดบังคับ
ค. กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีอาญา  เป็นกฎหมายที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่อรัฐด้วยกันในทางคดีอาญา เช่นกำหนดว่า ความผิดอาญาที่ได้กระทำนอกประเทศลักษณะใดบ้าง ที่จะพึงฟ้องในประเทศได้ ตลอดจนกำหนดวิธีการ และหลักเกณฑ์ในการส่งผู้ร้ายข้ามแดน

>>> กลับหน้าหลัก สารานุกรมไทย >>>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย