ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

เกร็ดความรู้ จากสารานุกรมไทย

เรเดียม

เป็นธาตุลำดับที่ 88 เป็นธาตุกัมมันตรังสี ที่มีปรากฎในธรรมชาติ นักวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศส สองสามีภรรยา เป็นผู้ค้นพบธาตุนี้เมื่อปี พ.ศ.2441

การค้นพบธาตุเรเดียม นับเป็นการเปิดศักราชใหม่ให้แก่วงการวิทยาศาสตร์อย่างมาก โดยเฉพาะในวงการฟิสิกส์ และวงการวิชาแพทย์

ในธรรมชาติ เรเดียมมีปรากฎอยู่ในแร่หลายชนิด และมักมีปรากฎอยู่ร่วมกับธาตุยูเรเนียม เรเดียมที่มีปรากฎอยู่ในธรรมชาติในปัจจุบัน เกิดจากการแตกสลายตัวของธาตุกัมมันตรังสีคือ ยูเรเนียม ทอเรียม และแอกทิเนียม

เรเดียม ลักษณะเป็นโลหะ เมื่อบริสุทธิ์และเตรียมได้ใหม่ ๆ มีสีขาวเงินจ้า สดใส แต่เมื่อปล่อยให้ถูกอากาศ สีจะเปลี่ยนเป็นสีดำ ซึ่งเข้าใจว่า เรเดียมมีปฎิกิริยากับไนโตรเจนในอากาศ เรเดียมสามารถเปล่งแสงเรืองได้เช่นเดียวกับเกลือของมัน

ธาตุเรเดียม มีความว่องไวทางปฎิกิริยาเคมีสูงมาก สามารถละลายในน้ำได้ดี และรุนแรง ให้แก๊สไฮโดรเจน ธาตุเรเดียมและสารประกอบของมัน รวมทั้งสารที่ได้จากการแตกสลายของเรเดียม มีสมบัติเป็นพิษอย่างแรง เนื่องจากรังสีที่แผ่ออกมา ธาตุเรเดียมเมื่อแตกสลายจะให้ธาตุเรดอน ซึ่งมีลักษณะเป็นแก๊สกัมมันตรังสี และเป็นแก๊สพิษ เมื่อเรเดียมแตกสลายจนถึงที่สุด ก็จะแปรสภาพไปเป็นธาตุตะกั่วที่เสถียร การแผ่รังสีก็เป็นอันสิ้นสุด

ธาตุเรเดียม มีประโยชน์มากในงานวิทยาศาสตร์หลายแขนง โดยอาศัยรังสีกัมมันตภาพของธาตุนี้ เช่น เป็นแหล่งให้อนุภาคนิวตรอน ใช้ผลิตสารสีเรืองแสงเพื่อใช้ในกิจการต่าง ๆ บางประเภท เป็นแหล่งสำคัญที่ให้ธาตุเรดอน ซึ่งนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายประการ ในทางการแพทย์ใช้เรเดียม เพื่อรักษาโรคมะเร็ง และยังใช้เรเดียมและเกลือซัลเฟตของมัน มาใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมถลุงโลหะ

เริม  เป็นโรคติดเชื้อไวรัสเฉียบพลัน ที่มีลักษณะรอยโรคเป็นเม็ดเล็ก ๆ พองใสติดกันเป็นกลุ่มอยู่บนพื้นสีแดง มีอาการคัน ปวดแสบ ปวดร้อน พบบ่อยที่ริมฝีปาก ข้างรูจมูก และอวัยวะเพศ เชื่อโรคคือ ไวรัสเริม
                    การรับเชื้อจะเข้าทางบาดแผล ที่ผิวหนัง หรือเยื่อบุในปาก หรือทางเพศสัมพันธ์ ทางแก้วน้ำ หรือหลอดดูด ร่วมกับผู้ป่วย เมื่อเชื้อเข้าไปในหนัง จะเจริญแบ่งตัวสลายเซลล์ ทำให้เกิดปฎิกิริยาอักเสบ มีตุ่มพอง หลอดน้ำเหลือง และต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียงอักเสบ เชื้อไวรัสอาจเข้าสู่กระแสเลือดแพร่เข้าสู่อวัยวะต่าง ๆ เช่น ตับ ปอด และอวัยวะระบบปราสาทกลาง จากการติดเชื้อปฐมภูมิ ไวรัสเริมมักเข้าไปแฝงอย่างสงบ อยู่ในปมประสาทรับความรู้สึก ซึ่งเป็นแหล่งของการกำเริบเป็นครั้งคราว โดยเชื้อผ่านมาทางเส้นประสาทรับความรู้สึก ไปที่ใต้ผิวหนังทำให้เกิดการติดเชื้อ ลุกลามระหว่างเซลล์ต่อเซลล์

>>> กลับหน้าหลัก สารานุกรมไทย >>>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย