ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

เกร็ดความรู้ จากสารานุกรมไทย

เรือนไทย

เรือนของชนชาติไทย แต่เดิมคงจะเป็นเรือนเครื่องผูกก่อน ต่อมาจึงเป็นเรือนเครื่องสับ หรือเรือนฝากระดาน แต่เรือนเครื่องผูกยังมีอยู่ในชนบท ชาวสวน ชาวไร่ ชาวนา

เรือนไทยสมัยสุโขทัย ที่เป็นตัวสถาปัตยกรรมนั้น ไม่ปรากฎหลักฐาน แต่ก็ได้พบหลักฐานเป็นชิ้นส่วนของหุ่นจำลอง ที่เป็นเครื่องเคลือบ หรือที่เรียกว่า สังคโลก ที่ อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย เป็นรูปหน้าจั่ว เป็นแบบจั่วลูกฟัก มีปั้นลม ฝาเป็นแบบฝาปะกน ใต้ขื่อมีโก่งคิ้ว อันเป็นลักษณะเดียวกับด้านหน้าวิหาร ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมล้านนา ที่ยังพบเห็นได้ในปัจจุบัน จึงพอสันนิษฐานได้ว่า เรือนไทยสมัยสุโขทัย ก็คือ เรือนเครื่องสับ หรือเรือนฝาปะกน แบบใต้ถุนสูง นั่นเอง

เรือนไทยสมัยอยุธยา ซึ่งไม่ห่างจากสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นมากนัก ชีวิตและความเป็นอยู่กับศิลปวัฒนธรรม ยังเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน สังเกตได้จากศิลปวัตถุสมัยอยุธยา เช่น ภาพเขียน จิตรกรรมฝาผนัง ของอุโบสถวัดช่องนนทรี ยานนาวา กรุงเทพ ฯ ที่เป็นภาพของชาวบ้านอยุธยา ถ้าเป็นบ้านของคนมีฐานะดี หรือคนชั้นกลาง หลังคาจะมุงด้วยกระเบื้องลอน หรือที่เรียกว่า กระเบื้องกาบู มีปั้นลม และตัวเหงา ปั้นลมมีการตกแต่งด้วยแผงของหน้าจั่ว เป็นแบบลูกฟัก ฝาเรือนเป็นแบบฝาปะกน

ต่อมา ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น พบว่ามีภาพที่อยู่อาศัยแบบเรือนไทย หลังคามุงจาก ฝามีทั้งฝาขัดแตะ ฝาปะกน ฝาลูกฟัก เช่น ที่วัดราชสิทธาราม และวัดดุสิดาราม มีภาพเขียนที่เป็นเรือนลักษณะดังกล่าว รวมทั้งที่พักอาศัยเดิมของ เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก  ซึ่งต่อมาได้เป็นหอไตร ของวัดระฆังโฆษิตราม เป็นเรือนสามหลังแฝด ฝาปะกน ใต้ถุนสูง

เรือนไทยในภาคต่าง ๆ ของประเทศไทยนั้น เรือนของภาคเหนือ นับว่ามีแบบแผนเฉพาะตัว และเป็นแบบอย่างหนึ่ง ที่น่าศึกษาถึงศิลปวัฒนธรรมประเพณี รวมถึงชีวิตความเป็นอยู่ประจำวัน แม้ในปัจจุบันก็ยังคงสืบทอดการปลูกสร้างไม่ขาดช่วง และยังคงอยู่ตลอดไป

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นภาคเดียวที่หาแบบอย่างเรือนพักอาศัยที่เป็นแบบฉบับ หรือลักษณะเฉพาะไม่ได้

ภาคใต้ของประเทศไทย มีฝนตกชุกลมแรง ที่พักอาศัยจึงต้องมีลักษณะที่ป้องกันแดด ป้องกันฝน ป้องกันลมได้ดี ลักษณะของเรือนไทยภาคใต้จึงต้องมีชายคายาว และมีชายคารอบด้าน หลังคาเป็นแบบที่เรียกว่า ทางปั้นหยา หรือมีจั่วเล็ก ๆ อยู่ติดกับสันหลังคา ส่วนหลังคาด้านล่างก็ยังเป็นทรงปั้นหยาอยู่ เรียกหลังคาแบบนี้ว่า จั่วปั้นหยา  หน้าต่างจะมีน้อยและใต้ถุนสูง ฝาใต้หลังคาเป็นช่องลมรอบตัวบ้าน

เรือนไทยภาคกลางมีลักษณะโดยทั่วไปคือ หลังคาทรงสูง มีปั้นลม กันสาด ระเบียง ชาน และใต้ถุนสูง

>>> กลับหน้าหลัก สารานุกรมไทย >>>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย