ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

กฎหมายไทย - พระราชบัญญัติ

พระราชบัญญัติ คุ้มครองการดำเนินงานของสถาบันเทคโนโลยี่แห่งเอเชีย พ.ศ. 2510

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2510
เป็นปีที่ 22 ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองการดำเนินงานของ สถาบันเทคโนโลยี่แห่งเอเชีย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำ และยินยอมของสภาร่างรัฐธรรมนูญในฐานะรัฐสภา ดังต่อไปนี้

มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองการ ดำเนินงานของสถาบันเทคโนโลยี่แห่งเอเชีย พ.ศ. 2510

มาตรา 2* พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศใน ราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป *[รก.2510/114/1พ/23 พฤศจิกายน 2510]

มาตรา 3 ในพระราชบัญญัตินี้ สถาบัน หมายความว่า สถาบันเทคโนโลยี่แห่งเอเชียซึ่งประเทศภาคี สนธิสัญญาการป้องกันร่วมกันแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ให้ความเห็นชอบ ร่วมกันจัดตั้งขึ้นตามกฎบัตรของสถาบันเทคโนโลยี่แห่งเอเชีย

มาตรา 4 เพื่อคุ้มครองการดำเนินงานในประเทศไทยของสถาบันให้ บรรลุผลตามความมุ่งประสงค์

(1) ให้ยอมรับนับถือว่า สถาบันเป็นนิติบุคคล และให้ถือว่ามีภูมิลำเนา ในประเทศไทย

(2) ให้สถาบันได้รับยกเว้นจากการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วย โรงเรียนราษฎร์และกฎหมายว่าด้วยสภาการศึกษาแห่งชาติ

มาตรา 5 ให้สถาบันได้รับยกเว้น

(1) อากรแสตมป์ซึ่งเรียกเก็บตามประมวลรัษฎากรสำหรับเงินที่สถาบัน ได้รับจากการบริจาคและค่าธรรมเนียมการศึกษา

(2) อากรตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากรและภาษีการค้าตาม ประมวลรัษฎากร สำหรับอุปกรณ์และวัสดุของสถาบันที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร เพื่อการศึกษาและวิจัยอันเป็นการดำเนินงานตามปกติวิสัยตามวัตถุประสงค์ของ สถาบัน ทั้งนี้เฉพาะเมื่อสถาบันได้รับความเห็นชอบในการนำเข้ามาในราช อาณาจักรจากกระทรวงการต่างประเทศแล้ว

(3) ภาษีโรงเรือนและที่ดินตามกฎหมายว่าด้วยภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีบำรุงท้องที่ตามกฎหมายว่าด้วยภาษีบำรุงท้องที่ สำหรับทรัพย์สินของ สถาบันซึ่งใช้เกี่ยวกับการศึกษาหรือทรัพย์สินที่ใช้เป็นหอพักหรือบ้านพักของ นักศึกษาหรือพนักงานของสถาบันซึ่งอยู่ในบริเวณที่ตั้งของสถาบัน ทั้งนี้เฉพาะ ทรัพย์สินที่กระทรวงการต่างประเทศให้ความเห็นชอบในการให้ได้รับยกเว้น ไม่ต้องเสียภาษี

มาตรา 6 ภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองเพียงเท่าที่พระราชบัญญัตินี้ มิได้ระบุไว้เป็นอย่างอื่น คนต่างด้าวซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรตราบเท่าที่อยู่ในฐานะดังต่อไปนี้ ให้ได้รับยกเว้นจากข้อจำกัดตามกฎหมาย ว่าด้วยคนเข้าเมืองเกี่ยวกับจำนวนคนเข้าเมืองและระยะเวลาที่จะได้รับ อนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร

(1) กรรมการในคณะกรรมการอำนวยการ
(2) กรรมการในคณะกรรมการบริหาร
(3) พนักงานของสถาบัน
(4) คู่สมรส บุตรหรือญาติซึ่งอยู่ในความอุปการะและเป็นส่วนแห่ง ครัวเรือน และคนใช้ซึ่งเดินทางมาจากต่างประเทศของบุคคลใน (1) (2) และ (3) (5) นักศึกษา คู่สมรสและบุตรซึ่งอยู่ในความอุปการะและเป็นส่วน แห่งครัวเรือนของนักศึกษา ทั้งนี้ เฉพาะที่กระทรวงการต่างประเทศให้ความเห็นชอบในการ ยกเว้นนั้น ๆ

มาตรา 7 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศรักษาการ ตามพระราชบัญญัตินี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

จอมพล ถนอม กิตติขจร
นายกรัฐมนตรี

______________________________

หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้คือเนื่องจาก รัฐบาลได้รับหลักการให้บัณฑิตวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ สปอ.แปรสภาพพ้นจาก การควบคุมขององค์การ สปอ.เป็นสถาบันเทคโนโลยี่แห่งเอเชียตามความตกลง ของประเทศภาคีองค์การ สปอ. และในความตกลงนั้นได้กำหนดให้มีที่ทำการใหญ่ ของสถาบันเทคโนโลยี่แห่งเอเชียขึ้นในกรุงเทพ ฯ จึงจำเป็นต้องมีกฎหมายให้ ความคุ้มครองการดำเนินงานของสถาบันเทคโนโลยี่แห่งเอเชีย

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย