ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

กฎหมายไทย - พระราชบัญญัติ

พระราชบัญญัติ ว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. 2542

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2542
เป็นปีที่ 54 ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและ ยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้

มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาด อำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. 2542

มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นหกสิบวันนับตั้งแต่วันประกาศ ในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป [รก.2542/104ก/5/26 ตุลาคม 2542]

มาตรา 3 ในพระราชบัญญัตินี้ ศาล หมายความว่า ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลทหาร หรือศาลอื่น ศาลยุติธรรม หมายความว่า ศาลทั้งหลายตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม หรือ ศาลที่มีกฎหมายจัดตั้งขึ้นและกำหนดให้อยู่ในสังกัดกระทรวงยุติธรรม หรือกำหนดให้เป็นศาล ยุติธรรม ศาลปกครอง หมายความว่า ศาลปกครองตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้ง ศาลปกครอง

ศาลทหาร หมายความว่า ศาลทหารตามกฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาลทหาร คณะกรรมการ หมายความว่า คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล กรรมการ หมายความว่า กรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล

มาตรา 4 ให้มีคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลคณะหนึ่ง ประกอบด้วยประธานศาลฎีกาเป็นประธานกรรมการ ประธานศาลปกครองสูงสุด หัวหน้าสำนัก ตุลาการทหาร และผู้ทรงคุณวุฒิอื่นอีกสี่คนเป็นกรรมการ ในกรณีที่มีการจัดตั้งศาลอื่นขึ้น ให้ประธานศาลอื่นนั้นเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง ตามวรรคหนึ่งด้วย คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่าง ศาลและอำนาจหน้าที่อื่นตามพระราชบัญญัตินี้ มาตรา 5 กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิประกอบด้วยบุคคล ดังต่อไปนี้

(1) ผู้มีความรู้และมีประสบการณ์เกี่ยวกับการพิจารณาพิพากษาคดีของศาล ยุติธรรม ซึ่งได้รับการคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา จำนวนหนึ่งคน

(2) ผู้มีความรู้และมีประสบการณ์เกี่ยวกับการพิจารณาพิพากษาคดีของศาล ปกครอง ซึ่งได้รับการคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด จำนวนหนึ่งคน

(3) ผู้มีความรู้และมีประสบการณ์เกี่ยวกับการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร ซึ่งได้รับการคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ตุลาการพระธรรมนูญในศาลทหารสูงสุด จำนวนหนึ่งคน

(4) ผู้มีความรู้และมีประสบการณ์ด้านกฎหมายที่มิใช่เป็นผู้พิพากษาหรือตุลาการ ประจำศาล ซึ่งได้รับการคัดเลือกจากกรรมการโดยตำแหน่งและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตาม (1) (2) และ (3) จำนวนหนึ่งคน

มาตรา 6 กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้

(1) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
(2) มีอายุไม่ต่ำกว่าสี่สิบปีบริบูรณ์
(3) ไม่เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการ ส่วนท้องถิ่น หรือไม่เป็นกรรมการหรือที่ปรึกษาของหน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ
(4) ไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น กรรมการหรือผู้ดำรงตำแหน่งที่รับผิดชอบในการบริหารพรรคการเมือง สมาชิกพรรคการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ในพรรคการเมือง
(5) ไม่เป็นกรรมการ ผู้จัดการ ที่ปรึกษา ลูกจ้าง หรือดำรงตำแหน่งอื่นใด ที่มี ลักษณะคล้ายกันในบริษัท ห้างหุ้นส่วน หรือธุรกิจเอกชนในรูปแบบอื่น

มาตรา 7 ในการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ให้ประธานกรรมการแจ้งไป ยังประธานของศาลแต่ละศาล และหัวหน้าสำนักตุลาการทหารสำหรับศาลทหาร เพื่อดำเนินการ คัดเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา 5 (1) (2) หรือ (3) และเสนอรายชื่อต่อประธานกรรมการ ให้กรรมการโดยตำแหน่งและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา 5 (1) (2) และ (3) ประชุมร่วมกันคัดเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา 5 (4) วิธีการคัดเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา 5 (1) (2) และ (3) ให้เป็นไปตาม หลักเกณฑ์ที่ที่ประชุมใหญ่ของศาลแต่ละศาล แล้วแต่กรณี เป็นผู้กำหนด สำหรับกรรมการผู้ทรง คุณวุฒิตามมาตรา 5 (4) ให้รับสมัครจากผู้ที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 6 วิธีการรับสมัครและการคัดเลือกให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ที่ประชุมร่วมกันตามวรรคสองกำหนด ให้ประธานกรรมการประกาศรายชื่อกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในราชกิจจานุเบกษา

มาตรา 8 กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสี่ปีนับแต่ วันประกาศรายชื่อกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในราชกิจจานุเบกษา ถ้ากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิว่างลง ให้ดำเนินการคัดเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ แทนตำแหน่งที่ว่างโดยเร็ว ตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 7 และให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับการ คัดเลือกใหม่มีวาระอยู่ในตำแหน่งตามวรรคหนึ่ง ในระหว่างที่ยังมิได้คัดเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามวรรคสองและยังมี กรรมการเหลืออยู่เกินกึ่งหนึ่ง ให้กรรมการที่เหลืออยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ แต่ต้องไม่เกิน สามสิบวัน

มาตรา 9 นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจาก ตำแหน่งเมื่อ

(1) ตาย
(2) ลาออก
(3) เป็นบุคคลล้มละลาย
(4) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
(5) ถูกจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก
(6) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 6

มาตรา 10 ในกรณีที่มีการฟ้องคดีต่อศาลใด ถ้าคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องเห็นว่าคดี ดังกล่าวอยู่ในเขตอำนาจของอีกศาลหนึ่ง ให้ยื่นคำร้องต่อศาลที่รับฟ้องก่อนวันสืบพยานสำหรับ ศาลยุติธรรมหรือศาลทหาร หรือก่อนวันนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกสำหรับศาลปกครองหรือศาลอื่น ในการนี้ให้ศาลที่รับฟ้องรอการพิจารณาไว้ชั่วคราว และให้จัดทำความเห็นส่งไปให้ศาลที่คู่ความ ร้องว่าคดีนั้นอยู่ในเขตอำนาจโดยเร็ว ในกรณีเช่นว่านี้ให้ศาลที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังต่อไปนี้

(1) ถ้าศาลที่ส่งความเห็นมีความเห็นว่าคดีนั้นอยู่ในเขตอำนาจของศาลตน และศาล ที่รับความเห็นมีความเห็นพ้องกับศาลดังกล่าว ให้แจ้งความเห็นไปยังศาลที่ส่งความเห็นเพื่อมีคำสั่ง ให้ดำเนินกระบวนพิจารณาคดีในศาลเดิมนั้นต่อไป

(2) ถ้าศาลที่ส่งความเห็นมีความเห็นว่าคดีนั้นอยู่ในเขตอำนาจของอีกศาลหนึ่ง ที่คู่ความอ้าง และศาลที่รับความเห็นมีความเห็นพ้องกับศาลดังกล่าว ให้แจ้งความเห็นไปยังศาลที่ส่ง ความเห็นเพื่อมีคำสั่งให้โอนคดีไปยังศาลนั้น หรือสั่งจำหน่ายคดีเพื่อให้คู่ความไปฟ้องศาลที่มีเขต อำนาจ ทั้งนี้ ตามที่ศาลเห็นสมควรโดยคำนึงถึงประโยชน์แห่งความยุติธรรม

(3) ถ้าศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขต อำนาจศาลในคดีนั้น ให้ศาลที่ส่งความเห็นส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดให้ เสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง แต่ถ้ามีเหตุจำเป็นให้คณะกรรมการลงมติให้ขยายเวลา ออกไปได้ไม่เกินสามสิบวัน โดยให้บันทึกเหตุแห่งความจำเป็นนั้นไว้ด้วย คำสั่งของศาลตามวรรคหนึ่ง (1) และ (2) และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการ ที่เกี่ยวกับเขตอำนาจศาลตามวรรคหนึ่ง (3) ให้เป็นที่สุด และมิให้ศาลที่อยู่ในลำดับสูงขึ้นไปของ ศาลตามวรรคหนึ่งยกเรื่องเขตอำนาจศาลขึ้นพิจารณาอีก ความในมาตรานี้ให้ใช้บังคับกับกรณีที่ศาลเห็นเอง ก่อนมีคำพิพากษาด้วยโดย อนุโลม

มาตรา 11 ในกรณีที่คณะกรรมการได้วินิจฉัยชี้ขาดว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจของ ศาลที่รับฟ้อง ให้ศาลนั้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป แต่ถ้าวินิจฉัยชี้ขาดว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจ ของอีกศาลหนึ่ง ให้ศาลที่รับฟ้องสั่งโอนคดีหรือสั่งจำหน่ายคดีเพื่อให้คู่ความไปฟ้องศาลที่มีเขต อำนาจ ทั้งนี้ ตามที่ศาลเห็นสมควรโดยคำนึงถึงประโยชน์แห่งความยุติธรรม

มาตรา 12 ในกรณีที่มีการนำคดีซึ่งมีข้อเท็จจริงเรื่องเดียวกันฟ้องต่อศาลที่มีเขต อำนาจแตกต่างกันตั้งแต่สองศาลขึ้นไป ถ้าคู่ความหรือศาลเห็นว่าคดีนั้นไม่อยู่ในเขตอำนาจของ ศาลใดศาลหนึ่งที่รับฟ้อง ให้นำความในมาตรา 10 และมาตรา 11 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ในกรณีที่มีการฟ้องคดีต่อศาลใด แต่ศาลนั้นไม่รับฟ้องเพราะเหตุว่าคดีดังกล่าว อยู่ในเขตอำนาจของอีกศาลหนึ่ง เมื่อมีการฟ้องคดีต่ออีกศาลหนึ่งแล้วหากศาลดังกล่าวเห็นว่าคดีนั้น ไม่อยู่ในเขตอำนาจเช่นกัน ให้ศาลนั้นส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการพิจารณาวินิจฉัย โดยให้นำความ ในมาตรา 10 วรรคหนึ่ง (3) และมาตรา 11 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา 13 ในการโอนคดีตามคำสั่งศาลตามพระราชบัญญัตินี้ให้ถือว่าบรรดา กระบวนพิจารณาที่ได้ดำเนินการไปแล้วในศาลที่มีคำสั่งโอนคดีเป็นกระบวนพิจารณาของศาล ที่รับโอนคดีด้วย เว้นแต่ศาลที่รับโอนคดีจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม

เมื่อมีเหตุต้องฟ้องคดีใดใหม่ต่อศาลที่มีเขตอำนาจ อันเนื่องจากมีการดำเนินการ ตามพระราชบัญญัตินี้ ถ้าอายุความหรือกำหนดเวลาในการฟ้องคดีครบกำหนดไปแล้วในระหว่าง การพิจารณาของศาลหรือของคณะกรรมการ แล้วแต่กรณี หรือจะครบกำหนดก่อนหกสิบวันนับแต่ วันที่มีคำสั่งของศาลหรือของคณะกรรมการ แล้วแต่กรณี ให้ขยายอายุความหรือกำหนดเวลาการ ฟ้องคดีออกไปจนถึงหกสิบวันนับแต่วันที่มีคำสั่งของศาลหรือของคณะกรรมการ แล้วแต่กรณี

มาตรา 14 ถ้ามีคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ถึงที่สุดระหว่างศาลขัดแย้งกันในคดีที่มี ข้อเท็จจริงเป็นเรื่องเดียวกัน จนเป็นเหตุให้คู่ความไม่ได้รับการเยียวยาความเสียหายหรือไม่ได้รับ ความเป็นธรรมหรือมีความขัดแย้งในเรื่องฐานะหรือความสามารถของบุคคล คู่ความ หรือบุคคล ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากคำพิพากษาหรือคำสั่งดังกล่าวอาจยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการเพื่อ ขอให้วินิจฉัยเกี่ยวกับการปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลดังกล่าวได้ภายในหกสิบวัน นับแต่วันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งที่ออกภายหลังถึงที่สุด ให้คณะกรรมการพิจารณาคำร้องตามวรรคหนึ่ง โดยคำนึงถึงประโยชน์แห่งความ ยุติธรรมและความเป็นไปได้ในการปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล แล้วให้กำหนดแนว ทางการปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลดังกล่าว คำวินิจฉัยของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด ให้นำกำหนดเวลาตามมาตรา 10 วรรคหนึ่ง (3) มาใช้บังคับกับกรณีนี้โดยอนุโลม

มาตรา 15 ให้นำบทบัญญัติมาตรา 10 ถึงมาตรา 14 ไปใช้กับวิธีการชั่วคราวก่อน พิพากษา การยื่นคำร้องต่อศาลก่อนการฟ้องคดีตามที่กฎหมายบัญญัติ การสืบพยานหลักฐานไว้ ก่อนฟ้องคดี การบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล และการปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่ ประการอื่นของศาลโดยอนุโลม

มาตรา 16 การประชุมของคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่า สามในสี่ของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม ให้ประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม ในกรณีที่ประธานกรรมการไม่อยู่ หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการซึ่งมาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ ประชุม การวินิจฉัยชี้ขาดในที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่ง ในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็น เสียงชี้ขาด

มาตรา 17 คำวินิจฉัยของคณะกรรมการให้ทำเป็นหนังสือ ระบุเหตุผลแห่ง คำวินิจฉัยและลงลายมือชื่อกรรมการทุกคนที่วินิจฉัย และบุคคลทั่วไปอาจขอคัดสำเนาได้ตาม วิธีการที่คณะกรรมการกำหนด

ให้คณะกรรมการมีอำนาจออกข้อบังคับเกี่ยวกับวิธีการเสนอเรื่องต่อคณะ กรรมการ การพิจารณาและวินิจฉัยของคณะกรรมการ และการอื่นที่จำเป็นเท่าที่ไม่ขัดต่อ พระราชบัญญัตินี้ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

มาตรา 18 ให้เลขานุการศาลฎีกาเป็นเลขานุการคณะกรรมการ และให้มีหน้าที่ รับผิดชอบดำเนินการตามที่คณะกรรมการกำหนด

มาตรา 19 ให้คณะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการได้รับประโยชน์ ตอบแทนตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา

มาตรา 20 เมื่อศาลปกครองได้เปิดทำการแล้ว ให้ดำเนินการคัดเลือกกรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา 5 (2) ภายในหกสิบวันนับแต่วันเปิดทำการศาลปกครอง ภายในสี่ปีนับแต่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับให้ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดเป็น ผู้มีสิทธิที่จะได้รับการคัดเลือกเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา 5 (2) ได้

มาตรา 21 ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี

__________________

หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา 248 ของรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้มีคณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับ อำนาจหน้าที่ระหว่างศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลทหาร หรือศาลอื่น โดยให้ประกอบด้วย ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานศาลอื่นและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามที่ กฎหมายบัญญัติและให้หลักเกณฑ์การเสนอปัญหาดังกล่าวเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ จึงจำเป็น ต้องตราพระราชบัญญัตินี้

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย