ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

กฎหมายไทย - พระราชบัญญัติ

พระราชบัญญัติ พัฒนาระบบมาตรวิทยาแห่งชาติ พ.ศ. 2540

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2540
เป็นปีที่ 52 ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการพัฒนาระบบมาตรวิทยา แห่งชาติ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดย คำแนะนำและยินยอมของรัฐสภาดังต่อไปนี้

มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติพัฒนาระบบ มาตรวิทยาแห่งชาติ พ.ศ. 2540"

มาตรา 2* พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นหกสิบวันนับแต่วัน ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

*[รก.2540/47ก/1/12 กันยายน 2540]

มาตรา 3 ในพระราชบัญญัตินี้

"มาตรวิทยา" หมายความว่า กิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับ การสอบเทียบปรับตั้งความถูกต้องของเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ในการวัดปริมาณ หรือวิเคราะห์ทดสอบ

"มาตรฐานแห่งชาติ" หมายความว่า มาตรฐานของระบบเครื่องมือ อุปกรณ์ หรือวัสดุอ้างอิงที่ใช้ในการวัดปริมาณ ที่มีวิธีการเก็บรักษา วิธีการใช้งาน ตามวิธีการมาตรฐานสากล และมีความสอบกลับได้กับมาตรฐานสากล เพื่อใช้ อ้างอิงเป็นมาตรฐานที่มีความถูกต้องสูงสุดของประเทศ

"การพัฒนาระบบมาตรวิทยา" หมายความว่า การศึกษา ค้นคว้า และวิจัยทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับเครื่องมือ อุปกรณ์ หรือวัสดุอ้างอิงที่ใช้ในการ วัดปริมาณ เพื่อให้เครื่องมือ อุปกรณ์ หรือวัสดุอ้างอิงดังกล่าวมีความถูกต้อง ตามมาตรฐานสากล รวมถึงกิจกรรมที่ส่งเสริมให้มีการถ่ายทอดความถูกต้องของ การวัด การจัดหาและบำรุงรักษาเครื่องมือและอุปกรณ์การวัด

"การวัดปริมาณ" หมายความว่า การวัดปริมาณของหน่วยวัดทาง วิทยาศาสตร์ที่กำหนดให้ใช้เป็นหน่วยวัดสากล เช่น ปริมาณความยาว มวล เวลา กระแสไฟฟ้า อุณหภูมิ ความเข้มของแสง เสียง และปริมาณสาร

"กองทุน" หมายความว่า กองทุนเพื่อการพัฒนาระบบมาตรวิทยา

"คณะกรรมการ" หมายความว่า คณะกรรมการมาตรวิทยาแห่งชาติ

"สถาบัน" หมายความว่า สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ

"ผู้อำนวยการ" หมายความว่า ผู้อำนวยการสถาบันมาตรวิทยา แห่งชาติ

"รัฐมนตรี" หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา 4 ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า "คณะกรรมการ มาตรวิทยาแห่งชาติ" ประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม เป็นรองประธานกรรมการ ผู้แทนกระทรวงการคลัง ผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ ผู้แทนกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ผู้แทนกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้แทนกระทรวงคมนาคม ผู้แทนทบวงมหาวิทยาลัย ผู้แทนสำนักงบประมาณ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและ สังคมแห่งชาติ ผู้แทนสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ผู้แทนสภาอุตสาหกรรม แห่งประเทศไทย และผู้ทรงคุณวุฒิอีกไม่เกินห้าคนซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้ มีความรู้ความสามารถด้านมาตรวิทยาเป็นกรรมการ และผู้อำนวยการเป็น กรรมการและเลขานุการ

มาตรา 5 ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(1) กำหนดแผนหลักและเสนอแนะนโยบายและมาตรการเกี่ยวกับ การพัฒนาระบบมาตรวิทยาต่อคณะรัฐมนตรี
(2) พิจารณาและเสนอต่อรัฐมนตรีในการออกประกาศตามมาตรา 11 และในการกำหนดระเบียบตามมาตรา 14 และมาตรา 18
(3) กำหนดระเบียบว่าด้วยการใช้จ่ายเงินกองทุนโดยความเห็นชอบ ของคณะรัฐมนตรีตามมาตรา 22
(4) ให้คำแนะนำแก่หน่วยงานและบุคคลต่าง ๆ เกี่ยวกับการใช้ การเก็บรักษา การสอบเทียบ การซ่อมบำรุง และการดำเนินการอย่างอื่นที่เกี่ยวกับ เครื่องมือ อุปกรณ์ หรือวัสดุอ้างอิงที่ใช้ในการวัดปริมาณ
(5) ออกข้อบังคับว่าด้วยการบรรจุ แต่งตั้ง การกำหนดตำแหน่ง การกำหนดอัตราเงินเดือนหรือค่าจ้าง การเลื่อนเงินเดือนหรือค่าจ้าง การสงเคราะห์ หรือสวัสดิการ การออกจากงาน วินัย และการลงโทษของพนักงาน
(6) อนุมัติแผนการเงินและงบประมาณประจำปีของสถาบัน
(7) ปฏิบัติการอื่น ๆ ตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นหน้าที่ของ คณะกรรมการ

มาตรา 6 กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสองปี นับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระ อาจได้รับแต่งตั้งอีกได้

มาตรา 7 นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา 6 กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ

(1) ตาย
(2) ลาออก
(3) คณะรัฐมนตรีให้ออกเพราะมีความประพฤติเสื่อมเสีย บกพร่อง หรือทุจริตต่อหน้าที่ หรือหย่อนความสามารถ
(4) เป็นบุคคลล้มละลาย
(5) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
(6) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษ สำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ ในกรณีที่มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในระหว่างที่กรรมการผู้ทรง คุณวุฒิซึ่งแต่งตั้งไว้แล้วยังมีวาระอยู่ในตำแหน่ง ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตั้งเพิ่มขึ้น หรือแต่งตั้งแทนตำแหน่งที่ว่าง ให้ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแทนหรือเป็น กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพิ่มขึ้นอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหนืออยู่ของกรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว

มาตรา 8 การประชุมของคณะกรรมการ ต้องมีกรรมการมาประชุม ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม ถ้าประธาน กรรมการไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองประธานกรรมการเป็น ประธานในที่ประชุม ถ้ารองประธานกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติ หน้าที่ได้ ให้กรรมการซึ่งมาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียง เท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

มาตรา 9 ให้คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อ พิจารณาหรือปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่คณะกรรมการมอบหมายได้ และ ให้นำมาตรา 8 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา 10 ให้ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ กรรมการ และอนุกรรมการได้รับเบี้ยประชุมและประโยชน์ตอบแทนอื่นตามระเบียบที่ คณะรัฐมนตรีกำหนด

มาตรา 11 เพื่อส่งเสริมให้มีการใช้เครื่องมือ อุปกรณ์ และวัสดุอ้างอิง ที่ใช้ในการวัดปริมาณที่มีความถูกต้องตามมาตรฐานสากล ให้รัฐมนตรีมีอำนาจ ออกประกาศโดยคำแนะนำของคณะกรรมการ ดังต่อไปนี้

(1) กำหนดให้เครื่องมือ อุปกรณ์ หรือวัสดุอ้างอิงที่ใช้ในการวัดปริมาณ เป็นเครื่องมือ อุปกรณ์ หรือวัสดุอ้างอิงที่ใช้อ้างอิงความถูกต้องตามมาตรฐานสากล เพื่อให้ถือเป็นมาตรฐานแห่งชาติ

(2) กำหนดหน่วยการวัดปริมาณที่ใช้ในกิจการประเภทต่าง ๆ ให้สอดคล้องเป็นระบบเดียวกันและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล

(3) กำหนดหลักเกณฑ์มาตรฐานสำหรับการใช้ การเก็บรักษา การสอบเทียบ การซ่อมบำรุง และการดำเนินการอย่างอื่นที่เกี่ยวกับเครื่องมือ อุปกรณ์ หรือวัสดุอ้างอิงที่ใช้ในการวัดปริมาณ

(4) กำหนดกิจการอื่นใดอันจำเป็นในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา 12 ให้จัดตั้งสถาบันขึ้นเรียกว่า "สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ" และให้สถาบันนี้เป็นนิติบุคคล อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม กิจการของสถาบันไม่อยู่ภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ สถาบันไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการ งบประมาณ หรือกฎหมายอื่น และรายได้ของสถาบันไม่ต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน

มาตรา 13 สถาบันมีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้

(1) ทำหน้าที่เกี่ยวกับงานวิชาและงานธุรการให้แก่คณะกรรมการ รวมทั้งประสานงานด้านการกำหนดแผน การจัดการ และให้ความช่วยเหลือแก่ หน่วยงานและบุคคลต่าง ๆ เกี่ยวกับการพัฒนาระบบมาตรวิทยา

(2) พัฒนาระบบมาตรวิทยา จัดหาและเก็บรักษามาตรฐานแห่งชาติ วัสดุอ้างอิง มาตรฐานของประเทศทุกสาขา เพื่อให้สอดคล้องกับระบบมาตรวิทยา สากลรวมถึงการถ่ายทอดความถูกต้องของการวัดไปสู่มาตรฐานแห่งชาติ

(3) ส่งเสริมการประกอบวิชาชีพด้านมาตรวิทยาและความสามารถ ของห้องปฏิบัติการสอบเทียบ

มาตรา 14 สถาบันมีอำนาจหน้าที่กระทำกิจการต่าง ๆ ภายใน วัตถุประสงค์ตามมาตรา 13 และอำนาจเช่นว่านี้ ให้รวมถึง

(1) บริหารกองทุนตามกฎหมาย และระเบียบซึ่งรัฐมนตรีกำหนด

(2) ศึกษาสำรวจและวิเคราะห์ทางวิชาต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นพื้นฐาน ในการวางเป้าหมาย นโยบาย และจัดทำแผนงานโครงการและมาตรการต่าง ๆ ในการพัฒนาระบบมาตรวิทยาของประเทศ แล้วเสนอต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณา

(3) ออกใบรับรองตามหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขที่สถาบันกำหนด สำหรับเครื่องมือ อุปกรณ์ หรือวัสดุอ้างอิงที่ใช้ในการวัดปริมาณที่ได้ทำการสอบเทียบ แล้วว่ามีความถูกต้องตามมาตรฐานแห่งชาติ

(4) ศึกษา พัฒนาเทคโนโลยีการวัด และสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา ด้านมาตรวิทยาของภาครัฐ ผู้ประกอบการภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา ส่งเสริมความร่วมมือในกิจกรรมด้านนี้ระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน และสถาบัน การศึกษา ตลอดจนกับนานาประเทศ

(5) สนับสนุนห้องปฏิบัติการสอบเทียบของผู้ประกอบการภาคเอกชน ให้มีส่วนร่วมในกิจกรรมมาตรวิทยาและระบบการถ่ายทอดความถูกต้อง การให้ บริการข้อมูลและการให้คำปรึกษาทางเทคโนโลยีการวัดและการให้บริการอื่น ๆ ในส่วนที่เกี่ยวกับมาตรวิทยา

(6) สนับสนุนการเพิ่มสมรรถนะในการศึกษา พัฒนาเทคโนโลยี การวัดระบบการถ่ายทอดความถูกต้องของเครื่องมือและอุปกรณ์การวัด ความสอบกลับได้ตลอดจนการจัดโครงการลงทุนและโครงการที่เกี่ยวข้องกับการรับ เทคโนโลยีด้านมาตรวิทยาจากต่างประเทศ เพื่อให้ระบบมาตรวิทยาของประเทศ มีประสิทธิภาพเชื่อถือได้และเป็นที่ยอมรับในระบบมาตรวิทยาสากล

(7) ดำเนินงานและส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านมาตรวิทยา ของประเทศ รวมทั้งการพัฒนากำลังคนทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน

(8) กระทำการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นหน้าที่ของสถาบัน และตามที่คณะกรรมการมอบหมาย

(9) จัดให้ได้มา ถือกรรมสิทธิ์ เช่า ให้เช่า เช่าซื้อ ให้เช่าซื้อ ยืม ให้ยืม แลกเปลี่ยน โอน รับโอน และขายหรือจำหน่ายด้วยวิธีใด ๆ ซึ่งอสังหาริมทรัพย์ หรือสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งหลักทรัพย์ต่าง ๆ ตลอดจนรับทรัพย์สินที่มีผู้มอบหรืออุทิศให้

(10) รับค่าตอบแทนการใช้ประโยชน์จากการศึกษา พัฒนาเทคโนโลยี การวัด และค่าบริการในการให้บริการ รวมทั้งทำความตกลงและกำหนดเงื่อนไข เกี่ยวกับค่าตอบแทนและค่าบริการนั้น ทั้งนี้ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ

(11) ทำความตกลงและร่วมมือกับองค์การหรือหน่วยงานในประเทศ และต่างประเทศในกิจการที่เกี่ยวกับการศึกษา พัฒนาเทคโนโลยีการวัด และ ความสอบกลับได้

(12) จัดให้มีและให้ทุนเพื่อสนับสนุนการศึกษา พัฒนาเทคโนโลยี การวัด ความสอบกลับได้ และการประดิษฐ์หรือพัฒนาเครื่องมือหรืออุปกรณ์การวัด หรือความรู้เทคโนโลยีที่ใช้เป็นมาตรฐานในกิจการด้านมาตรวิทยา

(13) เข้าร่วมกิจการหรือร่วมลงทุนกับบุคคลอื่นหรือถือหุ้นในบริษัท จำกัด เพื่อประโยชน์แก่การพัฒนาระบบมาตรวิทยาของประเทศ

(14) กู้ยืมเงิน ให้กู้ยืมเงิน โดยมีหลักประกันด้วยบุคคลหรือทรัพย์สิน ทั้งนี้ เพื่อการศึกษาพัฒนาเทคโนโลยีการวัด และการบริการสอบเทียบความถูกต้อง ของเครื่องมือและอุปกรณ์การวัด

(15) กระทำการอื่นใดอันจำเป็นในการปฎิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ การกู้ยืมเงิน การให้กู้ยืมเงิน หรือการลงทุนตามวรรคหนึ่ง ให้ปฏิบัติ ตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด หากเกินวงเงินที่กำหนดไว้ในระเบียบ ต้องได้รับ ความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อน

มาตรา 15 ให้สถาบันมีผู้อำนวยการคนหนึ่ง ซึ่งคณะกรรมการเป็น ผู้แต่งตั้งโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ผู้อำนวยการมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสี่ปีนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง และอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้แต่ต้องไม่เกินสองวาระติดต่อกัน ให้ผู้อำนวยการได้รับเงินเดือนตามที่คณะกรรมการกำหนด

 | หน้าถัดไป »

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย