ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

กฎหมายไทย - พระราชบัญญัติ

พระราชบัญญัติ ส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร พ.ศ. 2503

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2503
เป็นปีที่ 15 ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการฝึก วิชาทหาร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขั้นไว้โดยคำแนะนำ และยินยอมของสภาร่างรัฐธรรมนูญในฐานะรัฐสภา ดังต่อไปนี้

มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติส่งเสริมการฝึก วิชาทหาร พ.ศ. 2503"

มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศใน ราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

[รก.2503/31/31พ/13 เมษายน 2503]

มาตรา 3 ให้ยกเลิก (1) พระราชบัญญัติส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร พ.ศ. 2494 (2) พระราชบัญญัติส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2497 บรรดาบทกฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่นในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วใน พระราชบัญญัตินี้หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้พระราช บัญญัตินี้แทน

มาตรา 4 ให้กองทัพบกรับผิดชอบในการดำเนินการเกี่ยวกับการ ฝึกวิชาทหาร ตามหลักสูตรที่กระทรวงกลาโหมกำหนด บุคคลซึ่งอยู่ในระหว่างรับการฝึกวิชาทหารตามหลักสูตรให้เรียกว่า นักศึกษาวิชาทหาร และในเวลาฝึกวิชาทหารให้นักศึกษาวิชาทหารอยู่ในความ ปกครองของกองทัพบก การดำเนินการเกี่ยวกับการฝึกวิชาทหารและการปกครองนักศึกษา วิชาทหาร ตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้เป็นไปตามที่กองทัพบกกำหนด

[มาตรา 4 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2521]

มาตรา 4 ทวิ เพื่อประโยชน์ในการฝึกวิชาทหาร กองทัพบกมีอำนาจ แต่งตั้งบุคคลที่มีความเหมาะสมเป็นผู้กำกับนักศึกษาวิชาทหารหรือผู้ช่วยผู้กำกับ นักศึกษาวิชาทหาร เป็นการประจำหรือเป็นการชั่วคราวเพื่อช่วยเหลือในการ ปกครองนักศึกษาวิชาทหารได้ และเพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร กองทัพบกมีอำนาจแต่งตั้งบุคคลซึ่งเกี่ยวข้องกับการปกครองและการฝึกนักศึกษา วิชาทหารโดยผ่านการฝึกอบรมครบตามหลักสูตรที่กองทัพบกกำหนด เป็นผู้กำกับ นักศึกษาวิชาทหารพิเศษได้ บุคคลซึ่งจะได้รับแต่งตั้งเป็นผู้กำกับนักศึกษาวิชาทหาร ผู้ช่วยผู้กำกับ นักศึกษาวิชาทหาร หรือผู้กำกับนักศึกษาวิชาทหารพิเศษ ต้องมีลักษณะ คุณสมบัติ และอยู่ภายใต้เงื่อนไขตามที่กองทัพบกกำหนด

การแต่งตั้งและถอดถอนบุคคลดังกล่าวในวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตาม หลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่กองทัพบกกำหนด

[มาตรา 4 ทวิ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2521]

มาตรา 5 การเข้ารับการฝึกวิชาทหาร ให้กระทำโดยวิธีสมัคร

มาตรา 6 บุคคลผู้มีสิทธิสมัครเข้ารับการฝึกวิชาทหารต้องมีลักษณะ คุณสมบัติ และอยู่ภายใต้เงื่อนไขตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

มาตรา 6 ทวิ บุคคลซึ่งอยู่ในระหว่างการฝึกวิชาทหารต้องมีลักษณะ คุณสมบัติ และอยู่ภายใต้เงื่อนไขตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

[มาตรา 6 ทวิ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2516]

มาตรา 6 ตรี บุคคลซึ่งพ้นจากการฝึกวิชาทหาร ได้แก่ผู้ซึ่งมีลักษณะ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

[มาตรา 6 ตรี เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2516]

มาตรา 7 บุคคลซึ่งอยู่ในระหว่างการฝึกวิชาทหารตามมาตรา 6 ทวิ ย่อมได้รับยกเว้นการเรียกมาตรวจเลือกเข้ารับราชการทหารกองประจำการ ในยามปกติตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร บุคคลซึ่งพ้นจากการฝึกวิชาทหารตามมาตรา 6 ตรี ย่อมไม่ได้รับยกเว้น ตามวรรคหนึ่ง

[มาตรา 7 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2516]

มาตรา 7 ทวิ บุคคลซึ่งอยู่ในระหว่างการฝึกวิชาทหารที่ได้รับยกเว้น ตามมาตรา 7 วรรคหนึ่ง หรือบุคคลซึ่งพ้นจากการฝึกวิชาทหารที่ไม่ได้รับยกเว้น ตามมาตรา 7 วรรคสอง ให้สถานศึกษาและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจัดทำบัญชี รายชื่อและดำเนินการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และแบบที่กำหนดในกฎกระทรวง

[มาตรา 7 ทวิ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2516]

มาตรา 8 บุคคลซึ่งสำเร็จการฝึกวิชาทหารตามหลักสูตรที่กระทรวง กลาโหมกำหนดนี้จะได้รับสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหารและ กฎหมายว่าด้วยยศทหาร

มาตรา 9 ให้ถอนทะเบียนกองประจำการของนักศึกษาหรือนิสิตเฉพาะ ที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร พ.ศ. 2494 ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2497 สำหรับนักศึกษาหรือนิสิตซึ่งเข้ารับราชการทหารตามมาตรา 7 และ มาตรา 7 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร พ.ศ. 2494 ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2497 นั้น ให้ปลดเป็นทหารกองหนุนตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการ ทหาร

มาตรา 10 เมื่อมีความจำเป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมมี อำนาจสั่งให้นักศึกษาหรือนิสิตซึ่งเรียนสำเร็จตามหลักสูตรของมหาวิทยาลัยหรือ วิทยาลัยที่มีมาตรฐานชั้นปริญญา อนุปริญญา หรือประกาศนียบัตรเทียบเท่าปริญญา เข้ารับการฝึกวิชาทหารตามหลักสูตรที่กระทรวงกลาโหมกำหนด ในระหว่างที่ เข้ารับการฝึกวิชาทหารให้ถือว่าเป็นทหารกองประจำการ และเมื่อสำเร็จการ ฝึกวิชาทหารแล้ว จะให้เข้ารับราชการทหารในสังกัดกระทรวงกลาโหมในฐานะ นายทหารสัญญาบัตรก็ได้

มาตรา 11 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมรักษาการตาม พระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตามพระราช บัญญัตินี้ กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

พลเอก ถ. กิตติขจร
รองนายกรัฐมนตรี

_______________________________

หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่กฎหมาย ว่าด้วยการส่งเสริมการฝึกวิชาทหารที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้ยังไม่เหมาะสมกับ สถานการณ์ จึงจำเป็นต้องปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการฝึกวิชา ทหารเสียใหม่ ให้สอดคล้องกับนโยบายการทหารซึ่งได้รับการปรับปรุงใหม่

_____________________________

พระราชบัญญัติส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2516

หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ เป็นการสมควรกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับลักษณะ คุณสมบัติ และเงื่อนไขของ บุคคลซึ่งอยู่ในระหว่างการฝึกวิชาทหาร และบุคคลซึ่งพ้นจากการฝึกวิชาทหาร รวมทั้งหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดทำบัญชีรายชื่อบุคคลซึ่งอยู่ในระหว่างการฝึก วิชาทหารและบุคคลซึ่งพ้นจากการฝึกวิชาทหาร ตลอดจนการได้รับยกเว้นและ ไม่ได้รับยกเว้นการเรียกมาตรวจเลือกเข้ารับราชการทหารกองประจำการ ในยามปกติ ตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหารของบุคคลดังกล่าว จึง สมควรแก้ไขพระราชบัญญัติส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร พ.ศ. 2503 เพื่อให้ ออกกฎกระทรวง เพื่อกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้นได้

[รก.2516/68/5พ/14 มิถุนายน 2516]

_____________________________

พระราชบัญญัติส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2521

หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจาก การฝึกวิชาทหารในปัจจุบันเป็นหน้าที่ของกรมรักษาดินแดน จังหวัดทหารบก และมณฑลทหารบก ซึ่งเป็นส่วนราชการของกองทัพบก ดังนั้น เพื่อให้การฝึก วิชาทหารได้รับผลสมความมุ่งหมายของทางราชการ จึงควรกำหนดให้กองทัพบก เป็นผู้รับผิดชอบในการฝึกนี้ ประกอบกับทางราชการมีความประสงค์ที่จะจัดตั้ง ผู้กำกับนักศึกษาวิชาทหาร ผู้ช่วยผู้กำกับนักศึกษาวิชาทหารขึ้น เพื่อช่วยเหลือ ทางราชการในด้านการปกครองบังคับบัญชานักศึกษาวิชาทหาร และแต่งตั้ง ผู้กำกับนักศึกษาวิชาทหารพิเศษเพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น [รก.2521/87/10พ/24 สิงหาคม 2521]

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย