ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

กฎหมายไทย - พระราชบัญญัติ

พระราชบัญญัติ ควบคุมเครื่องอุปโภคบริโภคและของอื่น ๆ ในภาวะคับขัน พุทธศักราช 2488

ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
(ตามประกาศประธานสภาผู้แทนราษฎร
ลงวันที่ 1 สิงหาคม พุทธศักราช 2487)
ปรีดี พนมยงค์
ตราไว้ ณ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2488
เป็นปีที่ 12 ในรัชกาลปัจจุบัน

โดยที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติว่า สมควรมีกฎหมายว่าด้วยการควบคุม เครื่องอุปโภคบริโภคและของอื่น ๆ เพื่อให้มีเครื่องอุปโภคบริโภค และสิ่งของต่าง ๆ เพียงพอแก่ความต้องการของประเทศจึงมีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำ และยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร ดังต่อไปนี้

มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้ให้เรียกว่า "พระราชบัญญัติควบคุม เครื่องอุปโภคบริโภคและของอื่น ๆ ในภาวะคับขัน พุทธศักราช 2488"

มาตรา 2* พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับได้ตั้งแต่วันประกาศใน ราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

*[รก.2488/9/153/6 กุมภาพันธ์ 2488]

มาตรา 3 ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงเกษตราธิการ ปลัดกระทรวงการอุตสาหกรรม ปลัดกระทรวงมหาดไทยและกรรมการอื่นอีก ไม่น้อยกว่าสามนายแต่ไม่เกินหกนาย ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งมีอำนาจและหน้าที่ ตามบทแห่งพระราชบัญญัตินี้

มาตรา 4 ให้คณะกรรมการมีอำนาจ

(1) กำหนดเครื่องอุปโภคบริโภคและของอื่นใดที่จะให้อยู่ในความ ควบคุมเพื่อให้เพียงพอแก่ความต้องการทั่วราชอาณาจักร หรือเฉพาะในเขต ท้องที่หนึ่งท้องที่ใด
(2) จัดการปันส่วนในการซื้อ การขาย ตลอดจนการวางเงื่อนไข ของการซื้อ หรือการขายสิ่งของที่ควบคุม
(3) กำหนดราคาสูงสุดของสิ่งของที่ควบคุม
(4) สั่งบังคับให้ขายสิ่งของที่ควบคุมตามปริมาณหรือราคาที่ คณะกรรมการกำหนด โดยให้ขายให้แก่คณะกรรมการ หรือผู้หนึ่งผู้ใด ที่คณะกรรมการกำหนด
(5) สั่งบังคับให้แจ้งปริมาณหรือให้แจ้งสถานที่เก็บ ห้ามซื้อ หรือขาย หรือให้ หรือใช้เอง หรือยักย้าย หรือเปลี่ยนสภาพสิ่งของที่ควบคุม
(6) วางระเบียบหรือห้ามการส่งออกไปนอกหรือนำเข้ามาในท้องที่ใด ท้องที่หนึ่งซึ่งสิ่งของที่ควบคุม
(7) เข้าควบคุมหรือเข้าดำเนินกิจการอันเกี่ยวกับการผลิตหรือการ จำหน่ายสิ่งของที่ควบคุม
(8) กำหนดเงื่อนไขและวิธีการต่าง ๆ เพื่อให้การควบคุมได้ดำเนิน โดยสะดวกตามความจำเป็นของเหตุการณ์

มาตรา 5 คณะกรรมการมีอำนาจที่จะแต่งตั้งบุคคลหนึ่งบุคคลใด หรือคณะบุคคลหนึ่งคณะบุคคลใดเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติการอันอยู่ ในอำนาจของคณะกรรมการ ตามมาตรา 4 (2) (3) (4) และ (5) แทน คณะกรรมการได้

มาตรา 6 เมื่อได้มีการจัดการปันส่วนในการซื้อการขายเครื่องอุปโภคบริโภค และของอื่น ๆ ที่ได้มีประกาศควบคุมแล้ว คณะกรรมการหรือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์อาจอนุญาตพิเศษยกเว้น โดยขยายปริมาณ กำหนดหรือไม่มีปริมาณกำหนดให้เป็นรายบุ คคลได้

มาตรา 7 ให้กรรมการ หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือผู้ที่คณะกรรมการ หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ได้แต่งตั้งขึ้น มีอำนาจเข้าไปในสถานที่หรือบ้านเรือนของ บุคคลใด ๆ เพื่อตรวจตราเครื่องอุปโภคบริโภคและของอื่น ๆ ที่ได้มีประกาศ ควบคุมในเวลาทำงานตามปกติ และมีอำนาจสั่งบุคคลใดมาให้ถ้อยคำในเรื่อง อันเกี่ยวกับการนั้นได้

มาตรา 8 การซื้อ การขาย เครื่องอุปโภคบริโภคและของอื่น ๆ ที่ได้มีประกาศควบคุมชนิดใดเป็นการค้า คณะกรรมการจะกำหนดให้กระทำ ณ ร้านค้าที่ได้จดทะเบียนพาณิชย์ไว้แล้ว และโดยเจ้าของหรือผู้ที่มีอำนาจ จัดการร้านค้านั้น หรือโดยบุคคลหรือคณะบุคคลซึ่งได้จดทะเบียนเป็นผู้ทำการค้า ตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดก็ได้ หรือจะมีการซื้อขาย ณ ที่ และโดยบุคคล ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ได้รับมอบอำนาจอนุญาตก็ได้

มาตรา 9 ให้ถือว่าจำนวนเครื่องอุปโภคบริโภคและของอื่น ๆ ที่มีไว้เกินกว่าปริมาณอันจำเป็นที่คณะกรรมการกำหนดเป็นการมีไว้เพื่อการค้า

มาตรา 10 ผู้ใดฝ่าฝืนประ กาศหรือคำสั่งของคณะกรรมการหรือ ของพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งออกตามความในมาตรา 4 หรือทำการซื้อ หรือ ขายเครื่องอุปโภคบริโภคและของอื่น ๆ ที่ได้ประกาศควบคุมเป็นการค้า โดยมิได้มีอำนาจและมิได้กระทำ ณ ที่ที่กำหนด อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 8 มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือจำคุกไม่เกินสิบปี หรือทั้งปรับทั้งจำ

มาตรา 11 ผู้ใดได้รับอนุญาตให้ซื้อเครื่องอุปโภคบริโภคและของ อื่น ๆ ที่ได้มีประกาศควบคุมได้โดยแจ้งว่าจะนำไปใช้เพื่อการหนึ่ง หรือโดย รับรองว่าจะปฏิบัติตามเงื่อนไขของคำอนุญาต ซื้อของนั้นแล้วนำไปใช้เพื่อ กิจการอื่น หรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขของคำอนุญาต มีความผิดต้องระวางโทษ ปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือจำคุกไม่เกินสิบปี หรือทั้งปรับทั้งจำ

มาตรา 12 ผู้ใดได้รับอนุญาตให้ซื้อของตามบัตรปันส่วนหรือตามที่ ทางราชการอนุญาตเพื่อการอุปโภคบริโภคสำหรับตนหรือครอบครัวซื้อของนั้น มาขายให้แก่ผู้อื่น ผู้ขายมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือ จำคุกไม่เกินห้าปี หรือทั้งปรับทั้งจำ

มาตรา 13 ผู้ใดทำการซื้อ หรือขาย หรือให้บัตรปันส่วนแก่ผู้ อื่น

ทั้งผู้ซื้อ ผู้ให้ ผู้รับ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท หรือจำคุก ไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ

มาตรา 14 ผู้ใดมีเครื่องอุปโภคบริโภคและของอื่น ๆ ที่ได้ประกาศ ควบคุมไว้เพื่อการค้า แต่ไม่ยอมขายเมื่อมีผู้ขอซื้อไปอุปโภคบริโภค และโดย ไม่มีเหตุผลอันสมควร มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือ จำคุกไม่เกินสิบปี หรือทั้งปรับทั้งจำ

มาตรา 15 ผู้ใดได้รับอนุญาตให้ขายของที่มีการปันส่วนหรือของที่ ทางราชการมอบให้เพื่อขาย

(1) มีของนั้นแต่ไม่ขายให้แก่ผู้ที่ได้รับอนุญาตจากทางราชการให้ซื้อ
(2) กระทำการใด ๆ จนได้ของจากผู้ที่ได้รับอนุญาตจากทางราชการ ให้ซื้อมาเป็นของตน
(3) ช่วยเหลือผู้ที่มิได้รับอนุญาตจากทางราชการให้ซื้อได้ซื้อของนั้นไป หรือ
(4) กระทำการใด ๆ ให้ของที่มีการปันส่วนหรือของที่ทางราชการ มอบให้เพื่อขายแก่ผู้รับอนุญาต ตกไปเป็นของที่อยู่นอกจำนวนปันส่วนหรือนอก จำนวนที่ทางราชการมอบให้

มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือจำคุกไม่เกิน สิบปี หรือทั้งปรับทั้งจำ

มาตรา 16 ผู้ใดมีเครื่องอุปโภคบริโภคและของอื่น ๆ ที่ได้มีประกาศ ควบคุม ยักย้าย หรือทำลาย หรือเปลี่ยนสภาพซ่อนเร้นปิดบัง หรือใช้อุบายด้วย ประการใด ๆ เพื่อมิให้ถูกควบคุมหรือให้ควบคุมได้ยาก มีความผิด ต้องระวาง โทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือจำคุกไม่เกินสิบปี หรือทั้งปรับทั้งจำ

มาตรา 17 ผู้ใดฝ่าฝืนคำสั่งของคณะกรรมการหรือของพนักงาน เจ้าหน้าที่ผู้ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการให้ดำเนินการควบคุม ซึ่งได้สั่ง ตามบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือจำคุกไม่เกินสิบปี หรือทั้งปรับทั้งจำ

มาตรา 18 ผู้ใดขัดขืนหรือฝ่าฝืนคำสั่งของกรรมการ หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือผู้ที่กรรมการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ได้แต่งตั้งขึ้นในการปฏิบัติตาม มาตรา 7 มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือจำคุกไม่เกินห้าปี หรือทั้งปรับทั้งจำ

มาตรา 19 พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ใดปฏิบัติการหรือละเว้นปฏิบัติการ ในหน้าที่อันเป็นการช่วยเหลือ หรือก่อให้เกิดประโยชน์อย่างหนึ่งอย่างใด แก่ผู้ที่กระทำการ หรือกระทำการฝ่าฝืนบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ไม่ว่าด้วย ประการใด ๆ มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกิน หนึ่งหมื่นบาท

มาตรา 20 เครื่องอุปโภคบริโภคและของอื่น ๆ ที่ได้มีประกาศ ควบคุมซึ่งเกี่ยวเนื่องกับความผิดให้ริบเสีย

มาตรา 21 เครื่องอุปโภคบริโภคและของอื่น ๆ ของราชการ ไม่อยู่ในบังคับแห่งพระราชบัญญัตินี้

มาตรา 22 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์รักษาการตาม พระราชบัญญัตินี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

ควง อภัยวงศ์
นายกรัฐมนตรี

แถลงการณ์
______

การควบคุมเครื่องอุปโภคบริโภคและของอื่น ๆ ขณะนี้มีกฎหมาย ควบคุมอยู่แล้ว คือ พระราชกฤษฎีกาควบคุมเครื่องอุปโภคบริโภคและของอื่น ๆ ในภาวะคับขัน พุทธศักราช 2487 พระรา ชกฤษฎีกานี้ออกตามความในพระราช บัญญัติมอบอำนาจให้รัฐบาลในภาวะคับขัน พุทธศักราช 2484 การที่ได้ตรา พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องอุปโภคบริโภคและของอื่น ๆ ในภาวะคับขัน พุทธศักราช 2488 ขึ้น ก็เพื่อเปลี่ยนวิธีการควบคุมโดยพระราชกฤษฎีกา เป็น วิธีการควบคุมโดยพระราชบัญญัติ ที่ได้ประกาศในพระราชบัญญัติควบคุมเครื่อง อุปโภคบริโภคและของอื่น ๆ ในภาวะคับขัน พุทธศักราช 2488 นี้ แต่ยังไม่ ยกเลิกพระราชกฤษฎีกาควบคุมเครื่องอุปโภคบริโภคและของอื่น ๆ ในภาวะ คับขัน พุทธศักราช 2487 นั้น ก็เพื่อให้การควบคุมต่อเนื่องกัน พระราชกฤษฎีกา ฉบับดังกล่าวจะยกเลิกในภายหลัง เมื่อได้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติควบคุม เครื่องอุปโภคบริโภคและของอื่น ๆ ในภาวะคับขัน พุทธศักราช 2488 ครบถ้วน เรียบร้อยแล้ว

ฉะนั้น จึงขอแจ้งให้ทราบว่า การกระทำใด ๆ อันเป็นการฝ่าฝืน พระราชกฤษฎีกาควบคุมเครื่องอุปโภคบริโภคและของอื่น ๆ ในภาวะคับขัน พุทธศักราช 2487 ยังคงเป็นความผิดตามพระราชกฤษฎีกาฉบับนั้นอยู่ กระทรวงพาณิชย์ 6 กุมภาพันธ์ 2488

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย