ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

พระพิฆเณศ

พิธีกรรม การบูชาต่อพระพิฆเณศวร์

การนับถือบูชาพระคเณศในประเทศไทยปรากฏเป็นรูปธรรมอย่างเด่นชัดในสมัยกรุงศรีอยุธยาและกรุงรัตนโกสินทร์ เพราะว่าพระราชพิธีที่สำคัญ ๆ ในราชสำนักจะมีพิธีกรรมที่เกี่ยวกับการบูชาพระคเณศประกอบเข้ามาในพิธีต่าง ๆ ดังกล่าวด้วย ซึ่งพิธีกรรม ที่มีการบูชาพระคเณศตามคติพราหมณ์ที่ปฏิบัติอยู่ในประเทศไทย

สมัยปัจจุบันก็คือ พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พระราชพิธีตรียัมปวาย-ตรีปวาย พระราชพิธีบรมราชาภิเษก และ พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาพระราชพิธีต่างๆเหล่านี้จะมีการอ่านโคลกสรรเสริญบูชาเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ โดยจะเริ่มด้วยคาถาบูชาพระคเณศก่อนเป็นอันดับแรกสุด ก่อนจะบูชาพระศิวะเสียอีกทั้งนี้เพื่อให้พระคเณศประทานพรให้สามารถทำพิธีนั้นให้สำเร็จ ได้ด้วยดี

พิธีกรรมที่มีการบวงสรวงบูชาพระคเณศในฐานะเทวรูปประธานในพิธีที่น่าสนใจได้แก่

  1. พระราชพิธีตรียัมปวาย-ตรีปวาย พระราชพิธีนี้เป็น
    พิธีต่อเนื่องกันคือ พิธีตรียัมปวาย กับ พิธีตรีปวายจะกระทำในเดือนยี่ของทุกปีเป็นเวลา ๑๕ วัน พิธีนี้จัดเป็นพิธีใหญ่ของศาสนาพราหมณ์ และ แต่เดิมจะมีการโล้ชิงช้าด้วย ในพิธีดังกล่าวจะมีการอ่านโคลกสรรเสริญ และถวายโภชนาหารแด่เทพพระเจ้า ณ เทวสถานทั้ง ๓ หลัง คือ สถานพระอิศวร สถานพระคเณศ และ สถานพระนารายณ์ เรียงกันไปตามลำดับ มีการอัญเชิญเทวรูปพระอิศวร พระอุมา พระมหาวิฆเนศวร และ พระนารายณ์ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจิมแล้วอัญเชิญมาเข้าพิธีโดยรถยนต์หลวง
  2. พิธีจับเชิงพิธีนี้เป็นการขอขมาโทษต่อช้างสำคัญ
    ที่สำคัญที่จะได้เป็นใหญ่เป็นโตต่อไป พิธีนี้ต้องมีการผู้มัดช้างเพื่อฝึกสอนช้าง การฝึกบางครั้งต้องดุหรือลงโทษประกอบด้วย จึงต้องขอขมาเสียก่อน และเพื่อเป็นการกล่อมเกลานิสัยช้างป่าที่ดุร้ายให้เชื่องขึ้น พิธีจับช้างนี้ภายในปะรำพิธีตรงข้ามกับเบญจภาคจะจัดตั้งโต๊ะ หมู่บูชาพระมหาวิฆเนศวร์อันประกอบด้วยดอกไม้ ธูปเทียน ขันน้ำมนต์ (ขันสาคร) และ กำหญ้าคา ถัดไปทางซ้ายตั้งโต๊ะเชือกบาศก์ ชะนัก (ขอสับช้าง) และเชือกมะนิลาหุ้มด้วยผ้าขาว พิธีนี้จะมีการบูชาพระรัตนตรัย บูชาพระมหาวิฆเนศวร์โดยกราบตามวิธีรำพัดชากล่าวคำสรรเสริญพระมหาวิฆเนศวร์และขอพรตามแต่ปรารถนา เสร็จแล้วอัญเชิญพระมหาวิฆเนศวร์ลงสรงในขันน้ำมนต์ แล้วอัญเชิญกลับไปโต๊ะหมู่บูชา น้ำสรงในขันสาครนี้จะใช้ประพรมให้ผู้ฝึกช้างทุกคนถือเป็นสวัสดิพิพัฒน์มงคล
  3. พิธีน้อมเกล้าถวายและพระราชพิธีมีขึ้นระหว่างสมโภชในวันพระราชพิธีฯ
    จะมีการแห่ช้างสำคัญในกระบวนแห่ พราหมณ์จะอัญเชิญพระเทวกรรมเข้าในพิธีด้วย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินมายังโรงพิธี ทรงจุดธูปเทียนบูชาพระพุทธปฏิมาพระชัยหลังช้าง และจุดธูปเทียนบูชาพระเทวกรรม พร้อมกับทรงศีลในตอนท้ายพระราชพิธีนี้ พร้อมทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พราหมณ์ คู่สวดอ่านฉันท์ดุษฎีสังเวยกล่อมช้างเป็นอันเสร็จพระราชพิธี
  4. พิธีบวงสรวงพระคเณศก่อนการดำเนินการจัดสร้างพระเมรุมาศ
    การจัดสร้างพระเมรุมาศเพื่อใช้ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระมหากษัตริย์และ พระบรมวงศานุวงศ์องค์สำคัญ ๆ ณ บริเวณท้องสนามหลวง ก่อนที่จะดำเนินการจัดสร้างพระเมรุมาศจะต้องประกอบพิธีบวงสรวงพระพิฆเณศวร์เสียก่อน เพื่อความสวัสดีและการจัดสร้างจะได้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี แต่ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพจะไม่มีการอัญเชิญพระพิฆเณศวร์มาเข้าพิธี แสดงว่าพระพิฆเณศวร์จะเกี่ยวกับพิธีทางช่างเท่านั้น (พิธีศพไม่เกี่ยว)
  5. พิธีไหว้ครูทางนาฎกรรมและการช่าง
    ในทางนาฏกรรมนั้นบรมครูจะปรากฏรูปเคารพในลักษณะของหัวโขนซึ่งจะอัญเชิญมาประกอบวิธีไหว้ครูพร้อมกับเครื่องใช้ในการแสดงต่างๆ หัวโขนที่ใช้ประกอบการแสดงอันได้แก่ ศีรษะของเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ (เทพเจ้าสูงสุด) คือพระอินทร์ พระคเณศ พระปรคนธรรพ์ และ พระปัญจสีขร ซึ่งเป็นเทพเจ้าฝ่ายดุริยางค์ศิลป์ โดยเฉพาะศีรษะพระคเณศนั้นจะอัญเชิญไปประดิษฐานไว้โต๊ะหมู่บูชาที่จัดไว้โดยเฉพาะแยกจากศีรษะเทพองค์อื่นๆสำหรับการบูชาเป็นพิเศษ
        ส่วนศิลปะทางการช่างนั้น แม้จะไม่ได้นับถือพระคเณศเป็นเทพสำคัญโดยตรง เช่นเดียวกับพระวิษณุ แต่พระคเณศก็มีบทบาทไม่น้อยในพิธีไหว้ครูศิลปะการช่าง ตามคติดั้งเดิมที่ว่า ในการเล่าเรียนศิลปวิทยาการทั้งปวงต้องมีการสวดบูชาพระคเณศก่อน ซึ่งพระคเณศนั้นทางนาฏศิลป์ถือว่ามีอานุภาพศักดิ์สิทธิ์มาก ผู้ศึกษาทางการนี้จะเชื่อกันว่าครูแรง หากไม่เคารพบูชาหรือทำการใดๆอันไม่เหมาะสมเป็นการลบหลู่ก็มักจะประสบภัยพิบัติ
  6. การไหว้ครูของนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร
    วิทยาลัยช่างศิลป์ นาฏศิลป์สถาบันต่างๆเหล่านี้มีรูปของพระคเณศเป็นตราสัญลักษณ์ ของสถาบันเมื่อมีการไหว้ครู ก็จะต้องไหว้บรมครูทางงานศิลปะคือพระคเณศเสียก่อนโดยจะมีการประกอบพิธีตามรายละเอียดที่กล่าวไว้แล้วในข้างต้น
  7. การบูชาพระคเณศในพิธีคเณศจตุรถี
    พิธีคเณศจตุรถีหรือพิธีอุทิศต่อพระคเณศนี้เป็นพิธีที่ชาวฮินดูในประเทศอินเดียกระทำกันในวันขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๑๐ ดังได้กล่าวรายละเอียดไว้แล้ว
  8. การบูชากราบไหว้พระคเณศของคนธรรมดาทั่วๆไป
    การบูชาพระคเณศจากคติความเชื่อของพ่อค้าวาณิชในสมัยโบราณ โดยเฉพาะพ่อค้าชาวอินเดีย จะกราบไหว้บูชาพระคเณศในแง่ของเทพผู้อำนวยความสำเร็จทางการค้าและความร่ำรวย จวบจนกระทั่งปัจจุบันคติความเชื่อดังกล่าวกลับมาได้รับความนิยมกันอีก ดังจะเห็นได้จากบรรดาร้านค้าต่างๆ จะมีหิ้งบูชาพระคเณศเป็นการบูชาพระคเณศเพื่ออำนวยความสำเร็จและความร่ำรวยทางการค้าให้แก่ผู้บูชาโดยจะบูชาทุกวัน ด้วยผลไม้บ้าง ขนมหวานบ้าง อ้อยควั่น ดอกไม้สีแดงสดใส น้ำนมเปรี้ยว น้ำสะอาด ฯลฯ

 

การบูชาในโอกาสต่างๆ

ในพิธีคเณศจตุรถี จะต้องใช้ใบไม้และดอกไม้ต่างๆถึง 21 ชนิดนำมาบูชาเรียงรายตามลำดับไปทั้ง 21 วัน ตลอดเทศกาลพร้อมทั้งกล่าวคำบูชาไปด้วย (โดยไม่ซ้ำกัน) ดังต่อไปนี้

  1. ใช้ใบมาจีบัตร หรือ ใบมาจี ซึ่งมีชื่อทางพฤกษาศาสตร์ว่า Imprerata Cylindrica ตรงกับต้นหญ้าคาของไทย พร้อมกับคำบูชาว่า "สุขุมาย นมะ มาจีปตรํ ปูชยามิ "
  2. บูชาด้วยใบพฤหตี ชื่อทางพฤกษาศาสตร์ว่า Carissa Carandas ตรงกับชื่อภาษาไทยว่า หนามแดง มะนาวไม่รู้โห่ หนามขี้แฮด หนามพรหม อยู่ในประเภทของมะเขือพวงหรือมะแว้ง มีสรรพคุณแก้ไอ บรรเทาเจ็บคอและแก้โรคเบาหวาน และมีคำกล่าวบูชาว่า " คณาธิปาย นมะ พฤหตีปตรํ ปูชยามิ"
  3. บูชาด้วยใบพิลว คือใบมะตูม มีคํากล่าวบูชาว่า "อุมาปุตราย นมะ พิลวตรํ ปูชยามิ "
  4. บูชาด้วใบทูรวา ชื่อทางพฤกษาศาสตร์ว่า Cynodon Daetylon คือหญ้าแพรก คำกล่าวบูชาว่า "คชานนาย นมะ ทูรวายุคมํ ปูชยามิ"
  5. บูชาด้วยใบทุตูระ ชื่อทางพฤกษาศาสตร์ว่า Stramonium คือต้นลำโพง หรือ ชุมเห็ดเทศ ใช้แก้พิษแมลงกัดต่อยได้ดี คำกล่าวบูชาว่า "หรสูนเว นมะ ทุตตูรปตรํ ปูชยามิ "
  6. บูชาด้วยใบพทรี คือใบพุทรา มีคำกล่าวบูชาว่า "ลบโพทราย นมะ พทรีปตรํ ปูชยามิ"
  7. บูชาด้วยใบอปามารค ชื่อทางพฤกษาศาสตร์ว่า Achyrantus Aspera คือต้นพันธุ์งู ใช้รักษาพิษจากสัตว์กัดต่อย โดยใช้ใบมาคั้นน้ำ มีคำกล่าวบูชาว่า " คุหาครูชาย นมะ อปามารคปตรํ ปูชยามิ "
  8. บูชาด้วยใบตุลสี คือใบกระเพรา มีคำกล่าวบูชาว่า "คชกรณาย นมะ ตุลสีปตรํ ปูชยามิ"
  9. บูชาด้วยใบมะม่วง มีคำกล่าวบูชาว่า "เอกทนตาย นมะ จูตปตรํ ปูชยามิ"
  10. บูชาด้วยใบกรวีระ ชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Thevetia Nerifolium คือต้นรำเพย หรือ ยี่โถฝรั่ง มีคำกล่าวบูชาว่า "วิกฏาย นมะ กรวีรปตรํ ปูชยามิ"
  11. บูชาด้วยใบวิษณุกรานตะ ชื่อทางพฤกษาศาสตร์ว่า Evolvulus Alisnoides มีคำกล่าวบูชาว่า "ภินนทนตาย นมะ วิษณุกรานตปตรํ ปูชยามิ "
  12. บูชาด้วยใบทาฑิมิ คือใบทับทิม มีคำกล่าวบูชาว่า "วฏเว นมะ ทาฑิมีปตรํ ปูชยามิ"
  13. บูชาด้วยใบเทวมารุ ชื่อทางพฤกษาศาสตร์ว่า Cedrus Deodora ใบเล็กกลมมีกลิ่นหอมป้องกันยุงและแมลงได้ดี มีคำกล่าวบูชาว่า "สรเวศวราย นมะ เทวทารุปตรํ ปูชยามิ"
  14. บูชาด้วยใบมรุวก หรือ มทนา ชื่อทางพฤกษาศาสตร์ว่า Origanum Vulgra กล่าวคำบูชาว่า "ผาล จนทราย นมะ มรุวกปตรํ ปูชยามิ"
  15. บูชาด้วยใบสินธุวาร คือใบคนทีเขมา มีคำกล่าวบูชาว่า "เหรมทาย นมะ สินธุวารปตรํ ปูชยามิ"
  16. บูชาด้วยใบชาชี คือใบจันทร์เทศ มีคำกล่าวบูชาว่า "ศุรุกรุณาย นมะ ชาชีปตรํ ปูชยามิ"
  17. บูชาด้วยใบคันฑาลิ มีดอกสีขาว มีคำกล่าวบูชาว่า "สุราครชาย นมะ คณฑาลิปตรํ ปูชยามิ"
  18. บูชาด้วยใบสมี มีคำกล่าวบูชาว่า "อภิวกตราย นมะ สมีปตรํ ปูชยามิ"
  19. บูชาด้วยใบอัศวัตถ หรือ อัสสัตถ คือไม้โพ มีคำกล่าวบูชาว่า "วินายกาย นมะ อศวตปตรํ ปูชยามิ"
  20. บูชาด้วยใบอรชุน ตรงกับไม้ไทยว่า ต้นสลักหลวง ต้นสลักป่า ต้นยอป่า มีคำกล่าวบูชาว่า "สุรเสวิตาย นมะ อรชุนปตรํ ปูชยามิ"
  21. บูชาด้วยใบอรก คือต้นรักของไทยเรา มีคำกล่าวบูชาว่า
    "กปิลาย นมะ อรปปตรํ ปูชยามิ"

คาถาบูชาพระพิฆเณศวร์
โองการพินธุ นาถังอุปปันนัง พรหมมะโน จะอินโธ พิฆฆะเนศโต มหาเทโว อะหังวันทา มิสัพพะทา สิทธิกิจจัง สิทธิกัมมัง สิทธิการิยัง ประสิทธิเม
(ใช้สวดเพื่อขอพรหรือปัดเป่าเหตุร้าย)

หน้าถัดไป >>>>>

» ตำนานพระพิฆเณศวร์

» ความหมายของส่วนต่างๆ ของพระพิฆเณศวร์

» การอวตารและพระนามของพระพิฆเณศวร์

» ลักษณะทางประติมากรรมของพระพิฆเณศวร์

» การอธิษฐาน

» การขอพรต่อพระพิฆเณศวร์

» พิธีกรรม การบูชาต่อพระพิฆเณศวร์

» ฤทธิ์แห่งปัญญาของพระพิฆเณศ

» การอภิเษกสมรสของพระพิฆเณศวร์

» บทบาทความสำคัญของพระพิฆเณศ

» พระพิฆเนศ 32 ปางที่นับถือมากที่สุดในลัทธิตันตะอินเดียใต้

» พระพิฆเณศและการสักการะเป็นเทพประจำวันเกิด

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย