ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

พระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์

ความศรัทธาต่อพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ในปัจจุบัน

 

ในพระธรรมนูญว่าด้วยการเผยแสดงของพระเจ้า สภาสังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 นิยามว่า “ดังนั้น เศรษฐศาสตร์คริสตศาสนา (Christian Economy) จึงจะไม่ผ่านพ้นไป เพราะเป็นพันธสัญญาใหม่ครั้งสุดท้าย และไม่ควรคาดหมายว่าจะมีการประจักษ์สาธารณะก่อนการแสดงพระองค์อย่างรุ่งเรืองของพระเยซูคริสตเจ้า พระเจ้าของเรา” (ข้อ 4) คริสตชนเชื่อว่าการเผยแสดงของพระเจ้าปิดฉากลงพร้อมกับมรณกรรมของอัครสาวกคนสุดท้าย ความศรัทธาต่อพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์อย่างที่เข้าใจกันในวันนี้ เกิดจาก “การเผยแสดงส่วนตัว” ที่ปาเรย์ เลอ โมนีอัล ซึ่งพระศาสนจักรยอมรับและรับรอง อีกนัยหนึ่งคือ รูปแบบที่เป็นรูปธรรมในปัจจุบันของความศรัทธานี้ไม่ใช่สิ่งที่ดำรงอยู่โดยตลอด เราจะประนีประนอมทั้งสองแง่คิดนี้ได้อย่างไร หนึ่งในรูปแบบที่เป็นรูปธรรมเหล่านี้ คือการแสดงความเคารพทางพิธีกรรม ซึ่งเน้นที่การชดเชยบาป …

 

รูปแบบเหล่านี้อาจกลายเป็นส่วนหนึ่งของความศรัทธา ณ จุดใดจุดหนึ่งในประวัติศาสตร์ของพระศาสนจักร และเกิดจากคำสั่งสอนของพระศาสนจักร และความเชื่อที่พระศาสนจักรยืนยันมาโดยตลอด แต่จะเกิดขึ้นในเวลาใดของประวัติศาสตร์ย่อมขึ้นอยู่กับความจำเป็นในยุคนั้น เราไม่จำเป็นต้องตีความสมณสาสน์ Haurietis aquas ของพระสันตะปาปา ปีโอ ที่ 12 เพราะสาสน์นี้ระบุอย่างเปิดเผยว่า “ความก้าวหน้าของความศรัทธาต่อพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์เกิดขึ้นเพราะความสอดคล้องกับแก่นแท้ของคริสตศาสนา ซึ่งเป็นศาสนาแห่งความรัก ดังนั้นเราจึงไม่อาจระบุได้ว่าความศรัทธานี้เริ่มขึ้นเพราะพระเจ้าทรงเผยแสดงเป็นการส่วนตัว หรือว่ามันเกิดขึ้นอย่างทันทีทันใดในพระศาสนจักร หากแต่ว่ามันเบ่งบานอย่างไม่มีใครบังคับจากความเชื่อที่มีชีวิต และร้อนรน … สิ่งที่เผยแสดงต่อนักบุญมาร์กาเร็ต มารีย์ ไม่ได้นำเสนอหลักการใหม่ ๆ ของคำสั่งสอนแบบคาทอลิก แต่ความสำคัญของการเผยแสดงดังกล่าวอยู่ที่ว่าพระคริสตเจ้า พระเจ้าของเรา ทรงแสดงให้เห็นพระหฤทัยอันศักดิ์สิทธิ์ยิ่งของพระองค์ และทรงปรารถนาจะเตือน ด้วยวิธีการพิเศษอันโดดเด่น ให้มนุษยชาติกลับมาเพ่งพิศ และสักการะธรรมล้ำลึกแห่งความรักของพระผู้ทรงเมตตายิ่ง”

 

แม้จะมีคำแถลงอย่างชัดแจ้งเช่นนี้ ผู้ต่อต้านความศรัทธานี้ก็ยังถามว่า การเผยแสดงส่วนตัวสามารถเป็นพันธกิจสำหรับพระศาสนจักรได้หรือไม่? ได้มีการแบ่งแยกไว้ชัดเจนแล้วว่า “การเผยแสดงส่วนตัวไม่สามารถกลายเป็นการสื่อสารเพื่อบอกความจริง เช่น บอกความจริงใหม่ ๆ แต่อาจเป็นคำสั่ง คำแนะนำให้เลือกวิธีดำเนินการอย่างหนึ่งในจำนวนวิธีการหลายอย่างที่มีให้เลือก ซึ่งเป็นสิ่งที่เร่งด่วนที่สุด แต่ต้องสอดคล้องกับการเผยแสดงสาธารณะที่มีอยู่ในปัจจุบันเสมอ” ซึ่งอาจขยายความต่อไปได้ว่า ถ้าเราศึกษาสถานการณ์ที่มีลักษณะเฉพาะตัวของพระศาสนจักร (เช่น สถานการณ์ในยุโรปในศตวรรษที่ 17) เราย่อมตระหนักว่า นั่นคือช่วงเวลาที่คนทั้งหลายกำลังถูกชักนำให้หลงทาง ครั้งแรกโดยผู้นิยมลัทธิยานเซน และต่อมาโดยพวกนักปรัชญา ดังนั้น คริสตชนจึงตกอยู่ในคลื่นความเย็นชาฝ่ายจิต การเผยแสดงที่ปาเรย์ ประกาศอย่างชัดเจน และทรงพลังว่า ให้ดำเนินการเช่นนี้ ที่นี่ และบัดนี้ ซึ่งสอดคล้องกับความรู้เกี่ยวกับความเชื่อ การเผยแสดงส่วนตัวนี้ ถูกตีความอย่างระมัดระวังยิ่ง (มิใช่อย่างตาบอด) ตามหลักการทางเทววิทยาแห่งฌาน และความสัมพันธ์กับสถานการณ์ทางประวัติศาสตร์  

หมายเหตุ: ความระมัดระวังอย่างหนึ่งที่เห็นได้ คือ หนังสือที่เขียนโดยคุณพ่อฌอง ครัวเซท์ ของคณะเยสุอิต ตามคำขอร้องของผู้ผลิตหนังสือในเมืองลียงส์ โดยใช้ข้อมูลจากต้นฉบับหนังสือชื่อ “ความศรัทธาต่อพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์” ที่เขียนไว้โดยซิสเตอร์ ญานน์ เอ็ม. โจลี ในปี ค.ศ. 1689 ได้ถูกนำมาใส่ไว้ในดัชนี และคงอยู่เช่นนั้นจนถึงปี ค.ศ. 1887 (De Guibert  หน้า 396)

 

เมื่อมองย้อนกลับไป เราอาจคิดว่านักประพันธ์หนังสือฝ่ายจิตบางคนในศตวรรษที่ 18 และ 19 ได้ให้ความสำคัญกับลัทธิยานเซนมากเกินไป สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะพวกนิยมลัทธิยานเซนโจมตีหนักขึ้น หลังจากได้มีการสถาปนาวันฉลองพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ “ในปี ค.ศ. 1771 ทนายความชื่อคามิลโล บลอสลี ได้ตีพิมพ์ดุษฏีนิพนธ์อันเป็นคำเตือนเกี่ยวกับการฉลองพระหฤทัยของพระเยซูเจ้า ซึ่งแสดงความเป็นปฏิปักษ์อย่างชัดเจนต่อการฉลอง” (de Guibert หน้า 401) ราห์เนอร์ เน้นจุดนี้ว่า “ลัทธิยานเซน และความคิดของลัทธินี้ เป็นสิ่งที่ไม่ยั่งยืน…สารนี้ (ที่บรรจุอยู่ในความศรัทธา) ต้องมีจุดประสงค์สำหรับสถานการณ์ในยุคใหม่โดยทั่วไป (ซึ่งปรากฏให้เห็นเป็นครั้งแรกด้วยการปฏิวัติของฝรั่งเศส) นี่คือยุคที่โลกถูกเปลี่ยนให้เป็นโลกฆราวาส (และยังเป็นเช่นนั้นมากขึ้น) (เป็นโลกของรัฐ โลกทางสังคม การค้า วิทยาศาสตร์ ศิลปะ และอื่น ๆ) สารแห่งปาเรย์กลายเป็นสิ่งที่เราเข้าใจได้ในจุดนี้ (รวมไปจนถึงรูปแบบของกิจศรัทธาที่เป็นรูปธรรม เช่น การทำชั่วโมงศักดิ์สิทธิ์) สารนี้บ่งชี้ถึงชีวิตภายใน ความเชื่อในความรักของพระเจ้า และการชดเชยบาป” (การสืบสวนทางเทววิทยา หน้า 339-340)

» ความศรัทธาต่อพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ในอดีต และปัจจุบัน

» รากฐานความเชื่อของความศรัทธาต่อพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซูเจ้า

» คำขอร้องของพระสันตะปาปา

» ความศรัทธานี้ และความศรัทธาอื่นๆ

» พระหฤทัยรักของพระเยซูคริสตเจ้า

» พระบุคคลของพระเยซูคริสตเจ้า

» สัญลักษณ์ หรือเครื่องหมาย

» ความศรัทธาต่อพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ในปัจจุบัน

» การชดเชยบาปต่อพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์

» การปลอบโยนพระเยซูเจ้า

» คำสัญญา 9 ข้อ ของพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์

» ความเหมาะสมของความศรัทธาในสหัสวรรษที่ 3

» บทเร้าวิงวอนพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ และบทเร้าวิงวอนอื่นๆ

» บทเร้าวิงวอนพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์

» คำอธิบายคำวิงวอนในบทเร้าวิงวอนพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์

» ภาคผนวก

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย