สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

สังคมวิทยา

<<< สารบัญ >>>

พฤติกรรมร่วม (Collective Behavior)

1) ความหมาย

พฤติกรรมร่วม คือ พฤติกรรมของกลุ่ม (Groups) “ซึ่งมีลักษณะทั่ว ๆ ไป คือ ไม่มีแบบแห่งพฤติกรรมสำหรับกลุ่ม เมื่อมีปัญหายุ่งยากเกิดขึ้น ไม่รู้จะตัดสินใจอย่างไร และมีการเปลี่ยนแปลงในทัศนคติและคุณธรรมได้”

พฤติกรรมร่วมเกิดจากการแพร่ระบาดทางอารมณ์ (Emotional contagion) ในสังคม ซึ่งก่อให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทางจิตใจ แสดงพฤติกรรมออกเพื่อระบายความกดดันภายในออกมา พฤติกรรมที่แสดงออกมานี้เป็นพฤติกรรมที่ยังไม่ลงตัวเป็นแบบแผน หรือสังคมขณะนั้น มีโครงสร้างที่ไม่แน่นอน (Unstructured behavior)

การแพร่ระบาดทางอารมณ์ หมายถึง ความรู้สึกตื่นเต้นและการกระตุ้นซึ่งกันและกันมีระดับความรุนแรงจนมีอิทธิพลแพร่ระบาดออกไปสู่วงกว้าง

บุคคลที่ติดต่อสังสรรค์กันในกลุ่มจะรู้สึกอะไรบางอย่างร่วมกัน ซึ่งทำให้สภาพจิตตื่นเต้นเหมือน ๆ กัน บุคคลจะรู้สึกประทับใจเมื่อเห็นอาการเคลื่อนไหวแสดงความรู้สึกของบุคคลอื่น ความรู้สึกดังกล่าวนี้ อาจแสดงออกทางคำพูดโดยเฉพาะการแสดงท่าทีและท่าทางประกอบ เช่น การทุบโต๊ะ การชูมือ ยกมือพร้อม ๆ กับน้ำเสียงที่เน้นจังหวะสูงต่ำ ความเร็วในการพูด นัยน์ตาที่แสดงความรู้สึกโกรธ ชิงชังเคียดแค้น เศร้า รวมทั้งความเร็วและจังหวะในการหายใจ การเปลี่ยนสีหน้า ความเข้มข้น และเหงื่อตามร่างกาย ทุกสิ่งดังกล่าวนี้ เมื่อบุคคลแสดงออกทำให้มีอิทธิพลต่อกันและกัน ในขณะที่ตัวเขาแสดงพฤติกรรมออกมา ผู้อื่นเห็นเขาและตัวของเขาเองมองเห็นผู้อื่น ซึ่งก็หมายความว่า ทุกคนมีส่วนช่วยในการแสดงออกในการตอบสนองและสนับสนุนซึ่งกันและกัน ทำให้พร้อมที่จะกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งลงไปพร้อมกัน

2) องค์ประกอบของการแพร่ระบาดทางอารมณ์ (Elements of Emotional Contagion) มีอยู่ 3 ลักษณะดังนี้

1. จิตอยู่ในสภาพที่ถูกชัดจูงได้ง่าย (Heightened Suggestibility) เนื่องจากในขณะนี้ สภาพของโครงสร้างไม่แน่นอน บุคคลจะมองตัวอย่างจากผู้อื่น และเนื่องจากอารมณ์ของเขานั้นเครียดอยู่แล้ว เขาก็พร้อมที่จะทำตามคนอื่นที่ทำเป็นตัวอย่างทันที โดยไม่คำนึงว่าการกระทำนั้นเป็นผลดีหรือผลร้ายตามา เช่น กรณีไฟไหม้ที่โรงแรม อิมพีเรียล ในกรุงเทพมหานคร ผู้พักในโรงแรมกระโดดจากตึกที่สูงมากได้รับบาดเจ็บหลายคนและถึงแก่ชีวิตก็มี

2. จิตอยู่ในสภาพถูกกระตุ้นได้ง่าย (Heightened Stimulation) ปัจเจกบุคคลแต่ละคนจะมีบุคลิกภาพเฉพาะของตน หลายคนมีจิตใจที่เข้มแข็ง เชื่อมั่นในตนเอง ในขณะที่บุคคลอีกจำนวนไม่น้อยที่พร้อมจะถูกกระตุ้นให้เปลี่ยนไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่งอย่างง่ายดาย บุคคลประเภทหลังนี้เอง เมื่อตกอยู่ในสภาพแวดล้อมของกลุ่มที่มีอาการตื่นเต้นและมีการกระทำที่รุนแรงมากระทบใจ ท่ามกลางผู้คนที่อยู่กันอย่างใกล้ชิด (ซึ่งทำให้มองเห็นอากัปกิริยาที่แสดงออกมา เช่น ลมหายใจ กล้ามเนื้อที่ตึงเครียด เหงื่อออก) การกระตุ้นจะเป็นไปในรูป การติดต่อตอบสนองเป็นวงกลม ดังนี้



ก กระตุ้น ข ทำให้เกิดความกลัวใน ข ความกลัวของ ข กระตุ้นให้ ค กลัว
และมีผลสะท้อนกลับไปที่ ก ให้กลัวยิ่งขึ้นอีก

3. มีประสบการณ์เดียวกัน (Homogeneity of Experience) การแพร่ระบาดทางอารมณ์จะเกิดเฉพาะในหมู่บุคคลซึ่งมีความโน้มเอียงและมีเบี้ยงหลังความเป็นมาเหมือนกัน ในกรณีนักเรียนบางกลุ่มยกพวกตีกัน หรือคนงานก่อความวุ่นวาย เป็นต้น ทั้งสองกรณีนี้ ขณะที่นักเรียนวิวาทกัน คนงานหรืออีกหลายกลุ่มรับรู้แต่ไม่ถึงขั้นดึงดูดให้เข้าไปร่วมในเหตุการณ์นั้นด้วย

3) ความสำคัญของการแพร่ระบาดทางอารมณ์ (Significance of Emotional Contagion)

การแพร่ระบาดทางอารมณ์ก่อให้เกิดพฤติกรรมร่วมในรูปแบบต่าง ๆ กัน ซึ่งพอจะสรุปความสำคัญได้ดังนี้ คือ

1. การแพร่ระบาดทางอารมณ์ทำให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทางจิต ทั้งนี้ มิใช่เป็นเพราะมาจากการมีกฎเกณฑ์หรือโครงสร้างของกลุ่มที่แน่นอน แต่เป็นเพราะว่า ในขณะที่เกิดเหตุการณ์นั้น ทุกคนมีพื้นฐานทางอารมณ์อย่างเดียวกัน ซึ่งทุกคนรู้สึกต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและทุกคนมีความเข้าใจร่วมกัน ทำให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่เป็นช่วงเวลาสั้น ๆ ไม่ยาวนานนัก และช่วงเวลาดังกล่าวนี้เองที่ก่อให้เกิดความเข้มแข็งเด็ดเดี่ยวและกำลังใจในการทำงาน ตัวอย่างเช่น การช่วยกันค้นหาเด็กหลงหลังเหตุการณ์วิกฤตบางอย่าง

2. ในกลุ่มคนซึ่งดำรงอยู่ได้เพราะการแพร่ระบาดทางอารมณ์ วินัยมักต่ำ มีการส่งเสริมให้ระบายความกดดันภายใน และอนุญาตให้แสดงพฤติกรรมนอกแบบแผน ตัวอย่างเช่น การชุมนุมของพวกคลั่งศาสนา การแตกตื่นในกลุ่มฝูงชนบ้าคลั่ง

3. ขอบเขตของการแพร่ระบาดทางอารมณ์ขึ้นอยู่กับความสามารถในการติดต่อถึงกัน การติดต่อถึงกันทำได้โดยผ่านสื่อมวลชนต่าง ๆ เช่น วิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ ซึ่งทำให้คนส่วนรวมเกิดความรู้สึกตื่นเต้น บางครั้งอาจมีลักษณะความกระวนกระวาย กระสับกระส่าย โดยเฉพาะเกี่ยวกับปัญหาการเมือง ปัญหาเกี่ยวกับสงคราม



4) การแสดงออกของพฤติกรรมร่วม

พฤติกรรมร่วมของกลุ่มชน แสดงออกมาในรูปลักษณะต่าง ๆ ดังนี้ ฝูงชน (Crowds) ฝูงชนที่วุ่นวายหรือบ้าคลั่ง (Mobs) การแตกตื่น (Panics) ความนิยมชั่วครู่ (Fads) และความคลั่งไคล้ (Crazes) ขบวนการทางสังคม (Social movements) การปฏิวัติ (Revolutions) การปฏิรูป (Reforms)

1. ฝูงชน (Crowds)

เป็นการรวมกันของคนจำนวนมาก ๆ แต่มีการควบคุมทางสังคม เป็นการเปิดโอกาสให้มีการระบายอารมณ์และผ่อนคลายความตึงเครียด (ซึ่งโดยปกติแล้วจะไม่แสดงออก) ซึ่งก่อให้เกิดความแข็งแกร่งของกลุ่ม ฝูงชนบางกลุ่มอาจมีการเตรียมการไว้ล่วงหน้า และบางกลุ่มก็เกิดชั่วครู่แล้วสลายตัวไปในระยะเวลา สั้น ๆ เช่น การมุงดูรถตกคูข้างถนน การมุงดูการเล่นปาหี่ หรือดูเหตุการณ์บางอย่างที่เกิดเฉพาะหน้า เช่น อุบัติเหตุ เป็นต้น

พฤติกรรมฝูงชนส่วนใหญ่มีการตระเตรียมไว้ล่วงหน้าและผลของมันนั้นทำให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน (Integrative crowd behavior) ในลักษณะ ดังต่อไปนี้ คือ

1.1 กลุ่มที่มีการแสดงออกเต็มที่ (Expressive crowds) เช่น งานเลี้ยง เต้นรำ และการแข่งขันกีฬา และพฤติกรรมด้านอื่น ๆ ซึ่งเปิดโอกาสให้บุคคลมี การระบายอารมณ์และผ่อนคลายความตึงเครียด บุคคลจะแสดงอารมณ์ ความรู้สึก ออกมาร่วมกัน เช่น การเชียร์กีฬา ซึ่งแสดงความรู้สึกออกมาอย่างเต็มที่ โดยที่สภาวะปกติแล้วบุคคลจะไม่กล้าทำเช่นนั้น

1.2 ผู้ฟังหรือผู้ชม (Audiences) การแพร่ระบาดทางอารมณ์อาจเกิดขึ้นได้ เช่น การฟังคำบรรยาย หรือการฟังดนตรีบรรเลง ผู้ฟังจะเกิดอารมณ์ร่วมไปด้วย และบางครั้งผู้แสดงก็อาศัยหลักการแพร่ระบาดทางอารมณ์ที่สร้างบรรยากาศขึ้นก่อน โดยจ้างให้หลาย ๆ คนอยู่ตามจุดต่าง ๆ ช่วยกันปรบมือ โห่ร้อง แสดงความชื่นชมพอใจให้คนอื่นเกิดพฤติกรรมร่วมไปด้วย

1.3 พิธีการทางศาสนา ซึ่งมีอยู่ทุกศาสนา ในอันที่จะปลุกให้เกิดอารมณ์ความสำรวมและเลื่อมใส สร้างความศรัทธาอย่างลึกซึ้ง

1.4 การชุมนุมมวลชนและการเรียกประชุม เช่น การชุมนุมฟังการอภิปรายหาเสียงเลือกตั้งหรือการฟังประชุมทางการเมือง

2. ฝูงชนบ้าคลั่ง (Mobs)

ฝูงชนบ้าคลั่ง คือ ฝูงชนที่มุ่งหน้ากระทำการรุนแรงบางอย่าง โดยที่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและจิตใจมุ่งมั่นที่จะก่อการร้าย การกระทำของฝูงชนบ้าคลั่งจึงมีจุดหมายทางสังคม เป้าหมายในทางสังคมจะถูกกำหนดขึ้นมาอย่างชัดแจ้ง เช่น กรณีกลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มชนชั้น จึงมีลักษณะความเป็นอยู่ที่ แตกต่างกัน พฤติกรรมที่เกิดขึ้นมีความรุนแรง มักมุ่งทำลายสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือบุคคล หรือกลุ่มบุคคล เช่น การรุมประชาทัณฑ์ มุ่งทำลายสถานที่ แขวนคอ หรือกลุ้มรุมทำร้ายบุคคล อารมณ์จะถูกครอบงำด้วยความรู้สึกเคียดแค้น โกรธ หรือไม่พอใจอย่างรุนแรงต่อบุคคล หรือต่อสถานการณ์บางอย่างจนไม่สามารถยับยั้งไว้ได้ และจะต้องกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งออกไป เพื่อระบายอารมณ์รุนแรงของตน ในบางกรณีที่ไม่มีบุคคลหรือสิ่งใดเป็นเป้าหมายที่แน่นอน ฝูงชนมักจะมุ่งสู่เป้าหมายอันใดอันหนึ่งที่ใกล้ตัว หรือในบางกรณีด้วยอารมณ์ที่รุนแรงแทนที่จะมุ่งหาสาเหตุที่แท้จริง เช่น ความกดดันทางการเมือง หรือทางเศรษฐกิจ เป้าหมายที่ถูกมุ่งตรงมาจึงมีลักษณะเป็น “แพะรับบาป” (Scrape goading) และบุคคลที่เป็นตัวนำหรือหัวหน้าในสถานการณ์เช่นนี้ มักจะยุยงในลักษณะที่ก่อให้เกิดการทำลายตามมา ซึ่งหัวหน้าดังกล่าวในสภาวะปกติแล้วแทบจะไม่มีบทบาทใด ๆ เลย

ตัวการสองอย่างซึ่งมีบทบาทสำคัญยิ่งในการกระทำของฝูงชนบ้าคลั่ง คือ หัวหน้าดังกล่าวกับข่าวลือ

3. การจลาจล (Riots)

หมายถึง พฤติกรรมร้ายแรงทั่ว ๆ ไป เกิดขึ้นตามที่ต่าง ๆ และมักจะมีฝูงชนมากมายหลายกลุ่มเข้าไปเกี่ยวข้อง การจลาจรมักจะแสดงถึงความไม่พอใจทั่ว ๆ ไป และเป็นการท้าทายมากกว่าจะแสดงวัตถุประสงค์แน่นอน เป็นต้นว่า การจลาจลในคุกที่เกิดจากนักโทษเพื่อให้ทางเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของตน ก็มักจะเต็มไปด้วยการกระทำร้ายแรงต่าง ๆ โดยไม่มีจุดหมายแน่นอน

4. การแตกตื่น (Panic)

เกิดขึ้นเมื่อคนรู้สึกมีอันตรายต่อการดำรงชีวิตอยู่ ต่อไป บุคคลที่แตกตื่นจะหมดความรู้สึกควบคุมตนเอง จะทำอะไรด้วยความตื่นเต้นหรือไม่รู้จะทำอะไร แสดงพฤติกรรมเปะปะหรือไม่ได้ช่วยอะไรเลย หรือหมดความสามารถที่จะกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งลงไป เช่น เกิดไฟไหม้ หลายคนวิ่งไปมา หลายคนมือเท้าอ่อนลุกไม่ได้ หลายคนหยิบฉวยของไร้ค่า เช่น ผู้ถูเรือน กระทะ และหลายคนแบกสิ่งของที่ไม่ควรขน เป็นต้นว่า ตุ่มน้ำ กระป๋องเก่า ๆ

ความแตกตื่นมีความสัมพันธ์กับการแพร่ระบาดทางอารมณ์ เนื่องด้วยเหตุผลสองประการ คือ การเห็นสภาพผู้อื่นแตกตื่นจะยิ่งเพิ่มความรู้สึกถึงอันตรายที่จะมาถึงตนเอง และในช่วงจังหวะนี้ ข่าวลือจะระบาดกระจายอย่างรวดเร็ว เป็นต้นว่า น้ำมันขึ้นราคา ข่าวลือว่าสินค้าทุกชนิดจะขึ้นราคา นาง ก ตื่นต่อข่าวลือนี้ จึงซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคทุกชนิดกักตุนไว้ นาง ข เห็น นาง ก ตื่นและกักตุนสินค้า ก็รีบกว้านซื้อกักตุน เพิ่มทวีขึ้น ในปี พ.ศ. 2519 แม่บ้านจำนวนมากในกรุงเทพมหานครที่แตกตื่นเข้าแถวซื้อข้าวสารกักตุนไว้เป็นกระสอบ ๆ เพราะกลัวข้าวสารขาดตลาด (ซึ่งการกระทำดังกล่าวกลับเป็นผลให้ข้าวสารขาดตลาดจริง ๆ แต่ไปอยู่ในครอบครองของคนบางกลุ่มที่เกิดการแตกตื่น) ในประการที่สอง การแพร่ระบาดทางอารมณ์จะทำให้ทุกคนทำอะไร บางอย่างเหมือนกันและก่อให้เกิดผลเสียหายร้ายแรง เช่น ในเรือขณะถูกลมพายุแรงหรือในโรงมหรสพที่ไฟกำลังไหม้ ซึ่งในสถานการณ์เช่นนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่แต่ละคนต้อง แยกออกจากกันและประสานกัน เมื่อเกิดการแตกตื่น พฤติกรรมที่เกิดขึ้น ก็คือ ทุกคนจะวิ่งไปที่จุดเดียวกัน (กราบเรือหรือทางออก) โดยอัตโนมัติ ทำให้เป็นผลร้ายตามมา ถึงแก่ชีวิต ในบางกรณีที่มีผู้ตัดสินใจผิดพลาดก็มักจะมีบุคคลอื่นทำตามทันที เช่น วิ่งไปประตูเล็กซึ่งห่างไกลออกไป แทนที่จะออกทางประตูใหญ่ซึ่งอยู่ใกล้ตัว

การป้องกันการแตกตื่นอาจทำได้โดยใช้ความรู้ถึงสถานการณ์ ซึ่งในทางปฏิบัติอาจจะทำค่อนข้างลำบาก แต่ก็เป็นวิธีที่ใช้ได้ผล เช่น ความเข้าใจในปรากฏการณ์ธรรมชาติของการเกิดจันทรคราสหรือสุริยคราส

5. ความนิยมชั่วครู่ (Fads) และความคลั่งไคล้ (Crazes)

6. ข่าวลือ (Rumor)

ข่าวลือเป็นการส่งข่าวคราวที่ไม่มีการยืนยันโดยทาง คำพูด ในสถานการณ์ที่ตนรู้สึกกังวลใจหรือรู้สึกถูกกดดัน ข่าวลือจะเกิดขึ้นเมื่อคนในสังคมอยากรู้เรื่องต่าง ๆ แต่ไม่มีสื่อการติดต่อที่เชื่อถือได้ ข่าวลือมักจะเริ่มต้นจากรายงานที่ไม่แน่นอนหรือบิดเบือนหรือมักจะ กระจายอย่างรวดเร็ว รวมทั้งบิดเบือนหรือรายงานไม่ตรงกับความจริงที่เกิดขึ้น ข่าวลือจะเกิดจากบุคคลหนึ่งไปยังอีกบุคคลหนึ่ง และในกรณีเช่นนี้ การบิดเบือนจะเป็นไปตาม “ลักษณะ” ของแต่ละบุคคล (จะเสริมความรู้สึกของตนเองเพิ่มพูนเข้าไปด้วย)

เหตุการณ์ทางสังคมในยามวิกฤติการณ์และภาวะคับขัน ข่าวสารซึ่งมีความสำคัญที่สุดจะถูกทำลายหรือเกิดความล่าช้าชะงักงันไป กรณีเช่นนี้ ข่าวลือจะเข้าแทนที่ข่าวคราวที่มาจากแหล่งที่แน่นอนกว่าทันที เช่น ในกรณีน้ำท่วมหรือชายแดนที่ห่างไกลและถูกข้าศึกโจมตี

7. ขบวนการทางสังคม (Social movement)

 เป็นพฤติกรรมร่วมอีกประเภทหนึ่งที่มีเป้าหมาย มุ่งเปลี่ยนแปลงระเบียบกฎเกณฑ์หรือแบบแผนทางสังคมเสียใหม่ เช่น การเคลื่อนไหวประท้วงหรือเรียกร้องให้แก้ปัญหาบางอย่าง ขบวนการทางสังคมเกิดขึ้นเนื่องจากสมาชิกในสังคมไม่พอใจแบบแผนชีวิตที่เป็นอยู่ จึงมารวมตัวกันอย่างหลวม ๆ คือ ยังไม่มีบรรทัดฐานควบคุมความสัมพันธ์อย่างชัดเจน แต่เมื่อขบวนการทางสังคมได้พัฒนาไปนานวัน ก็จะมีการจัดระเบียบที่แน่นอนยิ่งขึ้นตามลำดับ เช่น เริ่มมีการกำหนดบรรทัดฐาน มีการแบ่งหน้าที่ มีค่านิยมหรือความเชื่อร่วมกัน ตลอดจนมีผู้นำกลุ่มขึ้นมาอย่างเป็นแบบแผนแน่นอนขึ้น

ขบวนการทางสังคมมี 2 ประเภท คือ ขบวนการทางสังคมที่มีเป้าหมายเฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เช่น การเคลื่อนไหวของกรรมกรซึ่งมีเป้าหมายเฉพาะเกี่ยวกับการเรียกร้องให้แก้ไขปรับปรุงสภาพการทำงาน สวัสดิการ ค่าจ้าง การเคลื่อนไหวของนักศึกษาที่ต้องการประท้วงหรือเรียกร้องในกรณีใดกรณีหนึ่งเป็นครั้งคราวไป ขบวนการทางสังคมประเภทนี้มีลักษณะเป็นพฤติกรรมร่วมที่มีการจัดระเบียบเพียง เล็กน้อย มักเกิดขึ้นและสลายตัวไปในระยะเวลาสั้น ๆ

ขบวนการทางสังคมอีกประการหนึ่ง เป็นขบวนการที่มีเป้าหมายในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคมทั้งหมดหรือในหลาย ๆ ส่วน ไม่ใช่เฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่งเท่านั้น ได้แก่ ขบวนการปฏิรูปสังคมและขบวนการปฏิวัติ ทั้งสองแบบนี้เป็นขบวนการ ที่มีการจัดระเบียบที่ซับซ้อนกว่า เช่น มีผู้นำและสมาชิกที่แน่นอน มีอุดมการหรือค่านิยมร่วมกัน มีกฎเกณฑ์ควบคุมความประพฤติของกลุ่ม มีการแบ่งหน้าที่ค่อนข้างชัดเจน

ข้อแตกต่างระหว่างการปฏิรูปและขบวนการปฏิวัติ มีดังนี้ คือ ขบวนการปฏิรูปมุ่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโดยวิธีชักจูงให้คนหมู่มากคล้อยตาม โดยมีเป้าหมาย ที่แคบ มีขอบเขตแคบกว่าขบวนการปฏิวัติ ขบวนการปฏิรูปต้องการแก้ไขเปลี่ยนแปลงบางส่วนหรือหลายส่วนของโครงสร้างสังคม แต่ขบวนการปฏิวัติต้องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมด ขบวนการปฏิวัติต่อต้านระเบียบ กฎเกณฑ์ ค่านิยม ความเชื่อ หรือสถาบันต่าง ๆ ที่สำคัญของสังคมที่กำลังเป็นอยู่ แต่ขบวนการปฏิรูป ยังยอมรับสถาบันและค่านิยมหลักหลาย ๆ อย่างของสังคม ขบวนการปฏิวัติต้องการเปลี่ยนแปลงความคิด ความเชื่อ และวิถีชีวิตของคนในสังคมอย่างสิ้นเชิง หรืออาจเปลี่ยนแบบถอนรากถอนโคนจากแบบเดิมเป็นแบบใหม่ ดังนั้น ขบวนการปฏิวัติจึงได้รับ การต่อต้านจากกลุ่มต่าง ๆ มากกว่าขบวนการปฏิรูป ขบวนการปฏิวัติจึงมักถูกผลักดัน ให้ต้อง “ปฏิบัติการใต้ดิน” แทนที่จะออกมาดำเนินการอย่างเปิดเผย ในที่สุดแล้ว ขบวนการปฏิวัติมักใช้วิธีการรุนแรงเข้าทำการเปลี่ยนแปลง บางครั้งขบวนการปฏิรูป อาจกลายเป็นขบวนการปฏิวัติก็ได้ ถ้าหากขบวนการปฏิรูปนั้นถูกต่อต้านจนไม่สามารถทำอะไรได้ภายใต้ระบบสังคมที่เป็นอยู่

อ่านต่อ  >>>>>

<<< สารบัญ >>>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย