ประวัติศาสตร์  ภูมิศาสตร์ บุคคลสำคัญ ประเทศและทวีป >>

ไทย

หลวงนิแพทย์นิติสรรค์ (ฮวดหลี หุตะโกวิท)

แปลจากต้นฉบับภาษษอังกฤษเรื่อง
The Tai Race-The Elder Brother of the Chinese
โดย Dr.William Clifton Dodd

   ที่ถือพุทธศาสนาในยูนนาน  

(หน้า 2)

       ในเมืองหริ่งนี้ ได้พักอยู่ในเรือนที่ปลูกใหม่ของพระยาเจ้าเมืองซึ่งข้าพเจ้ารู้สึกขอบคุณในความเอื้อเฟื้อเป็นอันมาก พระยาเจ้าเมืองบอกแก่ข้าพเจ้าว่า มีหมู่บ้านของชนชาวเขา 15 หมู่ ในจำนวนนี้เป็นหมู่บ้านไทย 7 หมู่ หมู่บ้านล้อ 4 หมู่ และหมู่บ้านไทยนื้อ (Nu) 3 หมู่ หรืออีกนัยหนึ่งเรียกว่าไทยเหนือ (Nua) ไทยนื้อนี้ลักษณะอย่างเดียวกับไทยที่อยู่ตอนเหนือของประเทศไทย แต่ผิดกันที่ไทยพวกนี้ไม่มีหนังสือของตนเอง และเป็นพวกที่อยู่ตอนเหนือในประเทศลื้อซึ่งต่อไปจะเรียกว่า ไทยเหนือ พวกไทยเหนือที่อยู่ในเมืองหริ่งนี้ เดิมมาจากเมืองบ่อ (Mung Baw) ซึ่งเป็นเมืองของคนขับเกวียนที่ข้าพเจ้าจ้างมา พระยาและเพื่อนของเขาได้บอกข้าพเจ้าว่า ที่จังหวัดสูเม้า (Szumao) ซึ่งครั้งก่อนเป็นเมืองลาหลวง (Mong LaLong) จังหวัดปู่เออ (Pu Erh) และเมืองแมน (Mong Men) นั้นมีชนชาติไทยอยู่แทนคนจีนที่อยู่เดี๋ยวนี้เกือบทั้งหมด บางตำบลที่อยู่เหนือขึ้นไปยังมีชนชาติไทยผสม คือคนจีนมาได้หญิงไทยเป็นภรรยา ลูกที่เกิดมากลายเป็นจีนไปด้วย เหตุชนชาติไทยในจีนนับตั้งล้านๆ คนจึงกลายเป็นจีนไปเสีย แต่ในจังหวัดนี้เวลานั้นจีนที่มากลืนคนไทยให้กลายเป็นจีนไปนั้น ดูเหมือนไม่ใคร่มากเท่ากับคนไทยที่อพยพไป แม้การสงครามกลางเมืองจีนจะทำให้ทหารจีนที่ยังไม่แต่งงานนับตั้งพันๆ ต้องหยุดผสมกับเลือดไทยก็ดี แต่หาทำให้จำนวนชนชาติไทยลดน้อยลงไม่ กลับจะทวีขึ้นเสียอีก
        วันรุ่งขึ้น เมื่อพักเล็กน้อยแล้วก็ได้แวะไปยังเมืองราน (Mong Ran) ซึ่งเป็นตำบลที่สุดของไทยลื้อในทางนี้ และเป็ยตำบลเล็กแห่งหนึ่งในเมืองลา ตำบลเมืองรานนี้เป็นทุ่งราบ มีหมู่บ้านลื้อ 3 หมู่ และมีหมู่บ้านชาวเขาล้อมอยู่โดยรอบทุกด้าน
        เมื่อออกจากหมู่บ้านลื้อนั้นแล้ว ก็ออกเดินทางไปยังเมืองลาหลวง ซึ่งจีนเรียกว่าบัดนี้ว่าเสเม้า (SzeMao) เป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่บนที่ดอนสูงกว่าระดับน้ำทะเล 4700 ฟุต จังหวัดนี้ชนชาติจีนได้มาตั้งถิ่นฐานถือเอาเป็นที่เกิดของตนเสียนานแล้ว และตามทุ่งราบที่อยู่รอบจังหวัดนี้มีหมู่บ้านชนชาติไทยเหลืออยู่ 3 หมู่บ้านเท่านั้น ชนชาติไทยชอบอยู่ในที่ราบซึ่งต่ำกว่าระดับน้ำทะเล 4000 ฟุต ทั้งนั้น และมักจะอยู่กันเป็นหมู่ไม่ใคร่แตกพวกออกไป
       นายพันตรี ดาวีส และผู้เขียนเรื่องชนชาติไทยที่เป็นชาวอังกฤษและฝรั่งเศส ได้ชี้แจงทางเดินของสินค้าในจังหวัดต่างๆ ของมณฑลยูนนานไว้ ซึ่งให้ความรู้ในการเดินทางแก่ข้าพเจ้ามาก นอกจากนี้ข้าพเจ้าต้องขอบคุณ นายดังจู (D' AnJou) เจ้าพนักงานด่านภาษีชาวฝรั่งเศส กับนายบาโตลินิ (Bartolini) ชาวอิตาลีที่ได้มีความเอื้อเฟื้อรับรองข้าพเจ้าเป็นอย่างดีเป็นเวลาเกือบสองเดือน ข้าพเจ้าเพิ่งได้ยินภาษาอังกฤษอันเป็นภาษาของตนเอง ท่านสุภาพบุรุษทั้งสองนี้พูดภาษาอังกฤษดีพอใช้
       ครั้งนี้เป็นโอกาสของข้าพเจ้าที่จะส่งข่าวถึงครอบครัวข้าพเจ้าโดยทางโทรเลข ตั้งแต่ออกจากจังหวัดเชียงตุงมาแล้วเป็นเวลา 2 เดือน ตามที่นัดกันไว้นั้นว่า แหม่มดอดด์จะอยู่ที่จังหวัดเพชรบุรีในประเทศไทย และส่งข่าวไปถึงลูกสาวข้าพเจ้า และถึลเรเวอเรนด์ เอกิน กับครอบครัวของเขา จังหวัดเสเม้านี้ก็อย่างเดียวกับจังหวัดอื่นๆ ของจีน มีที่ทำการโทรเลขซึ่งเจ้าพนักงานเป็นจีนและอ่านภาษาอังกฤษได้บ้าง เสียค่าโทรเลขคำละเกือบ 1 เหรียญฝรั่งเศส เนื้อความในโทรเลขมีคำเดียวว่า สบายดี ภายหลังข้าพเจ้าทราบว้าแหม่มดอดด์ไม่ได้อยู่ที่จังหวัดเพชรบุรี แต่โทรเลขนั้นได้ส่งไปยังเพื่อนของข้าพเจ้าซึ่งอยู่ที่นั่น แล้วส่งไปยังแหม่มดอดด์ซึ่งอยู่ที่จังหวัดลำปาง
       นายดังจูได้กรุณาแนะนำข้าพเจ้าถึงการที่ข้าพเจ้าจะเดินทางต่อไป เขาว่าทางที่สะดวกและดีที่สุดนั้น คือเมื่อออกจากจังหวัดเสเม้าไปถึงจังหวัดปูเออฟู (Pu Ert Fu) แล้วจากที่นั่นก็แยกออกจากทางหลวงเข้าทางลัดไปยังเมืองบ่อ แล้วไปยังจังหวัดเม่งสู (Mengtzu) แล้วขึ้นรถไฟจากที่นั่นไปยังจังหวัดยูนนานฟู อันเป็นเมืองสำคัญตั้งที่ว่าการมณฑลยูนนาน แล้วขึ้นเกวียนไปยังท่าเรือที่แม่น้ำสิเกียง หรือแม่น้ำตะวันตกที่จังหวัดปานแส (Pai Se) แล้วลงเรือสำเภาไปอีกสองสามวันก็ถึงจังหวัดนานนิงฟู (Nanning Fu) ในมณฑลกวางซี แล้วจึงลงเรือกลไฟต่อไปยังจังหวัดแคนตอน ซึ่งเป็นเมืองสำคัญตั้งที่ว่าการมณฑลกวางตุ้ง ระยะทางที่เขากะให้ข้าพเจ้านี้ ในส่วนสำคัญนั้นถูกต้องโดยมาก เว้นแต่รายละเอียดนั้นต่างจากที่กะนี้ไป
        ข้าพเจ้าไม่มีล่าม นอกจากคนไทยเหนือชาวเมืองลื้อ และเป็นหัวหน้านำต่าง(Ho Koat) ที่ข้าพเจ้าจ้างมา นอกจากนี้มีตำรวจจีนตามมาส่งด้วย พวกเราเริ่มออกเดินทางเวลาเช้าวันอังคารที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2453 ไปยังจังหวัดปูเออฟู
       ต่อไปนี้เราเดินทางผ่านเขตที่ไม่มีหมู่บ้านไทยเลย การที่กะไว้แต่เดิมว่าจะไปทำกิจการแผ่ศาสนาเฉพาะแต่จังหวัดที่มีชนชาติไทยเหนือให้เสร็จภายใน 1 เดือน แต่โดยเหตุที่ต้องรับหนังสือเดินทางบ้างและเหตุอื่นๆ ที่ทำให้ออกเดินทางช้าไปบ้าง บัดนี้ปัญหาต่างๆ ได้ผ่านพ้นไปแล้ว เราไม่สามารถจะเดินทางผ่านดินแดนทางฟากตะวันตกของแม่น้ำโขงตอนที่อยู่ในประเทศจีน แต่เพราะมีเหตุทำให้เห็นว่าการไปเมืองบ่อนั้นเดินทางดินแดนทางฟากตะวันออกของแม่น้ำโขงสะดวกกว่า นอกจากนี้ยังมีบ้านที่คุ้นเคยกันตามทางที่พอจะอาศัยได้อย่างสบาย เมืองบ่อเป็นแคว้นที่ใหญ่ที่สุดและสำคัญที่สุดใน 4 แคว้น ซึ่งเป็นไทยเหนือด้วยกัน ตั้งอยู่ทางดินแดนฟากตะวันออกของแม่น้ำโขง เป็นโชคดีที่พวกเราได้เดินทางโดยสวัสดิภาพจากจังหวัดปูเออฟู ต่อไปนั้นจะต้องเดินทางลัดซึ่งเป็นทางเกวียนเป็นเวลา 9 วันไม่หยุดเลย ถ้ารวมทั้งหยุดพักที่เมืองบ่อด้วยแล้วจะเป็นเวลา 13 วัน ได้พบหมู่บ้านชนชาติไทยเหนือตั้งกระจัดกระจายทั่วไปก่อนถึงทุ่งราบของเมืองบ่อกว่าสองวัน ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งชื่อว่าเมืองเมืองลาย (Mong Mong Lai) มีวัดพุทธศาสนาวัดหนึ่ง เท่าที่ข้าพเจ้ารู้แน่นั้น หมู่บ้านนี้เป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกมากที่สุดในแคว้นไทยเหนือ คือตั้งอยู่เยื้อง 101 องศาแวงตะวันตกเล็กน้อย และใต้องศาของตรอปิคออฟคันเสร์เล็กน้อย อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของทุ่งราบแห่งเมืองบ่อระยะทาง 2 วัน ถัดจากหมู่บ้านนี้ไปทางทิศตะวันออก มีอีกหลายหมู่บ้านซึ่งพูดภาษาไทยเข้าใจกัน แต่ไม่รู้หนังสือ ในหมู่บ้านหนึ่งซึ่งมีชื่อออกเสียงเป็นไทยว่า มานกู(Man Ku) พวกเราได้สนทนากับชนในหมู่บ้านนั้นและเปิดหีบเพลงเสียงให้ฟัง

        การเดินทางไปเมืองบ่อนั้นไม่ได้หยุดพักอาศัยเลยนอกจากที่ตำบลเมืองลาย พวกเราได้มาถึงเมืองบ่อก่อนเที่ยงวันพุธที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2453 ภูมิประเทศที่ได้เดินมาจากทางตะวันออกเฉียงใต้จนถึงที่นี่ เป็นทางลาดยาวยืดอยู่บนลุ่มแม่น้ำ ทั้งภูมิประเทศก็งดงามและน่าดู และทางเดินก็สะดวก ในหนังสือของนายพันตรีดาวีส กล่าวว่า ทุ่งนี้ยาว 12 ไมล์ กว้าง 3 ไมล์ บ่อ แปลว่าหลุมใหญ่ พื้นเมือง เรียก วอ (Waw) การที่เรียกเช่นนี้เพราะมีบ่อเกลือมาก ในดินแดนลุ่มแม่น้ำเกลือนี้เป็นสินค้าส่งไปขายตามตำบและจังหวัดที่อยู่โดยรอบ เมืองบ่อนี้ผิดกับเมืองลาหลวงซึ่งกลายเป็นเมืองจีนไปแล้ว แต่เมืองบ่อมีชนชาติไทยเป็นส่วนมาก มีคนจีนน้อยที่สุด นี่เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้เกิดความสงสัยว่า เหตุใดชนชาติจีนจึงไม่พากันมาตั้งภูมิลำเนาอยู่ในแคว้นนี้ให้มาก หรือบางทีจะเป็นเพราะในท้องที่นี้สูงกว่าระดับน้ำทะเล 3000 ฟุต และประกอบด้วยความไข้และอยู่ไม่เป็นสุข แม้ในตำบลที่มีชนชาติจีนอยู่นั้นก็เป็นคนจีนที่มาอยู่เก่าแก่ในท้องที่นี้ ข้าพเจ้าทราบว่ามีวัดไทยอยู่หลายวัด บางวัดก็สร้างเป็นที่ระลึกของผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ มีวัดรวมด้วยกัน 32 วัด แม้ในตำบลนี้จะมีคนน้อยโดยเหตุที่อพยพไปอยู่เสียที่เชียงตุงมาก ก็ยังไม่แสดงให้เห็นว่ามีขนบธรรมเนียมใกล้ไปข้างจีนนัก เมืองกา(Ka) และเมืองปั้น(Pan) ของแม่น้ำโขงนั้น เป็นท้องที่ดอนสูงกว่าระดับน้ำทะเล 4000 ฟุต ดังนั้นเราจึงมาอยู่ในระหว่างชนชาติไทย ซึ่งต่อไปข้างหน้าก็คงเป็นไทยอยู่ตามเดิม
         การเดินทางมาจนกระทั่งมาพักในที่นี้ ข้าพเจ้าต้องขอขอบใจอย่างล้นเหลือที่ได้รับความสุขที่เข้ามาอาศัยพักในวัดไม่มีความเดือดร้อนอย่างใด เจ้าวัดเรียกกันว่า อาจารย์ ไม่ยอมให้เราพักในโบสถ์ แต่ยอมให้พักนอนที่ศาลาของวัดซึ่งคับแคบไม่ใคราพอกัน เราก็หาปฎิเสธไม่ ก่อนที่จะเดินทางออกจากตำบลนี้ ข้าพเจ้าได้จดถ้อยคำของชาวตำบลนี้ได้กว่าสองร้อยคำ เลือกเอาแต่คำที่เป็นแบบที่รัฐบาลอังกฤษได้เทียบเคียงภาษาและเสียงต่างๆ ไว้ และเลือกเอาคำสามัญที่ใช้กันโดยมาก ยิ่งกว่าที่จะเอาคำใช้ในศาสนา ถ้อยคำเหล่านี้จะต่างกันประมาณหนึ่งในสิบสี่ภาษาที่พวกไทยที่อยู่ถัดไปทางใต้พูดกัน ซึ่งข้าพเจ้าคุ้นเคยมาแล้ว แต่ถ้อยคำที่ได้ใช้ในศาสนามีคล้ายๆ กับที่ใช้ในศาสนาแห่งอื่นๆ ในประเทศนี้ เพราะมีคนบอกข้าพเจ้าว่า พุทธศาสนาในตำบลนี้มาจากแคว้นเชียงตุงเมื่อประมาณ 270 หรือ 280 ปีมาแล้ว ตามตำนานของแคว้นเชียงตุงที่ข้าพเจ้ามีนั้นว่า พุทธศาสนาในเชียงตุงได้มาจากเชียงใหม่เมื่อประมาณ 660 ปีมาแล้ว หรือราว พ.ศ. 1796 หนังสือทางศาสนาคล้ายคลึงกับของแคว้นไทย แคว้นลาวของฝรั่งเศส แคว้นชานของอังกฤษ และแคว้นไทยจีน
         พฤหัสบดี ที่ 14 เมษายน ในวันนี้มีผู้มาบอกเล่าข้าพเจ้าไม่ต่ำกว่า 12 คนว่ามีวัดพุทธศาสนาตามแบบญวนและหนังสือญวนแพร่หลายทั่วไป ตั้งแต่ตำบลนี้ลงไปจนถึงดินแดนทางตะวันออกของแม่น้ำสาลวีนนั้น พุทธศาสนาเป็นแบบอย่างพม่า และทั้งชนก็พูดภาษาพม่าและภาษาเงี้ยวทั่วไป ผู้บอกข้าพเจ้านั้นคือท่านอาจารย์ ยังได้กล่าวว่า แม่น้ำสาลวีนเป็นเส้นแบ่งระหว่างพุทธศาสนาทั้งสองแบบ คือแบบพม่าและแบบญวน นอกจากนี้ยังยอมรับกัยทั่วไปว่า เสียงภาษาและคำพูดของชนที่อยู่ในดินแดนระหว่างแม่น้ำโขงกับแม่น้ำสาลวีนคล้ายกับของญวน แม้ในถิ่นนั้นคำพูดกันตามธรรมดาในสิบสี่คำจะต่างกันเพียงคำเดียวเท่านั้น รวมทั้งคำพูดที่ใช้ในศาสนาด้วย ที่เขาเชื่อก็มีเหตุผลดังนี้ คือ ในถิ่นนี้ไม่ใคร่มีชนชาติจีน และความเคยชินที่เคยได้ยินภาษาจีนและการเรียนภาษาจีนก็ไม่ใคร่มี เรื่องก็สมจริงดังความสังเกตของข้าพเจ้า ด้วยเหตุนี้จึงเป็นโชคดีของชนชาติไทยเหนือที่ตั้งภูมิลำเนาอยู่นับแต่เชียงตุงตลอดไปจนถึงดินแดนฟากตะวันออกของแม่น้ำโขง ทำให้กิจการทางศาสนาที่เราได้กระทำกันไปในระหว่างชนชาติไทยเหนือนี้สะดวกมากเพราะพูดภาษารู้กันได้ตลอด และหวังว่าการทำกิจเพื่อประโยชน์แก่ชนชาติไทยเหนือที่อยู่ทางดินแดนลุ่มแม่น้ำสาลวีนก็คงสะดวกเช่นเดียวกัน

 

        วันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2453 เป็นวันขึ้นปีใหม่ในจุลศักราช 1272 ข้าพเจ้าได้เห็นชนในถิ่นนั้นขนทรายมากองไว้ แล้วเอาน้ำพรมเพื่อจะได้ทำรูปให้เป็นจอมได้สะดวกแต่วันวานนี้แล้ว เวลากลางคืนมีฝนตกลง ถึงวันนั้นพวกเหล่านี้จึงพากันก่อเจดีย์ทราย ที่เขาก่ออย่างใหญ่ๆ นั้น 5 องค์ และทำกำแพงล้อมมีประตูด้วย ถึงแม้การก่อเจดีย์ทรายจะเหมือนเด็กเล่นก็ดี แต่เขาได้ตั้งใจทำและกระทำความเคารพกราบไหว้บูชา เจดีย์ทราย 5 องค์นี้ประดับด้วยธงและดอกไม้สดงดงาม นอกจากนี้ฝูงชนเหล่านี้ยังพากันตีฆ้องกลองประโคมและสวดสังเวยสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งเบื้องบนและเบื้องล่าง ทั้งได้เจริญพระพุทธคุณ พระธรรมคุณและพระสังฆคุณ แล้วมีการสมโภชเลี้ยงดูกันเอิกเกริก ท่านอาจารย์ผู้เป็นเจ้าวัดซึ่งในเวลานั้นคุ้นเคยกับข้าพเจ้าก็เอื้อเฟื้อข้าพเจ้ามาก ได้ชวนข้าพเจ้าให้มีส่วนในการเลี้ยงนี้ด้วย
         ในวันนั้นข้าพเจ้าสังเกตเห้นว่า พระลูกวัดและท่านอาจารย์ได้สวดมนต์ และสวดเป็นไทยมากกว่าบาลีตั้งครึ่ง ในขณะที่คนมาประชุมกันในงานนี้ ข้าพเจ้าได้มีโอกาสแจกหนังสือให้ แต่จำไม่ได้ว่าแจกไปเท่าใด และเปิดหีบเสียงให้ฟังด้วย ความเชื่อถือในศาสนานั้น เมื่อเปรียบกับจีนแล้ว ชนชาติไทยเหนือดูเคร่งครัดและเลื่อมใสในศาสนามากกว่า
        ข้าพเจ้าได้เอาหีบเสียงไปที่วังของเจ้าฟ้าจูม (Fa Long Chum) ซึ่งเขาเรียกว่าสอบวา ณ ที่นั้น แต่ท่านไม่อยู่ไปธุระเสียที่เมืองกึงม้า (Mong Kung Ma) ซึ่งเป็นจังหวัดสำคัญที่สุดของชนชาติไทยเหนือ ตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำโขงกับแม่น้ำสาลวีน (ขอให้สังเกตว่าแคว้นไทยเหนือมีท้องที่เชื่อมต่อถึงกัน) แต่ภรรยาของท่านกับน้องสะใภ้ได้เชิญให้ข้าพเจ้าพักและขอให้เปิดหีบเสียงให้ฟัง สังเกตดูเป็นที่พอใจมาก น้องสะใภ้ของท่านนั้นเป็นนางในสำนักเจ้าเมืองบ่อ ซึ่งรู้จักข้าพเจ้าเมื่อไปเชียงตุง พูดโดยทั่วไปแล้วชนชาติไทยไม่ใคร่จะยอมละทิ้งศาสนาขนบธรรมเนียมเชื่อถือและแบบแต่งกายของตนได้ง่ายๆ เลย
          วันอาทิตย์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2453 เมื่อคืนนี้ ข้าพเจ้าเป็นไข้ แต่วันนี้ค่อยทุเลาแล้ว มีข้าราชการจีนมาหาข้าพเจ้าหลายคน ข้าพเจ้าเปิดหีบเสียงให้ฟัง การสนทนากับขุนนางจีนเรื่องศาสนาก็เป็นผลดีอยู่บ้าง ต่อไปนั้นข้าพเจ้าได้เปิดหีบเสียงให้คนในแถบบ่อเกลือซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของทุ่งราบนั้นใหฟังอีก ข้าพเจ้าเหน็ดเหนื่อยมากวันนี้
         นายพันตรี ดาวีส ได้กล่าวไว้ในหนังสือของเขาว่า จังหวัดของชนชาติไทยเหนือที่อยู่ในดินแดนระหว่างแม่น้ำโขงกับแม่น้ำสาลวีนมี 24 จังหวัด รวมทั้งที่อยู่ทางตะวันออกด้วยอีก 4 เป็น 28 จังหวัดด้วยกัน ซึ่งมีจำนวนเท่ากับจังหวัดของชนชาติลื้อสิบสองพันนา ในเวลานั้นที่จังหวัดของเมืองบ่อนั้น ข้าพเจ้าจำชื่อและลักษณะได้แต่เฉพาะจังหวัดของชนชาติไทยเหนือแห่งมณฑลยูนนานทางตะวันออกของแม่น้สาลวีนเท่านั้น แต่อีก 7 จังหวัดบางทีจะเป็นจังหวัดเล็กๆ อยู่ทางดินแดนของแม่น้ำโขงข้าพเจ้าหาทราบไม่ นายพันตรี ดาวีส กำหนดว่า อาณาเขตของชนชาติไทยที่ถือพุทธศาสนาตามแบบญวนนั้น ตั้งแต่มุมตะวันออกเฉียงเหนือกับ 20 องศารุ้งเหนือตัดกันขนานกับแม่น้ำสาลวีนมาจนจดอาณาเขตทางตะวันออกที่เมืองลาย ใกล้เส้นตัดของตรอปิคออฟคันเสร์กับ 101 องศาแวงและมีแม่น้ำสาลวีนเป็นเส้นเขตทางตะวันตก แต่ส่วนเขตทางด้านใต้นั้นไม่มีกำหนดแน่ พวกไทยเหนือกับพวกลื้อเป็นเชื้อชาติเดียวกันกับไทยที่นับถือศาสนาพุทธแบบญวน แต่ทั้งสองพวกนี้อยู่ใต้อำนาจจีน เพราะฉะนั้น เส้นพรมแดนซึ่งเป็นภูมิลำเนาของชนชาติทั้งสองนี้จึงเอากำหนดแน่ไม่ได้ ที่เมืองเล็ม(Mong Lem) ชนชาติไทยเหนือได้แผ่ภูมิลำเนาออกไปทางใต้ไกล้ถึง 22 องศา 20 ลิบดารุ้งเหนือ รวมอาณาเขตของชนชาติไทยเหนือประมาณ 225000 ตารางไมล์ ซึ่งพวกไทยตั้งภูมิลำเนาอยู่ในที่ราบลุ่มน้ำเกือบทั้งหมดอาณาเขตนี้ แต่พวกที่อยู่บนภูเขานั้นมักเป็นชนชาติอื่นซึ่งมีหลายพวกเหมือนกัน

ตามที่นายพล ดาวีส ประมาณนั้น ชนชาติไทยผู้มีหนังสือของตนเองอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ในมณฑลยูนนานนั้นมีกว่าครึ่งล้านคน และอยู่ในเนื้อที่รวมไม่น้อยกว่า 320000 ตารางไมล์ มีสำเนียงภาษาและศาสนาเป็นอย่างเดียวกันกับพี่น้องคนไทยในฝ่ายเหนือแห่งประเทศไทย ในตะวันออกของพม่า และในแคว้นลาวของฝรั่งเศส  จิตใจของข้าพเจ้าจดจ่ออยู่กับชนชาติไทยเหล่านี้ด้วยความปรารถนาอันแรงกล้ายิ่งว่า เมื่อไรหนอชนชาติไทยเหล่านี้ในทุกทิศทุกทางและทุกๆ ละแวกบ้านจะถึงซึ่ง ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ซึ่งเขาทั้งหลายยังคงรอคอยอยู่ด้วยความกระหายเป็นอย่างยิ่ง พวกเราคริสเตียนได้เคยประสบเรื่องเช่นนี้หลายศตวรรษมาแล้ว เราได้กลับสภาพจากชาวเยิงกลายเป็นชาวเวียง แต่แล้วก็พยายามเก็บตัวสงวนตัวเองอย่างหอยอยู่ในเปลือก และทอดทิ้งให้ชนชาติไทยเหล่านี้รุ่นแล้วรุ่นเล่าตกอยู่ในความมืด วิญญาณของพระคริสโตเจ้าที่สถิตอยู่ในเรามีประมาณไหนหนอ พวกอังกฤษที่เคยเป็นชาวเยิงมาแล้ว และก็ได้รับแสงสว่างแล้วจึงกลายมาเป็นชาวเวียง ณ บัดนี้ซึ่งเป็นความเสมอภาคที่ควรภูมิใจ แต่ชนชาติไทยเหล่านี้เล่า ได้ภาคอันเสมอกันแล้วละหรือ

 อ่านตอนต่อไป ที่ไม่มีหนังสือในยูนนาน >>>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย