ประวัติศาสตร์  ภูมิศาสตร์ บุคคลสำคัญ ประเทศและทวีป>>

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

4

การรบพม่าครั้งที่ 1

            การรบครั้งนี้เมื่อ พ.ศ.2310 ที่บางกุ้ง เมืองสมุทรสงครามในปีที่ตั้งกรุงธนบุรีเป็นราชธานีนั้นเอง  ก่อนลงมือปราบปรามพิษณุโลก

            ทั้งนี้เนื่องจากเจ้าเมืองเวียงจันทน์  ซึ่งกำลังฝักใฝ่อยู่กับพม่าในเวลานั้นได้บอกไปยังพม่าว่า ไทยตั้งตัวเป็นอิสระขึ้นอีกมีกรุงธนบุรีเป็นราชธานี  ฝ่ายพระเจ้าอังวะซึ่งกำลังกังวลทำสงครามอยู่กับจีนไม่เชื่อว่าไทยจะสามารถตั้งตัวเป็นอิสระขึ้นได้อีก จึงเป็นแต่ให้แมงกี้มารหญ่า เจ้าเมืองทะวายยกกองทัพมาปราบปรามเสียให้ราบคาบ  เจ้าเมืองทะวายยกพลเข้ามาทางเมืองไทรโยค ผ่านเมืองกาญจนบุรี เมืองราชบุรี จนถึงบางกุ้งที่ค่ายทหารจีนของพระเจ้ากรุงธนบุรีตั้งอยู่  พระยาทะวายยกทัพเข้าล้อมทหารจีนไว้  กรมการเมืองสมุทรสงครามได้มีใบบอกกราบทูล  พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงโปรด ฯ ให้พระมหามนตรีคุมทัพหน้า  พระองค์ทรงคุมทัพหลวงยกเป็นขบวนเรือไปรบข้าศึก  ทัพพระยาทะวายแตกยับเยินหนีกลับไปทางด้านเจ้าขว้าว  กองทัพไทยได้เรือรบและเครื่องศัสตราวุธเป็นอันมาก  การรบครั้งนี้ทำให้ราษฎรเพิ่มความเคารพนับถือพระเจ้ากรุงธนบุรียิ่งขึ้นเป็นอันมาก  ทั้งเป็นที่ยำเกรงแก่ชุมนุมอื่น ๆ ด้วย

ปราบชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลก

            พระเจ้ากรุงธนบุรี  ได้ทรงเป็นแม่ทัพยกทัพเรือพร้อมด้วยทหารไทยจีนขึ้นไปปราบปรามชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลกใน พ.ศ.2311 เจ้าพระยาพิษณุโลกให้หลวงโกษา ชื่อยัง (เข้าใจว่าเป็นเจ้าเมืองพิจิตรหรือนายทหารคนหนึ่งที่มีฝีมือเข้มแข็ง)ยกกองทัพมาตั้งรับที่ตำบลเกยชัย แขวงเมืองนครสวรรค์  ได้สู้รบกันจนพระเจ้ากรุงธนบุรีถูกกระสุนปืนข้าศึกที่พระชงฆ์ต้องยกกองทัพกลับกรุงธนบุรี  เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีเลิกทัพกลับกรุงแล้ว  เจ้าพระยาพิษณุโลกก็มีใจกำเริบสำคัญว่าตนเก่งกล้า  พระเจ้ากรุงธนบุรีสู้ไม่ได้  จึงตั้งตัวเป็นพระเจ้าแผ่นดิน  แต่อยู่มาไม่ช้าก็ถึงแก่กรรมลง  พระอินทร์อากรน้องชายได้ปกครองพิษณุโลกต่อมา  แต่มิได้ตั้งตัวเป็นเจ้าอย่างพี่ชาย  เพราะเห็นว่าตัวไม่ใช่เชื้อกษัตริย์  เกรงจะเกินวาสนาของตัวไป  พระอินทร์อากรเป็นคนอ่อนแอ  ชุมนุมพิษณุโลกเสื่อมอำนาจลงทุกที  ในที่สุดเจ้าพระฝางก็ตีพิษณุโลกได้และจับพระอินทร์อากรประหารชีวิตเสีย  แล้วก็ให้เก็บริบรวบรวมทรัพย์สมบัติบรรดามีในเมืองพิษณุโลก  กับทั้งเครื่องศัสตราวุธและกวาดต้อนราษฎรพลเมืองไปยังเมือสวางคบุรี  ราษฎรเมืองพิษณุโลกและเมืองพิจิตรที่หนีได้  พากันอพยพครอบครัวลงมาพึ่งพระเจ้ากรุงธนบุรีครั้งนี้เป็นอันมาก  ชุมนุมพิษณุโลกก็ต้องขึ้นแก่เจ้าพระฝางต่อไป

ปราบชุมนุมเจ้าพิมาย

การตีชุมนุมพิษณุโลกไม่สำเร็จนั้น ทำให้พระเจ้ากรุงธนบุรีได้คติว่า การปราบปรามชุมนุมใหญ่ก่อนนั้นมิใช่วิธีที่ดี ควบปราบชุมนุมเล็ก ๆ ก่อน  ในบรรดาชุมนุมต่าง ๆ นั้น  ชุมนุมเจ้าพิมายมีกำลังอ่อนแอที่สุด  จึงควรจะยกทัพไปปราบปรามก่อนชุมนุมก่อน  พอหายประชวรเรียบร้อยแล้ว  ทราบว่าเจ้าพิมายให้พระยาวรวงศ์ธิราช (ลูกคนเล็กของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์)  เป็นแม่ทัพรักษาเขตแดนอยู่ที่ด่านกะโทกแห่งหนึ่ง  และให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เป็นแม่ทัพรักษาเขตแดนอยู่ด่านจอหอแห่งหนึ่ง  และทราบว่าเวลานั้นชุมนุมเจ้าพระฝางกับชุมนุมพิษณุโลกกำลังรบพุ่งกัน  เห็นเป็นโอกาสเหมาะ  จึงโปรดฯ ให้พระมหามนตรีและพระราชวรินทร์คุมกองทัพน้อยยกไปตีด่านกะโทก  ส่วนพระเจ้ากรุงธนบุรีคุมกองทัพหลวงยกไปตีด่านจอหอ  แล้วยกเลยไปตีชุมนุมเจ้าพิมาย  พระมหามนตรีและพระราชวรินทร์ตีด่านกะโทกแตก  พระยาวรวงศาธิราชถอยทัพหนีไปเมืองเสียมราฐ  ฝ่ายกรมหมื่นเทพพิพิธเจ้าพิมายเมื่อเห็นจะสู้ไม่ได้  ก็พาพรรคพวกหนีเอาตัวรอดออกจากเมืองพิมายจะไปกรุงศรีสัตนาคนหุต  แต่ขุนชนะชาวเมืองนครราชสีมาจับได้นำตัวมาถวายพระเจ้ากรุงธนบุรี ฯ หมายจะชุบเลี้ยงไว้  แต่เจ้าพิมายแสดงกิริยากระด้างกระเดื่องโดยมีขัตติยมานะ  ไม่ยอมอ่อนน้อม  จึงตรัสสั่งให้เอาไปประหารชีวิตเสีย  ทรงตั้งขุนชนะให้เป็นพระยากำแหงสงคราม ครองเมืองนครราชสีมาต่อไป  แล้วเลิกทัพกลับกรุงธนบุรี  ทรงตั้งให้พระราชวรินทร์เป็นพระยาอภัยรณฤทธิ์ และพระมหามนตรีเป็นพระยาอนุชิตราชา  ผู้มีความชอบในสงคราม  ตำแหน่งจางวางพระตำรวจทั้งสองคน

รบเขมรครั้งที่ 1

            ใน พ.ศ.2312  ขณะที่พระเจ้ากรุงธนบุรีกำลังเตรียมกองทัพจะไปตีเมืองนครศรีธรรมราชอยู่นั้น  ได้เกิดเรื่องขึ้นทางประเทศเขมร  คือนักองตน(สมเด็จพระนารายณ์ราชาธิบดี)ไปขอกองทัพญวนมาตรีเมืองพุทไธเพชร (บันทายเพชร)นครหลวงของเขมร นักองรามาธิบดี (นักองนนท์)สู้ไม่ได้จึงอพยพครอบครัวหนีมาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร  พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงเห็นเป็นโอกาสเหมาะที่จะแผ่อำนาจไปทางนั้น  จึงโปรดฯ ให้พระยาอภัยรณฤทธิ์และพระยาอนุชิตราชา  คุมพล 2,000 ยกไปทางนครราชสีมาทัพหนึ่ง  ให้พระยาโกษาธิบดีคุมพล 2,000 ยกไปทางเมืองปราจีนอีกทัพหนึ่ง เพื่อตีเมืองพุทไธเพชร คืนให้นักองรามาธิบดี  พระยาอภัยรณชิตและพระยาอนุชิตราชาตีได้เมืองเสียมราฐได้เมื่อต้นฤดูฝน  ครั้นพระยาทั้งสองได้รับท้องตราว่าจะเสด็จไปตีเมืองนครศรีธรรมราชในฤดูฝน  และเมื่อถึงฤดูแล้งจะเสด็จยกกองทัพหลวงออกไปตีกรุงกัมพูชา  ก็ตั้งรอคอยกองทัพหลวงอยู่ที่เมืองเสียมราฐ  ครั้นถึงฤดูแล้งไม่ได้ยินข่าวกองทัพหลวงยกไปก็แคลงใจ  เพราะไม่ทราบว่าพระเจ้ากรุงธนบุรีติดมรสุมอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราช ต่อมาก็มีข่าวลือไปว่าพระเจ้ากรุงธนบุรีสวรรคตในขณะที่ตีเมืองนครศรีธรรมราช พระยาทั้งสองเกรงว่าจะเกิดการจลาจลขึ้นที่กรุงธนบุรีจึงรีบยกทัพกลับ  พระยาอภัยรณชิตยกพลมาพักอยู่ที่นครราชสีมา  พระยาอนุชิตราชายกเลยมายังลพบุรี  พอทราบว่าข่าวลือนั้นเหลวไหลก็พักพลอยู่ที่ลพบุรี  ฝ่ายพระยาโกษาธิบดีได้เลิกทัพมาพักอยู่ที่เมืองปราจีนบุรีแล้วมีหนังสือมากราบทูลกล่าวโทษพระยาทั้งสอง  พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงทราบก็ทรงพระพิโรธ  จึงมีรับสั่งให้พระยาอนุชิตราชายกกองทัพกลับ  เมื่อพระยาอนุชิตราชาเข้าเฝ้าทรงถามว่าเหตุไรจึงเลิกทัพกลับโดยอำเภอใจ  พระยาอนุชิตราชากราบทูลว่ามีข่าวลือว่าพระเจ้ากรุงธนบุรีสวรรคตที่เมืองนครศรีธรรมราช  เกรงว่าจะมีข้าศึกมาตีเอากรุงธนบุรี  จะรักษาแผ่นดินไว้ไม่ยอมเป็นข้าคนอื่นอีกเป็นอันขาด  พระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงฟังก็หายกริ้ว  และตรัสสรรเสริญพระยาอนุชิตราชาว่า เป็นคนซื่อสัตย์แท้  แล้วก็เรียกกองทัพไทยทั้งหมดกลับกรุงธนบุรี  จึงเป็นอันว่ายังตีเมืองไม่ได้ในครั้งนี้

ปราบชุมนุมเจ้านคร

            เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ชุมนุมเจ้าพิมายเรียบร้อยแล้ว  พอรุ่งขึ้นปี พ.ศ.2312  โปรดฯ ให้เจ้าพระยาจักรี (แขก)เป็นแม่ทัพใหญ่  พร้อมด้วยพระยายมราช พระยาศรีพิพัฒน์และพระยาเพชรบุรี ยกกองทัพบก 5,000 คนไปตีชุนนุมเจ้านคร หัวเมืองตามรายทางพากันอ่อนน้อมตลอดไป  ทางนครศรีธรรมราชได้สั่งกองทัพมาตั้งค่ายสกัดอยู่ได้สู้รบกันเป็นสามารถจนพระยาเพชรบุรีและพระยาศรีพิพัฒน์ตายในที่รบ  ฝ่ายเจ้าพระยาจักรีกับพระยมราชเกิดไม่ปรองดองกันขึ้น  เจ้าพระยาจักรีได้ถอยทัพกลับมาตั้งที่เมืองไชยา  พระยายมราชมีใบบอกกล่าวโทษเจ้าพระยาจักรีเข้ามาว่าย่อท้อต่อราชการ  ทรงเห็นว่าจะไว้ใจให้แม่ทัพทำการตามลำพังไม่ได้  จึงยกกองทัพเรือออกปากน้ำไปทางทะเลมีจำนวนพล 10,000 เกิดพายุพัดจัดขึ้นในทะเลขณะที่กระบวนทัพเรือไปอยู่ในเขตเมืองเพชรบุรี  ต้องหยุดพักซ่อมเรือเสียคราวหนึ่งแล้วจึงยกลงไปตีเมืองไชยา  มีรับสั่งให้รวบรวมพลจัดเป็นกองทัพบกให้พระยายมราชเป็นกองหน้า  ให้เจ้าพระยาจักรี พระยาพิชัยราชา คุมกองทัพหลวงยกไปทางหนึ่ง  แล้วพระยากรุงธนบุรีคุมกองทัพเรือไปอีกทางหนึ่ง  ถึงเมืองนครศรีธรรมราช  พระเจ้ากรุงธนบุรีก็ยกกองทัพเข้ารบทันที  เจ้านครเห็นเหลือกำลังจะต่อสู้ก็เล็ดลอดหนีออกจากเมืองไปทางทิศใต้ไปอาศัยอยู่ที่เมืองปัตตานี  กองทัพธนบุรีก็เข้าล้อมเมืองนครศรีธรรมราชได้  พระเจ้ากรุงธนบุรีได้แสดงความกล้าหาญ  โดยออกนำหน้าทหารเข้าเมือง ในขณะที่กำลังรบพุ่งติดพันกันอยู่  พระยาตานีศรีสุลต่านได้จับตัวเจ้านครมาถวายพระเจ้ากรุงธนบุรี  พระเจ้ากรุงธนบุรียกโทษไม่สั่งให้ประหารชีวิต  เพราะถือว่าเจ้านครไม่ได้เป็นข้าราชการของพระองค์  ต่างคนต่างคิดจะตั้งตัวเป็นใหญ่ด้วยกัน  โปรดฯ ให้ชุบเลี้ยงไว้ในกรุงธนบุรี  แล้วตั้งให้เจ้าหลานเธอเจ้านราสุริยวงศ์ครองเมืองนครศรีธรรมราชต่อไป  เมื่อปราบปรามชุมนุมเจ้านครเรียบร้อย  พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงเสด็จกลับกรุงธนบุรี  แต่ยังกลับไม่ได้ด้วยเกิดมรสุมรุนแรง  ลมกล้าคลื่นใหญ่ฝนก็ตกชุกชุม  ต้องยับยั้งรอคลื่นลมสงบอยู่ถึงสามเดือนเศษ

ปราบชุมนุมเจ้าพระฝาง

            พ.ศ.2313  พระเจ้ากรุงธนบุรีกำลังปรารภที่จะยกกองทัพไปปราบปรามชุมนุมเจ้าพระฝาง ก็พอดีทราบข่าวว่า เจ้าพระฝางให้กองทัพมาลาดตระเวน คือเมืองชัยนาทและเมืองอุทัยธานี  หวังจะหาทางยกทัพมาตีกรุงธนบุรี  จึงโปรด ฯ ให้เตรียมกองทัพ  เผอิญประจวบเหมาะที่ชาวฮอลันดาส่งปืนใหญ่มาถวายและแขกเมืองตรังกานูส่งปืนคาบศิลามาถวาย 2,000 กระบอก  เลยเหมาะกับพระราชประสงค์  โปรดฯ ตั้งให้พระยาอนุชิตราชาเป็นพระยายมราชแทนพระยายมราชคนเก่าที่ถึงแก่กรรมไปแล้ว  และให้เป็นแม่ทัพหน้ายกไปกับพระยาอภัยรณฤทธิ์พี่ชาย  พระองค์คุมกองทัพหลวงต้องไปรบกับกองทัพหลวงโกษา (ยัง)ผู้รักษาเมืองพิษณุโลก  รบอยู่คืนเดียวกับเข้าเมืองได้ หลวงโกษาหนีขึ้นไปทางเหนือ  กองทัพกรุงธนบุรีก็ยกเลยขึ้นไปเมืองสวางคบุรีอันเป็นเมืองหลวงของเจ้าพระฝาง  กองทัพศรีอยุธยาได้เข้ารบเมืองสวางคบุรีเป็นสามารถ  เจ้าพระฝางเห็นเหลือกำลังจะต่อสู้ก็พาลูกช้างเผือกหนีออกจากเมืองตีหักไปทางด้านพระยาอภัยรณฤทธิ์  ทัพกรุงธนบุรีก็ตีได้เมืองสวางคบุรี  พระยาอภัยรณฤทธิ์ส่งคนติดตามข้าศึกได้แต่ลูกช้างเผือกมา  ตัวเจ้าพระยาฝางหาไม่พบ  เมื่อเสร็จศึกแล้วตั้งให้พระยายมราชเป็นเจ้าพระยาสุรสีห์พิษวาณุธิราช  สำเร็จราชการหัวเมืองฝ่ายเหนือ ณ เมืองพิษณุโลก  เมื่อมีอายุได้ 27 ปี  ส่วนพระยาอภัยรณฤทธิ์นั้นแม้จะมีความผิดปล่อยให้เจ้าพระฝางหนีออกไปได้ก็ตาม  ในภายหลังเมื่อตามลูกช้างเผือกกลับคืนมาได้ก็โปรดฯ ตั้งให้เป็นพระยายมราชแทนน้องชาย  ขณะนั้นมีอายุได้ 34 ปี

            เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีปราบปรามชุมนุมต่าง ๆ สำเร็จเรียบร้อยแล้ว ก็จัดการปกครองหัวเมืองฝ่ายเหนือทั้งฝ่ายพุทธจักรและราชอาณาจักรให้เป็นปกติ  ประเทศสยามซึ่งแตกแยกกันเป็นก๊กเป็นเหล่าคุมกันไม่ติดตลอดเวลาสามปีก็กลับรวมกันเป็นปึกแผ่นได้ใน พ.ศ.2313  อาศัยพระปรีชาสามารถของพระเจ้ากรุงธนบุรีนั่นเอง  และต่อจากนี้ไปเป็นเรื่องราวการรบกับประเทศใกล้เคียง 

หน้าถัดไป >>>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย