สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

กฎว่าด้วยความก้าวหน้าของมนุษยชาติ

ความแตกต่างกันในอารยธรรมเป็นเพราะอะไร

ในการพยายามที่จะค้นให้พบกฎว่าด้วยความก้าวหน้าของมนุษย์นั้น ขั้นแรก เราจะต้องกำหนดหาลักษณะอันสำคัญของความแตกต่างเหล่านี้ ซึ่งเรากล่าวว่าเป็นความแตกต่างกันในอารยธรรม

เราได้เห็นแล้วว่า ปรัชญาปัจจุบัน ซึ่งอ้างว่าความก้าวหน้าของสังคมเป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงในธรรมชาติของมนุษย์นั้น มิได้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ และถ้าเราพิจารณา เราจะเห็นได้ด้วยว่าความแตกต่างระหว่างประชาคมในขั้นต่าง ๆ ของอารย-ธรรม มิใช่เป็นเพราะความแตกต่างกันภายในตัวแท้ ๆ ของบุคคลผู้ประกอบกันเป็นประชาคมเหล่านี้ เป็นความจริงที่มีความแตกต่างกันตามธรรมชาติ และก็เป็นจริงอย่างปราศจากข้อสงสัยที่ว่าย่อมมีสิ่งจำพวกการถ่ายทอดลักษณะจำเพาะทางพันธุกรรม แต่เราจะไม่สามารถอธิบายความแตกต่างกันอย่างมากระหว่างมนุษย์ในสภาพสังคมต่าง ๆ กันได้ด้วยวิธีนี้เลย อิทธิพลแห่งพันธุกรรมซึ่งเดี๋ยวนี้นิยมนับถือกันว่ามีอิทธิพลสูงยิ่งนั้นมีค่าน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับอิทธิพลที่หล่อหลอมมนุษย์ภายหลังจากที่เขาเกิดมาในโลกแล้ว มีอะไรที่ฝังเข้าไปแนบแน่นในนิสัยความเคยชินยิ่งกว่าภาษา ซึ่งมิได้เพียงแต่กลายเป็นการใช้กล้ามเนื้อโดยอัตโนมัติเท่านั้น แต่ยังเป็นสื่อแห่งความคิดอีกด้วย? มีอะไรที่ยั่งยืนอยู่นานกว่า หรือจะแสดงสัญชาติได้เร็วกว่า? แต่เราก็มิได้เกิดมาโดยมีแนวโน้มไปทางภาษาหนึ่งภาษาใดเลย ภาษาแม่ของเราเป็นภาษาแม่ของเราก็เพียงเพราะเราเรียนกันมาตั้งแต่เป็นทารกเท่านั้น ถึงแม้บรรพบุรุษของเขาจะคิดและพูดกันมาด้วยภาษาหนึ่งไม่รู้กี่ชั่วอายุคน แต่เด็กซึ่งไม่ได้ยินภาษาอื่นมาตั้งแต่แรก ก็จะเรียนภาษาหนึ่ง ภาษาใดได้ด้วยความง่ายพอ ๆ กัน และเป็นเช่นเดียวกันสำหรับลักษณะจำเพาะอื่น ๆ แห่งชาติ แห่งท้องถิ่น หรือแห่งชั้นวรรณะ ดูเหมือนมันจะเป็นเรื่องของการศึกษาอบรมและนิสัยความเคยชิน มิใช่เรื่องถ่ายทอดทางพันธุกรรม ตัวอย่างเด็ก ๆ ผิวขาวที่ถูกพวกอินเดียนแดงจับเอาไปตั้งแต่เป็นทารกและเติบโตขึ้นมาในกระโจมของพวกอินเดียนแดงย่อมแสดงข้อนี้ เขากลายเป็นอินเดียนแดงไปทุกประการ และข้าพเจ้าก็เชื่อว่าจะเป็นเช่นเดียวกันสำหรับเด็ก ๆ ที่พวกยิปซีเลี้ยงเติบโตขึ้นมา

การที่ข้อนี้ไม่เป็นความจริงทีเดียวนักสำหรับเด็ก ๆ ชาวอินเดียนแดงหรือเผ่าอื่น ที่มีลักษณะแตกต่าง ซึ่งคนผิวขาวเป็นผู้เลี้ยงดูนั้น ข้าพเจ้าคิดว่าเป็นเพราะเด็กเหล่านี้มิได้รับการปฏิบัติเสมือนเป็นเด็กผิวขาวด้วยอย่างแท้จริง สุภาพบุรุษผู้หนึ่งซึ่งสอนที่โรงเรียนสำหรับเด็กผิวสี เคยบอกข้าพเจ้าว่าเด็กนิโกรมีสติปัญญาดีกว่าและเรียนได้เร็วกว่าเด็กผิวขาวจนถึงอายุ 10–12 ปี แต่หลังจากนั้นดูเหมือนพวกเขาจะโง่ทึบลงและกลายเป็นคนไม่เอาใจใส่ เขาคิดว่านี่เป็นข้อพิสูจน์ถึงความด้อยกว่าอันมีประจำอยู่ในเชื้อชาติ และข้าพเจ้าก็คิดเช่นเดียวกันในขณะนั้น แต่ภายหลังข้าพเจ้าได้ฟังสุภาพบุรุษนิโกรที่มีสติปัญญาสูงผู้หนึ่ง (Bishop Hillery) กล่าวข้อความซึ่งสำหรับความคิดของข้าพเจ้าแล้วดูเหมือนจะเป็นคำอธิบายที่เพียงพอ ท่านกล่าวว่า “เมื่อเด็กของเรายังเล็กอยู่ เขามีสติปัญญาดีเต็มที่เท่า ๆ กับเด็กผิวขาวและเรียนได้เร็วเท่า ๆ กัน แต่เมื่อเขามีอายุมากพอที่จะตระหนักถึงฐานะของตน – เมื่อประจักษ์ว่าพวกเขาถูกถือว่าเป็นชนเชื้อชาติที่ต่ำกว่าและไม่สามารถจะหวังได้เลยว่าจะเป็นอย่างอื่นได้นอกจากคนครัว คนรับใช้ หรืออื่น ๆ ทำนองเดียวกันนี้ เขาก็หมดความทะเยอทะยานและหยุดขวนขวายหาความก้าวหน้า” และท่านอาจจะกล่าวเพิ่มเติมได้ว่า โดยที่เป็นลูกของพ่อแม่ที่ยากจน ที่มิได้รับการอบรมและปราศจากความทะเยอทะยาน อิทธิพลทางบ้านจึงมีผลร้ายต่อเขา ทั้งนี้เพราะข้าพเจ้าเชื่อว่ามันเป็นเรื่องการสังเกตอย่างธรรมดาที่ว่าในการเรียนระยะต้น ๆ ลูก ๆ ของพ่อแม่ที่โง่เขลาก็มีสมองรับรู้ได้พอ ๆ กับลูก ๆ ของพ่อแม่ที่ฉลาด แต่เมื่อนานไป ๆ เด็กจำพวกหลังก็มักขึ้นหน้าและกลายเป็นผู้ใหญ่ที่ฉลาดที่สุด เหตุผลปรากฏชัดแจ้ง สำหรับสิ่งแรก ๆ ง่าย ๆ ซึ่งเขาเรียนแต่ที่โรงเรียนเท่า นั้น เด็กเหล่านี้มีระดับไล่เลี่ยกัน แต่เมื่อการศึกษาของพวกเขามีความสลับซับซ้อนขึ้น เด็กซึ่งเมื่ออยู่ที่บ้านได้คุ้นเคยกับภาษาอังกฤษที่ดี ได้ฟังการสนทนาที่ประเทืองปัญญา ได้เข้าถึงหนังสือ เมื่อมีคำถามก็สามารถหาคำตอบได้ ฯลฯ ก็ย่อมมีความได้เปรียบ ซึ่งแสดงผลออกมา

เราอาจจะได้เห็นเรื่องทำนองเดียวกันในชีวิตในภายหลัง ตัวอย่างผู้ที่ได้ยกตนเองขึ้นมาจากระดับคนงานสามัญ เมื่อเขาได้คบหาสมาคมกับผู้มีวัฒนธรรมและผู้คล่องธุรกิจ เขาก็จะมีสติปัญญาสูงขึ้นและมีความเป็นผู้ดีขึ้น ตัวอย่างพี่น้องสองคนบุตรชายของพ่อแม่ที่ยากจน ถูกเลี้ยงดูเติบโตมาในบ้านเดียวกันและโดยวิธีเดียวกัน คนหนึ่งต้องประกอบอาชีพที่หยาบ ไม่เคยได้รับเกินกว่าที่จำเป็นในการครองชีพโดยต้องทำงานหนักเป็นประจำวัน อีกคนหนึ่งเริ่มต้นด้วยการเป็นเด็กรับส่งของ หันเหชีวิตไปอีกทิศหนึ่งและในที่สุดก็ได้เป็นนักกฎหมาย พ่อค้าหรือนักการเมืองที่ประสบความสำเร็จ เมื่ออายุ 40 – 50 ปี ความแตกต่างระหว่างพี่น้องทั้งสองจะปรากฏเด่นชัด และผู้ที่ไม่คิดก็จะถือว่ามันเป็นเพราะความสามารถตามธรรมชาติอันสูงกว่าที่ทำให้คนหนึ่งสามารถผลักดันตนเองให้ก้าวหน้าไปมากกว่าได้ แต่ความแตกต่างเด่นชัดเช่นเดียวกันในกิริยามารยาทและสติปัญญาจะแสดงออกระหว่างสตรีสองพี่น้อง คนหนึ่งแต่งงานกับชายซึ่งต่อมาก็ยังยากจนอยู่คงเดิม ต้องทำงานบ้านเล็ก ๆ น้อย ๆ และไร้โอกาสต่าง ๆ อีกคนหนึ่งแต่งงานกับชายซึ่งภายหลังได้มีฐานะตำแหน่งที่ทำให้เธอเข้าสู่สังคมที่ดีและทำให้มีโอกาสซึ่งขัดเกลารสนิยมให้ดีขึ้นและขยายสติปัญญาออกไป และเราก็อาจจะได้เห็นความเสื่อมเช่นเดียวกัน คำกล่าว “evil communications corrupt good manners” เป็นเพียงแสดงถึงกฎโดยทั่วไปที่ว่าลักษณะนิสัยของมนุษย์ย่อมจะถูกปรุงแต่งอย่างมากด้วยเงื่อนไขและสิ่งแวดล้อม

ข้าพเจ้าจำได้ว่าครั้งหนึ่งในท่าเรือริมฝั่งทะเลของบราซิล ข้าพเจ้าได้เห็นชาย นิโกรคนหนึ่งแต่งตัวอย่างที่เห็นได้ชัดว่าพยายามให้ทันสมัยที่สุด แต่ไม่มีรองเท้าและถุงเท้า ลูกเรือคนหนึ่งในกลุ่มที่ข้าพเจ้าร่วมไปด้วย ซึ่งมีส่วนร่วมในการค้าทาส มีทฤษฎีอยู่ว่านิโกรมิใช่มนุษย์ แต่เป็นลิงชนิดหนึ่ง และได้อ้างกรณีนี้เป็นหลักฐานพิสูจน์ โดยยืนยันว่าเป็นการผิดธรรมชาติของนิโกรที่จะสวมรองเท้า และว่าในขั้นป่าเถื่อน เขาจะไม่สวมเสื้อผ้าเลย ภายหลังข้าพเจ้าได้ทราบว่าที่นั่นเขาถือกันว่าเป็นการไม่ “บังควร” ที่ทาสจะสวมรองเท้า เช่นเดียวกับที่ในอังกฤษก็ถือกันว่าไม่เป็นการบังควรที่หัวหน้าคนรับใช้ซึ่งแต่งกายถูกต้องจะสวมเครื่องเพชร ถึงแม้ว่านับแต่นั้นมาข้าพเจ้าจะได้เห็นคนผิวขาวผู้มีเสรีที่จะแต่งตัวตามใจชอบกลับแต่งตัวไม่กลมกลืนกันเช่นทาสแห่งบราซิลก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงจำนวนมากที่ยกกันขึ้นมาเพื่อแสดงถึงการถ่ายทอดพันธุกรรมก็ไม่มีผลกระทบมากไปกว่าข้อเท็จจริงอันนี้ของลูกเรือชาวลัทธิดาร์วินของเรา

ยกตัวอย่าง เช่นการที่ปรากฏว่าอาชญากร และผู้รับการบรรเทาทุกข์สาธารณะจำนวนมากในนิวยอร์กสืบเชื้อสายมาจากยาจกคนหนึ่งย้อนหลังไป 3 – 4 ชั่วอายุคนนั้นได้ถูกยกเป็นตัวอย่างอย่างกว้างขวางเพื่อแสดงถึงการถ่ายทอดพันธุกรรม แต่มันก็มิได้แสดงอะไรในทำนองนั้นเลย โดยที่การอธิบายข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอประการหนึ่งปรากฏใกล้เคียงกว่า ยาจกจะทำให้เกิดยาจก ถึงแม้ว่าเด็กเหล่านั้นจะมิใช่ลูกของพวกเขาก็ตาม เช่นเดียวกับที่การคบหาใกล้ชิดกับอาชญากรก็จะทำให้ลูกของพ่อแม่ที่ดีกลายเป็นอาชญากรไปด้วยนั่นเอง การใช้วิธีพึ่งพาการกุศลย่อมจะทำให้หมดความนับถือตนเองและความเป็นอิสระอันจำเป็นสำหรับการพึ่งตนเองเมื่อการดิ้นรนรุนแรงยิ่งขึ้น ข้อนี้เป็นความจริงอย่างยิ่งจนกระทั่งการกุศลมีผลทำให้ความต้องการในกิจการกุศลมีมากขึ้น ซึ่งเป็นที่ทราบกันดี และปัญหาที่ว่าการบรรเทาทุกข์สาธารณะและการให้ทานของเอกชนจะทำให้เกิดผลร้ายมากกว่าผลดีหรือไม่ก็กลายเป็นปัญหาที่ลงเอยกันไม่ได้ และเป็นเช่นเดียวกันในปัญหาแนวโน้มของเด็กที่จะแสดงความรู้สึก รสนิยม อคติ หรือความสามารถพิเศษเช่นเดียวกับบิดามารดาของตน เด็กเหล่านี้จะรับแนวโน้มดังกล่าวเช่นเดียวกับที่รับจากเพื่อน ๆ ที่สนิท และข้อยกเว้นย่อมพิสูจน์กฎ โดยที่ความไม่ชอบหรือความขยะแขยงอาจจะเกิดขึ้นแทนก็ได้

และข้าพเจ้าก็คิดว่ายังมีอิทธิพลอีกประการหนึ่งที่ละเอียดลึกล้ำยิ่งกว่า ซึ่งมักจะอธิบายถึงสิ่งที่ถือกันว่า เป็นการกลับปรากฏลักษณะของบรรพบุรุษที่ขาดหายไปหลายชั่วอายุคน (atavism) – นี่เป็นอิทธิพลทำนองเดียวกันกับที่ทำให้เด็กผู้อ่านนวนิยายเล่มละสิบสตางค์ต้องการ เป็นโจรสลัด ข้าพเจ้าเคยรู้จักสุภาพบุรุษผู้หนึ่งซึ่งมีสายเลือดของหัวหน้าเผ่าอินเดียนแดง เขาเคยเล่าให้ข้าพเจ้าฟังถึงประเพณีที่เรียนรู้มาจากปู่ของเขาที่แสดงให้เห็นสิ่งที่คนผิวขาวยากที่จะเข้าใจได้ – นั่นคือนิสัยความคิดของอินเดียนแดง ความกระหายเลือดอันรุนแรง ทว่าอดทน ในการตามล่าตลอดจนความอดทนต่อการถูกทรมาน จากลักษณะที่เขาฝังใจอยู่กับเรื่องนี้ ข้าพเจ้าไม่สงสัยเลยว่าในสถานการณ์บางอย่าง ถึงแม้เขาจะได้รับการศึกษาสูง มีอารยธรรมดี เขาก็จะแสดงลักษณะนิสัยซึ่งจะมีผู้ถือว่าเนื่องมาจากเลือดอินเดียนแดงของเขา แต่ซึ่งแท้ที่จริงแล้วจะอธิบายได้เพียงพอด้วยการที่เขาเฝ้าแต่ครุ่นคิดคำนึงถึงการกระทำของบรรพบุรุษของเขา *

เราจะได้เห็นความแตกต่างระหว่างชนชั้นและกลุ่มต่าง ๆ ในประชาคมใหญ่ ๆ ทุกแห่งชนิดเดียวกันกับที่มีอยู่ระหว่างประชาคมต่าง ๆ ซึ่งเรากล่าวว่ามีอารยธรรมแตกต่างกัน – นั่นคือ ในหมู่ประชาชนเชื้อชาติเดียวกัน อาศัยอยู่ในประเทศเดียวกัน ความแตกต่างด้านความรู้ ความเชื่อ ประเพณี รสนิยม และคำพูด ซึ่งในระดับที่รุนแรงที่สุดจะแสดงให้เห็นความแตกต่างกันอย่างมากมายเกือบพอ ๆ กับความแตกต่างในระหว่างประชาคมอารยะกับประชาคมที่ป่าเถื่อน เรายังจะได้พบขั้นของพัฒนาการทางสังคมทุกขั้น นับแต่ยุคหินเป็นต้นมา ในประชา-คมต่าง ๆ ที่ร่วมสมัยกันในปัจจุบัน ฉันใด ฉันนั้น ในประเทศเดียวกันและในเมืองเดียวกัน เราก็จะได้พบกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งแสดงความแตกต่างทำนองเดียวกันอยู่เคียงข้างกัน ในประเทศเช่นอังกฤษและเยอรมนี เด็กเชื้อชาติเดียวกัน เกิดและได้รับการเลี้ยงดูในที่แห่งเดียวกัน จะเติบโตขึ้น มาโดยพูดภาษาเดียวกันอย่างแตกต่างกัน มีความเชื่อต่างกัน ถือขนบประเพณีต่างกัน และแสดง รสนิยมต่างกัน และแม้แต่ในประเทศเช่นสหรัฐฯ เราก็จะได้เห็นความแตกต่างชนิดเดียวกันในระหว่างพวกหรือกลุ่มต่าง ๆ ถึงแม้จะไม่รุนแรงถึงขนาดเดียวกัน

แต่เป็นที่แน่นอนว่าความแตกต่างเหล่านี้มิได้เกิดติดตัวมา ไม่มีเด็กคนไหนที่เกิดมาเป็นเมธอดิสต์หรือคาทอลิก ที่จะเว้นเสียงตัว h หรือเปล่งเสียง ความแตกต่างกันเหล่านี้ทั้งสิ้นซึ่งแสดงให้เห็นความแตกต่างของกลุ่มหรือพวก เกิดขึ้นมาจากการร่วมสังคมกันในกลุ่มของตน

กองทหาร Janissaries ประกอบด้วยคนหนุ่มที่ถูกพรากมาจากบิดามารดาชาวคริสต์ตั้งแต่ยังเยาว์ แม้กระนั้นพวกเขาก็ยังเป็นมุสลิมที่คลั่งศาสนาและแสดงออกซึ่งลักษณะนิสัยของพวกตุรกีทุกประการ พระเยซูอิตและพระในนิกายอื่น ๆ แสดงให้เห็นลักษณะที่แตกต่างออกไป แต่เป็นที่แน่นอนว่ามิได้สืบทอดกันตลอดไปด้วยการถ่ายทอดพันธุกรรม และแม้แต่สังคมเช่นโรงเรียนหรือหน่วยทหาร ซึ่งสมาชิกแต่ละคนเข้าร่วมเพียงชั่วเวลาสั้น ๆ และเปลี่ยนสมาชิกไปเรื่อยๆ ก็ยังแสดงออกซึ่งลักษณะเฉพาะทั่ว ๆ ไป อันเป็นผลแห่งความประทับใจที่สังคมนั้น ๆ สืบทอดกันมา

ปัจจัยสำคัญที่กำหนดลักษณะประจำชาติ ตามความเชื่อของข้าพเจ้า ก็คือองค์รวมของประเพณี ความเชื่อ ขนบธรรมเนียม กฎหมาย นิสัยและการร่วมสังคมนี้เอง ซึ่งเกิดขึ้นในประชาคมทุกประชาคมและซึ่งล้อมรอบแต่ละบุคคลอยู่ – ซึ่ง Herbert Spencer เรียกว่า “super-organic environment” สิ่งเหล่านี้เอง หาใช่การถ่ายทอดพันธุกรรมไม่ ที่ทำให้คนอังกฤษแตกต่างไปจากคนฝรั่งเศส คนเยอรมันแตกต่างจากคนอิตาลี คนอเมริกันแตกต่างจากคนจีน และอารยชนแตกต่างจากคนป่าเถื่อน โดยวิธีนี้เองที่ทำให้ลักษณะนิสัยประจำชาติดำรงอยู่ แผ่ขยายออก หรือเปลี่ยนแปลงไป

การถ่ายทอดทางพันธุกรรมอาจจะพัฒนา หรือเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติได้ภายในขอบเขตจำกัดบางประการ หรือ ถ้าท่านพอใจ จะว่าไม่มีขอบเขตจำกัดในตัวเองเลยก็ได้ แต่ข้อนี้เป็นจริงในด้านร่างกายมากยิ่งกว่าในด้านจิตใจของมนุษย์ และเป็นจริงในกรณีสัตว์เดรัจฉานมากกว่าแม้แต่ในด้านร่างกายของมนุษย์ การนิรนัย (deductions) จากการผสมพันธุ์นกพิราบหรือวัวควายจะนำมาใช้กับมนุษย์มิได้ และเหตุผลย่อมแจ่มชัด ชีวิตของมนุษย์ แม้แต่ในสภาพ ที่หยาบที่สุดก็ยังสลับซับซ้อนกว่าอย่างไม่สามารถจะประมาณได้ เขาถูกอิทธิพลจำนวนมากกว่าอย่างสุดคณานับกระทำอยู่เป็นนิจ ซึ่งในท่ามกลางอิทธิพลเหล่านี้ อิทธิพลโดยสัมพัทธ์เนื่องจากพันธุกรรมจะน้อยลง ๆ ข้าพเจ้าไม่สงสัยว่าเชื้อชาติของมนุษย์ที่ไม่มีกิจกรรมทางความคิดมากไปกว่าสัตว์ – มนุษย์ที่เพียงแต่กิน ดื่ม นอน และสืบพันธุ์เท่านั้น – ถ้าได้รับการปรนนิบัติอย่างดีและเลือกผสมพันธุ์แล้ว ในระยะต่อไปก็จะทำให้ปรากฏความหลากหลายในด้านรูปร่างและลักษณะได้มากพอ ๆ กับที่วิธีการเช่นเดียวกันได้ทำให้เกิดขึ้นในสัตว์เลี้ยง แต่มนุษย์เช่นนี้ไม่มีอยู่ และภายในตัวมนุษย์เช่นที่เขาเป็นอยู่นั้น อิทธิพลทางความคิดซึ่งกระทำต่อร่างกายโดยทางจิต จะสอดแทรกขัดขวางกรรมวิธีนี้อยู่เสมอ ท่านจะไม่สามารถขุนบุคคลหนึ่งให้อ้วนได้โดยการขังเอาไว้และให้อาหารแก่เขาดังเช่นที่กระทำในการขุนหมู ถ้าจิตใจของเขามีความตึงเครียด มีความน่าจะเป็นในทุกทางว่ามนุษย์ได้อยู่มาในโลกนี้นานกว่าสัตว์มากชนิด เขาต้องอยู่แยกจากกันภายใต้ความแตกต่างกันของลมฟ้าอากาศที่ทำให้เกิดความแตกต่างกันอย่างมากที่สุดในสัตว์ แต่ความแตกต่างทางร่างกายระหว่างชนเชื้อชาติต่าง ๆ ก็ยังไม่ค่อยจะมีมากไปกว่าความแตกต่างระหว่างม้าขาวกับม้าดำ – เป็นที่แน่นอนว่าความแตกต่างทางร่างกายเหล่านี้ระหว่างมนุษย์ไม่มีมากเหมือนระหว่างสุนัขในพันธุ์ย่อย (subspecies) เดียวกัน ตัวอย่างเช่นพันธุ์ย่อย ต่าง ๆ กันของพันธุ์ terrier หรือ spaniel และแม้แต่ความแตกต่างกันทางร่างกายเหล่านี้ระหว่างมนุษย์เชื้อชาติต่าง ๆ ผู้ที่ถือว่าเป็นเพราะการเลือกตามธรรมชาติและการถ่ายทอดพันธุกรรมก็ยังเชื่อว่าจะปรากฏขึ้นเมื่อมนุษย์มีสภาพใกล้สัตว์มาก – นั่นคือ เมื่อเขามีความคิดจิตใจน้อยลง

และถ้าข้อนี้เป็นความจริงในด้านร่างกายของมนุษย์ มันจะเป็นความจริงมากยิ่งขึ้นเพียงไรในด้านจิต? ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายทั้งสิ้นของเรานั้น เรานำเข้ามาในโลกกับเราด้วย แต่ความคิดจิตใจพัฒนาขึ้นภายหลัง

ในการเจริญเติบโตของอินทรีย์ทั้งหลาย ย่อมมีอยู่ขั้นหนึ่งซึ่งเราไม่สามารถจะกล่าวได้ว่ามันจะเป็นอะไร คือจะเป็นปลาหรือเป็นสัตว์เลื้อยคลาน จะเป็นลิงหรือเป็นคน ทั้งนี้ ยกเว้นไว้แต่โดยดูจากสภาพแวดล้อม เช่นเดียวกันสำหรับทารกที่เกิดใหม่ จิตใจที่รอการตื่นเข้าสู่ความสำนึกและความสามารถที่จะคิด จะเป็นแบบอังกฤษหรือเยอรมัน อเมริกันหรือจีน – จะเป็นจิตใจของอารยชนหรือจิตใจของคนป่าเถื่อน – ย่อมขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมทางสังคมของตนโดยสิ้นเชิง

จงเอาทารกจำนวนหนึ่งที่เกิดจากพ่อแม่ที่มีอารยธรรมสูงสุดลำเลียงไปไว้ ณ ดินแดนที่ไม่มีใครอาศัยอยู่ สมมติว่าเด็กเหล่านี้มีชีวิตรอดอยู่ได้โดยอภินิหารบางประการจนกระทั่งมีอายุถึงขั้นที่ดูแลตนเองได้ เด็กเหล่านี้จะเป็นอย่างไร? พวกเขาจะเป็นคนป่าเถื่อนที่ช่วยตัวเองไม่ได้มากยิ่งกว่าชนเผ่าใดที่เราเคยรู้จัก เขาจะมีไฟที่ให้ค้นพบ มีเครื่องมือและอาวุธหยาบที่สุดที่จะให้คิดประดิษฐ์ มีภาษาที่จะให้สร้างขึ้นมา กล่าวสั้น ๆ พวกเขาจะต้องล้มลุกคลุกคลานไปตามวิถีทางไปสู่ความรู้ในขั้นที่ง่ายที่สุด ซึ่งเผ่าชนที่ต่ำสุดในขณะนี้รู้อยู่ เสมือนเด็กที่สอนเดิน ข้าพเจ้าไม่สงสัยเลยแม้แต่น้อยในข้อที่ว่าในไม่ช้าพวกเขาก็จะกระทำสิ่งเหล่านี้ได้ทั้งหมด เพราะว่าความเป็นไปได้เหล่านี้ทั้งสิ้นมีแอบแฝงอยู่แล้วในจิตใจของมนุษย์ เช่นเดียวกับที่ความสามารถในการเดินมีแอบแฝงอยู่ในโครงร่างของมนุษย์ แต่ข้าพเจ้าไม่เชื่อว่าเขาจะกระทำได้ดีกว่าหรือเลวกว่า ช้ากว่าหรือเร็วกว่าลูก ๆ ของพ่อแม่ที่ป่าเถื่อนที่ถูกจับเอาไปไว้ในสภาพเดียวกัน ถึงแม้จะมีพลังความคิดสูงสุดเท่าที่บุคคลพิเศษได้เคยแสดงออก แต่ถ้ามนุษย์รุ่นหนึ่งถูกแยกออกจากรุ่นต่อไปชั่วระยะเวลาหนึ่ง ดังเช่นฝูงจักจั่นที่อยู่ในสภาพดักแด้เกือบตลอดอายุ 17 ปีของมัน (seventeen-year locusts) มนุษยชาติจะเป็นอย่างไร? ระยะเวลาช่วงหนึ่งเช่นนั้นจะลดมนุษยชาติลงสู่ภาวะที่ยิ่งกว่าป่าเถื่อน ถึงขนาดที่เมื่อเทียบกับภาวะป่าเถื่อนเท่าที่เรารู้จักกันแล้ว ภาวะป่าเถื่อนนี้จะดูเสมือนเป็นอารยธรรมทีเดียว



และโดยกลับกัน สมมติว่ามีการเปลี่ยนตัวทารกของคนป่าเถื่อนจำนวนหนึ่งกับเด็กอารยะจำนวนเท่ากันได้โดยเหล่ามารดามิได้ล่วงรู้ (เพราะว่าแม้แต่ข้อนี้ก็จำเป็นเพื่อให้การทดลองเป็นไปอย่างยุติธรรม) เราจะกล้าคิดได้หรือว่า เมื่อเขาโตขึ้น เขาจะแสดงความแตกต่างใด ๆ ออกมา? ข้าพเจ้าคิดว่าจะไม่มีผู้ใดที่เคยอยู่ร่วมกับชนชาติและชนชั้นอื่น ๆ มามากแล้วจะคิดเช่นนั้น บทเรียนอันยิ่งใหญ่ที่ได้รับรู้เช่นนี้ก็คือ “ธรรมชาติของมนุษย์ก็คือธรรมชาติของมนุษย์ ซึ่งเป็นไปตลอดทั่วโลก” และบทเรียนนี้ก็อาจเรียนได้จากห้องสมุดด้วย ข้าพเจ้ามิได้หมายถึงเรื่องราวของนักเดินทางมากนัก เพราะว่าเรื่องราวของคนป่าเถื่อนที่อารยชนผู้เขียนหนังสือให้ไว้มักจะเป็นทำนองเดียวกับเรื่องราวที่คนป่าจะเขียนเกี่ยวกับพวกเราถ้าเขาจะได้บินผ่านมาแล้วเขียนหนังสือขึ้น แต่ข้าพเจ้าหมายถึงของที่ระลึกแห่งชีวิตและความคิดของสมัยอื่นและชาติอื่น ๆ ซึ่งเมื่อแปลมาสู่ภาษาปัจจุบันของเราแล้ว ก็เหมือนกับแสงแห่งชีวิตและความคิดของเราเอง ความรู้สึกที่มันก่อให้เกิดขึ้นก็คือความรู้สึกแห่งความคล้ายคลึงกันของมนุษย์ในสาระสำคัญ Emanuel Deutsch กล่าวว่า – “นี่เป็นอันจบการสืบสวนทั้งหลายในเรื่องประวัติศาสตร์หรือศิลปะ พวกเขาก็เป็นเหมือนกับที่พวกเราเป็นอยู่”

มีชนชาติหนึ่งที่เราจะพบได้ในทุกส่วนของโลก ซึ่งแสดงให้เห็นได้ดีว่าลักษณะ เฉพาะเช่นไรเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม และลักษณะเฉพาะเช่นไรเกิดจากการถ่ายทอดโดยการร่วมสังคม พวกยิวได้ดำรงรักษาความบริสุทธิ์แห่งเลือดของตนไว้อย่างกวดขันกว่าและเป็นเวลานานกว่าเชื้อชาติยุโรปชาติใด ๆ แต่ข้าพเจ้าก็สมัครใจจะคิดว่าลักษณะประการเดียวที่ถือได้ว่าเป็นเพราะข้อนี้ก็คือรูปร่างหน้าตา และตามความจริงแล้วลักษณะเช่นนี้ก็ปรากฏน้อยกว่าที่คาดกันไว้ตามธรรมดามาก ซึ่งผู้ใดก็ตามที่ยอมลำบากสังเกตดูจะได้เห็น ถึงแม้พวกยิวจะแต่งงานในระหว่างกันเองอยู่เรื่อยมา เขาก็ยังเปลี่ยนแปลงไปทุกแห่งเนื่องจากสภาพแวดล้อม – ยิวอังกฤษ ยิวรัสเซีย ยิวโปแลนด์ ยิวเยอรมัน และยิวแห่งตะวันออก มีลักษณะหลายประการที่แตกต่างกันมากเสมือนความแตกต่างระหว่างคนในประเทศเหล่านั้นเอง แต่เขาก็ยังมีลักษณะ ร่วมกันอยู่หลายประการ และได้รักษาปัจเจกภาพ (individuality - ความเป็นแต่ละบุคคล) ของตนไว้ทุกแห่ง เหตุผลปรากฏชัดเจน นั่นคือลัทธิศาสนาของพวกฮีบรู – และแน่นอน ลัทธิมิได้ถ่ายทอดโดยกำเนิด แต่โดยการร่วมสังคม – ที่ได้ธำรงรักษาลักษณะพิเศษของชนเชื้อชาติฮีบรูไว้ ทุกแห่ง ลัทธินี้ ซึ่งเด็ก ๆ ได้รับมา มิใช่โดยวิธีเดียวกับที่รับลักษณะทางร่างกาย แต่โดยคำสั่งสอนและการร่วมสังคม มิใช่เพียงแต่คำสั่งสอนจะมีลักษณะเฉพาะเท่านั้น แต่ยังทำให้เกิดความระแวงและความเกลียดชัง ทำให้เกิดความกดดันอันทรงพลังจากภายนอก ซึ่งทำให้เกิดมีประชา-คมของยิวซ้อนขึ้นภายในประชาคมทุกแห่ง สภาพแวดล้อมอันมีลักษณะเฉพาะบางประการจึงเกิดสะสมขึ้นและคงอยู่ด้วยประการฉะนี้ ซึ่งทำให้เกิดลักษณะอันเด่นชัดแตกต่างออกไป การแต่งงานระหว่างชาวยิวด้วยกันเองเป็นผล มิใช่เป็นสาเหตุของข้อนี้ สิ่งที่การล้างทำลายที่ยังไม่ถึงขั้นพรากเอาเด็กชาวยิวออกไปจากพ่อแม่และเลี้ยงดูให้เจริญเติบโตขึ้นมาภายนอกสภาพแวดล้อมอันมีลักษณะเฉพาะนี้ไม่ทำให้สัมฤทธิ์ผลได้นั้น จะสัมฤทธิ์ผลได้ด้วยการที่ความเชื่อทางลัทธิคลายตัวลง ดังที่ประจักษ์ชัดแล้วในสหรัฐฯ ซึ่งความแตกต่างระหว่างยิวกับพวกคริสเตียนกำลังสูญสิ้นไปอย่างรวดเร็ว

และสำหรับข้าพเจ้า ดูเหมือนว่าอิทธิพลแห่งตาข่ายสังคมหรือสภาพแวดล้อมนี้จะอธิบายถึงสิ่งที่เชื่อกันบ่อย ๆ ว่าเป็นข้อพิสูจน์ความแตกต่างระหว่างเชื้อชาติ – นั่นคือความยากลำบากที่เชื้อชาติด้อยอารยธรรมแสดงออกในการรับอารยธรรมที่สูงกว่า และลักษณะซึ่งเชื้อชาติเหล่านี้บางเชื้อชาติสูญสิ้นไปต่อหน้าอารยธรรมใหม่ เมื่อสภาพแวดล้อมทางสังคมอย่างหนึ่งยังดำรงคงทนอยู่ มันก็จะทำให้ลำบากหรือเป็นไปไม่ได้เลยที่ผู้ซึ่งอยู่ในสภาพแวดล้อมเช่นนี้จะรับสภาพแวดล้อมอย่างอื่น

ลักษณะของชาวจีนจะคงที่แน่นอนถ้าลักษณะของชนชาติอื่น ๆ เป็นเช่นเดียว กัน แต่ชาวจีนในแคลิฟอร์เนียก็รับเอาวิธีของอเมริกันในการทำงาน ค้าขาย การใช้เครื่องจักร ฯลฯ ได้อย่างง่ายดายพอที่จะพิสูจน์ได้ว่าพวกเขามิได้ขาดความอ่อนตัว (flexibility) หรือ ความ สามารถตามธรรมชาติ การที่ชาวจีนเหล่านี้มิได้เปลี่ยนแปลงไปในด้านอื่น ๆ นั้นเป็นเพราะสภาพแวดล้อมแบบจีนซึ่งยังคงดำรงอยู่และยังคงล้อมรอบพวกเขาอยู่ ในฐานะที่พวกเขามาจากเมืองจีน เขาก็มุ่งหวังที่จะกลับไปสู่ประเทศจีนอีก และในระหว่างที่อยู่ ณ ที่นี้ก็ดำรงชีวิตอยู่ในเมืองจีนขนาดเล็กของตนเอง เช่นเดียวกับที่ชาวอังกฤษในอินเดียทำให้เกิดเมืองอังกฤษเล็ก ๆ ขึ้นในอินเดีย มิใช่จะเพียงเพราะว่าตามธรรมชาตินั้นเราย่อมหาทางสังคมกับผู้ที่มีลักษณะพิเศษ เช่นเดียวกับเรา (และฉะนั้นจึงทำให้ภาษา ศาสนา และประเพณีมีแนวโน้มที่จะยืนยงอยู่ในที่ซึ่งแต่ละบุคคลมิได้แยกกันอยู่อย่างสิ้นเชิง) เท่านั้น แต่ยังเป็นเพราะว่าความแตกต่างกันเหล่านี้ก่อให้เกิดความกดดันจากภายนอกขึ้นด้วย ที่บังคับให้มีการสังคมกันเช่นนี้ หลักการอันแจ่มชัดเหล่านี้จะอธิบายได้อย่างเต็มที่ถึงปรากฏการณ์ทั้งหลายซึ่งเห็นจากการมาพบกันระหว่างวัฒนธรรมขั้นหนึ่งหรือกลุ่มหนึ่งกับวัฒนธรรมอีกขั้นหนึ่งหรืออีกกลุ่มหนึ่ง โดยไม่ต้องหันไปหาทฤษฎีที่ว่าด้วยความแตกต่างกันอันฝังอยู่ภายในเลย ยกตัวอย่าง ดังที่การศึกษาภาษาเปรียบเทียบแสดงให้เห็น ชาวฮินดูมีเชื้อชาติเดียวกับชาวอังกฤษผู้พิชิตตน และกรณีต่าง ๆ แต่ละกรณีก็ได้แสดงให้เห็นมากมายแล้วว่าถ้าสามารถนำเขาเข้าไปไว้ในสภาพแวดล้อมของอังกฤษได้อย่างสมบูรณ์และเด็ดขาดแล้ว (ซึ่งดังที่ได้กล่าวไว้แล้ว จะกระทำได้จริงก็เฉพาะต่อเมื่อนำทารกเข้าไปไว้ในครอบครัวของชาวอังกฤษโดยวิธีที่ตัวเขาเองเมื่อเติบโตขึ้น หรือผู้ที่อยู่ล้อมรอบจะไม่สำนึกถึงความแตกต่างใด ๆ เลย) การปลูกฝังอารยธรรมยุโรปให้แก่เขาอย่างละเอียดถี่ถ้วนจะใช้เวลาเพียงหนึ่งชั่วอายุคนเท่านั้น แต่ความก้าวหน้าแห่งความคิดและนิสัยความเคยชินแบบอังกฤษในอินเดียย่อมจะก้าวหน้าได้ช้ามาก เพราะที่นั่นพวกเขาต้องได้พบกับสายใยแห่งความคิดและนิสัยความเคยชินอันยังคงดำรงอยู่เป็นนิจในประชากรจำนวนมหาศาลและเกี่ยวพันกับวิถีชีวิตในทุกทาง

Bagehot (“Physics and Politics”) ได้พยายามอธิบายเหตุผลว่าทำไมคนป่าเถื่อนจึงสาบสูญหายไปต่อหน้าอารยธรรมของเรา แต่ไม่สาบสูญไปต่อหน้าอารยธรรมสมัยโบราณ ทั้งนี้โดยการตั้งสมมติฐานว่าความก้าวหน้าของอารยธรรมได้ทำให้เรามีลักษณะร่างกายเข้มแข็งขึ้น หลังจากที่กล่าวเป็นนัยถึงข้อเท็จจริงที่ว่าบรรดานักเขียนคลาสสิกไม่ได้แสดงความเศร้าสลดใจสำหรับพวกคนป่าเถื่อน แต่คนป่าเถื่อนทุกหนทุกแห่งกลับทนทานต่อการกระทบกับชาวโรมันและชาวโรมันกลับเข้าเป็นพันธมิตรกับคนป่าเถื่อน เขาก็กล่าว (หน้า 47, 48) ว่า:

“คนป่าเถื่อนในปีที่ 1 ของคริสต์ศักราชมีลักษณะคล้ายคลึงกันกับในปีที่ 1800 และใน เมื่อพวกเขาทนทานต่อการกระทบกับอารยชนโบราณ แต่ไม่ทนทานต่อการกระทบกับพวกเรา จึงเป็น อันสันนิษฐานได้ว่าเชื้อชาติของเราเข้มแข็งกว่าคนโบราณ เพราะเราต้องทนทาน และได้ทนทาน ต่อเชื้อโรค จำนวนมากมายกว่าชนโบราณ บางทีเราอาจจะใช้คนป่าเถื่อนซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงไปเป็นมาตรวัดความเข้มแข็งของร่างกายของผู้ที่คนป่าเถื่อนจะต้องติดต่อด้วย”

Bagehot มิได้พยายามที่จะอธิบายว่าทำไมเมื่อ 1,800 ปีมาแล้วอารยธรรมจึงมิได้ทำให้อารยชนได้เปรียบเหนือคนป่าเถื่อนเช่นที่เป็นในปัจจุบัน แต่ก็ไม่มีประโยชน์ที่จะกล่าวถึงเรื่องนี้ หรือเรื่องการขาดข้อพิสูจน์ที่ว่าร่างกายของมนุษย์เข้มแข็งขึ้น สำหรับผู้ใดก็ตามที่ได้เห็นว่าการสัมผัสกับอารยธรรมของเรากระทบกระเทือนชนเชื้อชาติที่ด้อยกว่าอย่างไร คำอธิบายก็ย่อมจะเกิดขึ้นได้ง่ายกว่ามากถึงแม้จะทำให้พึงพอใจน้อยกว่าก็ตาม

มิใช่เพราะร่างกายของเราตามธรรมชาติมีความเข้มแข็งกว่าคนป่าเถื่อน จึงทำให้โรคภัยซึ่งดูไม่มีอันตรายสำหรับเรากลับเป็นอันตรายถึงชีวิตสำหรับเขา หากเป็นเพราะว่าเรารู้และมีหนทางบำบัดโรคภัยเหล่านี้ได้ แต่เขาขาดความรู้และวิธีบำบัด เชื้อโรคอันเดียวกัน ซึ่งเศษของอารยธรรมที่ล่องลอยไปในความก้าวหน้าทำให้เกิดความต้านทานแก่คนป่าเถื่อน จะเป็นอันตรายร้ายแรงเท่ากันต่ออารยชน ถ้าเขาไม่รู้จะทำอะไรนอกจากจะปล่อยให้มันแสดงฤทธิ์เดชไป เช่นเดียวกับที่คนป่าเถื่อนต้องปล่อยให้มันแสดงฤทธิ์เดชไปเพราะความไม่รู้ และที่จริงมันก็เป็นอันตรายร้ายแรงมาแล้วจนกระทั่งเราได้ค้นพบวิธีบำบัด และใช่แต่เพียงเท่านี้ หากการกระทบของอารยธรรมต่อคนป่าเถื่อนยังมีผลทำให้ความสามารถของเขาลดลงด้วยโดยมิได้นำเขาเข้าสู่สภาพเช่นเดียวกับที่ทำให้อารยชนเกิดความสามารถขึ้น ในขณะที่นิสัยความเคยชินและประเพณีของเขายังมีแนวโน้มที่จะดำรงอยู่ และได้ดำรงอยู่ตราบเท่าที่จะคงอยู่ได้ สภาพแวด ล้อมซึ่งพวกเขาปรับตัวเคยชินอยู่ก็ถูกเปลี่ยนแปลงไป เขากลายเป็นพรานในแผ่นดินซึ่งไม่มีสัตว์หลงเหลืออยู่ เป็นนักรบที่ไร้อาวุธและต้องถูกเรียกมาแก้ฟ้องซึ่งต้องใช้เทคนิคทางกฎหมาย เขาไม่เพียงแต่ถูกวางไว้ระหว่างกลางวัฒนธรรมของทั้งสองฝ่ายเท่านั้น แต่ดังที่ Bagehot กล่าว ถึงคนลูกครึ่งยุโรปในอินเดีย เขายังถูกวางอยู่ระหว่างกลางหลักจริยธรรมของทั้งสองฝ่าย และได้เรียนรู้ถึงความชั่วร้ายของอารยธรรม โดยไม่รู้ถึงคุณความดีของมัน เขาสูญเสียวิธีการหาเลี้ยง ชีวิตตามแบบที่เขาเคยชิน เขาสูญเสียความนับถือในตัวเอง เขาสูญเสียหลักศีลธรรม เขาเสื่อมโทรมลงและตายไป สัตว์โลกผู้น่าสมเพชซึ่งเราอาจจะได้เห็นเกะกะอยู่ตามเมืองชายแดนหรือสถานีรถไฟ พร้อมเสมอที่จะขอทาน หรือขโมย หรือเสนอขายสิ่งชั่วช้านั้น มิใช่ผู้แทนที่แท้จริงของอินเดียนแดงก่อนที่คนผิวขาวจะบุกรุกเข้าไปในพื้นที่ล่าสัตว์ของเขา พวกเขาได้สูญเสียพลังและคุณค่าแห่งสถานะดั้งเดิมของตนโดยมิได้รับพลังและคุณค่าแห่งสถานะที่สูงกว่า อันที่จริงแล้ว อารยธรรมดังที่ผลักไสคนผิวแดงออกไปนั้นหาได้แสดงถึงคุณความดีไม่ สำหรับพวก แองโกล-แซกซันทางชายแดนแล้ว ตามปกติคนพื้นเมืองหาได้มีสิทธิซึ่งคนผิวขาวจะต้องเคารพไม่ เขาต้องยากจนข้นแค้น ถูกเข้าใจผิด ถูกฉ้อโกงและถูกกดขี่ พวกเขาละลายหายสูญไป ซึ่งพวกเราก็จะละลายหายสูญไปถ้าต้องตกอยู่ในสภาพเดียวกัน เขาสาบสูญไปต่อหน้าอารยธรรมดังเช่นที่ชาวบริตันผู้ถูกครอบด้วยอิทธิพลโรมันได้สาบสูญไปต่อหน้าสภาพป่าเถื่อนของพวกเแซกซัน

เหตุผลอันแท้จริงว่าทำไมบรรดานักเขียนคลาสสิกจึงไม่แสดงความเสียใจสำหรับคนป่าเถื่อนที่อารยธรรมของโรมันใช้วิธีผสมกลมกลืนหรือสมานลักษณ์ (assimilate) แทนที่จะทำลายนั้น ข้าพเจ้าเข้าใจว่าจะมิใช่เพียงเพราะข้อเท็จจริงที่ว่าอารยธรรมโบราณมีลักษณะคล้ายคลึง อย่างมากกับสภาพป่าเถื่อนที่มันได้พบเท่านั้น แต่ยังเป็นเพราะข้อเท็จจริงที่สำคัญยิ่งกว่าที่ว่าอารยธรรมนี้มิได้ขยายออกไปแบบที่เราขยาย การแผ่ขยายอารยธรรมนี้มิใช่ด้วยแบบการบุกรุกของพวกนักล่าอาณานิคม แต่ด้วยการพิชิตซึ่งเพียงแต่ลดฐานะของมณฑลใหม่ ๆ ลงอยู่ใต้บังคับโดยทั่วไป คงปล่อยให้การจัดทางสังคมและทางการเมืองของประชาชนเป็นไปตามเดิมเป็นส่วนมาก ทำให้กรรมวิธีผสมกลมกลืนดำเนินไปโดยไม่ล้างผลาญทำลายหรือทำความเสื่อมโทรมให้ ดูเหมือนว่าขณะนี้อารยธรรมของญี่ปุ่นกำลังผสมกลมกลืนตนเองเข้ากับอารยธรรมของยุโรปโดยวิธีการที่ค่อนข้างจะคล้ายคลึงกันนี้

ในอเมริกา พวกแองโกล-แซกซันได้ทำให้พวกอินเดียนแดงหมดสิ้นไปแทนที่จะทำให้เป็นอารยะ ทั้งนี้เพียงเพราะพวกเขาไม่ได้นำเอาอินเดียนแดงเข้าสู่สภาพแวดล้อมอันเดียวกับเขา และการติดต่อกันก็มิได้เป็นในลักษณะที่จะชักนำหรือยินยอมให้สายใยแห่งนิสัยความคิดและประเพณีของอินเดียนแดงเปลี่ยนแปลงไปรวดเร็วพอ เพื่อให้เข้ากับสภาพใหม่ ๆ ซึ่ง เข้าล้อมรอบพวกเขาเนื่องจากความอยู่ใกล้ชิดกับเพื่อนบ้านใหม่ที่ทรงอำนาจ มีกรณีต่าง ๆ ที่แสดงให้เห็นครั้งแล้วครั้งเล่าว่าอนารยชนเหล่านี้หาได้มีเครื่องหน่วงเหนี่ยวในตัวเองที่จะรับอารยธรรมของเราไม่ และเท่าที่การทดลองจะเป็นไปได้ ก็ปรากฏตัวอย่างทำนองเดียวกันจากพระในนิกายเยซูอิตในปารากวัย พระในนิกายฟรานซิสกันในแคลิฟอร์เนีย และคณะสอนศาสนานิกายโปรเตสแตนต์ในหมู่เกาะแปซิฟิกบางแห่ง

สมมติฐานในเรื่องที่ร่างกายของมนุษย์เข้มแข็งขึ้น ไม่ว่าในสมัยใดเท่าที่เรารู้จักย่อมไร้เหตุผลโดยสิ้นเชิง และในช่วงเวลาที่ Bagehot กล่าวถึงนั้นสมมติฐานนี้ก็ถูกพิสูจน์หักล้างอย่างสมบูรณ์ เราได้ทราบจากรูปปั้นโบราณ จากสัมภาระที่ทหารโบราณเอาติดตัวไป และจากการเดินทัพของทหาร จากสถิติของนักวิ่งและความสำเร็จของนักกายกรรม ว่ามนุษย์มิได้มีร่าง กายใหญ่โตขึ้นหรือมีกำลังเข้มแข็งขึ้นแต่ประการใดภายในระยะ 2,000 ปีมานี้ แต่สมมติฐานในด้านความเจริญขึ้นทางความคิดจิตใจ ซึ่งกล่าวด้วยความเชื่อมั่นยิ่งกว่าและกล่าวโดยทั่วไปมาก กว่า ก็น่าประหลาดยิ่งขึ้นไปอีก สำหรับพวกกวี ศิลปิน สถาปนิก นักปรัชญา นักวาทศิลป์ รัฐ-บุรุษ หรือทหารนั้น อารยธรรมสมัยใหม่จะสามารถแสดงตัวบุคคลผู้ที่มีความสามารถทางความ คิดยิ่งใหญ่ไปกว่าสมัยโบราณได้หรือ? ไม่มีประโยชน์ที่จะมานึกกันใหม่ถึงชื่อของท่านเหล่านี้ – เด็กนักเรียนทุกคนย่อมรู้จักดีอยู่แล้ว เราหันกลับไปยังสมัยโบราณเพื่อหาตัวอย่างในด้านความ สามารถทางสมอง และถ้าเราสามารถจะคิดเพียงชั่วครู่ถึงความเป็นไปได้ของสิ่งที่เชื่อถือกันมาช้านานที่สุดและกว้างขวางที่สุดในบรรดาความเชื่อทั้งหลาย – คือความเชื่อซึ่ง Lessing ประกาศว่ามีทางเป็นจริงอย่างที่สุดด้วยเหตุผลเช่นนี้ ถึงแม้เขาจะยอมรับมันโดยเหตุผลทางอภิปรัชญาก็ตาม – และสมมติว่าถ้า Homer หรือ Virgil, Demosthenes หรือ Cicero, Alexander, Hannibal หรือ Caesar, Plato หรือ Lucretius, Euclid หรือ Aristotle กลับมีชีวิตขึ้นมาอีกในศตวรรษที่ 19 นี้ เราจะคิดได้หรือว่าท่านเหล่านี้จะแสดงความด้อยกว่ามนุษย์ในปัจจุบัน? หรือถ้าเราจะพิจารณาระยะใดสมัยใดก็ตามนับแต่ยุคคลาสสิก แม้แต่สมัยที่มืดที่สุดหรือสมัยก่อนหน้านี้เท่าที่เราจะรู้ไป ถึง เราจะไม่ได้พบผู้ที่แสดงความสามารถทางสมองสูงเท่าที่มนุษย์ในปัจจุบันแสดง เมื่อคิดถึงในสภาพและระดับความรู้ในยุคนั้น ๆ หรือ? และในปัจจุบันในชนชาติที่ก้าวหน้าน้อยกว่า เมื่อเราเกิดความสนใจในตัวเขาขึ้นมา เราจะมิได้พบเห็นผู้ที่แสดงคุณภาพทางความคิดตามสภาพของเขายิ่งใหญ่เท่าเทียมกับที่อารยธรรมจะแสดงได้หรอกหรือ? การคิดประดิษฐ์ทางรถไฟตามที่เกิดขึ้นนั้น แสดงถึงความสามารถในการคิดค้นยิ่งใหญ่กว่าการคิดประดิษฐ์รถเข็นล้อเดียวในเมื่อยังไม่มีรถเข็นล้อเดียว กระนั้นหรือ? พวกเราแห่งอารยธรรมสมัยใหม่ได้รับการยกสูงขึ้นมากเหนือบุคคลรุ่นก่อนเราและเหนือชนชาติที่ก้าวหน้าน้อยกว่าที่เกิดมาร่วมสมัยเดียวกับเรานี้ แต่มันเป็นเพราะเรายืนอยู่บนพีระมิด มิใช่เพราะเราตัวสูงกว่า สิ่งที่ระยะเวลานับศตวรรษกระทำต่อเรานั้นมิใช่การเพิ่มความใหญ่โตให้แก่ร่างกายของเรา แต่เป็นการสร้างเสริมโครงสร้างที่รองรับตัวเราต่างหาก

ข้าพเจ้าขอกล่าวซ้ำ: ข้าพเจ้ามิได้หมายความว่ามนุษย์ทุกคนมีความสามารถอย่างเดียวกันหรือมีสมองมีความคิดเหมือน ๆ กัน เช่นเดียวกันข้าพเจ้าก็มิได้หมายความว่า เขามีความเหมือนกันในด้านร่างกาย ในบรรดาคนหลายล้านที่มาสู่โลกนี้แล้วก็ออกไปนั้น อาจจะไม่เคยมีคู่ใดที่จะเหมือนกันอย่างแท้จริงไม่ว่าจะทางร่างกายหรือความคิด ทั้งข้าพเจ้าก็มิได้หมาย ความว่า ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมากระหว่างเชื้อชาติในด้านความคิด เท่ากับที่มีความแตกต่างกันอย่างมากระหว่างเชื้อชาติในด้านร่างกาย ข้าพเจ้าไม่ปฏิเสธอิทธิพลของพันธุกรรมในการถ่ายทอดลักษณะเฉพาะแห่งความคิดโดยวิธีเดียวกับ (และอาจจะเป็นในขนาดเดียวกันด้วยกับ) การถ่ายทอดลักษณะเฉพาะทางกาย อย่างไรก็ตาม สำหรับข้าพเจ้าดูเหมือนว่าจะมีมาตรฐานร่วม กันและความเหมือนกันตามธรรมชาติอันหนึ่งในด้านความคิดจิตใจ ดังที่มีอยู่ในด้านร่างกาย ซึ่งการเบี่ยงเบนผิดไปทั้งหลายย่อมมีแนวโน้มที่จะหันกลับมาสู่มาตรฐานนี้เสมอ ภาวะที่เราเป็นอยู่ขณะนี้อาจจะก่อให้เกิดความบิดเบือนไปดังเช่นที่ชาวอินเดียนแดงเผ่า Flathead ก่อให้เกิดขึ้นโดยการอัดศีรษะของทารกของตน หรือดังเช่นที่ชาวจีนรัดเท้าของบุตรี แต่เมื่อทารกของอินเดียนแดงเผ่า Flathead ยังคงเกิดมาโดยมีศีรษะเป็นรูปตามธรรมชาติและทารกชาวจีนยังคงเกิดมาโดยมีเท้าเป็นรูปตามธรรมชาติฉันใด ก็ดูเหมือนว่าธรรมชาติจะหันกลับไปสู่แบบของความคิดจิตใจตามปกติฉันนั้น เด็กมิได้สืบมรดกความรู้แห่งบิดาตนมากไปกว่าที่เขาจะสืบมรดกนัยน์ตาแก้วหรือขาเทียมของบิดา บุตรของบิดามารดาที่โง่ทึบที่สุดอาจจะกลายเป็นผู้บุกเบิกในด้านวิทยา-ศาสตร์หรือเป็นผู้นำในด้านความคิดก็ได้

แต่นี่คือข้อเท็จจริงอันยิ่งใหญ่ซึ่งเราเกี่ยวข้องด้วย: ความแตกต่างระหว่างประชาชนของประชาคมต่าง ๆ ในสถานที่และเวลาต่าง ๆ กัน ซึ่งเราเรียกว่าความแตกต่างกันในด้านอารยธรรมนั้น มิใช่ความแตกต่างกันอันมีฝังอยู่ในตัวของแต่ละบุคคล หากเป็นความแตก ต่างกันอันมีฝังอยู่ในสังคม มันมิใช่ความแตกต่างกันอันเนื่องจากความแตกต่างกันของแต่ละหน่วย ดังที่ Herbert Spencer กล่าว แต่มันเป็นความแตกต่างกันอันเนื่องจากภาวะที่แต่ละหน่วยเหล่านี้เข้ามารวมกันอยู่ในสังคม กล่าวสั้น ๆ ข้าพเจ้าถือว่าคำอธิบายถึงความแตกต่างซึ่งทำให้ประชาคมต่าง ๆ แตกต่างกันไป เป็นดังนี้: สังคมแต่ละสังคม จะใหญ่หรือเล็กก็ตาม ย่อมจะทอสานสายใยแห่งความรู้ ความเชื่อ ประเพณี ภาษา รสนิยม สถาบัน และกฎเพื่อตนเอง บุคคลแต่ละคนจะเกิดเข้ามาสู่ข่ายสายใยนี้ซึ่งสังคมแต่ละสังคมสร้างขึ้นมา หรือที่ถูก บุคคลแต่ละคนจะเกิดเข้ามาสู่บรรดาข่ายสายใยหลาย ๆ ข่ายเหล่านี้ (เพราะประชาคมแต่ละประชาคมที่สูงกว่าระดับที่ง่ายที่สุดย่อมจะประกอบไปด้วยสังคมเล็ก ๆ หลายสังคมซึ่งซ้อนทับกันและเกี่ยวพันซึ่งกันและกัน) และจะคงอยู่ต่อไปจนกว่าจะตาย มันเป็นแม่พิมพ์อันเป็นแหล่งเจริญเติบโตของจิต ใจและเป็นที่ก่อให้เกิดแบบลักษณ์แก่ความคิด นี่เป็นลักษณะที่ประเพณี ศาสนา อคติอุปาทาน รสนิยม และภาษาเติบโตขึ้นมาและดำรงอยู่ต่อไป นี่เป็นลักษณะวิธีในการถ่ายทอดฝีมือความชำนาญและในการสะสมความรู้ และในการที่การค้นพบของยุคหนึ่งกลายเป็นสมบัติร่วมกันและเป็นบันไดสำหรับยุคต่อไป ถึงแม้มันเองมักจะเป็นอุปสรรคอันร้ายแรงที่สุดที่ขัดขวางความ ก้าวหน้าอยู่บ่อย ๆ แต่มันก็เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความก้าวหน้าขึ้นได้ สิ่งนี้แหละที่ทำให้เด็ก นักเรียนในสมัยของเราสามารถเรียนรู้เรื่องของเอกภพได้มากกว่าที่ Ptolemy รู้ โดยใช้เวลาเพียง 2–3 ชั่วโมงเท่านั้น สิ่งนี้แหละที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์ที่โง่ที่สุดอยู่สูงกว่าระดับของความคิดอัน ยิ่งใหญ่ของ Aristotle ขึ้นไปมาก สำหรับเชื้อชาติหนึ่ง ๆ มันเป็นเสมือนความทรงจำของบุคคลหนึ่ง ๆ ศิลปะการช่างอันน่าทึ่ง วิทยาศาสตร์อันก้าวหน้าไปไกล การคิดประดิษฐ์อันมหัศจรรย์ของเรา – เหล่านี้ ล้วนแต่เกิดขึ้นได้ด้วยวิธีนี้ทั้งสิ้น

ความก้าวหน้าของมนุษยชาติย่อมจะดำเนินต่อไป ในเมื่อความเจริญก้าวหน้าที่มนุษย์รุ่นหนึ่งกระทำไว้ได้กลายมาเป็นสมบัติร่วมกันของคนรุ่นต่อไปโดยวิธีนี้ และกลายเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับการก้าวหน้าใหม่ ๆ

อ่านต่อ >>>

* Wordsworth ได้กล่าวเป็นนัยถึงอิทธิพลเช่นนี้ใน “Song at the Feast of Brougham Castle” เป็นบทร้อยกรองอันไพเราะมีใจความว่า: Armor rusting in his halls On the blood of Clifford calls: “Quell the Scot,” exclaims the lance; “Bear me to the heart of France,” Is the longing of the shield.

ทฤษฎีปัจจุบันว่าด้วยความก้าวหน้าของมนุษย์ ความไม่เพียงพอของทฤษฎีนี้
ความแตกต่างกันในอารยธรรมเป็นเพราะอะไร
กฎว่าด้วยความก้าวหน้าของมนุษยชาติ
อารยธรรมสมัยใหม่จะเสื่อมลงได้อย่างไร
สัจจะศูนย์กลาง
 

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย