ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม อารยธรรม >>

จักรวรรดิไศเลนทร์

2

คำว่า “เวท” หรือ “เวทะ” ในภาษาอินเดีย แปลว่า ความรู้ หรือศาสตร์

คำว่า “พระ” เป็นคำนำหน้าเพื่อยกย่องสิ่งที่นับถือว่าศักดิ์สิทธิ์ตามธรรมชาติ เช่น พระธรณี พระคงคา พระเพลิง พระพาย หรือเทพเจ้า เช่น พระพรหม พระนารายณ์ พระอิศวร หรือดวงดาวที่ให้คุณให้โทษต่อโลกว่า ดาวพระเคราะห์หรือให้ยกย่องมนุษย์ผู้สูงศักดิ์ เช่น พระเจ้าแผ่นดิน หรือบรรดาศักดิ์ของนักบวช เช่น พระสังฆราช พระราชครู เป็นต้น

คัมภีร์พระเวท ตามนัยความหมายดั้งเดิมจึงเป็นเรื่องของความรู้ในทางโลกศาสตร์ที่ล้ำลึกยิ่งใหญ่และกว้างขวางยิ่งกว่าศาสตร์ใด ๆ ไม่ได้เกี่ยวกับหลักธรรมคำสอนของศาสนาแต่อย่างใด ชาวอินเดียมีความเชื่ออย่างมั่นคงว่า “คัมภีร์พระเวท” เป็นพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าทรงบอกกล่าววิชาความรู้ให้แก่เหล่าฤาษีผู้สำเร็จญาณชั้นสูง เพื่อให้นำมาสั่งสอนถ่ายทอดแก่มวลมนุษยชาติ ใช้สำหรับสร้างสรรค์อารยธรรมให้รุ่งเรืองขึ้นในโลก จึงไม่ใช่เป็นผลงานที่มนุษย์ธรรมดาเป็นผู้เรียบเรียงขึ้น “คัมภีร์พระเวท” แต่เดิมไม่ได้จดบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร เหล่าฤาษีได้ท่องจำไว้ในใจ แล้วถ่ายทอดให้แก่ศิษย์ท่องจำสืบต่อกันมา “คัมภีร์พระเวท” ประกอบด้วยคัมภีร์สำคัญ คือ

คัมภีร์ฤคเวท คัมภีร์ยชุรเวท คัมภีร์สามเวท และคัมภีร์อาถรเวท

ผู้ที่ท่องจำคัมภีร์พระเวทสืบต่อจากเหล่าฤาษีเรียกว่า “พรามหณ์” แปลว่า ผู้สวด หรือ ผู้ท่องจำ มีหน้าที่ท่องจำทบทวนข้อความใน “คัมภีร์พระเวท” ให้ถูกต้องแม่นยำจนขึ้นใจ เพื่อนำไปสั่งสอนให้ศิษย์รุ่นต่อไป ไม่มีใครทราบว่าฤาษีผู้เป็นปฐมอาจารย์ซึ่งพระเจ้าทรงถ่ายทอดพระวัจนะให้เป็นครั้งแรกมีชื่อว่าอย่างไร “คัมภีร์อัมพัฎฐสูตร” และ “คัมภีร์เตวิชชสูตร” ของพระพุทธศาสนาฑีฆะนิกาย อ้างว่าพระพุทธเจ้าทรงตรัสถึงชื่อฤาษีว่ามี 10 ตน ไว้ดังนี้

  1. ฤาษีอัฎฐกะ
  2. ฤาษีวามกะ
  3. ฤาษีวามะเทวะ
  4. ฤาษีเวสามิตร
  5. ฤาษียมตัคคี
  6. ฤาษีอังคีรส
  7. ฤาษีภารทวาชะ
  8. ฤาษีวาเสฏฐะ
  9. ฤาษีกัสสปะ
  10. ฤาษีภคุ

ด้วยเหตุนี้นักประวัติศาสตร์อินเดียเรียกยุคที่ชาวอารยันผิวชาวบุกรุกเข้าไปตั้งถิ่นฐานมั่นคงอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศอินเดียสมัยก่อนพุทธกาลว่า “ยุคพระเวท” เมื่อรวมกันพัฒนาการของอารยธรรมหารับปาโมเหนจาดาโร :ซึ่งมีมาก่อน “ยุคพระเวท” หลายพันปี อารยธรรมอินเดียจึงมีอายุเก่าแก่ในราว 4500 ปีเศษ

เป็นที่ยอมรับกันว่าอารยธรรมอินเดียเป็นต้นธารสำคัญแห่งความคิดทางศาสนาที่มีญาณวิทยาล้ำลึกกว้างขวางและมีแนวความคิดในเชิงอภิปรัชญาหยั่งรู้ครบถ้วนรอบด้านยิ่งกว่าชนชาติใดในโลก ต่อมาสามารถพัฒนาการเป็น “ลัทธิ” และ“ศาสนา” สำคัญ เช่น สางขยะลัทธิ ปรัชญาโยคะ ศาสนาพราหมณ์ ศาสนาเชน ศาสนาพุทธ ศาสนาฮินดู ล้วนแต่เป็นแนวความคิดเกี่ยวกับการแสวงหาหนทางหลุดพ้นทุกข์ในโลกนี้ และเพื่อแสวงหาความสุขในโลกหน้า ด้วยวิธีการละบาปทั้งปวงมุ่งบำเพ็ญบารมีธรรมทางด้านจิตใจเพื่อให้บรรลุความจริงสูงสุด ต่อมาอารยธรรมอันสูงส่ง ลัทธิ ศาสนา ที่เกิดขึ้นในประเทศอินเดียได้หลั่งไหลข้ามมหาสมุทรเข้ามามีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของมนุษย์ในดินแดนทวีปเอเชียและตะวันออกเฉียงใต้สืบมาจนถึงสมัยปัจจุบัน

แม้ว่ายังมีบ่อเกิดทางปรัชญาและอารยธรรมอันสำคัญอีกสายหนึ่งของโลกตะวันออกคือ ประเทศจีน เช่น ลัทธิเต๋าลัทธิขงจื้อ แต่กระแสความคิดทางปรัชญาและอารยธรรมของจีนไม่สามารถพัฒนาการเป็นศาสนาได้เหมือนอย่างอินเดีย คงแนะนำสั่งสอนให้คนยึดถือปฎิบัติแนวความคิดทางโลก แตกต่างกับปรัชญาและอารยธรรมอินเดียมีความเข็มข้นล้ำลึกล่วงรู้เกี่ยวกับ 3 โลก ที่เชื่อมโยงต่อเนื่องถึงกันด้วยไฟในสวรรค์ ซึ่งคงหมายถึง แสงอาทิตย์ แสงดาว สอดคล้องกับการค้นพบของนักวิทยาศาสตร์ฟิสิกส์ในยุคปัจจุบัน หลักอภิปรัชญาที่ล้ำลึกจับใจจึงได้แทรกซึมเข้าไปมีอิทธิพลอยู่ในวิถีชีวิตของชนชาวจีนและบ้านเมืองที่นิยมวัฒนธรรมจีน เช่น ประเทศญี่ปุ่น เกาหลี มงโกเลีย ธิเบต นับถือปรัชญาทางศาสนาของอินเดียพร้อมกับยึดถือปรัชญาของจีนควบคู่กันไป ถึงกระนั้นก็ตามนักปราชญ์ได้แบ่งสายธารความคิดทางปรัชญาและอารยธรรมของโลกตะวันออกเป็น 2 สาย คือ

  • สายธารแห่งปรัชญาและอารยธรรมอินเดีย
  • สายธารแห่งปรัชญาและอารยธรรมจีน

    หน้าถัดไป >>>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย