ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม อารยธรรม >>

จักรวรรดิไศเลนทร์

13

       ในสมัยเริ่มต้นอารยธรรมในประเทศไทย พ่อค้าชาวอินเดียเดินทางเข้ามาติดต่อค้าขายและแลกเปลี่ยนสินค้ากับผลิตภัณฑ์ของชาวพื้นเมือง บริเวณตอนกลางทางฝั่งตะวันตกคาบสมุทรภาคใต้ของประเทศไทย นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าหลักฐานแหล่งโบราณคดีบ้านควนลูกปัด อำเภอคลองท่อม จังกวัดกระบี่ เป็นศูนย์กลางการติดต่อค้าขายแถบชายฝั่งทะเลอันดามันเกิดขึ้นมาก่อนเมืองท่าแห่งอื่น ๆ เพราะพบวัตถุโบราณมีอายุเก่าแก่จากต่างประเทศจำนวนมากในแหล่งโบราณคดีแห่งนั้น ต่อมาจึงเดินทางบกข้ามคาบสมุทรจากฝั่งทะเลอันดามันไปยังชายฝั่งทะเลด้านอ่าวไทย

เส้นทางข้ามคาบสมุทรจากบ้านควนลูกปัด อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ ไปยังอ่าวบ้านดอน จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยเดินบกจากฝั่งตะวันตกของคาบสมุทรไปลงเรือเล็กที่ คลองสินปูน ซึ่งเป็นคลองที่เกิดจากเทือกภูเขาในจังหวัดกระบี่ ไหลไปลงแม่น้ำหลวง หรือ แม่น้ำตาปี ในเขตอำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช แล้วล่องไปยังแหล่งโบราณคดีเมืองเวียงสระ ไปยังเมืองท่าเรือที่แหล่งโบราณคดีเขาศรีวิชัย บ้านหัวเขา ตำบลศรีวิชัย อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี

อาจกล่าวได้ว่าเป็นแหล่งผลิตลูกปัดแก้ว ลูกปัดหิน แหล่งใหญ่อีกแห่งหนึ่ง และยังพบภาชนะแก้วโมเสกแบบโรมัน สีเขียว สีเหลือง หลักฐานดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงเส้นทางการค้าที่เชื่อมโยงไปยังดินแดนโนทะเลทางตะวันตกจนผ่าน อินเดีย อาหรับ ทะเลแดง ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ไปจนถึงจักรวรรดิโรมันในทวีปยุโรป



จากหลักฐานดังกล่าวแสดงให้เห็นบริเวณตอนกลางคาบสมุทรภาคใต้ของประเทศไทย ตั้งอยู่บนเส้นทางการค้าทางทะเลของโลก (World System) หรือที่เรียกกันว่า “เส้นทางสายไหมทางทะเล” มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เส้นทางคมนาคมและการค้าทางทะเลของโลก เริ่มต้นจากเมืองท่าเรือในมณฑลกวางตุ้งทางตอนใต้ของประเทศจีนพาดผ่านคาบสมุทรภาคใต้ของประเทศไทย อินเดีย ศรีลังกา อาหรับ ไปสิ้นสุดที่กรุงโรมในทวีปยุโรป ชุมชนชายฝั่งทะเลจีนใต้และทะเลอันดามันกลายเป็นเมืองท่าและสถานีการค้า ติดต่อเชื่อมโยงถึงกันมาช้านานแล้ว สันนิษฐานว่าพวกพ่อค้าชาวอินเดียและชาวต่างชาติในสมัยโบราณ แล่นเรือเลียบชายฝั่งทะเลและแวะพักตามเมืองท่าเป็นจุด ๆ ไปจนถึงบริเวณตอนกลางคาบสมุทรภาคใต้ของประเทศไทย แล้วซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้ากับชาวพื้นเมืองหรือตั้งนิคมการค้าขึ้นเพื่อซ่อมแซมเรือและรอลมมรสุมในฤดูถัดไป พร้อมกับนำอารยธรรมแปลกใหม่ทันสมัยเข้ามาเผยแพร่แก่ชาวพื้นเมืองตามเมืองท่าต่าง ๆ ตลอดมา ด้วยเหตุนี้ดินแดนตอนกลางคาบสมุทรภาคใต้ของประเทศไทย จึงเป็นดินแดนที่มีชื่อเสียงเลื่องลือขจรขจายไปไกล วรรณกรรมโบราณของขาวอินเดียจึงขนานนามดินแดนดังกล่าวว่า “สุวรรณภูมิ” หรือ “สุวรรณทวีป”

หน้าถัดไป >>>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย