ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

การอุบัติขึ้นและลักษณะเด่นของพระพุทธศาสนา

การอุบัติขึ้นและพัฒนาการแห่งพระพุทธศาสนา

สมัยนี้ได้มีการแสวงหาค้นคว้าสัจธรรมกันมากกว่าสมัยพราหมณ์ ซึ่งมีแต่เรื่องพิธีกรรม เช่นการบูชายัญ เป็นต้น ทำให้คนไม่มีอิสรภาพทางความคิด เป็นการครอบงำทางความคิด ซึ่งประกาศิตโดยพระเจ้า จึงทำให้คนในสังคมวุ่นวายไปหมด ในสมัยพุทธกาลเป็นการเริ่มต้นประวัติศาสตร์ที่เจริญรุ่งเรืองผู้คนได้ค้นหาโมกขธรรมหาอุบายพ้นทุกข์อย่างจริงจังทั้งในอินเดียมีพระพุทธเจ้า ศาสดามหาวีระ ในกรีกก็มีปารมีนิเดส เอมพิโดเคลส ในอิหร่านมี ซาราอุสตระ

ประวัติพระพุทธเจ้า
เริ่มต้นตั้งแต่พระเจ้าโอกกากราช ครองเมืองอยู่แถบภูเขาหิมาลัย พระองค์ได้ให้โอรสธิดาไปสร้างเมืองใหม่ ซึ่งต่อมาคือกรุงกบิลพัสดุ์ โอรสธิดาเหล่านี้ได้แต่งงานกันภายในสกุลและได้กลายเป็นสายสกุลโคตมะ ส่วนธิดาที่เป็นเชษฐภคินี ได้แต่งงานกับพระเจ้ารามแห่งเมืองเทวทหะ เป็นสกุลอีกสกุลหนึ่ง เรียกว่าโกลิยะสกุล ทั้งสองสกุลมีความสัมพันธ์กันทางการอภิเษกสมรสมายาวนานจนถึงสมัยพระเจ้าสีหนุแห่งศากยะ ได้อภิเษกสมรสกับพระนางกาญจนาแห่งโกลิยะเมืองเทวทหะ มีโอรสธิดา 7 พระองค์ คือ เจ้าชายสุทโธทนะ เจ้าชายสุกโกทนะ เจ้าชายอมิโตทนะ เจ้าชายโธโตทนะ เจ้าชายฆนิโตทนะ เจ้าหญิงอมิตา เจ้าหญิงปมิตา เมื่อสิ้นสมัยพระเจ้าสีหนุก็มาถึงการครองราชย์ของพระเจ้าสุทโธทนะ ซึ่งได้อภิเษกสมรสกับพระนางสิริมหามายาแห่งเมืองเทวทหะนคร มีพระโอรส 1 พระองค์ คือเจ้าชายสิทธัตถะ ก่อนประสูติมีเรื่องเล่าว่า พระมารดาคือพระนางสิริมหามายา ได้ทรงสุบินว่าได้เสด็จประพาสป่าหิมพานต์ และได้มีช้างเผือกนำดอกบัวมาถวายพระนาง หลังจากตื่นจากบรรทมแล้ว ด้วยความสงสัยในพระสุบินจึงรับสั่งให้โหรเข้ามาทำนายความฝันนั้น ได้ความว่าพระนางจะได้พระโอรสผู้มีบุญญาธิการมากมาอุบัติขึ้นในพระครรภ์ หลังจากทรงพระครรภ์แก่ใกล้จะประสูติได้ทูลลาพระเจ้าสุทโธทนะ เพื่อไปประสูติที่กรุงเทวทหะ พอถึงลุมพินีวัน พระนางสิริมหามายาได้ประสูติพระกุมาร โดยทรงยืนเหนี่ยวรั้งกิ่งไม้สาละ ในวันศุกร์เพ็ญเดือนหกแห่งวิสาขมาส ก่อนพุทธศก 80 ปี

หลังจากประสูติ พระกุมารทรงเดินได้ 7 ก้าว และทรงชี้นิ้วข้างขวาพร้อมกับเปล่งวาจาว่า เราเป็นผู้เลิศในโลก เป็นผู้เจริญที่สุดในโลก ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย ชาติอื่น ภพอื่น ของเราไม่มีอีกแล้ว สิ่งที่เป็นสหชาติคือ 1.พระนางพิมพา 2.เจ้าชายอานนท์ 3.อำมาตย์กาฬุทายี 4.นายฉันนะ 5. ม้ากัณฐกะ 6.ต้นศรีมหาโพธิ์ 7.ขุมทองทั้ง 4 เมื่อประสูติได้ 3 วันอสิตดาบสหรือกาฬเทวิลดาบส ที่บำเพ็ญพรตอยู่ในป่าหิมพานต์มีความชำนาญในสมาบัติ 8 มีความคุ้นเคยกับพระเจ้าสุทโธทนะมาก ได้เข้าเยี่ยมได้ตรวจดูลักษณะของพระกุมาร ผู้มีลักษณะมหาบุรุษ 32 ประการครบถ้วน ได้แสดงความเคารพทั้งมีอาการหัวเราะและร้องไห้ ทำให้พระเจ้าสุทโธทนะประหลาดใจ และได้ตรัสถามว่า ทำไมท่านถึงหัวเราะและร้องไห้ อสิตดาบสได้กราบทูลว่า ที่หัวเราะเพราะมีความยินดีกับพระโอรสที่จะบรรลุเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าศาสดาเอกในโลก และที่ร้องไห้เพราะท่านมีอายุมากแล้วไม่อาจได้ฟังคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น เมื่อประสูติได้ 5 วัน พระเจ้าสุทโธทนะได้เชิญพราหมณ์ 108 ที่มีความชำนาญในไตรเพทมาในงานเลี้ยง พราหมณ์เหล่านั้นได้ขนานพระนามพระโอรสว่า สิทธัตถะ จากพราหมณ์ 108 คัดเลือกเหลือกันเอง 8 คน(รามพราหมณ์, ลักษณะพราหมณ์, ยัญญพราหมณ์, ธุชชพราหมณ์, โภชพราหมณ์, สุทัตตพราหมณ์, สุยามพราหมณ์ และโกณฑัญญพราหมณ์) เพื่อทำนายพระลักษณะของพระโอรส พราหมณ์ 7 คนได้ทำนายเป็นสองนัยว่า หากว่าพระโอรสครองราชสมบัติจะได้เป็น จักรพรรดิ์ แต่หากออกผนวช จะได้เป็นศาสดาเอกในโลก ส่วนโกณฑัญญะพราหมณ์หนุ่ม ได้พยากรณ์เป็นนัยเดียวว่า พระโอรสจะทรงออกผนวชและได้เป็นศาสดาเอกในโลก

เมื่อประสูติได้ 7 วัน พระนางสิริมหามายา ได้สวรรคต พระเจ้าสุทโธทนะจึงได้มอบภาระในการเลี้ยงดูเจ้าชายสิทธัตถะกับพระนางปชาบดีโคตมี ผู้ภคินี (น้องสาว) ของพระนางสิริมหามายาพระเจ้าสุทโธทนะกับพระนางปชาบดีโคตมี มีโอรสธิดา 2 พระองค์ คือ เจ้าชายนันทะ และเจ้าหญิงรูปนันทา พระโอรสและธิดาทั้ง 3 ได้รับการเลี้ยงดูอย่างดี จากพระนางปชาบดีโคตมี

เจ้าชายสิทธัตถะ เมื่อมีพระชนมายุได้ 7 พรรษา พระเจ้าสุทโธทนะได้พระราชทานเครื่องทรง คือจันท์ สำหรับทาโพกพระเศียร เครื่องฉลองพระองค์ และรับสั่งให้ขุดสระสำหรับสนาน 3 สระ คือ สระที่ปลูกอุบลบัวขาว สระที่ปลูกอุบลบัวหลวง สระที่ปลูกบุณฑริก พร้อมกันนี้พระเจ้าสุทโธทนะ ได้จัดให้เจ้าชายสิทธัตถะได้รับการศึกษาศิลปศาสตร์ในสำนักครูวิศวามิตร

พระชนมายุได้ 16 พรรษา หลังจากจบการศึกษา พระเจ้าสุทโธทนะ ได้ให้สร้างปราสาท 3 ฤดู คือ รัมยปราสาท สำหรับฤดูร้อน สุรัมยปราสาท สำหรับฤดูหนาว และสุภปราสาท สำหรับฤดูฝน แล้วทรงเลือกคู่ครองสำหรับเจ้าชายสิทธัตถะ โดยเลือกได้เจ้าหญิงยโสธราหรือพิมพาผู้เป็นธิดาของพระเจ้าสุปพุทธะ กับพระนางอมิตาแห่งกรุงเทวทหะ เป็นคู่อภิเษกสมรส เจ้าชายสิทธัตถะและเจ้าหญิงยโสธรา มีพระโอรสด้วยกัน 1 พระองค์ คือ ราหุลกุมาร พระชนมายุได้ 29 พรรษา

หลังจากประพาสอุทยานได้ทอดพระเนตรเห็นคนแก่ คนเจ็บ คนตาย และสมณะ พระองค์ได้รู้ถึงความจริงของโลกภายนอก ทรงเกิดความเบื่อหน่ายในการอยู่ครองเรือน และดำริถึงการออกผนวชอย่างสมณะมากกว่า จึงตัดสินพระทัยออกผนวชในเวลากลางคืน (ตำราฝ่ายมหายานกล่าวว่าเสด็จออกผนวชในเวลากลางวันต่อพระพักตร์พระเจ้าสุทโธทนะ) โดยทรงม้ากัณฐกะ มีนายฉันนะตามเสด็จ เมื่อถึงแม่น้ำอโนมา พระองค์ได้เปลื้องเครื่องประดับตัดพระเมาฬี (เส้นผม) ทรงเพศเป็นดาบส ทรงพระดำเนินลับตาหายไป ม้ากัณฐกะพาหนะที่ซื่อสัตย์ได้อกแตกตาย ส่วนนายฉันนะได้กลับสู่พระนคร

เมื่อสิทธัตถะดำเนินถึงแคว้นมคธ พระเจ้าพิมพิสารทรงทราบเรื่องและได้อาราธนาให้ประทับอยู่ที่เมืองราชคฤห์ โดยพระองค์จะมอบถวายราชสมบัติให้ครองครึ่งหนึ่ง แต่พระองค์บอกปฏิเสธ พระเจ้าพิมพิสารได้ทูลอีกว่า หากได้บรรลุธรรมขั้นสูงแล้วให้มาแสดงโปรดพระองค์ด้วย เจ้าชายสิทธัตถะรับคำอาราธนา ได้เสด็จไปศึกษาที่สำนัก อาฬารดาบส กาลามโคตร จนได้สมาบัติ 8 คือ รูปฌาณ 4 อรูปฌาณ 4 ซึ่งเป็นความรู้สูงสุด หลังจากนั้นได้ไปศึกษาที่สำนักของ อุททกดาบสรามบุตร ทรงทราบว่าไม่ใช่ทางแห่งการตรัสรู้ จึงได้เสด็จไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ทรงประพฤติพรตบำเพ็ญทุกกรกิริยา (ทำทุกกรกิริยา หมายความว่าการกระทำที่ทำได้โดยยาก เช่น กดพระทนต์ด้วยพระทนต์, กดพระตาลุด้วยพระชิวหา,กลั้นลมอัสสาสะ ปัสสาสะ เป็นต้น) โดยมีปัญจวัคคีย์ (โกณฑัญญะ, วัปปะ, ภัททิยะ, มหานามะและอัสสชิ) คอยรับใช้ปรนนิบัติจนพระวรกายซูบผอมมองเห็นซี่โครงทั่วร่างกาย จนทำให้พระโลมาหลุดร่วงจากขุมขนหมดสิ้น การบำเพ็ญประพฤติพรตอย่างนี้ เป็นที่พอใจของปัญจวัคคีย์เป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นแนวทางแห่งการบรรลุโมกษะของพวกพราหมณ์ในขณะนั้น การทรมานกายให้ลำบากถึงเพียงนี้ก็ไม่อาจทำให้พระสิทธัตถะบรรลุคุณวิเศษได้ พระองค์จึงได้พิจารณาพิณ 3 สาย ที่ได้ประสบมาก่อนว่า เมื่อใดพิณที่สายหย่อนยานเกินไปก็ฟังไม่ไพเราะ ตรงกันข้ามกับพิณที่สายตึงเกินไปทำให้สายขาดได้ แต่ถ้าพิณที่สายตึงพอดีพอเหมาะก็ย่อมจะทำให้ได้เสียงอันไพเราะจับใจ เมื่อได้พิจารณา ดังนี้ จึงได้หันมาเสวยภัตตาหาร ซึ่งทำให้ปัญจวัคคีย์ได้หลบหนีจากพระองค์ไป

เช้าวันหนึ่งนางสุชาดา หญิงสาวชาวบ้านคนหนึ่งได้อธิษฐานต่อเทวดาอารักษ์ว่าขอให้นางได้แต่งงาน มีสามีที่มีศักดิ์เสมอกันและมีบุตรชายด้วยกัน ก็จะทำการบูชาเซ่นสรวงด้วยข้าวมธุปายาส และทรัพย์สินเงินทองแสนกหาปณะ เมื่อได้พบเห็นมหาบุรุษที่มีลักษณะงดงามที่ใต้ต้นศรีมหาโพธิ์จึงได้ถวายข้าวมธุปายาส พระองค์ทรงรับและเสวยแล้วจึงได้อธิษฐานลอยถาดว่า ถ้าจะได้บรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ขอให้ถาดนี้ลอยทวนกระแสน้ำ ผลปรากฏว่าถาดนั้นได้ทวนลอยกระแสน้ำ จมลงสู่ก้นแม่น้ำในที่สุด จากนั้นพระองค์ได้เสด็จไปประทับใต้ร่มไม้สาละ ทำความเพียรตลอดทั้งวัน และกลับมายังใต้ร่มศรีมหาโพธิ์อีกครั้งหนึ่ง ในระหว่างทางได้พบกับโสตถิยพราหมณ์ กำลังหาบหญ้าสวนทางมา เกิดมีความเลื่อมใสจึงได้ถวายหญ้าคา 8 กำ พระองค์ได้รับไว้แล้วได้ปูลาดเป็นบัลลังก์ที่โคนต้นศรีมหาโพธิ์พร้อมอธิษฐานว่า แม้เลือดจะเหือดแห้งไป เนื้อจะหมดไป เหลือแต่หนัง เอ็น กระดูก ก็ตามที ตราบใดที่ยังไม่ได้บรรลุสัมมาสัมโพธิญาณ เราจักไม่ยอมลุก ตราบนั้น เมื่อพระองค์ทำความเพียรอย่างแรงกล้า อำนาจกิเลสกามได้มาขัดขวางการทำความเพียรอย่างหนัก ทำให้พระองค์หวนคิดกลับไปหาความสุขสบายแต่หนหลังที่ได้มีมาก่อน ภาพแห่งการหลอกหลอนของกิเลสเหล่านี้ได้ปรากฏขึ้นบ่อยๆ ล้วนแต่ทำพระหฤทัยให้ตกคล้อยไปด้วย พระองค์จึงได้นำเอาอำนาจบารมี 10 ทัศน์ มาประชุมเป็นพลวปัจจัย ให้พระหฤทัยเข้มแข็งเป็นสมาธิ (บารมี 10 ทัศ คือ ทาน ศีล บรรพชา ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน เมตตา อุเบกขา) จนได้บรรลุญาณ 3 คือ (1) ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ คือความรู้ระลึกชาติในหนหลังได้ (2) จุตุปปาตญาณ คือ ความรู้การจุติและการเกิดของสัตว์ทั้งหลาย หรือบางครั้งเรียกว่า ทิพยจักขุญาณ และ (3) อาสวักขยญาณ คือความรู้ที่เป็นเหตุให้สิ้นอาสวะกิเลส คือความรู้ใน ปฏิจจสมุปปบาท



เมื่อพระองค์หยั่งรู้ญาณทั้ง 3 นี้แล้ว จิตก็หลุดพ้นจากอาสวะกิเลส เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหลังจากนนั้นแล้วทรงเสวยวิมุติสุขที่โคนต้นโพธิ์ 7 วัน ทรงพิจารณาปฏิจจสมุปปบาท ตลอด 3 ยามว่า

  1. ยามแรกเปล่งอุทานว่า “เมื่อใดธรรมทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์ผู้เพียรเพ่งอยู่ เมื่อนั้นความสงสัยทั้งปวงของพราหมณ์ย่อมสิ้นไปเพราะมารู้แจ้งสิ่งทั้งหลายเกิดมาแต่เหตุทั้งสิ้น”
  2. ในยามที่สองทรงเปล่งอุทานว่า “เมื่อใดธรรมทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์ผู้เพียรเพ่งอยู่ เมื่อนั้นความสงสัยทั้งปวงของพราหมณ์ย่อมสิ้นไปเพราะได้รู้ความสิ้นไปแห่งปัจจัยทั้งหลาย”
  3. ในยามที่สามทรงเปล่งอุทานว่า “เมื่อใดธรรมทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์ผู้เพียรเพ่งอยู่ เมื่อนั้นย่อมกำจัดมารและเสนามารเสียได้ ประดุจอาทิตย์อุทัยกำจัดความมืด ยังอากาศให้สว่างฉะนั้น”

จากนั้นได้เสด็จไปยังทิศอีสานของต้นศรีมหาโพธิ์ ทอดพระเนตรต้นศรีมหาโพธิ์โดยไม่กระพริบพระเนตร 7 วัน ที่ประทับนั้นเรียกว่า อนิมมิสเจดีย์ จากนั้นได้เสด็จไปทางเหนือทิศอุดรของต้นศรีมหาโพธิ์ ทรงจงกรมอยู่เป็นเวลา 7 วัน ที่ประทับจงกรมนั้นเรียกว่า รัตนจงกรมเจดีย์ ต่อจากนั้นเสด็จไปยังทิศพายัพของต้นศรีมหาโพธิ์ ทรงนั่งทบทวนสิ่งที่ ตรัสรู้มาที่ประทับนั่งนั้นเรียกว่า รัตนฆรเจดีย์ จากนั้นทรงเสด็จไปยังต้นไทร อันเป็นที่พักของคนเลี้ยงแพะ (อชปาลนิโครธ) ซึ่งอยู่ทางตะวันออกของต้นศรีมหาโพธิ์ พระองค์ได้พบกับพราหมณ์เลี้ยงแกะคนหนึ่งผู้นิสัยดุดัน ชอบตวาดคนอื่น เป็นคนแรกที่ได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า พราหมณ์คนนั้นได้ทูลถามปัญหากับพระพุทธองค์ว่า บุคคลชื่อว่าเป็นพราหมณ์ได้นั้นจะต้องเป็นอย่างไร ธรรมอะไรทำให้บุคคลเป็นพราหมณ์ พระพุทธเจ้าทรงตรัสตอบว่า ผู้ที่จะเป็นพราหมณ์ได้นั้นต้องเป็นผู้ลอยบาปได้หมดแล้ว ไม่มีกิเลสเป็นเหตุให้กล่าวคำหยาบ ไม่มีกิเลสเครื่องย้อมจิต เป็นผู้สำรวมตนรู้จบไตรเพท อยู่ในพรหมจรรย์

จากนั้นได้เสด็จไปยังต้นมุจลินท์(ต้นจิก) อยู่ทางทิศอาคเนย์ ของต้นศรีมหาโพธิ์ ณ ที่นั่นทรงอุทานว่า ความสงัดเป็นความสุขของผู้ตรัสรู้ธรรมตามความเป็นจริง ความสำรวมใจไม่มีเบียดเบียน ไม่มีความกำหนัดล่วงพ้นจากกามทั้งหลาย เป็นความสุขในโลก ความไม่ถือตัวตน เป็นความสุขอย่างยิ่ง แล้วเสด็จต่อไปยังต้นราชายตนะ(ไม้เกตุ) อยู่ห่างออกไปทางทิศทักษิณของต้นศรีมหาโพธิ์ ที่นั้นพระองค์ได้ทรงพบกับ 2 พ่อค้าวาณิช ชื่อ ตปุสสะกับ ภัลลิกะ ซึ่งเดินทางมาจากอุกกลชนบท ทั้ง 2 ได้ถวายข้าวสัตตุก้อน สัตตุผงแก่พระพุทธเจ้า พร้อมกับถวายตนเป็นอุบาสกถึงพระพุทธ พระธรรม เป็นครั้งแรกในพระพุทธศาสนา ก่อนจะทูลลาจากไปพ่อค้าทั้งสองทูลขอวัตถุเพื่อเป็นที่สักการะบูชา พระองค์ได้ประทานเกศาให้ 8 เส้น ต่อจากนั้นทรงพิจารณาถึงธรรมที่พระองค์ได้ตรัสรู้ว่าเป็นของยากที่คนอื่นจะเข้าใจทำให้พระองค์ท้อพระหฤทัย แต่พระองค์ได้มีจิตน้อมไปในพระโพธิญาณที่ตรัสรู้ ทรงเปรียบเทียบบุคคลที่จะรับคำสั่งสอนเหมือนดอกบัว 4 เหล่า คือ

  1. อุคฆติตัญญู ผู้รู้ธรรมได้เร็วเหมือนดอกบัวที่พ้นน้ำแล้ว
  2. วิปจิตัญญู บุคคลที่จะต้องได้รับคำอธิบายขยายความ เหมือนดอกบัวที่เสมอน้ำ
  3. เนยยะ บุคคลที่พอจะแนะนำได้ แต่ต้องใช้คำพร่ำสอนอย่างมาก เหมือนดอกบัวที่อยู่ใต้น้ำ
  4. ปทปรมะ บุคคลที่มีปัญญาทึบ ไม่สามารถจะรู้ธรรมได้ หรือมีปัญญาดีแต่มีทิฏฐิมาก เหมือนบัวใต้ตม

เมื่อมีพระทัยน้อมไปในการแสดงธรรมทรงพิจารณาบุคคลไปตามความเหมาะสม ในอันดับแรก ทรงระลึกถึง อาฬารดาบส และอุททกดาบส แต่ทั้งสองได้เสียชีวิตไปแล้ว จึงได้เสด็จไปที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ซึ่งปัญจวัคคีย์หนีพระองค์ไปอยู่ที่นั่น ทรงพบอุปกาชีวก ในระหว่างทาง พระองค์พร้อมที่จะแสดงธรรม แต่เขาไม่อาจเข้าใจธรรม ได้แต่แลบลิ้น ส่ายศีรษะหนีไป ต่อจากนั้นได้เสด็จถึงสำนักปัญจวัคคีย์ ซึ่งครั้งแรกได้แสดงอาการกระด้างกระเดื่องต่อพระองค์ สุดท้ายพระองค์ได้แสดงธัมมจักรกัปปวัตตนสูตร ต่อปัญจวัคคีย์ นับเป็นปฐมเทศนาในโลก เป็นเหตุให้โกณฑัญญะพราหมณ์ได้ดวงตาเห็นธรรม และขออุปสมบทพระองค์จึงประทานด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทา ต่อมาปัญจวัคคีย์ทั้ง 4 ที่เหลือก็ได้ดวงตาเห็นธรรม และได้ขออุปสมบทเช่นเดียวกัน จึงนับเป็นครั้งแรกที่ครบองค์พระรัตนตรัย

จากนั้นได้เสด็จไปโปรดยสกุลบุตรพร้อมด้วยสหาย จนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ที่แขวงเมืองพาราณสี ส่วนบิดามารดาและเมียเก่าของพระยสะได้ถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งเป็นคนแรก เมื่อออกพรรษ แล้ว พระองค์ได้ส่งสาวกออกไปประกาศพระศาสนาทั่วทิศทั้ง 4 ส่วนพระองค์ได้เสด็จไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ได้แสดงธรรมโปรดชฎิล 3 พี่น้อง ทั้ง 3 พร้อมด้วยบริวาร 1,000 ได้ขออุปสมบทและได้ฟังพระธรรมเทศนาในหัวข้อ อาทิตตปริยายสูตร จนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ จากนั้นได้เสด็จพร้อมด้วยพระสาวกไปโปรดพระเจ้าพิมพิสาร ณ ลัฎฐิวัน สวนตาลหนุ่ม พระเจ้าพิมพิสารและบริวารได้บรรลุโสดาบัน จากนั้นมาพระสาวกคนสำคัญๆ ก็ได้เข้ามาสู่พระศาสนา มีพระอัครสาวก คือพระสารีบุตร พระมหาโมคคัลลานะพระอานนท์ พระมหากัสสปะ พระอุทายี พระนันทะ เป็นต้น

พระพุทธองค์ทำพุทธกิจเทศนาสั่งสอนประชาชนอยู่ตลอด 45 พรรษา พระชนมายุได้ 80 พรรษา ซึ่งจำพรรษาสุดท้ายที่เมืองเวสาลี จากนั้นได้เสด็จสู่เมืองกุสินารา เพื่อปรินิพพาน พอถึงเมืองปาวา ได้ฉันพระกระยาหารมื้อสุดท้าย ที่บ้านนายจุนทะซึ่งถวายเนื้อสุกรมัทวะ หลังจากนั้นพระองค์มีอาการอาพาธหนัก จวนจะปรินิพพาน แต่ด้วยอำนาจในสมาบัติจึง ประครองพระองค์ถึงสาลวโนทยานของกษัตริย์มัลละ เมืองกุสินารา ก่อนเสด็จดับขันธปรินิพพาน ทรงได้อุปสมบทสุภัททปริพพาชก เป็นพระสาวกองค์สุดท้าย

ขณะพระองค์กำลังใกล้จะปรินิพพาน พระอานนท์ได้แอบไปร้องไห้ เพราะคิดว่าพระองค์จะด่วนนิพพานไปแล้ว ตนเองยังไม่ได้บรรลุธรรมอะไรเลย ยังเป็นปุถุชนอยู่ จักไม่มีใครเป็นที่พึ่ง เมื่อพระองค์ได้ทราบเรื่องนั้นแล้ว จึงให้ตรัสเรียกพระอานนท์มาเข้าเฝ้า แล้วตรัสว่า พระอานนท์เป็นยอดอุปัฏฐาก รู้เวลาอันควรไม่ควร และในอนาคตจักได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ทำให้พระอานนท์คลายความเศร้าโศกลงได้บ้าง เมื่อถึงปัจฉิมยามของวันเพ็ญ 15 ค่ำ เดือน 6 ตรงกับวิสาขมาส พระพุทธเจ้า ก็ทรงดับขันธปรินิพพาน ณ สาลวโนทยาน ของมัลลกษัตริย์ เมืองกุสินารา อำเภอกาเซียร์ จังหวัดโครักขปุระ รัฐอุตตระประเทศในปัจจุบัน หลังปรินิพพาน โทณพราหมณ์ได้แบ่งพระบรมสารีริกธาตุเป็น 8 ส่วน แบ่งให้เมืองเวสาลี เมืองกบิลพัสดุ์ เมืองอัลกัปปะ เมืองรามคาม เมืองเวฏฐทีปกะ เมืองปาวา เมืองราชคฤห์ และเมืองกุสินารา โดยมอบแก่ตัวแทนของแต่ละเมือง เพื่อไว้บูชา

สมัยก่อนอารยันเข้าสู่อินเดีย
สมัยอารยันเข้าสู่ชมพูทวีป
สมัยพระเวท
สมัยพราหมณ์
สมัยอุปนิษัท
การอุบัติขึ้นและพัฒนาการแห่งพระพุทธศาสนา
ความสำคัญและลักษณะเด่นของพระพุทธศาสนา
ชมพูทวีปในอดีต
 

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย