ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

พระวรสารแห่งชีวิต

    ชีวิตมนุษย์มีต้นกำเนิดในองค์พระผู้เป็นเจ้า ทุกชีวิตมนุษย์จึงมาจากพระเจ้าและเป็นของพระเจ้า ทุกชีวิตมนุษย์เป็นของขวัญล้ำค่าที่พระเจ้าทรงประทานให้แก่โลก

บทนำ
บทที่ 1
บทที่ 2
บทที่ 3
บทที่ 4
บทส่งท้าย

29 30 31 32 33 34 35 36 37 38 39 40
41 42 43 44 45 46 47 48 49 50 51

32.ประสบการณ์ของประชากรแห่งพันธะสัญญาถูกรื้อฟื้นขึ้นใหม่ในประสบการณ์ของ “มนุษย์ผู้ยากจนทุกคน” ที่พบปะกับพระเยซูเจ้า ชาวนาซาเร็ธผู้นี้ ดังที่พระเจ้า “ผู้ทรงรักสิ่งมีชีวิต” (เทียบ ปชญ 11:26) ได้ทรงทำให้ชนอิสราเอลเกิดความแน่ใจในท่ามกลางภยันตรายนั้น ก็เช่นเดียวกันในบัดนี้ที่พระบุตรพระเจ้าทรงประกาศแก่ทุกคนที่ถูกคุกคามและถูกขัดขวางว่า ชีวิตของพวกเขาเป็นสิ่งดีงามด้วยเช่นกัน ที่ความรักของบิดาให้ความหมายและคุณค่าต่อชีวิตนั้น

“คนตาบอดกลับแลเห็น คนง่อยเดินได้ คนโรคเรื้อนหายจากโรค คนหูหนวกกลับได้ยิน คนตายกลับคืนชีพ คนจนได้ฟังข่าวดีที่ประกาศแก่พวกเขา” (ลก 7:22) ด้วยถ้อยคำเหล่านี้ของประกาศกอิสยาห์ (เทียบ อสย 35:5-6 ; 61-1) พระเยซูเจ้าก็ ทรงให้ความหมายแห่งพันธกิจของพระองค์ นั่นคือ ผู้ที่ต้องทนทุกข์เนื่องด้วยชีวิตของตน “ด้อยค่าลง” ทางใดทางหนึ่ง ก็จะได้ฟัง “ข่าวดี” จากพระองค์ว่า พระเจ้าทรงสนพระทัยในพวกเขา และพวกเขาก็รู้แน่ว่า ชีวิตของตนนั้นเป็นของประทานที่ได้รับการพิทักษ์ปกปักไว้ในพระหัตถ์ของพระบิดาเจ้าด้วย (เทียบ มธ 6:25-34)

พระเยซูทรงเทศน์สอนและกระทำการต่างๆ ก่อนใดหมดก็เพื่อ “คนยากจนทั้งหลาย” ฝูงชนคนป่วยและคนที่ไม่มีใครคบหาที่พากันติดตามและแสวงหาพระองค์ (เทียบ มธ 4:23-25) ได้พบการเผยแสดงให้เห็นถึงคุณค่ายิ่งใหญ่แห่งชีวิตของตนและพบวิธีที่จะสร้างความหวังในความรอดได้จากพระวาจาและกิจการต่างๆ ของพระองค์

สิ่งเดียวกันนี้เกิดขึ้นในงานพันธกิจของพระศาสนจักรนับแต่แรกเริ่มด้วยเช่นกัน เมื่อพระศาสนจักรประกาศว่า พระคริสตเจ้าเป็นผู้ที่ “เสด็จไปที่ใด ก็ทรงกระทำความดี และทรงรักษาทุกคนที่อยู่ใต้อำนาจของปีศาจ เพราะพระเจ้าสถิตอยู่กับพระองค์” (กจ 10:38) พระศาสนจักรสำนึกถึงการเป็นผู้รับสารแห่งความรอด ซึ่งสะท้อนเป็นสารใหม่อยู่ท่ามกลางความทุกข์ลำบากและความยากจนของชีวิตมนุษย์ ท่านนักบุญเปโตรได้รักษาชายง่อยที่นั่งขอทานอยู่ทุกวันที่ “ประตูงาม” ของพระวิหารกรุงเยรูซาเล็ม โดยกล่าวว่า “ข้าพเจ้าไม่มีเงิน ไม่มีทอง แต่ข้าพเจ้าจะให้ท่านในสิ่งที่ข้าพเจ้ามี เดชะพระนามของพระเยซูคริสตเจ้า ชาวนาซาเร็ธ จงเดินไปเถิด” (กจ 3:6) โดยความเชื่อในพระเยซู ผู้เป็น “เจ้าชีวิต” (กจ 3:15) ชีวิตนั้นที่ถูกทอดทิ้ง และร้องขอความช่วยเหลือก็ได้รับเกียรติและศักดิ์ศรีคืนมาครบถ้วน

พระวาจาและกิจการต่างๆ ของพระเยซูเจ้าและวาจากับกิจการของพระศาสนจักร มิได้หมายถึงเฉพาะสำหรับผู้เจ็บป่วย หรือผู้ทุกข์ทรมานหรือผู้ถูกทอดทิ้งไม่ทางใดก็ทางหนึ่งจากสังคมมนุษย์เท่านั้น ณ ระดับที่ลึกซึ้งกว่า วาจาและการกระทำต่างๆ นั้นส่งผลกระทบต่อความหมายโดยตรงของชีวิตมนุษย์ทุกคน ทั้งด้านศีลธรรมและด้านชีวิตจิตด้วย ผู้ที่ยอมรับว่าชีวิตของตนเต็มไปด้วยบาปความผิดเท่านั้น จึงจะสามารถค้นพบสัจธรรมและความเป็นอยู่แท้จริงของตนได้ในการพบปะกับพระเยซู องค์พระผู้ไถ่กู้มนุษย์ พระเยซูเจ้าเองทรงตรัสว่า “คนสบายดีย่อมไม่ต้องการหมอ แต่คนป่วยต้องการ เรามิได้มาเพื่อเรียกคนชอบธรรม แต่มาเพื่อเรียกคนบาปให้กลับใจ” (ลก 5:31-32) แต่คนที่เป็นเหมือนเศรษฐีที่ดินในเรื่องอุปมาในพระวรสารนั้นคิดว่า ตนสามารถทำให้ชีวิตของตนมั่นคงปลอดภัยได้ด้วยการสะสมทรัพย์สมบัติเพียงอย่างเดียว เขากำลังหลอกตัวเอง ชีวิตก็หลุดลอยไปจากเขา และไม่ช้าเขาก็พบว่าตนเองต้องสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่าง โดยที่ไม่เคยได้ชื่นชมกับความหมายแท้จริงของชีวิตเลย “คนโง่เอ๋ยคืนนี้เขาจะเรียกเอาชีวิตเจ้าไป แล้วสิ่งที่เจ้าได้เตรียมไว้จะตกเป็นของใครเล่า” (ลก 5:12-20)

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย