สุขภาพ ความงาม อาหารและยา สมุนไพร สาระน่ารู้

ไข้หวัดนก

ความรู้เรื่องโรคไข้หวัดนก
มิสเตอร์ไข้หวัดนก
การแก้ไขปัญหาโรคไข้หวัดนก
เตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ปัญหาการระบาดใหญ่ฯ
ระบาดวิทยาของไข้หวัดนกทั่วโลก
ระบาดวิทยาของโรคไข้หวัดนกในประเทศไทย
แนวทางการป้องกันควบคุมโรคไข้หวัดนก และโรคติดต่ออุบัติใหม่อุบัติซ้ำ
การเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกในคน
ระบบการตรวจวิเคราะห์และเฝ้าระวังโรคทางห้องปฏิบัติการ
ลักษณะทางคลินิกและการวินิจฉัยโรคไข้หวัดนก
แนวทางการรักษาพยาบาลสำหรับโรคไข้หวัดนกและการติดตามผู้ป่วย
ข้อปฏิบัติสำหรับบุคลากรในการดูแลผู้ป่วยที่สงสัยเป็นโรคไข้หวัดนก
บทบาท อสม. และกระบวนวิธีการขับเคลื่อนแผนที่ยุทธศาสตร์ฯ
โครงสร้างการดำเนินงานป้องกันและควบคุมโรคไข้หวัดนกของกระทรวงฯ
แนวทางการดำเนินงานประชาสัมพันธ์ในการป้องกันฯ ระดับจังหวัด
ถาม-ตอบ เรื่องไข้หวัดนก

ระบาดวิทยาของโรคไข้หวัดนกในประเทศไทย

พ.ญ.ดารินทร์ อารีย์โชคชัย สำนักระบาดวิทยา

 ประเทศไทย พบการตายอย่างผิดปกติของสัตว์ปีกเป็นจำนวนมาก ในแถบภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลางของประเทศ ตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2546 ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันก็มีรายงานการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสไข้หวัดนก สายพันธุ์ H5N1 เกิดขึ้นในประเทศเกาหลี ญี่ปุ่น และเวียดนาม กระทรวงสาธารณสุขได้ตระหนักถึงความเป็นไปได้ที่จะมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสไข้หวัดนกในประเทศไทย และติดเชื้อมาสู่คน เนื่องจากประชาชนจำนวนมากนิยมเลี้ยงสัตว์ปีก เช่น ไก่ เป็ดไว้ตามบ้าน จึงได้จัดตั้งระบบเฝ้าระวังปอดอักเสบและไข้หวัดนกในคนขึ้น เริ่มมีการรายงานและสอบสวนผู้ป่วยที่สงสัยไข้หวัดนกทุกรายมาตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2546 จนกระทั่งเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2547 กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศยืนยันว่าพบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 เป็นรายแรกของประเทศ โดยผู้ป่วยเป็นเด็กชายอายุ 7 ปีจากจังหวัดสุพรรณบุรี การประกาศในครั้งนั้นทำให้ประเทศไทยดำเนินการเฝ้าระวังการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดนกในสัตว์ปีกและเริ่มการทำลายสัตว์ปีกขึ้นอย่างจริงจัง จนกระทั่งสิ้นสุดการระบาดในรอบแรก ช่วงเดือนมกราคม – เมษายน 2547 พบการระบาดของเชื้อไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 ในสัตว์ปีกในพื้นที่ 52 จังหวัด และมีผู้ป่วยยืนยันโรคไข้หวัดนกทั้งสิ้น 12 ราย เสียชีวิต 8 ราย (อัตราป่วยตาย 67 %) จาก 9 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี สุพรรณบุรี สุโขทัย ปทุมธานี อุตรดิตถ์ ลพบุรี ชัยภูมิ นครราชสีมา และขอนแก่น

หลังจากการทำลายสัตว์ปีกในพื้นที่ที่พบการระบาดของเชื้อไวรัสไข้หวัดนก H5N1 สิ้นสุดลงในเดือนมีนาคม 2547 ประเทศไทยก็ไม่พบผู้ป่วยยืนยันโรคไข้หวัดนกเพิ่มขึ้นอีก จนกระทั่งการระบาดในรอบที่สองซึ่งเกิดขึ้นในเดือนกรกฎาคม - ตุลาคม 2547 โดยพบการตายอย่างผิดปกติของสัตว์ปีกใน 49 จังหวัด การระบาดในรอบที่สองนี้มีผู้ป่วยยืนยันโรคไข้หวัดนกเพิ่มขึ้นอีกจำนวน 5 รายเสียชีวิต 4 รายในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ ปราจีนบุรี กำแพงเพชร สุโขทัยและเพชรบูรณ์ โดยผู้ป่วยสองรายที่จังหวัดกำแพงเพชรนั้นมีประวัติเข้าข่ายติดเชื้อจากคนสู่คนอีกด้วย อย่างไรก็ตามไม่พบหลักฐานว่ามีบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อไวรัสไข้หวัดนกจากการดูแลผู้ป่วยแต่อย่างใด

โดยสรุปตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2547 ประเทศไทยพบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อไข้หวัดนกทั้งสิ้น 17 ราย ใน 12 จังหวัด เป็นชาย 9 คน หญิง 8 คน อายุระหว่าง 2-58 ปี (เฉลี่ย 13.5 ปี) ผู้ป่วยที่อายุต่ำกว่า 15 ปี จำนวน 9 คน เสียชีวิต 8 คน(อัตราป่วยตาย 89 %) อายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป 8 คน เสียชีวิต 4 คน(อัตราป่วยตาย 50%) ผู้ป่วยมีประวัติสัมผัสโดยตรงกับสัตว์ที่สงสัยป่วยตายจำนวน 10 คน (56%) มีระยะฟักตัวของโรคตั้งแต่ 2-10 วัน (เฉลี่ย 4 วัน)

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย