ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม

พุทธศาสนากำจัดทุกข์ในสังสารวัฏ

กิเลส
กรรม
วิบาก
การดับทุกข์ในสังสารวัฏฏ์
วิธีการแห่งการตรัสรู้ท่านแสดงไว้ในเจตนาสูตร

วิธีการแห่งการตรัสรู้ท่านแสดงไว้ในเจตนาสูตร

  • ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มีศีล สมบูรณ์ด้วยศีลไม่ต้องทำด้วยเจตนาว่า ขอความไม่เดือดร้อนจงเกิดขึ้นแก่เราเถิด
  • ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่ความไม่เดือดร้อนเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้มีศีล สมบูรณ์ด้วยศีลนี้ เป็นธรรมดา
  • ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ไม่มีความเดือดร้อน ไม่ต้องทำด้วยเจตนาว่า ขอความปราโมทย์จงเกิดขึ้นแก่เราเถิด
  • ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่ความปราโมทย์เกิดขึ้นแก่บุคคลผู้ไม่มีความเดือดร้อนนี้ เป็นธรรมดา
  • ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มีความปราโมทย์ไม่ต้องทำด้วยเจตนาว่า ขอปีติจงเกิดขึ้นแก่เราเถิด
  • ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่ปีติเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้มีความปราโมทย์นี้ เป็นธรรมดา
  • ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มีใจประกอบด้วยปีติ ไม่ต้องทำด้วยเจตนาว่า ขอกายของเราจงสงบเถิด
  • ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่กายของบุคคลผู้มีใจประกอบด้วยปีติสงบนี้ เป็นธรรมดา
  • ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มีกายสงบแล้ว ไม่ต้องทำด้วยเจตนาว่า ขอเราจงเสวยสุขเถิด
  • ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลผู้มีกายสงบแล้วเสวยสุขนี้ เป็นธรรมดา
  • ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มีสุข ไม่ต้องทำด้วยเจตนาว่า ขอจิตของเราจงตั้งมั่นเถิด
  • ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่จิตของบุคคลผู้มีสุขตั้งมั่นนี้ เป็นธรรมดา
  • ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มีจิตตั้งมั่น ไม่ต้องทำด้วยเจตนาว่า ขอเราจงรู้จงเห็นตามเป็นจริงเถิด
  • ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลผู้มีจิตตั้งมั่นแล้วรู้เห็นตามเป็นจริงนี้เป็นธรรมดา
  • ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้รู้เห็นตามเป็นจริง ไม่ต้องทำด้วยเจตนาว่า ขอเราจงเบื่อหน่ายเถิด
  • ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลผู้รู้เห็นตามเป็นจริงเบื่อหน่ายนี้ เป็นธรรมดา
  • ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้เบื่อหน่าย ไม่ต้องทำด้วยเจตนาว่าขอเราจงคลายกำหนัดเถิด
  • ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลผู้เบื่อหน่ายคลายกำหนัดนี้ เป็นธรรมดา
  • ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มีจิตคลายกำหนัดแล้วไม่ต้องทำด้วยเจตนาว่า ขอเราจงทำให้แจ้งซึ่งวิมุตติญาณทัสนะเถิด
  • ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลคลายกำหนัดแล้วทำให้แจ้งซึ่งวิมุตติญาณทัสนะนี้ เป็นธรรมดา
  • ดูกรภิกษุทั้งหลาย วิราคะมีวิมุตติญาณทัสนะเป็นผล มีวิมุตติญาณทัสสนะเป็นอานิสงส์ นิพพิทามีวิราคะเป็นผล มีวิราคะเป็นอานิสงส์ ยถาภูตญาณทัสสนะมีนิพพิทาเป็นผล มีนิพพิทาเป็นอานิสงส์ สมาธิมียถาภูตญาณทัสนะเป็นผลมียถาภูตญาณทัสนะเป็นอานิสงส์ สุขมีสมาธิเป็นผล มีสมาธิเป็นอานิสงส์ปัสสัทธิมีสุขเป็นผล มีสุขเป็นอานิสงส์ ปีติมีปัสสัทธิเป็นผล มีปัสสัทธิเป็นอานิสงส์ ความปราโมทย์มีปีติเป็นผล มีปีติเป็นอานิสงส์ ความไม่เดือดร้อนมีความปราโมทย์เป็นผล มีความปราโมทย์เป็นอานิสงส์ ศีลที่เป็นกุศลมีความไม่เดือดร้อนเป็นผล มีความไม่เดือดร้อนเป็นอานิสงส์ ด้วยประการดังนี้แล
  • ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมทั้งหลายย่อมหลั่งไหลไปสู่ธรรมทั้งหลาย ธรรมทั้งหลายย่อมยังธรรมทั้งหลายให้บริบูรณ์ เพื่อการถึงฝั่ง (คือนิพพาน) จากสถานอันมิใช่ฝั่ง (คือสังสารวัฏ) ด้วยประการฉะนี้แล (สํ.มหา 19/209/ 289.)

        ผู้ที่เกียจคร้านมีแต่จะจมลงในสังสารวัฏดังที่พระโสมิตตเถระแสดงไว้ว่า เต่าตาบอดเกาะขอนไม้เล็กๆ จมลงไปในห้วงน้ำใหญ่ ฉันใด กุลบุตร อาศัยคนเกียจคร้านดำรงชีพ ย่อมจมลงในสังสารวัฏฉันนั้น เพราะฉะนั้นบุคคลพึงเว้นคนเกียจคร้านผู้มีความเพียรเลวทรามเสีย ควรอยู่ร่วมกับบัณฑิตทั้งหลายผู้สงัดเป็นอริยะ มีใจเด็ดเดี่ยว ผู้เพ่งฌาน มีความเพียรอันปรารภแล้วเป็นนิตย์ (ขุ.เถร.26/271/245.) การคบมิตรก็มีส่วนทำให้คนจมอยู่ในสังสารวัฏได้เช่นกันดังภาษิตของพระวิมลเถระความว่า บุคคลปรารถนาความสุขอันแน่นอน พึงเว้นบาปมิตรแล้ว พึงคบหากัลยาณมิตร และพึงตั้งอยู่ในโอวาทของกัลยาณมิตรนั้น เต่าตาบอดเกาะขอนไม้เล็กๆ จมอยู่ในห้วงน้ำใหญ่ ฉันใด กุลบุตรอาศัยคนเกียจคร้านเป็นอยู่ ย่อมจมลงในสังสารวัฏฉันนั้น เพราะฉะนั้น บุคคลพึงเว้นคนเกียจคร้าน มีความเพียรเลวทราม ควรอยู่ร่วมกับบัณฑิตทั้งหลายผู้สงัดเป็นอริยะ มีใจเด็ดเดี่ยว เพ่งฌาน ปรารภความเพียรเป็นนิตย์ (ขุ.เถร.26/322/264.) การเกิดเป็นทุกข์ แม้จะเกิดในภพภูมิของมนุษย์ก็ตาม และการเวียนว่ายตายเกิดเป็นสิ่งที่น่ากลัวที่สุด เพราะไม่มีใครสามารถรับประกันได้ว่าชีวิตในภพชาติต่อๆไป จะไม่พลาดถลำลงต่ำไปเกิดในทุคติภูมิ นอกจากบุคคลผู้นั้นได้ปฏิบัติตนเข้าถึงพระอริยสัจธรรมนำชีวิตเข้าสู่พระอริยบุคคลแล้ว เพราะว่าบุคคลนับตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไปเท่านั้นที่อบายภูมิจะปิดสนิทสำหรับชีวิตของท่าน และการเวียนว่ายตายเกิดที่จะมีต่อไปในสุคติภูมินั้น ย่อมมีได้ไม่เกิน 7 ชาติ จึงนับได้ว่าพระโสดาบัน ท่านเป็นบุคคลกลุ่มแรกที่สร้างหลักประกันภัยในการเวียนว่ายตายเกิดให้กับชีวิตได้แล้ว แต่สำหรับผู้ที่เป็นปุถุชนทุกคนต้องยอมรับว่าอนาคตชาติในการเวียนว่ายตายเกิดของตนนั้นต้องมีต่อไปเป็นอนันตังไม่มีที่สิ้นสุด เพราะปุถุชนคือบุคคลที่ยังหนาแน่นด้วยกิเลส และ กิเลส นี่เองที่เป็นตัวการ ผลักพาให้เกิดการกระทำกรรม เมื่อมีกรรมย่อมเป็นที่แน่นอนว่า วิบาก คือ รูปขันธ์ และนามขันธ์ ย่อมต้องเกิด ฉะนั้นวัฏฏะทั้งสาม คือ กิเลสวัฏ กัมมวัฏ และวิปากวัฏ ที่หมุนวน ย่อมทำให้สังสารวัฏ คือการเวียนว่ายตายเกิดไม่อาจสิ้นสุดหยุดลงได้ และทุกภพชาติที่เกิด กำเนิดของสัตว์ย่อมวิจิตรเพราะจิตย่อมวิจิตรในการสั่งสมกรรมและกิเลส

ข้อที่เรากล่าวว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงทราบทุกข์ เหตุเกิดแห่งทุกข์ ความต่างแห่งทุกข์ วิบากแห่งทุกข์ ความดับแห่งทุกข์ ปฏิปทาที่ให้ถึงความดับแห่งทุกข์ ดังนี้นั้น เราอาศัยอะไรกล่าว แม้ชาติก็เป็นทุกข์ แม้ชราก็เป็นทุกข์ แม้พยาธิก็เป็นทุกข์ แม้มรณะก็เป็นทุกข์ แม้โสกะ ปริเทวะ ทุกข์โทมนัส อุปายาสก็เป็นทุกข์ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์ โดยย่ออุปาทานขันธ์ 5 เป็นทุกข์ ก็เหตุเกิดแห่งทุกข์เป็นไฉน คือ ตัณหาเป็นเหตุเกิดแห่งทุกข์ ก็ความต่างแห่งทุกข์เป็นไฉน คือ ทุกข์มากก็มี ทุกข์น้อยก็มี ทุกข์ที่คลายช้าก็มี ทุกข์ที่คลายเร็วก็มี นี้เรียกว่าความต่างแห่งทุกข์ ก็วิบากแห่งทุกข์เป็นไฉน คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ถูกทุกข์อย่างใดครอบงำ มีจิตอันทุกข์อย่างใดกลุ้มรุม ย่อมเศร้าโศก ลำบาก รำพัน ทุบอก คร่ำครวญ ถึงความหลง ก็หรือบางคนถูกทุกข์ใดครอบงำแล้ว มีจิตอันทุกข์ใดกลุ้มรุมแล้ว ย่อมแสวงหาเหตุปลดเปลื้องทุกข์ในภายนอกว่าใครจะรู้ทางเดียวหรือสองทางเพื่อดับทุกข์นี้ได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวทุกข์ว่ามีความหลงใหลเป็นผล หรือว่ามีการแสวงหาเหตุปลดเปลื้องทุกข์ภายนอกเป็นผล นี้เรียกว่าวิบากแห่งทุกข์ ก็ความดับแห่งทุกข์เป็นไฉนคือความดับแห่งทุกข์ย่อมเกิดขึ้นเพราะความดับแห่งตัณหา อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ 8 ประการนี้แล คือสัมมาทิฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ เป็นปฏิปทาให้ถึงความดับแห่งทุกข์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อใด อริยสาวกย่อมทราบชัดทุกข์ เหตุเกิดแห่งทุกข์ ความต่างแห่งทุกข์ วิบากแห่งทุกข์ ความดับแห่งทุกข์ปฏิปทาที่ให้ถึงความดับแห่งทุกข์ อย่างนี้ๆ เมื่อนั้น อริยสาวกนั้นย่อมทราบชัดพรหมจรรย์อันเป็นไปในส่วนแห่งการชำแรกกิเลส เป็นที่ดับทุกข์ ข้อที่เรากล่าวว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงทราบทุกข์ เหตุเกิดแห่งทุกข์ ความต่างแห่งทุกข์ วิบากแห่งทุกข์ ความดับแห่งทุกข์ ปฏิปทาให้ถึงความดับแห่งทุกข์ ดังนี้นั้น เราอาศัยข้อนี้กล่าว ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้แลเป็นธรรมปริยายที่เป็นปริยายเป็นไปในส่วนแห่งการชำแรกกิเลส (อํ.ฉ.22/334/365.)

พระพุทธศาสนาในฐานะเป็นเครื่องมือในการกำจัดทุกข์ในสังสารวัฏ ได้นำเอาวิธีการอธิบายสังสารวัฏตามแนวแห่งปฏิจจสมุปบาทมาอธิบาย ซึ่งเป็นวิธีการที่ทำให้พ้นทุกข์ได้ พระพุทธศาสนาจึงเป็นศาสนาที่ทำที่สุดทุกข์ในสังสารวัฏได้จริงการจะตัดสังสารวัฏได้พระพุทธเจ้าแสดงสรุปไว้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหมือนอย่างว่า บุรุษตัดทอนหญ้า ไม้กิ่งไม้ ใบไม้ ในชมพูทวีปนี้ แล้วจึงรวมกันไว้ ครั้นแล้ว พึงกระทำให้เป็นมัดๆ ละ 4 นิ้ว วางไว้ สมมติว่า นี้เป็นมารดาของเรา นี้เป็นมารดาของมารดาของเรา โดยลำดับ มารดาของมารดาแห่งบุรุษนั้นไม่พึงสิ้นสุด ส่วนว่า หญ้าไม้ กิ่งไม้ ใบไม้ ในชมพูทวีปนี้ พึงถึงการหมดสิ้นไป ข้อนั้นเพราะเหตุไรเพราะว่า สงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ เมื่อเหล่าสัตว์ผู้มีอวิชชาเป็นที่กางกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องประกอบไว้ ท่องเที่ยวไปมาอยู่ ที่สุดเบื้องต้นย่อมไม่ปรากฏ พวกเธอได้เสวยทุกข์ ความเผ็ดร้อน ความพินาศ ได้เพิ่มพูนปฐพีที่เป็นป่าช้า ตลอดกาลนาน เหมือนฉะนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เหตุเพียงเท่านี้ พอทีเดียวเพื่อจะเบื่อหน่ายในสังขารทั้งปวงพอเพื่อจะคลายกำหนัดพอเพื่อจะหลุดพ้นดังนี้ (สํ.นิ.16/422/177.)

ผู้ทำลายวงจรแห่งทุกข์ได้เรียกว่าเป็นพระอรหันต์ ซึ่งได้แสดงผู้ที่จะเป็นพระอรหันต์ไว้ในอรหัตตสูตรว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุยังละธรรม 6 ประการไม่ได้แล้ว ย่อมเป็นผู้ไม่ควรเพื่อทำให้แจ้งซึ่งอรหัต ธรรม 6 ประการเป็นไฉน คือถีนะ มิทธะ อุทธัจจะ กุกกุจจะ ความไม่มีศรัทธา ความประมาท ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุยังละธรรม 6 ประการนี้ไม่ได้แล้ว ย่อมเป็นผู้ไม่ควรเพื่อทำให้แจ้งซึ่งอรหัต ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุละธรรม 6 ประการได้แล้ว ย่อมเป็นผู้ควรเพื่อทำให้แจ้งซึ่งอรหัต ธรรม 6 ประการเป็นไฉน คือ ถีนะ มิทธะ อุทธัจจะ กุกกุจจะ ความไม่มีศรัทธา ความประมาท ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุละธรรม 6 ประการนี้ได้แล้ว ย่อมเป็นผู้ควรเพื่อทำให้แจ้งซึ่งอรหัต(อํ.ฉ.22/337/374.)

การที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้หากว่าตามกระบวนการก็คือการกำหนดรู้ทุกข์ ละเหตุแห่งทุกข์ กระให้แจ้งซึ่งนิโรธ และดำเนินตามอริยมรรคนั่นเองดังที่พระพุทธเจ้าแสดงไว้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อใดแล ปัญญาอันรู้เห็นตามเป็นจริงของเรา ในอริยสัจ 4 นี้ มีรอบ 3 มีอาการ 12 อย่างนี้ หมดจดดีแล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อนั้น เราจึงยืนยันได้ว่า เป็นผู้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณ อันยอดเยี่ยมในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณะ พราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ (วิ.มหา.4/16/18.) ปฎิจจสมุปบาทก็เป็นกระบวนการเกิดขึ้นและดับไปแห่งความทุกข์ ในบางแห่งกล่าวถึงการเกิดและการดับแห่งโลกเช่น เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้นสิ่งนี้จึงเกิดขึ้น เมื่อวิญญาณมีนามรูปจึงมี เมื่อนามรูปมี สฬายตนะจึงมี เมื่อสฬายตนะมี ผัสสะจึงมี เมื่อผัสสะมี เวทนาจึงมี เมื่อเวทนามี ตัณหาจึงมีเมื่อตัณหามี อุปาทานจึงมี เมื่ออุปาทานมี ภพจึงมี เมื่อภพมี ชาติจึงมี เมื่อชาติมี ชราและมรณะจึงมี อริยสาวกนั้นย่อมรู้ประจักษ์อย่างนี้ว่า โลกนี้ย่อมเกิดขึ้นอย่างนี้ (สํ.นิ.16/179/77.)

      พระพุทธศาสนาจึงเป็นศาสนาที่ทำที่สุดแห่งทุกข์ในสังสารวัฏได้จริง ผู้ที่มุ่งหวังจะพ้นทุกข์หากยึดถือและปฏิบัติตามแนวทางที่พระพุทธองค์ได้แสดงไว้ก็สามารถจะทำที่สุดทุกข์ให้หมดไปได้ วิธีการที่จะพ้นทุกข์นั้น พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้หลายวิธี แต่วิธีโดยสรุปและสั้นที่สุดคือดำเนินตามอริมรรคมีองค์แปด หรือจะสรุปอริยมรรคมีองค์แปดให้สั้นที่สุดก็คือศีล สมาธิ ปัญญานั่นเอง แม้สังสารวัฏจะกำหนดเบื้องต้นและเบื้องปลายไม่ได้ แต่ถ้าเราสรุปลงที่ กิเลส กรรม วิบาก และเริ่มต้นที่การทำลายกิเลสให้หมดสิ้นไปแล้ว วงจรแห่งกรรมและวิบากก็จะหมดไปด้วย ในการอธิบายในบทความเรื่องนี้อธิบายเรื่องกรรมไว้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพราะเรื่องกฏแห่งกรรมก็ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งในพระพุทธศาสนา ในที่นี้จึงได้แสดงวงจรโดยสรุปเท่านั้น และการอธิบายก็มิได้อธิบายเอง แต่ได้เอาสิ่งที่ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกมาอธิบาย คนธรรมดาอาจจะอ่านแล้วเข้าใจยาก แต่การค้นหาข้อมูลในพระไตรปิฎกในเรื่องที่เราต้องการนั้นเป็นการเพิ่มพูนความรู้ในเรื่องของพระพุทธศาสนาอย่างหนึ่ง บรรณานุกรม

  • กรมการศาสนา.พระไตรปิฏกภาษาบาลี ฉบับสยามรัฐ.กรุงเทพ ฯ:กรมการศาสนา,2525.
  • กรมการศาสนา.พระไตรปิฏกภาษาไทย ฉบับหลวง.กรุงเทพ ฯ:กรมการ ศาสนา,2514.
  • พระพรหมคุณาภรณ์.พจนานุกรมพุทธศาสตร์. พิมพ์ครั้งที่ 13,(กรุงเทพฯ:เอส.อาร.พริ้นติ้ง แมสโปรดักส์,2548.
  • พระไตรปิฏกซีดีรอม ฉบับเรียนพระไตรปิฎก.
  • พระมหาบุญไทย ปุญญมโน บทความ ความจริงที่แท้คืออะไร
  • พระมหาบุญไทย ปุญญมโน บทความ พระพุทธศาสนากำจัดทุกข์ในสังสารวัฏได้จริง
  • พระมหาบุญไทย ปุญญมโน บทความ เรื่องกรรมและการเกิดใหม่
  • สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก. "กรรม" ใน “ พระพุทธศาสนา และการนับถือพระพุทธศาสนา ”
  • สุนทร ณ รังษี. พุทธปรัชญาจากพระไตรปิฎก.กรุงเทพฯ:จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,2543

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย