ศิลปะ หัตถกรรม สถาปัตยกรรม ประติมากรรม สันทนาการ

บัว

คติความเชื่อเรื่องบัว
รูปแบบบัว
การใช้ฐานบัวกับอาคารพระอุโบสถและพระวิหาร
บัวองค์ประกอบเจดีย์ และพระปรางค์

บัวองค์ประกอบเจดีย์ และพระปรางค์

ในสมัยรัตนโกสินทร์ช่วง รัชกาลที่ 1 – รัชกาลที่ 5 มีพระเจดีย์และพระปรางค์ ที่จัดกลุ่มได้จำนวน 4 รูปแบบ ได้แก่

  1. เจดีย์เหลี่ยมทรงเครื่อง
  2. เจดีย์เหลี่ยมเพิ่มมุม
  3. เจดีย์ทรงระฆัง
  4. พระปรางค์

เจดีย์เหลี่ยมทรงเครื่อง จากการวิเคราะห์พบว่า เจดีย์เหลี่ยมทรงเครื่องเป็นเจดีย์ที่นิยมสร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ช่วงรัชกาลที่ 1 - 3

ช่วงรัชกาลที่ 1 – 2 เจดีย์เหลี่ยมทรงเครื่องจะมีขนาดใหญ่ ซึ่งรูปแบบโดยรวมมีบัวเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ เริ่มจากชุดฐานสิงห์ บัวกลุ่มรองรับองค์ระฆัง บัลลังก์ แกนฉัตรบัวกลุ่มเถาหรือบัวคลุ่มเถา ปลี ลูกแก้ว ปลียอด และเม็ดน้ำค้าง ตามลำดับ บางแห่งมีปลีอยู่เหนือบัวกลุ่มเถาเพียงชั้นเดียวแล้วต่อด้วยเม็ดน้ำค้าง ซึ่งเจดีย์จะย่อมุมไม้ยี่สิบ บางแห่งมีการตกแต่งองค์เจดีย์ด้วยการทำลวดลายประดับ และปิดทองทั้งองค์ เรียกว่าเจดีย์ทรงเครื่อง เช่น เจดีย์ทองคู่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และบางแห่งก็มีการปิดกระเบื้องเคลือบสีต่างๆอย่างสวยงาม เช่น เจดีย์เหลี่ยมทรงเครื่องวัดพระเชตุพนฯ เป็นต้น ซึ่งเจดีย์เหลี่ยมทรงเครื่องมักจะมีบัวคอเสื้อประดับอยู่เหนือองค์ระฆัง ส่วนแตกต่างอย่างอื่นได้แก่ จำนวนชั้นของเส้นลวดบัว รูปแบบของฐานสิงห์และส่วนประกอบของฐานสิงห์ เป็นต้น

รูปแบบพระเจดีย์และพระปรางค์ในสมัยรัตนโกสินทร์ ช่วง ร.1 - 5

ช่วงรัชกาลที่ 3 เจดีย์เหลี่ยมทรงเครื่องที่พบมีหลายขนาด ซึ่งรูปแบบโดยรวมมีบัวเป็นองค์ประกอบที่สำคัญประกอบด้วย ชุดฐานสิงห์เรียงซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไปสองถึงสามชั้น บัวกลุ่มรองรับองค์ระฆัง (ซึ่งบางแห่งก่อนถึงบัวกลุ่มอาจขั้นด้วยลูกแก้วก่อนชั้นหนึ่ง) บัลลังก์ซึ่งอาจมีหรือไม่มี แกนฉัตรรองรับบัวกลุ่มเถาหรือบัวคลุ่มเถา ปลี ลูกแก้ว ปลียอด และเม็ดน้ำค้าง ตามลำดับ บางแห่งมีปลีอยู่เหนือบัวกลุ่มเถาเพียงชั้นเดียวแล้วเป็นเม็ดน้ำค้าง (ภาพลายเส้นที่ 13) ซึ่งบางแห่งนิยมตกแต่งองค์เจดีย์ หรือปิดกระเบื้องเคลือบสีต่างๆ ส่วนการย่อมุมเจดีย์นั้นก็มีตั้งแต่ย่อมุมไม้สิบสอง สิบหก และยี่สิบ ช่วงปลายรัชกาลที่ 3 ความนิยมในเจดีย์เหลี่ยมทรงเครื่องจึงได้เริ่มหายไป พร้อมกับการเข้ามาแทนที่ของเจดีย์ทรงระฆัง

เจดีย์ทรงระฆังหรือทรงกลม เป็นเจดีย์ที่นิยมสร้างตั้งแต่ช่วงรัชกาลที่ 4 เจดีย์ทรงระฆังดังกล่าวยังคงสืบทอดรูปแบบส่วนใหญ่มาจากอยุธยา และมีบัวเป็นองค์ประกอบตั้งแต่ส่วนฐานจนถึงยอด ซึ่งรูปแบบโดยรวมมีบัวเป็นองค์ประกอบที่สำคัญเริ่มจาก ส่วนล่างเป็นฐานบัว บัวถลา มาลัยเถาหรือมาลัยลูกแก้วสามชั้น บัวปากระฆังรองรับองค์ระฆัง บัลลังก์ เสาหาน บัวถลา ปล้องไฉน ปลี และเม็ดน้ำค้างตามลำดับ และมีระเบียบการซ้อนชั้นที่ค่อนข้างแน่นอน นับว่าเป็นการสร้างเจดีย์ตามคติเดิมที่สืบต่อกันมา แต่จะมีความแตกต่างกันที่ส่วนประกอบบ้าง เช่น บัวปากระฆังที่ไม่นิยมทำเป็นรูปกลีบบัวคว่ำบัวหงายแต่จะทำเป็นรูปบัวคว่ำบัวหงาย และบางแห่งทำเป็นบัวลูกแก้วอกไก่ เสาหานมีทั้งแบบกลมและแปดเหลี่ยม จำนวนชั้นของปล้องไฉนที่มีจำนวนแตกต่างกันตามคติความเชื่อ นอกจากนี้ยังมีการประดับลวดลายบนเจดีย์ ที่เรียกว่า เจดีย์ทรงเครื่อง และนิยมการตกแต่งองค์เจดีย์ด้วยการปิดกระเบื้องโมเสดสีทอง ทาสีทอง ปิดทอง ประดับด้วยหินอ่อน ฯลฯ รวมทั้งปิดกระเบื้องเคลือบเบญจรงค์ให้มีความสวยงาม

 

อนึ่งในสมัยรัชกาลที่ 4 นอกจากพระองค์จะนิยมสร้างเจดีย์ทรงระฆังแล้ว พระองค์ยังทรงสร้างเจดีย์เหลี่ยมเพิ่มมุม ที่วัดพระเชตุพนฯ เพื่อเป็นเจดีย์เหลี่ยมประจำรัชกาลอีกด้วย

สมัยรัชกาลที่ 5 พระองค์ยังคงมีความนิยมในการสร้างเจดีย์ทรงระฆัง คือเจดีย์ประธานวัดราชบพิธฯซึ่งเป็นวัดประจำรัชกาล และในสมัยรัชกาลที่ 8 พระองค์ทรงสร้างเจดีย์ประธานที่วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน กรุงเทพมหานคร เป็นต้น



ภาพลายเส้นบัวองค์ประกอบเจดีย์เหลี่ยมย่อมุม
ที่มา : ชุมศรี ศิวะศริยานนท์. 2542. สถาปัตยกรรม
ไทยพื้นฐาน. พิมพ์ครั้งที่ 12 กรุงเทพมหานคร :
พิมพ์ที่ ส.เอเซียเพรส. หน้า 150



ภาพลายเส้น บัวองค์ประกอบเจดีย์ทรงระฆัง
ที่มา : ชุมศรี ศิวะศริยานนท์. 2542. สถาปัตยกรรม
ไทยพื้นฐาน. พิมพ์ครั้งที่ 12 กรุงเทพมหานคร :
พิมพ์ที่ ส.เอเซียเพรส. หน้า 149 พระปรางค์ ในส่วนของพระปรางค์นั้นพบว่านิยมสร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ช่วง รัชกาลที่ 1 - 3 จากวัดที่ได้ทำการศึกษาจะพบเฉพาะพระปรางค์ที่สร้างในช่วงรัชกาลที่ 3 ซึ่งรูปแบบโดยรวมมีบัวเป็นองค์ประกอบที่สำคัญเริ่มจาก ชุดฐานสิงห์ที่ซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไปสองถึงสามชั้น (ก่อนถึงเรือนธาตุบางแห่งอาจขั้นด้วยบัวลูกแก้วอกไก่) แล้วจึงเป็นเรือนธาตุเหลี่ยมย่อมุมที่มีซุ้มจระนำประดับรูปปั้นพวกเทพ เหนือเรือนธาตุจะเป็นเชิงบาตรที่ประดับด้วยรูปปั้นต่างๆหนึ่งหรือสองชั้น ต่อด้วยส่วนยอดที่เป็นแถบนูนคาด ประดับกลีบขนุนโดยรอบเป็นชั้นๆจนถึงยอดนภศูล ซึ่งจำนวนชั้นที่ประดับกลีบขนุนก็จะไม่เท่ากัน ส่วนแตกต่างอย่างอื่นก็ได้แก่ ขนาด จำนวนเส้นลวดบัวที่เป็นชั้นซ้อน องค์ประกอบของฐานสิงห์ และการตกแต่ง องค์ปรางค์ที่พบในช่วงรัชกาลที่ 3 จะเป็นแบบที่ได้รับการแก้ไขให้มีรูปทรงเพรียว และมีรูปแบบที่เป็นของไทยมากขึ้นกว่าปรางค์ยุคต้น ที่มียอดปรางค์รูปทรงอ้วนป้อม มีซุ้มบัญชร กลีบขนุนใบขนุนขนาดใหญ่ประดับโดยรอบตามชั้นรัดประคดแต่ละชั้นที่มีความคอดเว้ามาก



ภาพลายเส้น แสดงบัวองค์ประกอบพระปรางค์
ที่มา:ปฏิพัทธ์ ดาระดาษ. 2538. ลายไทย ภาพไทย.
กรุงเทพมหานคร : พิมพ์ที่ พี.เอ.ลิฟวิ่ง.หน้า 255ตามคติการสร้างพระปรางค์ของไทยนั้นนิยมถือกันว่า พระปรางค์คือสัญลักษณ์ของเขาพระสุเมรุอันเป็นแกนของจักรวาล จึงได้มีการสร้างพระปรางค์ตามคติความเชื่อมาหลายยุคสมัย เช่นในสมัยอยุธยาตอนปลายที่เห็นได้ชัดคือพระปรางค์วัดไชยวัฒนาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่สร้างตามคติดังกล่าว และได้สืบทอดมาสู่รัตนโกสินทร์ คือพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม โดยมีการพัฒนารูปแบบตามลำดับจนได้รูปแบบพระปรางค์ที่ถือว่าเป็นแบบที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งยุค และยังมีการตกแต่งด้วยกระเบื้องเคลือบสีต่างๆอย่างสวยงาม

ผลจากการศึกษาคติความเชื่อและรูปแบบบัวดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น ย่อมก่อให้เกิดความรู้ในเรื่องบัวที่มีความสัมพันธ์กับศาสนามายาวนานในแง่มุมต่างๆ รวมทั้งบัวที่ปรากฏในรูปแบบต่างๆตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จะเป็นองค์ความรู้ในการนำไปบูรณปฏิสังขรณ์ หรือเป็นแนวทางในการสร้างพุทธสถานขึ้นมาใหม่ได้อย่างถูกต้องและมีแบบแผน รวมไปถึงแนวทางในการวิวัฒนาการรูปแบบและการศึกษาขั้นต่อๆไป โดยมีหลักสำคัญคือเอกลักษณ์ของความเป็นศิลปะแบบไทย ที่จักแสดงออกในรูปแบบของสถาปัตยกรรมไทย ที่มีบัวเป็นองค์ประกอบที่สำคัญตามคติความเชื่อ

อาจกล่าวได้ว่ารูปแบบบัวในสมัยรัตนโกสินทร์ ช่วง ร.1 – 5 ยังได้รับการสืบทอดรูปแบบต่อมาจนถึงปัจจุบัน ตามที่ผู้วิจัยได้ไปศึกษามาเช่น พระวิหารวัดราชสิทธาราม ซึ่งมีฐานบัวเป็นฐานสิงห์ และมีบัวหัวเสาเป็นบัวกลีบยาว ซึ่งพระวิหารหลังนี้สร้างในรัชกาลปัจจุบัน คือรัชกาลที่ 9 และอีกวัดหนึ่งคือ วัดโพธิ์ ซึ่งตั้งอยู่ถนนวัดมะกอก เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร ก็มีรูปแบบฐานบัวที่เลียนแบบฐานบัวพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรฯ และมีบัวหัวเสาเป็นบัวกลีบยาว ปิดทองประดับกระจก เสาเหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง และยังมีวัดอื่นๆอีกหลายๆวัด แสดงให้เห็นว่ารูปแบบบัวในสมัยรัตนโกสินทร์ช่วง ร.1 – 5 เป็นต้นแบบให้กับวัดที่สร้างในยุคสมัยต่อๆมา

ข้อเสนอแนะ ในการศึกษาคติความเชื่อและรูปแบบบัวในสมัยรัตนโกสินทร์ ที่ผู้วิจัยได้ทำการศึกษานั้น ส่วนใหญ่เป็นการศึกษาจากวัดที่พระมหากษัตริย์ และเชื้อพระวงศ์ ในช่วง รัชกาลที่ 1 – รัชกาลที่ 5 ทรงสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์ เพราะในอดีตพระมหากษัตริย์จะทรงเป็นผู้นำในการสร้างและบูรณะปฏิสังขรณ์วัดต่างๆเสียส่วนมาก ดังนั้นจึงมีข้อเสนอแนะที่อยากให้มีผู้ทำวิจัยทำนองเดียวกัน แต่เป็นการทำวิจัยจากวัดที่สร้างโดยประชาชนผู้มีจิตศรัทธาเป็นหลัก ว่าจะมีคติความเชื่อ และรูปแบบบัวที่เหมือนกันหรือแตกต่างกันอย่างไร

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย