ปรัชญา อภิปรัชญา ญาณวิทยา จิตวิทยา ตรรกศาสตร์

การพัฒนาความเป็นมนุษย์ ด้วยประสาทสุนทรียศาสตร์และ DICECS Cycle

นายแพทย์อุดม เพชรสังหาร

 1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8

7

DICECS Cycle และ 8 ส. กับการพัฒนาความเป็นมนุษย์

อย่างไรก็ตาม แม้เราจะรู้ว่าศาสตร์ทางด้านศิลปะ และประสบการณ์สุนทรีย์(Aesthetic Experience) สามารถช่วยให้คนเราพัฒนาตนเองไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ได้ แต่ก็ใช่ว่าสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้เอง เราจำเป็นต้องใช้กระบวนการบางอย่างเพื่อขับเคลื่อนให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น

“ความอยากรู้” คือธรรมชาติที่สำคัญของคนเรา และด้วยความอยากรู้นี่แหละที่ทำให้มนุษย์เกิดการแสวงหาคำตอบ เกิดการเรียนรู้ สามารถสร้างสรรค์ความรู้ใหม่ๆ ขึ้นมาบนโลกนี้ได้

Allan J. Rowe (2004) แห่งมหาวิทยาลัยเซาท์เทอร์น แคลิฟอร์เนีย พบว่า “ความสงสัย” คือหัวใจสำคัญของคนที่มีความสามารถในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ในขณะที่ Nobel Foundation (2001) ก็พบว่านิสัยสำคัญของคนที่เคยได้รับรางวัลโนเบล ก็คือ “ความสงสัย”

ด้วย “ความสงสัย” ที่มีพลัง ทำให้คนเหล่านี้สามารถก้าวไปสู่การค้นพบความรู้ใหม่ๆ ที่ยังไม่มีใครพบมาก่อน ในฐานะครู สิ่งที่เราอยากรู้ก็คือ ทำอย่างไรจึงจะทำให้ “ความสงสัย ความอยากรู้” ในตัวนักเรียนของเรามีพลังอยู่ตลอดเวลา เพราะมันหมายความว่าเขาจะแสวงหาความรู้ เขาจะเกิดการเรียนรู้ และบางที่เขาอาจจะสามารถสร้างความรู้ใหม่ๆ ขึ้นมาได้ด้วยตัวเขาเอง

จากการศึกษาพฤติกรรมของเด็กที่มาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์เด็ก กรุงเทพมหานคร พบว่าเด็กทุกคนจะมีความกระหายใคร่รู้ไปทุกๆ เรื่อง และด้วยความอยากรู้นี้เองทำให้เด็กจำนวนมาก จับต้องลูบคลำ รื้อ ค้น งัดแงะ มุดเข้าไปสำรวจ นิทรรศการที่จัดแสดงไว้ จนเจ้าหน้าที่ต้องติดตามซ่อมอยู่เกือบทุกวัน

นี่คือพฤติกรรมที่สะท้อนถึงความอยากรู้ของเด็ก นี่คือสิ่งที่เป็นธรรมชาติที่มีอยู่ในตัวเด็กทุกคน นี่คือพลังของความอยากรู้ และที่สำคัญ “นี่คือวิธีการเรียนรู้ตามธรรมชาติของเด็ก” ถ้าเราสามารถรักษา “ความอยากรู้” และ “วิธีการเรียนรู้ตามธรรมชาติ” นี้ให้คงอยู่อย่างมีพลังเช่นนี้ตลอดไป นั่นย่อมหมายความเด็กของเราจะกลายเป็นผู้เรียนรู้ที่มีคุณภาพอยู่ตลอดเวลา

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย