ศิลปะ หัตถกรรม สถาปัตยกรรม ประติมากรรม สันทนาการ

การรวมศูนย์ศิลปะของการกระจายตัวของศิลปะและการเมืองฯ

การรวมศูนย์ศิลปะของการกระจายตัวของศิลปะและการเมือง
จากสภาวะสมัยหลังใหม่สู่สภาวะสมัยใหม่

ธเนศ วงศ์ยานนาวา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

สภาวะสมัยใหม่ในฐานสำนึกทางเวลาที่เป็นเส้นตรง
วิกฤติและการปฎิวัติ
สภาวะสมัยใหม่กับการรวมศูนย์และรวมสายตา
สภาวะหลังสมัยใหม่ที่เป็น “ของเก่า”
การกลับหัวกลับหางและความแปลกแยก
การดูดกลืนผู้ชมเข้าสู่สภาวะสมัยใหม่
วัตถุและบรรยากาศของศิลปะที่ไม่ยืนยาว
อาณาเขตที่หลากหลายของศิลปะกับการสิ้นสุดของความเป็นเอกเทศ
เส้นทางอนันต์ (infinity) ของอนาคต

เส้นทางอนันต์ (infinity) ของอนาคต

       เมื่อมีการชมสิ่งหนึ่งที่หลีกเลี่ยงไปไม่ได้ก็คือ สุนทรียะ แม้ว่าจะมีการต่อต้านสุนทรียะ แต่การต่อต้านสุนทรียะของพวกหลังสมัยใหม่ถูกตอบโต้กลับแบบเดียวกันกับที่สมัยใหม่นิยมถูกตอบโต้ การตอบโต้หลังสมัยใหม่จึงส่งผลให้ความงามและสุนทรียะถูกลื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ในทศวรรษที่ 1990 เช่น สหรัฐอเมริกา การหันกลับไปสู่สุนทรียะนี้สอดคล้องกับการขึ้นมามีอำนาจของอนุรักษ์นิยมใหม่ (neoconservative) ที่สามารถสถาปนาอำนาจทางการเมืองได้อย่างแท้จริงในทศวรรษที่ยี่สิบเอ็ด ชัยชนะของประธานาธิบดี “พุ่มไม้” ครั้งที่สองเป็นการยืนยันอำนาจดังกล่าว ฤๅว่านี้จะเป็นการหวนกลับไปสูอดีตอันรุ่งโรจน์ของศิลปะ แต่ถ้าเป็นเช่นนั้นสำนึกทางเวลาของสภาวะสมัยใหม่ก็ย่อมไม่ใช่สภาวะสมัยใหม่อีกต่อไป เพราะนี่เป็นเวลาที่เป็นวงกลม ถ้าเป็นเช่นนั้นการกลับไปสู่สุนทรียะและความงามจึงเป็นเรื่องของสภาวะหลังสมัยใหม่อีกครั้ง

แต่การกล่าวแบบนี้ดูจะเป็นการโจมตีอนุรักษ์นิยมใหม่มากเกินไป เพราะอย่างน้อยๆ ที่สุดในแง่ของแนวความคิดแล้วการให้ความสำคัญแก่สุนทรียะยังปรากฏให้เห็นอยู่ในนักคิดที่ดำเนินตามแนวทางของสำนักวิพากษ์ (Critical Theory) อันเป็นมรดกตกทอดของปรัชญาเยอรมันสำนักแฟรงเฟิรต์ (Frankfurt School) ซึ่งในรุ่นต่อๆ มาต่างก็ยังคงให้ความสนใจเกี่ยวกับประเด็นเรื่องสุนทรียะด้วยเช่นกัน สุนทรียะเป็นจุดร่วมกันของฝ่ายที่อยู่ตรงกันข้ามได้

ทั้งนี้ภายใต้โลกที่หลากหลาย โลกที่เต็มไปด้วยความแตกต่าง ต่างฝ่ายต่างก็ต้องการที่จะมีอะไรบางอย่างที่ถือได้ว่า “มีอะไรร่วมกัน” ในบรรดาสิ่งที่ขัดแย้งกันไม่ว่าจะเป็นศาสนา การเมือง เศรษฐกิจ อาจจะมีเพียงสุนทรียะเท่านั้นที่เบาบางและอ่อนโยนที่สุดในการที่จะสร้างฝันให้กับโลกแห่งความแตกต่างได้มีอะไรร่วมกันอีกครั้งหนึ่ง แต่สำหรับในสังคมไทยสุนทรียะอาจจะไม่ใช่ประเด็นสำคัญสำหรับการสลายความแตกต่าง เนื่องด้วยว่ามีสถาบันแบบอื่นๆ แล้วที่จะช่วยแก้ไขความขัดแย้ง ไม่เพียงแต่เท่านั้นด้วยเศษกระดาษพับๆ กันไปแบบเล็กๆ น้อยและก็ไม่ต้องการความเป็นศิลปะอะไรมากมายนักก็ยังคิดว่าจะช่วยแก้ไขได้ แล้วใยจะต้องไปหาอะไรที่ยุ่งยากหนักหนามาช่วยแก้ไขไปทำไม

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย