สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

คาสปาร์ เฮาเซอร์

กระบวนการสร้างมายาคติผ่านภาพยนตร์

โดย นางสาวนิธิวดี โสครู

        Enigma of Kaspar Hauser เป็นภาพยนตร์ที่อิงจากเรื่องจริงของ คาสปาร์ เฮาส์เซอร์ (Kaspar Hauser) เด็กชายวัย 16 ปีที่ปรากฏตัวขึ้นบนถนนในเมืองนูเร็มเบิร์ก (Nuremberg) อย่างลึกลับ ในเดือนพฤษภาคม ปี ค.ศ.1828 เขาเดินได้อย่างยากลำบากเนื่องจากสภาพขาไร้เรี่ยวแรง พูดได้เพียงประโยคหรือสองประโยค และเขียนได้เพียงคำว่า “Kaspar Hauser” ภูมิหลังของคาสปาร์ค่อนข้างเอนไปทางเทพนิยาย บางคนเชื่อว่าเขาอาจมีเชื้อสายเป็นเจ้าชายแห่งบาเดน (prince of Baden) ภาพยนต์เรื่อง Enigma of Kaspar Hauser นี้ กำกับโดย เวอร์เนอร์ เฮอร์ซอค (Werner Herzog) และฉายในปี ค.ศ.1974

เฮอร์ซอคนำเสนอเรื่องราวของ คาสปาร์ เฮาเซอร์ได้ค่อนข้างตรงกับข้อเท็จจริงในประวัติของคาสปาร์ และแน่นอนว่าไม่ว่าอย่างไรภาพยนตร์เรื่อง Enigma of Kaspar Hauser ก็ยังคงประกอบด้วยเรื่องที่ปรุงแต่งขึ้นสลับกับข้อเท็จจริงเพื่อเพิ่มอรรถรสและสร้างความอิ่มเอมให้กับผู้ชม ประเด็นต่าง ๆ จึงถูกนำเสนอโดยผ่านการคัดสรรจากผู้ผลิตภาพยนตร์มาแล้วทั้งสิ้น ซึ่งเราสามารถเรียกได้ว่าเป็นกระบวนการสร้างมายาคติ (Mythologies)

มายาคติ (Myth) เป็นแนวคิดที่เกิดจากโรล็องด์ บาร์ตส์ (Roland Barthes, 1915-1980) นักวิชาการชาวฝรั่งเศส หมายถึง การสื่อความหมายด้วยคติความเชื่อทางวัฒนธรรม ซึ่งถูกกลบเกลื่อนให้เป็นที่รับรู้เสมือนว่าเป็นธรรมชาติ ในทัศนะของ Barthes กระบวนการเปลี่ยนแปลง ลดทอน ปกปิด อำพรางฐานะของการเป็นสรรพสิ่งในสังคมให้กลายเป็นเรื่องปรกติธรรมดาหรือเป็นธรรมชาติ ว่าเป็น กระบวนการสร้างมายาคติ (Mythologies) โดยเป็นความคิดที่คนส่วนมากยอมรับและสอดคล้องกับระบบอำนาจที่ดำรงอยู่ในสังคมขณะนั้น บาร์ตส์ เห็นว่ามายาคติเหล่านี้คือตัวกำหนดการรับรู้ของสังคม

ในภาพยนตร์ Enigma of Kaspar Hauser เฮอร์ซอคได้สร้างมายาคติของความเป็นศิวิไลของประเทศเยอรมัน ผ่านตัวละครหลัก คือ คาสปาร์ เฮาเซอร์ ซึ่งเป็นการเยียวยาประเทศ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เยอรมันเป็นประเทศผู้พ่ายแพ้สงครามและถูกสังคมโลกมองว่าเป็นประเทศที่ป่าเถื่อน เฮอร์ซอค ผู้กำกับชาวเยอรมัน เกิดในช่วงสงครามและมีชีวิตอยู่หลังสงครามสงบอาจมีความรู้สึกต้องรับผิดชอบกับเหตุการณ์ดังกล่าว และกระบอกเสียงที่เขามีอำนาจในการจัดการก็คือภาพยนตร์

คาสปาร์ในภาพยนต์ของเฮอร์ซอคเป็นตัวละครที่มีความเป็นธรรมชาติ มีบุคลิกลักษณะที่เป็นมิตร มีการพัฒนาที่รวดเร็ว และยังมีกระบวนการคิดในเชิงปรัชญา ลักษณะเหล่านี้ถูกเสนอผ่านนักแสดง ที่ชื่อ บรูโน (Bruno S.) และเหตุการณ์ต่าง ๆ ในภาพยนตร์

บรูโน เป็นนักแสดงที่ฮอร์ซอคคัดเลือกมาด้วยบุคลิกลักษณะของเขาความคล้ายคลึงกับคาสปาร์ เขาเป็นลูกโสเภณีที่ถูกแม่ทุบตีบ่อยครั้ง และมีปัญหาด้านสมอง สิ่งที่เขาเรียนรู้ได้ดีก็คือดนตรี สิ่งที่บรูโนแสดงออกมาในภาพยนตร์เรื่อง Enigma of Kaspar Hauser แทบจะเป็นตัวตนของเขาเอง ในขณะที่ฮอร์ซอคช่วยเติมเรื่องราวต่าง ๆ ให้ บรูโน อยู่ในฐานะของคาสปาร์ ผู้ชมที่ชมภาพยนตร์เรื่องนี้จึงชมภาพของบรูโนที่หมายถึงคาสปาร์

จากงานเขียนหลายเรื่องที่เกี่ยวกับคาสปาร์ เฮาเซอร์ พบว่าข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเขายังสรุปไม่ได้ มีเพียงข้อสันนิษฐานต่าง ๆ นานา ถึงที่มาและการจากไปของเขา บางคนเชื่อว่าคาสปาร์เป็นเจ้าชายแห่งบาเดน และการตายของเขาเกิดจากความขัดแย้งในราชวงค์ และก็มีบางคนแย้งว่าคาสปาร์อาจจะแทงตัวเอง และสร้างเรื่องราวขึ้นเพื่อเรียกร้องความสนใจ เพราะเขาเองก็มีอาการทางจิตปรากฏให้เห็น

อย่างไรก็ตามเฮอร์ซอคได้หยิบยกแต่ประเด็นที่เป็นด้านบวกของคาสปาร์มานำเสนอในภาพยนตร์ เช่น ความเป็นธรรมชาติของคาสปาร์ที่กระทำและคิดเหมือนทารกที่บริสุทธิ์ไม่ได้รับการขัดเกลาอบรมผ่านกระบวนการทางสังคม แม้คาสปาร์จะได้รับการสั่งสอนจากผู้คนรอบข้าง เช่น ผู้คุมในตอนที่เขาอยู่ในคุก โดยเฉพาะนายโดเมอร์ (Mr.Daumer) แต่คาสปาร์ก็ยังคงไว้ซึ่งความคิดที่บริสุทธิ์และตรงไปตรงมา เช่น ในภาพยนตร์นี้ มีศาสตราจารย์ท่านหนึ่งถามคาสปาร์ที่เกี่ยวข้องกับตรรกะ (logic) คาสปาร์ตอบได้โดยไม่ต้องอาศัยหลักของตรรกะแต่เป็นคำตอบที่แม่บ้านก็สามารถเข้าใจได้ เช่นเดียวกับการอธิบายเปรียบเทียบขนาดของห้องในหอคอยกับตัวหอคอยของคาสปาร์ เป็นความคิดที่ซื่อ ๆ แต่นายโดเมอร์เองก็ไม่สามารถอธิบายข้อเท็จจริงของเรื่องนี้ได้ นอกจากนี้เฮอร์ซอคยังได้เพิ่มประเด็นภาพในความฝันของคาสปาร์อย่างขบวนคาราวานที่มีผู้นำทางเป็นคนตาบอด หรือภาพที่ผู้คนต่างปีนป่ายขึ้นไปบนยอดเขาแห่งความตาย แม้แต่คำถาม เช่น “What are women good for?” ที่กล่าวมาเป็นการนำเสนอภาพของคาสปาร์ในแม่แบบ (Archetype) ของผู้วิเศษซึ่งเป็นผู้มีความรู้สามารถแก้ไขปัญหาได้ลุล่วงตามทฤษฎีของ Moore และ Gillette เพื่อให้ผู้ชมมีความรู้สึกดีกับคาสปาร์

ไม่เพียงแต่ตัวละครหลักอย่างคาสปาร์เท่านั้นที่ทำถูกนำเสนอในแง่บวก ตัวละครอื่น ๆ ก็ล้วนแล้วแต่ถูกสร้างขึ้นให้มีลักษณะของความเป็นมิตร มีการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เช่น ครอบครัวของผู้คุมที่ช่วยดูแลคาสปาร์ในตอนที่เขาต้องอาศัยอยู่ในคุก หรือแม้แต่ขุนนางเองก็ไม่ได้แสดงอาการรังเกียจ ซ้ำยังช่วยเหลือให้คาสปาร์ได้เรียนรู้ และหาผู้อุปถัมภ์ดูแลเขา จะมีการกลั่นแกล้งบ้างก็เพื่อสร้างอารมณ์ขันทำให้สภาพสังคมในภาพยนตร์ดูเป็นมิตรยิ่งขึ้น

เมื่อเราได้ดูภาพยนตร์ Enigma of Kaspar Hauser นั่นหมายถึงว่าเราไม่ได้รับทราบถึงประวัติของคาสปาร์ เฮาเซอร์เท่านั้น แต่ยังมีมายาคติเกี่ยวกับสังคมในประเทศเยอรมัน ที่ถูกแสดงออกมาเหมือนเป็นสังคมอุดมคติแบบยูโทเปียนิยม (utopianism) มุ่งสร้างความศิวิไลและความทันสมัยที่สามารถเกิดขึ้นได้โดยการพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นผู้คนลักษณะอย่างคาสปาร์ที่มีความบริสุทธิ์ แต่ยังไว้ซึ่งความฉลาด หรือผู้คนที่แวดล้อมคาสปาร์ที่มีความเป็นมิตรล้วนแล้วแต่แสดงถึงสังคมอุดมคติในเยอรมันทั้งสิ้น แล้วอย่างนี้จะไม่ให้ผู้ชมชื่นชอบคาสปาร์และมีความรู้สึกด้านบวกกับประเทศเยอรมันผู้แพ้สงครามได้อย่างไร

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย