สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

สถาบันการเมือง

รัฐธรรมนูญ (Constitution)
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญ
ลักษณะที่ดีของรัฐธรรมนูญ
การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
กฎหมายและความเป็นมาของกฎหมาย
ที่มาของกฎหมาย
กฎหมายกับการรักษากฎหมาย (Law and Enforcement)

การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของรัฐต่างๆ ตามประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาก็พอจะแบ่งออกได้เป็น 5 ประการด้วยกัน คือ

  1. การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยฝ่ายนิติบัญญัติ กล่าวคือ ถือเอาเสียงข้างมากในฝ่ายนิติบัญญัติในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ประเทศสหราชอาณาจักร เป็นตัวอย่างของการแก้ไขโดยวิธีการง่ายๆ เช่นนี้ แต่เราจะต้องระลึกไว้เสมอว่า รัฐธรรมนูญของอาณาจักรเป็นรัฐธรรมนูญจารีตประเพณี ซึ่งเกิดจากการรวบรวมกฎหมายฉบับต่างๆ เข้าเป็นรัฐธรรมนูญ มิได้เป็นกฎหมาย รัฐธรรมนูญฉบับเดียวเช่นเดียวกันกับรัฐธรรมนูญแบบลายลักษณ์อักษร

    รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 (หมวด 12) ได้มีการบัญญัติให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมโดยวิธีนี้
  2. การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยฝ่ายนิติบัญญัติแบบลงคะแนนเสียงพิเศษ โดยมีวิธีการพิเศษ คือ ต้องการคะแนนเสียงมากกว่าการแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกร่างกฎหมายธรรมดา กล่าวคือ ไม่ใช่เพียงแต่เสียงข้างมาก 50+1% เท่านั้น แต่ต้องเป็นคะแนนเสียงที่มากกว่านั้น เช่น 2/3 หรือ 3/4 ของสมาชิกฝ่ายนิติบัญญัติ เป็นต้น ประเทศฝรั่งเศส ญี่ปุ่น นอร์เวย์ ใช้วิธีการนี้ในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของประเทศ
  3. การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยฝ่ายนิติบัญญัติแบบให้มีการลงประชามติ เมื่อฝ่ายนิติบัญญัติได้แก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วจะต้องนำมาให้ประชาชนลงคะแนนเสียงรับรอง เป็นการแสดงประชามติว่าจะรับหรือไม่รับหลักการ เช่น รัฐธรรมนูญของฝรั่งเศส ปี ค.ศ.1958 และรัฐธรรมนูญไทยปี พ.ศ.2492 และ 2501


  4. การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยให้ประชาชนทั่วไป ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง เป็นผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติ (Referendum) หรือประชาชนมีสิทธิที่จะเสนอข้อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้เองด้วย (Initiative) วิธีนี้อยู่ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ นักรัฐศาสตร์หลายท่านกล่าวกันว่า วิธีนี้เป็นวิธีการที่ดีที่สุด เพราะประชาชนต่างหากไม่ใช่รัฐบาลควรจะมีอำนาจในการร่างรัฐธรรมนูญ แต่วิธีการนี้จะใช้ได้ผลดีก็ต่อเมื่อประชาชนรัฐนั้นมีการศึกษาดี และมีความรับผิดชอบในสิทธิและหน้าที่ของตนเป็นอย่างดี
  5. การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยการจัดตั้งองค์การพิเศษ ซึ่งได้รับเลือกตั้งโดยประชาชนให้มีหน้าที่โดยเฉพาะในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ องค์การพิเศษนี้เรียกว่า สภาร่างรัฐธรรมนูญ (Constitutional Convention) เมื่อแก้ไขเพิ่มเติมเรียบร้อยแล้ว ก็นำมาเสนอให้ประชาชนลงคะแนนเสียงกันอีกทีหนึ่ง วิธีการนี้ใช้กันมากในสหรัฐระดับมลรัฐ ดังเช่น การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของมลรัฐอิลลินอยส์ (Illinois) เมื่อปี ค.ศ.1970 เป็นต้น

ไทยได้นำเอารูปแบบสภาร่างรัฐธรรมนูญนี้มาใช้ในการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ (รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540) โดยมีผู้แทนจากจังหวัดต่างๆ สถาบันอุดมศึกษา ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย รัฐศาสตร์ และผู้มีประสบการณ์ด้านการเมือง มีการลงมติรับรองจากที่ประชุมรัฐสภากลั่นกรองจนได้สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 99 คน ใช้เวลาร่างรัฐธรรมนูญ 233 วัน แล้วเสนอรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้รัฐสภาพิจารณารับรอง แล้วทูลเกล้าฯ ถวายให้ลงพระปรมาภิไธย

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย