วิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา >>

การป้องกันและบรรเทาภัยจากสารเคมีและวัตถุอันตราย

อาวุธเคมีและอาวุธชีวภาพ
ขั้นตอนการปฏิบัติ
การบริหารจัดการในภาวะฉุกเฉิน

การบริหารจัดการในภาวะฉุกเฉิน

การบริหารจัดการในภาวะฉุกเฉิน มีแนวทางดังนี้

กรณีเกิดเหตุ

  1. ผู้ประสบเหตุ ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ หรือหน่วยงานที่ได้รับทราบเหตุ แจ้งหรือรายงาน ไปยังกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในเขตพื้นที่ที่เกิดเหตุนั้นๆ
  2. กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในเขตพื้นที่กรณีที่ได้รับแจ้งเหตุการณ์ ที่เป็นภัยอันเกี่ยวเนื่องกับสารเคมีและวัตถุอันตรายให้ปฏิบัติ ดังนี้
    - ให้สั่งชุดเจ้าหน้าที่ออกปฏิบัติงานทันทีตามแผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาภัยจากสารเคมีและวัตถุอันตราย
    - ปิดกั้นมิให้ผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าไปในพื้นที่ประสบภัยจากสารเคมีและวัตถุอันตราย พร้อมทั้งจัดระบบรักษาความสงบเรียบร้อย จัดระเบียบจราจรบริเวณพื้นที่ประสบภัยและพื้นที่ใกล้เคียง
    - รายงานเหตุการณ์ให้ผู้อำนวยการชั้นเหนือขึ้นไปทราบ
    - จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยจากสารเคมีและวัตถุอันตราย เพื่อเป็นศูนย์ในการบัญชาการและอำนวยการปฏิบัติและจัดให้เจ้าหน้าที่เข้าประจำศูนย์ทันที
    - ในกรณีที่เห็นว่าไม่อยู่ในสภาพที่แน่ชัดเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อสารเคมีและวัตถุอันตรายในบริเวณที่เกิดเหตุให้แจ้งประสานกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม หรือกรมควบคุมมลพิษ หรือ กรมธุรกิจพลังงาน กรณีที่เกี่ยวข้องกับวัสดุกัมมันตรังสี ให้ประสานกับสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องและสามารถป้องกันและบรรเทาภัยได้ตรงตามลักษณะของสารเคมีและวัตถุอันตรายแต่ละประเภท
    - ประชาสัมพันธ์แจ้งให้ประชาชนผู้อาศัยอยู่ในบริเวณสถานที่เกิดเหตุการณ์หรือบริเวณที่อาจได้รับผลกระทบข้างเคียงทราบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รวมทั้งอพยพออกจากพื้นที่ในกรณีที่จำเป็น และวิธีการป้องกันตัวสำหรับผู้อยู่ในบริเวณที่อาจได้รับอันตราย เพื่อให้ป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากสารเคมีและวัตถุอันตราย หากจำเป็นให้ประกาศเป็นเขตอันตรายห้ามมิให้ผู้ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องเข้าไปบริเวณดังกล่าว
  3. ดำเนินการตรวจพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลในกรณีมีผู้เสียชีวิต หน่วยงานหลัก

หลังเกิดภัย

การจัดการหลังเกิดภัย มีแนวทางดังนี้

  • ให้ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับสารเคมีและวัตถุอันตรายจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าไปยังบริเวณ ที่เสียหาย และตรวจสอบว่ามีผลกระทบข้างเคียงหรือมีสารเคมีและวัตถุอันตรายตกค้างหรือไม่ เพื่อดำเนินการแก้ไขให้บริเวณที่เกิดเหตุและบริเวณข้างเคียงเกิดความปลอดภัย หน่วยงานหลัก ได้แก่ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมควบคุมมลพิษ และสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ
  • ให้ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบ ดำเนินการประเมินความเสียหายและความต้องการเบื้องต้น โดยจัดทำบัญชีรายชื่อผู้ประสบภัยและทรัพย์สินที่เสียหายไว้เป็นหลักฐาน พร้อมทั้งออกหนังสือรับรองให้ผู้ประสบภัยไว้เป็นหลักฐานในการรับการสงเคราะห์และฟื้นฟู
  • จัดหาที่พักชั่วคราว และให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยด้านสุขภาพ อนามัย สภาพจิตใจ การช่วยเหลือและฟื้นฟูสัตว์ป่าและสัตว์เลี้ยงที่ได้รับผลกระทบจากภัยจากสารเคมีและวัตถุอันตรายด้วย หน่วยงานหลัก ได้แก่ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด สำนักงานโยธาธิการและ ผังเมือง สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานสาธารณสุข สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
  • การจัดการศพผู้เสียชีวิต มีแนวทางดังนี้
    -
    จัดหาสถานที่เก็บรักษาศพและพื้นที่ในการพิสูจน์เอกลักษณ์ศพผู้เสียชีวิต หน่วยงานหลักได้แก่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ตำรวจภูธรจังหวัด จังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
    - การพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลและการส่งกลับ ให้เป็นไปตามข้อตกลงความร่วมมือการปฏิบัติงานพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลและการส่งกลับในกรณีภัยพิบัติร้ายแรง ระหว่างกรมป้องกันและบรรเทา สาธารณภัยกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
    - การเคลื่อนย้ายศพ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมกับอำเภอ และจังหวัด ควบคุมการเคลื่อนย้ายศพผู้เสียชีวิต โดยการสนับสนุนของสำนักงานขนส่งจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ตำรวจภูธรจังหวัด และหน่วยงานอื่นตามความจำเป็น

 

  • ป้องกัน เฝ้าระวัง และควบคุมโรคที่อาจจะเกิดขึ้นทั้งด้านร่างกายและจิตใจ หน่วยงานหลัก ได้แก่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด
  • ฟื้นฟูคุณภาพชีวิต และฟื้นฟูอาชีพของผู้ประสบภัย ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ให้สามารถดำรงชีวิตและประกอบอาชีพได้อย่างปกติหน่วยงานหลัก ได้แก่ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานแรงงานจังหวัด สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด จังหวัด อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เหล่ากาชาดจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
  • ฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งสิ่งสาธารณประโยชน์อื่นๆ ที่ได้รับความเสียหายให้กลับสู่สภาพเดิม เช่น สถานที่ราชการ โรงเรียน สถานที่ท่องเที่ยว และสิ่งแวดล้อมที่ได้รับความเสียหาย รวมทั้งแก้ไขปัญหาภาวะมลพิษต่างๆ หน่วยงานหลัก ได้แก่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สำนักทางหลวง แขวงการทาง สำนักงานทางหลวงชนบท สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัด สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัด จังหวัด อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)ส่วนบริการลูกค้าจังหวัด บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ที่ทำการไปรษณีย์ สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัด การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัด และสำนักงาน ประปา
  • ให้ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจในเขตพื้นที่ที่เกิดเหตุดำเนินการฟื้นฟูบูรณะ ความเสียหาย ในเบื้องต้นโดยใช้งบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ก่อน กรณีที่เกินขีดความสามารถให้พิจารณาช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
  • จัดให้มีการศึกษาผลกระทบจากสารเคมีและวัตถุอันตรายที่มีต่อชีวิต ทรัพย์สินของประชาชน เพื่อนำไปเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการภัยจากสารเคมีและวัตถุอันตรายในอนาคต หน่วยงานหลัก ได้แก่ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด กรมควบคุมมลพิษ สำนักงานพลังงานจังหวัด สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสถาบันการศึกษา

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย