วิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา >>

การใช้ยาและสารเคมีในฟาร์มกุ้ง

        การใช้ยาและสารเคมีเพื่อป้องกันหรือรักษาโรค เป็นปัจจัยหนึ่งในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ทุกชนิด เช่นเดียวกับการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลของประเทศไทยซึ่งได้รับการพัฒนาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 เป็นต้นมาจนเป็นระบบการเลี้ยงแบบพัฒนาหนาแน่น (intensive culture) มีการใช้ยาและสารเคมีในระหว่างขบวนการเลี้ยง ทั้งวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันโรค รักษาโรค และการจัดการคุณภาพดินและน้ำ แม้ว่าการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลของประเทศไทยได้รับความสำเร็จในเชิงผลผลิตตลอดเวลาที่ผ่านมา จนเมื่อปี พ.ศ. 2545 ปัญหาการตกค้างของยาปฏิชีวนะในกุ้งส่งออก ทำให้เกิดคำถามว่าการเลี้ยงกุ้งทะเลของบ้านเรานั้นมีการพัฒนาอย่างถูกต้องหรือไม่ ปัญหาที่เกิดขึ้นกับการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลแบบพัฒนาหนาแน่น คือ การเกิดโรคระบาด ทำให้เกษตรกรใช้ยาและ/หรือ สารเคมีเพื่อการป้องกันและรักษาโรค การใช้ยาและสารเคมีโดยขาดการควบคุมและความเข้าใจในการใช้ยาอย่างถูกต้องทำให้เป็นปัญหาต่อเนื่องอย่างมากมาย เช่นดังที่พบในอุตสาหกรรมการผลิตกุ้งทะเลไทยในปัจจุบัน อาทิ ยาที่ใช้ไม่มีประสิทธิผลต่อเชื้อโรคทำให้เกิดการระบาดของโรค หรือ การกลายพันธุ์ของเชื้อโรคจนยากแก่การรักษาหรือป้องกัน สารเคมีที่ใช้ในบ่อกุ้งมีผลเสียต่อคุณภาพน้ำและระบบนิเวศน์ในบ่อเลี้ยงทำให้ผลผลิตลดลง การตกค้างของยาหรือสารเคมีในเนื้อกุ้งซึ่งกำลังเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกกุ้งทะเลไทยมากที่สุดในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลแบบพัฒนาหนาแน่นยังคงต้องใช้ยาและสารเคมีในการป้องกัน หรือ รักษาโรคอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงมีการศึกษาวิจัยถึงผลของยาและสารเคมีชนิดต่างๆ ที่มีการใช้อยู่ในการเลี้ยงกุ้งทะเลของประเทศไทย ได้แก่

1. ยาออกฤทธิ์ต้านจุลชีพ
2. สารเคมีที่ใช้ในการป้องกันหรือรักษาโรคกุ้ง
3. สารเคมีปนเปื้อนที่ก่อให้เกิดมลภาวะในน้ำเลี้ยงกุ้ง

การศึกษาการใช้ยาและสารเคมีในการเลี้ยงกุ้ง (ระหว่างปี พ.ศ. 2530-2546)
  1. ประเภทยาหรือสารเคมี
    - ยาออกฤทธิ์ต้านจุลชีพ
    - ยาปฏิชีวนะ
    - สารปฏิชีวนะ
    - สารเสริมสุขภาพ
     
    วัตถุประสงค์ของการศึกษา
    - ปริมาณยาและประสิทธิภาพของยาในการป้องกันหรือรักษาโรค
    - ปริมาณยาตกค้างในเนื้อกุ้ง หลังจากที่กุ้งได้รับยา
     
    การวิธีการศึกษา
    -
    ประเมินผลของยาในการต้านจุลชีพโดยตรง
     1. การประเมินผลของยาทางห้องปฏิบัติการ (in vitro study)
     2. การประเมินผลของยาเมื่อกุ้งได้รับยา ( in vivo study)
     - กุ้งวัยอนุบาล (hatchery stage) 2.2
     - กุ้งระยะบ่อดิน (grown-out stage)

    - ประเมินผลของยาในการเสริมภูมิคุ้มกันทาง ห้องปฏิบัติการ (in vitro study) แสดงว่า ระบบภูมิคุ้มกันโรคของกุ้งสามารถ ต้านจุลชีพ
    - ตรวจวิเคราะห์ปริมาณยา โดยวิธีทางเคมี (chemical analysis) หรือ ทางจุลชีวะ (microbiological assay)
  2. ประเภทยาหรือสารเคมี
    - สารเคมีที่ใช้ในการป้องกัน หรือ รักษาโรคกุ้ง ยาฆ่าเชื้อ ยาฆ่าวัชพืช
     
    วัตถุประสงค์ของการศึกษา
    -
    ปริมาณและการออกฤทธิ์ของ สารเคมี
    - ความเป็นพิษของสารเคมีต่อกุ้ง

    การวิธีการศึกษา
    -
    ประเมินการออกฤทธิ์ของสารเคมีในการยับยั้ง การเจริญของจุลชีพทางห้องปฏิบัติการ (in vitro study)
    - ประเมินความเป็นพิษของสารเคมีในระดับ ความเข้มข้นต่าง ๆ
    การศึกษาพิษแบบเฉียบพลัน (acute toxicity study) : Lethal Concentration 50 (LC 50)
    การศึกษาพิษกึ่งเฉียบพลัน (subacute toxicity study) : การเปลี่ยนแปลงทางชีว เคมี การเปลี่ยนแปลงทางกายวิภาค หรือ การเกิดจุลพยาธิสภาพของกุ้งที่ได้รับสารเคมี
      
  3. ประเภทยาหรือสารเคมี
    - สารเคมีปนเปื้อนที่ก่อให้เกิดมลภาวะในน้ำเลี้ยงกุ้ง
    - ของเสียจากไนโตรเจน
    - ยาฆ่าแมลง
    - โลหะหนัก
    - สารขจัดคราบน้ำมัน

    วัตถุประสงค์ของการศึกษา
    -
    ความเป็นพิษของสารเคมีต่อกุ้ง
     
    การวิธีการศึกษา
    -
    ประเมินความเป็นพิษของสารเคมีในระดับ ความเข้มข้นต่างๆ
    การศึกษาพิษแบบเฉียบพลัน (acute toxicity study) : Lethal Concentration 50 (LC 50)
    การศึกษาพิษแบบกึ่งเฉียบพลัน (subacute toxicity study) : การเปลี่ยน แปลงทางชีวเคมี การเปลี่ยนแปลงทาง กายวิภาค หรือการเกิดจุลพยาธิสภาพ ของกุ้งที่ได้รับสารเคมีปนเปื้อนในแหล่งน้ำ

ยาต้านจุลชีพ เป็นประเภทของยาที่ได้รับการศึกษามากที่สุดในกลุ่มของยาและสารเคมีที่ใช้ในการเลี้ยงกุ้งทะเลของประเทศไทย รายงานการศึกษาการเลี้ยงกุ้งทะเลแบบพัฒนาหนาแน่น แสดงว่า เชื้อโรคชนิดต่างๆ ที่อาจก่อให้เกิดโรคในกุ้ง เช่น เชื้อโปรโตซัว : Zoothamnium sp. Epistylis sp. Acineta sp. Thelonania sp. เชื้อแบคทีเรีย : Vibrio sp. และ Filamentous bacteria เป็นต้น สามารถพบได้ในบ่อที่มีการเลี้ยงแบบหนาแน่น ดั้งนั้นการเกิดโรคในกุ้งจากเชื้อโรคที่มีอยู่แล้วในบ่อ (opportunistic pathogens) จึงอาจเกิดได้ตลอดเวลาในระหว่างการเลี้ยงโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อกุ้งได้รับความเครียด เช่น คุณภาพน้ำที่ไม่เหมาะสม การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ หรือ การจัดการที่ไม่เหมาะสมเป็นต้น ดังนั้นการใช้ยาต้านจุลชีพในกุ้งวัยอนุบาลโดยการแช่ยาและในกุ้งระยะบ่อดินอย่างต่อเนื่อง อาจเนื่องมาจากสภาวะการเกิดโรคต่าง ๆ ในขบวนการเพาะเลี้ยงทั้งในบ่อเพาะฟัก (hatchery) และการเลี้ยงในบ่อดิน

 

การศึกษาการใช้ยาและสารเคมีในฟาร์มกุ้ง ได้เสนอข้อมูลที่น่าสนใจว่า ยาตัวอย่างที่ได้รับการสุ่มตรวจในท้องตลาดไม่มีประสิทธิภาพตามที่อ้างสรรพคุณบนฉลากสำหรับรักษาและป้องกันโรคแบคทีเรียในสัตว์น้ำและยาดังกล่าวไม่มีการขึ้นทะเบียนตำรับยาตามกฎหมาย รายงานการสำรวจการใช้ยาในการเลี้ยงกุ้งของแถบพื้นที่อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง ในปีพ.ศ.2542 แสดงว่ามีการใช้ยาและสารเคมีเป็นมูลค่าถึง 13,692 + 8,556 บาท /ไร่ / การเลี้ยง 1 รุ่น โดยมีการใช้ยาและสารเคมีชนิดต่างๆตลอดระยะเวลาการเลี้ยง ได้แก่ ยาต้านจุลชีพ ยาฆ่าเชื้อ อาหารเสริม และ probiotic คณะผู้วิจัยได้ให้ข้อคิดเห็นจากผลการศึกษาว่า ปัญหาของการใช้ยาและสารเคมีในการเลี้ยงกุ้งกุลาดำ เกิดจากการขาดยาที่มีการรับรองมาตรฐานตามกฎหมาย กล่าวคือ ยาที่เกษตรกรใช้ในฟาร์มกุ้งส่วนใหญ่เป็นยาที่ไม่มีการขึ้นทะเบียนตำรับยาทางกฎหมาย ดังนั้นยาดังกล่าวจึงขาดการรับรองคุณภาพและเอกสารกำกับยาอาจไม่ถูกต้อง ทำให้มีการใช้ยาผิดวัตถุประสงค์ ขนาดของการใช้ยาไม่ถูกต้อง หรือการใช้ยาที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค เช่น คลอแรมเฟนนิเคิล ฟูราโซลิโดน เป็นต้น ดังที่ปรากฏในการเลี้ยงกุ้งของไทยทุกวันนี้ (ลิลาและคณะ 2540 ธงชัยและวีระพร 2543 Gräslund et al. 2002)

การรับรองมาตรฐานยาสำหรับสัตว์น้ำ หรือการขึ้นทะเบียนตำรับยาสัตว์น้ำ ดำเนินการโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งได้เริ่มจัดทำเอกสารกำกับยามาตรฐานสำหรับ กุ้งและปลา (แสดงตัวอย่าง) ได้แก่ เอกสารกำกับยา Oxytetracycline Enrofloxacin Sulfadimethoxine/ Ormetoprim และ Sulfadimethoxine/Trimethoprim นอกจากนี้ยังมียาและสารเคมีอีกหลายชนิดที่ได้รับการขึ้นทะเบียนตำรับยาหรืออาหารเสริมสำหรับสัตว์น้ำ อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยควรมีการศึกษาการใช้ยาและสารเคมีในฟาร์มกุ้งมากกว่าที่ปรากฏในปัจจุบันเนื่องจากประเทศไทยเป็นผู้นำในการเลี้ยงกุ้งทะเลเพื่อการส่งออกไปยังตลาดผู้บริโภค การวิเคราะห์ปริมาณยาสัตว์ตกค้างในเนื้อกุ้งกุลาดำก่อนการส่งออกต่างประเทศ เป็นข้อตกลงทางการค้าที่มีผลบังคับใช้อย่างเข้มงวดตั้งแต่ ปี พ.ศ.2546 เนื้อกุ้งก่อนการส่งออกต้องผ่านการวิเคราะห์ปริมาณยาสัตว์ตกค้าง โดยวิธี quantitative analysis และ chemical analysis โดยการใช้ High Pressure Liquid Chromatography (HPLC) หรือ Gas Chromatography (GC) นอกจากนี้การขึ้นทะเบียนรับรองมาตรฐานยาให้เพียงพอจะทำให้เกษตรกรมีแนวทางการใช้ยาได้อย่างถูกต้อง ยา หรือ สารออกฤทธิ์ที่นำมาใช้ในฟาร์มกุ้งต้องเป็นชนิดที่สามารถใช้ในสัตว์ที่เป็นอาหาร (food producing animal) และกุ้งที่ได้รับยามีความปลอดภัยต่อการบริโภค ตลอดจนวิธีการใช้ยาที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะต่อตัวกุ้ง เช่น ผลต่อคุณภาพน้ำหรือแพลงค์ตอนพืชและสัตว์

เอกสารอ้างอิง

  • เจนนุช ว่องธวัชชัย. 2547. ผลของยาและสารเคมีต่อสุขภาพกุ้ง. ในรายงานการวิจัยเรื่อง “ บทวิเคราะห์และ สังเคราะห์งานวิจัยกุ้งทะเลของประเทศไทย ” สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2546. 46-73.
  • ธงชัย นิติรัฐสุวรรณ และ วีระพร ศรีอรรคพรหม. 2543. การใช้ยาและสารเคมีในการเลี้ยงกุ้งกุลาดำในอำเภอ สิเกา จังหวัดตรัง ปี 2542. คณะวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีการประมง สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล. 45 หน้า.
  • ลิลา เรืองแป้น, สถาพร ดิเรกบุษราคม, เยาวนิตย์ ดนยคล และ อุบลรัตน์ ศรีแก้ว. 2540. ประสิทธิภาพของยา รักษาโรคกุ้งกุลาดำในท้องตลาดที่ยับยั้งการเจริญของแบคทีเรียเรืองแสงและวิบริโอ. เอกสารวิชาการ ฉบับที่ 19/2540. สถาบันวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง จังหวัดสงขลา. 10 หน้า.
  • สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา. 2547. เอกสารกำกับยามาตรฐานของยา Oxytetracycline สำหรับกุ้ง และปลา.
  • Gräslund, S., Karlsson, K. and Wongtavatchai, J. 2002. Responsible use of antibiotics in shrimp farming. Aquaculture Asia Magazine. 7(3) : 17.

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย