เทคโนโลยี นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ วิศวกรรม เกษตรศาสตร์ >>

นวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการศึกษา

        คำว่า “นวัตกรรม” เดิมใช้ “นวกรรม” มาจากคำว่า นว หรือ นวัต ซึ่งแปลว่า ใหม่ ( เช่น นวธานี, นวนคร = เมืองใหม่, นวพล = พลังใหม่, นวกภิกขุ = พระบวชใหม่) กับคำว่า “กรรม” ซึ่งแปลว่า การกระทำ การทำหรือสิ่งที่ทำ ความคิดและการปฏิบัติ ตรงกับคำภาษาอังกฤษ “Innovation” ซึ่งมาจากรากศัพท์ภาษาลาติน in + novare (= new) เป็น Innovare แปลว่า ทำให้ใหม่ (to renew) หรือดัดแปลงเสียใหม่ (to modify) ส่วน Innovate เป็นคำกริยา แปลว่า ทำใหม่ เปลี่ยนแปลงโดยนำสิ่งใหม่เข้ามา เมื่อนำ 2 คำ มารวมกันเป็น นวกรรม หรือ นวัตกรรม ก็จะแปลได้ตรงตัวว่า การกระทำใหม่ หรือกระทำสิ่งใหม่ หมายถึง ทำขึ้นมาใหม่ ประดิษฐ์คิดค้นสิ่งใหม่ขึ้นมา ซึ่งอาจอยู่ในรูป ความคิด สิ่งของ วัสดุ เครื่องมืออุปกรณ์ หรือวิธีการก็ได้ ดังที่มีผู้ให้ความหมายไว้ เช่น

เป็นความคิด การปฏิบัติ หรือสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ ที่ยังไม่เคยมีใช้มาก่อนหรือเป็นการพัฒนาดัดแปลงจากของเดิมที่มีอยู่แล้วให้ทันสมัยและใช้ได้ผลดียิ่งขึ้น... (กิตานันท์ มลิทอง. 2543 : 255)

หมายถึง วิธีการหรือการกระทำใด ๆ ที่เป็นวิธีการหรือการกระทำใหม่ หรือเป็นสิ่งที่มีผู้คิดค้นขึ้นใหม่ หรืออาจปรับปรุงของเก่าให้ใหม่หรือดีขึ้น เพื่อใช้สิ่งนั้นในการแก้ปัญหาหรือปรับปรุงคุณภาพให้ดีขึ้น (เอกวิทย์ แก้วประดิษฐ์. 2545 : 8)

เป็นแนวความคิดที่มีเป้าหมายชัดเจน ในการนำมาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องและมีการวางแผนอย่างเป็นระบบ (Nicholls and Allen. 1983 : 4)

ดังกล่าวแล้วว่า เทคโนโลยีการศึกษา เป็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสิ่งประดิษฐ์ หรือใช้ ร่วมกับกระบวนการทางจิตวิทยา และอื่น ๆ เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ การใช้เทคโนโลยีมิได้หมายความว่าจะมีประสิทธิภาพคงที่เสมอไป ประสิทธิภาพของเทคโนโลยีใด ๆ ก็อาจจะเปลี่ยนแปลงได้ เมื่อเปลี่ยนแปลงสถานที่ เปลี่ยนแปลงเวลา เปลี่ยนบุคคลที่ใช้และบุคคลที่ถูกนำไปใช้ เปลี่ยนแปลงสถานที่แวดล้อม ก็อาจจะทำให้ประสิทธิภาพของเทคโนโลยีนั้นเปลี่ยนแปลงไปได้ ในกรณีที่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่จะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพให้สูงขึ้น เทคโนโลยีนั้นก็จะยังคงใช้ต่อไป แต่เมื่อประสิทธิภาพลดลง เทคโนโลยีนั้น ๆ จึงต้องมีการปรับปรุงจุดบกพร่องบางส่วน หรือนำเอาวิธีการใหม่ ๆ มาใช้ ซึ่งวิธีการที่ได้รับการปรับปรุงใหม่หรือวิธีการใหม่ที่นำมาใช้เรียกว่า นวัตกรรม (Innovation)

  • ทอมัส ฮิวซ์ (อ้างในบุญเกื้อ ควรหาเวช, 2542:13) ให้ความหมายของคำว่า นวัตกรรมว่า "เป็นการนำวิธีการใหม่ ๆ มาปฏิบัติหลังจากได้ผ่านการทดลองหรือได้รับการพัฒนามาเป็นขั้น ๆ แล้ว โดยเริ่มมาตั้งแต่การคิดค้น (Invention) การพัฒนา (Development) ซึ่งอาจจะเป็นรูปของโครงการทดลองปฏิบัติก่อน (Pilot Project) แล้วจึงนำมาปฏิบัติจริง ซึ่งมีความแตกต่างไปจากการปฏิบัติเดิมที่เคยปฏิบัติมา"
  • มอตัน (อ้างในบุญเกื้อ ควรหาเวช, 2542:13) กล่าวว่า "นวัตกรรม หมายถึง การทำให้ใหม่ขึ้นอีกครั้ง (Renewal) ซึ่งหมายถึงการปรับปรุงของเก่าและพัฒนาศักยภาพของบุคลากรตลอดจนหน่วยงานหรือองค์การนั้น ๆ นวัตกรรมไม่ใช่การขจัดหรือล้มล้างสิ่งเก่าให้หมดไป แต่เป็นการปรับปรุงแต่งและพัฒนาเพื่อความอยู่รอดของระบบ"
  • ไชยยศ เรืองสุวรรณ (อ้างในบุญเกื้อ ควรหาเวช, 2542:13) กล่าวว่า "นวัตกรรม หมายถึงวิธีการปฏิบัติใหม่ ๆ ที่แปลกไปจากเดิม โดยอาจจะได้มาจากการคิดค้นพบวิธีการใหม่ ๆ ขึ้นมาหรือมีการปรับปรุงของเก่าให้เหมาะสมและสิ่งทั้งหลายปลายทางอย่างมีประสิทธิภาพขึ้น"

ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้โดยสรุปว่า "นวัตกรรม เป็นการปรับปรุงดัดแปลงวิธีการเดิม หรือนำเอาวิธีการใหม่มาใช้ในกระบวนการดำเนินงานใดๆ แล้วทำให้ประสิทธิภาพสูงขึ้นกว่าเดิม"

เมื่อนำนวัตกรรมมาใช้กับงานใดหรือสาขาใดก็จะเรียกชื่อตามสาขาที่นำมาใช้นั้น เช่น นวัตกรรมการเกษตร นวัตกรรมการสื่อสาร นวัตกรรมการสอน นวัตกรรมการศึกษา เป็นต้น มีผู้ให้ความหมายของนวัตกรรมที่นำมาใช้ในระบบการศึกษาและการเรียนการสอน (educational/instructional innovation) ไว้ เช่น

  • หมายถึง นวัตกรรมที่จะช่วยให้การศึกษาและการเรียนการสอนมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น ผู้เรียนสามารถเกิดการเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิผลสูงกว่าเดิม เกิดแรงจูงใจในการเรียนด้วยนวัตกรรมเหล่านั้น และประหยัดเวลาในการเรียนอีกด้วย...(กิดานันท์ มลิทอง. 2543 : 256)
  • เป็นการนำเอาสิ่งใหม่ ๆ ซึ่งอาจจะอยู่ในรูปของความคิดหรือการกระทำ รวมทั้งสิ่งประดิษฐ์ก็ตาม เข้ามาใช้ในระบบการศึกษา เพื่อมุ่งหวังที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งที่มีอยู่เดิมให้ระบบการจัดการศึกษามีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น (บุญเกื้อ ควรหาเวช. 2530 : 5)

จากความรู้เรื่องเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่กล่าวมาแล้ว และหากทำการศึกษาในเอกสารตำราต่าง ๆ จะพบว่า เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นคำที่มักจะใช้ควบคู่กันเสมอ ๆ เช่น ใช้คำว่า นวัตกรรมและเทคโนโลยี หรือ เทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือแม้แต่คำว่า นวัตกรรมเทคโนโลยี (ไม่มีคำว่า“และ”)หรือในรูปรวมกันเป็นคำเดียวในลักษณะย่นย่อเกิดเป็นคำศัพท์ใหม่ใภาษาอังกฤษ เช่น Technology and Innovation หรือ Innovation and Technology หรือ Innotech (ชื่อหน่วยงาน) เป็นต้น แสดงให้เห็นว่าทั้ง 2 คำมีความข้องสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด ดังที่มีผู้เปรียบเทียบว่า “นวัตกรรมเป็นเสมือนหน่อไม้ ส่วนเทคโนโลยีเทียบได้กับลำไม้ไผ่หรือกอไผ่” (ชัยยงค์ พรหมวงศ์. 2523 : 24-25) อธิบาย ได้ว่า เทคโนโลยีต้องผ่านขั้นตอนการเป็นนวัตกรรมมาก่อน ในทางกลับกันถ้าไม่มีลำไม้ไผ่ หรือกอไผ่ (เทคโนโลยี) ก็ไม่มีโอกาสจะมีหน่อไม้ (นวัตกรรม) ได้ด้วยเช่นกัน ดังนั้น เทคโนโลยีและนวัตกรรมจึงเกี่ยวข้องกันในลักษณะ “วงวัฏจักรของการพัฒนา” ที่ไม่มีการสิ้นสุดและแสดงเป็นภาพความสัมพันธ์ได้ดังภาพที่ 1 (เอกวิทย์ แก้วประดิษฐ์. 2545 : 8)

อนึ่งเทคโนโลยีใด ๆ ที่ใช้ไปเป็นระยะเวลานานหรือภายใต้สภาวการณ์แวดล้อมที่เปลี่ยนไปตลอดเวลา ย่อมเกิดการ “ล้าสมัย” ขึ้นจึงไม่เหมาะที่จะนำมาใช้อีกต่อไป เว้นแต่จะได้รับการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาให้เหมาะสม และนำไปทดลองใช้หรือเผยแพร่เพื่อให้เกิดการยอมรับต่อไป ในช่วงนี้เองเทคโนโลยียังอยู่ในสภาพนวัตกรรมจนกว่าจะได้รับการยอมรับ และนำไปใช้ในระบบปกติอย่างกว้างขวางหรือแพร่หลาย จึงจะถือได้ว่าเป็นเทคโนโลยีที่สมบูรณ์และต้องการการพัฒนาเพื่อมิให้เกิดการล้าสมัยอย่างต่อเนื่องไม่มีที่สิ้นสุด

ในทำนองเดียวกันหากเทคโนโลยีดังกล่าว เป็น “เทคโนโลยีการศึกษา” และ “นวัตกรรมการศึกษา” ก็จะมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องซึ่งกันและกันในทำนองเดียวกันดังภาพที่ 2 (เอกวิทย์ แก้วประดิษฐ์. 2545 : 9)


แสดงความสัมพันธ์ระหว่างนวัตกรรมการศึกษาและเทคโนโลยีการศึกษา

คุณลักษณะของนวัตกรรม

มีผู้อธิบายลักษณะของนวัตกรรมไว้หลายประการพอประมวลโดยสังเขปดังนี้

  1. เป็นสิ่งใหม่ทั้งหมดหรือบางส่วน อาจเป็นของเก่าที่ใช้ไม่ได้ผลในอดีต แต่นำมาปรับปรุงเสียใหม่ หรือเป็นของปัจจุบันที่เราทำการปรับปรุงให้ดีขึ้น
  2. มีการนำเอาวิธีการจัดระบบ (systems approach) มาใช้ โดยพิจารณาองค์ประกอบ ส่วนที่เป็นสิ่งป้อนเข้า กระบวนการและผลลัพธ์
  3. มีการพิสูจน์ด้วยการวิจัยหรืออยู่ระหว่างการวิจัยว่า นวัตกรรมนั้นจะช่วยแก้ปัญหาหรือช่วยให้งานมีประสิทธิภาพสูงขึ้น
  4. ยังไม่เป็นส่วนหนึ่งของระบบงานในปัจจุบัน
  5. มีการพัฒนาตามขั้นตอน คือ คิดค้น ทดลอง และนำมาใช้
  6. สิ่งที่เป็นนวัตกรรมของที่หนึ่งอาจไม่เป็นนวัตกรรมในที่อื่น ๆ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับภาวะการใช้นวัตกรรมนั้น ๆ
  7. มีการนำมาใช้จริงในวงการนั้น ๆ (ชัยยงค์ พรหมวงศ์. 2523 :25 ; ไชยยศ เรืองสุวรรณ. 2521 : 14-15 ; เอกวิทย์ แก้วประดิษฐ์. 2545 : 10-11)

การนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีทันสมัยมาใช้ในการพัฒนาการเรียนการสอน
นวัตกรรมการศึกษามวลชน
ความจำเป็นในการใช้สื่อมวลชนเพื่อการศึกษา
สื่อมวลชนกับการศึกษาในระบบโรงเรียน
ความแตกต่างระหว่างสื่อมวลชนกับระบบโรงเรียน
สื่อมวลชนกับการศึกษานอกระบบโรงเรียน
สื่อมวลชนกับการศึกษาตามปกติวิสัย
เนื้อหาทางการศึกษาของสื่อมวลชน
ปัจจัยสนับสนุนการใช้สื่อมวลชนเพื่อการศึกษา
สื่อมวลชนศึกษา (Media Education)
แนวทางในการจัดหลักสูตรสื่อมวลชนศึกษา
นวัตกรรมการศึกษารายบุคคล
การใช้เทคโนโลยีในการจัดการฐานข้อมูลขององค์การทางการศึกษา
การใช้เทคโนโลยีช่วยสนับสนุนการตัดสินใจของผู้บริหารองค์การทางการศึกษา
การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการบริหารองค์การทางการศึกษา
การใช้เทคโนโลยีเสริมสร้างคุณภาพองค์การทางการศึกษา
การนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีทันสมัยมาใช้ในการพัฒนาบุคลากรฯ
การพัฒนาบุคลากรด้วยการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น
การพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาโดยการสัมมนา
การพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาโดยการศึกษาดูงาน
รูปแบบการแพร่นวัตกรรมและกระบวนการตัดสินใจ
ลักษณะที่สำคัญบางประการของการแพร่กระจายนวัตกรรม
ปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี
กระบวนการตัดสินใจนวัตกรรม (Innovation decision process)
การยอมรับนวัตกรรม
ปัจจัยเกี่ยวกับลักษณะของนวัตกรรม
ปัจจัยเกี่ยวกับผู้รับนวัตกรรม
ปัจจัยทางด้านระบบสังคม (social system)
การปฏิเสธและการยอมรับนวัตกรรม

บรรณานุกรม

  • กิดานันท์ มลิทอง. เทคโนโลยีการศึกษาร่วมสมัย. กรุงเทพมหานคร: จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย, 2540.
  • ไชยยศ เรืองสุวรรณ. การบริหารสื่อและเทคโนโลยีทางการศึกษา. กรุงเทพฯ: วัฒนาการ พิมพ์, 2526.
  • เปรื่อง กุมุท. การวิจัยสื่อและนวกรรมการสอน. กรุงเทพฯ: คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนคริ นทรวิโรฒ ประสานมิตร, 2519.
  • ลัดดา ศุขปรีดี. เทคโนโลยีการเรียนการสอน. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์, 2532.
  • ลิขสิทธิ์ นิติสาโร,พระมหา. การพัฒนาการออกแบบสื่อ เอกสารรายงานประกอบการเรียน รายวิชา การออกแบบสื่อสิ่งพิมพ์ ระดับปริญญาโท. มหาวิทยาลัยมหาสารคาม วิทยาเขตนครพนม, 2540.
  • สุนันท์ สังข์อ่อง. สื่อการสอนและนวัตถกรรมทางการศึกษา. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์, 2526.
  • http://edtech.edu.ku.ac.th/edtech/wbi/index.php?module=study&chapter=4&sub1=2&sub2=1
  • http://web.udru.ac.th/~boonpan/1031204/Mass03.html
  • http://www.dopa.go.th/iad/subject/it2.doc

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย