วิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา >>

ป่าเมี่ยง

ป่าเมี่ยง, สวนเมี่ยง ชา และเมี่ยง
การกระจายของต้นชา
ความเป็นมาของชนกลุ่มที่ปลูกชาเมี่ยง
ป่าเมี่ยง พื้นที่กันชนที่ป้องกันแหล่งต้นน้ำ
การใช้ประโยชน์ที่ดินในหมู่บ้านป่าเมี่ยง
โครงสร้างและความหลากหลายทางชีวภาพของป่าเมี่ยง
ต้นไม้ควบคุมบรรยากาศใกล้ผิวดินในป่าเมี่ยง
ต้นไม้ช่วยควบคุมการหมุนเวียนของธาตุอาหาร
รากของต้นไม้ป่าถ่ายทอดน้ำและธาตุอาหารให้กับรากของต้นชา
บทบาทของพืชต่อการควบคุมการชะล้างพังทลายของดิน
บทบาทของไม้พื้นล่างต่อการงอกของเมล็ดไม้และการรอดตายของกล้าไม้
การปลูกและผลิตเมี่ยง
ข้อเสนอแนะ
เอกสารอ้างอิง

ต้นไม้ควบคุมบรรยากาศใกล้ผิวดินในป่าเมี่ยง

ชาวป่าเมี่ยงมีความเชื่อว่า ต้นไม้ใหญ่ช่วยป้องกันแสงแดดที่ส่องสู่พื้นดินในป่าให้น้อยลง ทำให้ใบเมี่ยงไม่แก่เร็วเกิน หากแสงแดดมีความเข้มมาก ทำให้ใบเมี่ยงแก่เร็ว ถ้าเก็บไม่ทันทำให้ใบเมี่ยงที่เก็บได้มีรสชาติไม่ดี และอาจทำให้ใบเมี่ยงเป็นจุดได้ ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคใบจุด ใบเมี่ยงที่ได้รับแสงรำไรมีใบที่อ่อนและเหลืองเป็นที่ต้องการของตลาด ในขณะเดียวกันร่มเงาไม้ทำให้เกษตรกรเย็นสบายง่ายต่อการเก็บใบชา และเก็บได้นาน ในฤดูหนาวทรงพุ่มของต้นไม้ยังช่วยป้องกันน้ำค้างแข็งที่มาจับใบชา ที่เป็นสาเหตุของแผล และทำให้เกิดโรคใบจุดเช่นกัน โดยสรุปทรงพุ่มของใบไม้ทำให้เกิดความสมดุลของบรรยากาศใกล้ผิวดิน Wilson (1992) พบเกษตรกรพื้นบ้านบริเวณแคว้นอัสสัม ปล่อยให้ต้นไม้ขึ้นในที่ของตนเองด้วยเหตุผลเดียวกัน โดย นิพนธ์ (ส่วนตัว) อธิบายว่าทรงพุ่มของต้นไม้ประกอบด้วยใบไม้ที่วางตัวสลับซับซ้อน ทำให้เกิดช่องว่างจำนวนมาก โดยเฉพาะป่าดิบเขาที่มีต้นไม้ที่มีใบเล็กยิ่งทำให้เกิดช่องว่างจำนวนมาก การเกิดช่องว่างดังกล่าวทำให้เกิดสภาวะอากาศนิ่งที่ทำให้รังสีความร้อนจากดวงอาทิตย์ผ่านลงสู่ใต้ทรงพุ่มยาก บรรยากาศใกล้ผิวดินไม่ร้อนจัด โอกาสที่ใบชาสัมผัสรังสีความร้อน หรือได้รับความร้อนน้อยมาก การคายน้ำของใบไม้ และการระเหยน้ำของดินก็น้อยตามไปด้วย ดังนั้นจึงทำให้คุณภาพของใบชาดี Hadfield (1974) กล่าวว่า ทรงพุ่มที่หนาแน่นของป่าไม้ช่วยลดรังสีความร้อนที่ตกลงสู่ใกล้ผิวดินลงเหลือประมาณ 200 จูลน์ ต่อ ตารางเมตร ต่อ วินาที ซึ่ง สันต์ (2535) รายงานว่าการลดลงของอุณหภูมิทำให้รส และกลิ่นของใบชาดีขึ้น สอดคล้องกับงานวิจัยของ Sekiya et ai. (1984) ที่อธิบายว่าอุณหภูมิที่ลดลงในระดับหนึ่งทำให้สาร tannins, catachin และ caffein ที่เป็นสารที่เป็นสาเหตุความขมในใบชาลดลง และทำให้ astringency ลดลง และ กรด amino และไนโทรเจนเพิ่มขึ้น อันเป็นสาเหตุที่ช่วยเพิ่มความหวานในใบชา การที่ใบชามีความขมลดลง และมีความหวานเพิ่มขึ้นทำให้ใบชาที่ได้มีคุณภาพดี

ไม้ร่มเงาช่วยป้องกันความชื้นของดิน ทำให้น้ำในดินมีเพียงพอต่อการเจริญเติบโตของต้นชา การที่อุณหภูมิในบรรยากาศสูงขึ้น Hadfield (1968) อธิบายว่าความร้อนทำให้ปริมาณน้ำในใบลดลงจนกระทั่งการเจริญเติบโตของยอดชา และการปรุงอาหารลดลง โดยศึกษาที่ อัสสัม และบังกลาเทศ พบว่าอุณหภูมิในสวนชาไม่ควรเกิน 30 องศาเซลเซียส

 

ต้นไม้ช่วยเพิ่มปริมาณฝนให้กับพื้นที่ แต่อย่างไรก็ตามต้นไม้ไม่ใช่ปัจจัยหลัก การเกิดของฝนโดยอิทธิพลของป่า เกิดจากการที่ไอน้ำภายใต้ทรงพุ่มของต้นไม้ลอยไปกระทบมวลอากาศ ที่เย็นในทรงพุ่มของต้นไม้แล้วกลั่นตัวเป็นหยดน้ำ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานคำศัพท์ว่า 'วัฎจักรของน้ำวงเล็ก' ซึ่งมีอิทธิพลต่อการเจริญเติบโตของต้นชาเพราะว่าเป็นน้ำฟ้าที่ตกมาตลอดปี มิได้เกิดจากอิทธิพลของฤดูกาล โดยเฉพาะในฤดูแล้งยิ่งเป็นประโยชน์ต่อต้นชา ทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้งไม่มากนัก

การตกของฝนในป่าดิบเขามาก อย่างไรก็ตามน้ำฝนส่วนหนึ่งก็ระเหยไปกับการที่ต้นไม้ยึดน้ำไว้ในรูปของน้ำพืชยึด (Ward and Robinson, 1990) สำหรับป่าดงดิบใน เกาะใต้ ในประเทศนิวซีแลนด์ Pearce et al. (1982) พบว่ามีการสูญเสียน้ำโดยน้ำพืชยึดประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ ของปริมาณน้ำฝนทั้งหมด ในขณะที่ Franzle (1979) พบที่ป่าฝนเขตร้อนในอินโดนีเซีย จีน บราซิล และ Clegg (1963) พบในเปอร์โตริโกอยู่ในช่วง 12-54 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่ป่าดิบเขาดอยสุเทพ เชียงใหม่ (พรชัย, 2527) พบมีค่าประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์ ของปริมาณน้ำฝน โดย Rutter (1975) อธิบายว่าค่าของน้ำพืชยึดสัมพันธ์กับค่าของ leaf area index โครงสร้างของทรงพุ่มของต้นไม้แต่ละชนิด และ ลักษณะอากาศ ดังนั้นการที่ต้นไม้ในป่าเมี่ยงบางส่วนถูกตัดออก อาจทำให้ปริมาณค่าน้ำพืชยึดลดลง และเพิ่มน้ำที่ตกลงสู่ดินมากยิ่งขึ้น แต่เนื่องจากการที่ตัดต้นไม้ออกจนทรงพุ่มเหลือน้อยกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ จะทำให้เกิดการชะล้างพังทลายของดินเพิ่มขึ้นมากจนเป็นอันตราย ดังนั้นในป่าเมี่ยงควรตัดต้นไม้ไม่เกิน 30 เปอร์เซ็นต์

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย