ประวัติศาสตร์  ภูมิศาสตร์ บุคคลสำคัญ ประเทศและทวีป >>

ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นภาคใต้

อุทิศ สังขรัตน์

      หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 การฟื้นฟูประชาธิปไตยและกระบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมได้สร้างบรรยากาศที่ส่งเสริมการเรียนรู้สภาพและปัญหาของประชาชนมากขึ้น ขณะเดียวกันวงวิชาการทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดก็ให้ความสนใจต่อการศึกษาค้นคว้าประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมท้องถิ่นเพิ่มขึ้นตามลำดับ นับตั้งแต่การสัมมนาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่นครศรีธรรมราช และที่มหาสารคามในพ.ศ. 2521 อีกทั้งในช่วงปี พ.ศ. 2521-2527 ก็มีการจัดสัมมนาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่พระนครศรีอยุธยา พิษณุโลก ลพบุรี เพชรบุรี เพชรบูรณ์ บุรีรัมย์ กำแพงเพชร ภูเก็ต นครราชสีมา ฯลฯ การสัมมนาเหล่านี้ให้สาระแก่วงวิชาการไทยในเรื่อง “ประวัติศาสตร์ชาวบ้าน” และ “วัฒนธรรมชาวบ้าน” จนเกิดการตื่นตัวเรื่องท้องถิ่นเป็นวงกว้าง ทำให้วิชาการสังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ มีลักษณะความเป็นท้องถิ่นแจ่มชัดขึ้นตามลำดับ (ฉัตรทิพย์ นาถสุภา,2539 : 10-19)

การหวนกลับมามองท้องถิ่น และให้ความสำคัญกับชุมชนท้องถิ่นนับจากกลางทศวรรษ 2530 สู่สหัสวรรษใหม่ ทำให้ประเด็นความคิดเรื่อง “การฟื้นฟูวัฒนธรรม/ความเข้มแข็งของชุมชน” มิได้จำกัดอยู่เฉพาะในแวดวงของนักพัฒนา และนักวิชาการดังเช่นอดีตอีกต่อไป แต่กระแสดังกล่าวได้ส่งผลอย่างเป็นรูปธรรมในการกำหนดนโยบายการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 (2540-2544) และรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ได้บรรจุประเด็นความเข้มแข็งของชุมชนเข้ามาอยู่ในรัฐธรรมนูญ ทำให้ส่วนราชการ อาทิ กระทรวงมหาดไทย สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ ฯลฯ ใช้เป็นกรอบนโยบายในการพัฒนา โดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งได้ฟื้นฟูบทบาทของสถาบันสำคัญในท้องถิ่นให้มีบทบาทจัดการศึกษาทั้งในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัยโดยได้บรรจุเอาเนื้อหาของ “ท้องถิ่น” เข้ามาเป็นประเด็นสำคัญในการจัดการเรียนรู้ ดังที่ปรากฏอยู่ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 (ไพฑูรย์ สินลารัตน์, 2543 : 9-14) ทั้งการมองชุมชนในฐานะฐานรากของสังคมอันเป็นหน่วยย่อยของการพัฒนา และการยืนหยัดถึงการ “มีอยู่จริงของชุมชน” ได้ถูกตอกย้ำจากนักวิชาการแนวคติชนวิทยาในท้องถิ่นที่พยายามรื้อฟื้นขนบ/จารีต/ประเพณี และวัฒนธรรมท้องถิ่น ตีแผ่ออกมาสู่วงวิชาการเพื่อค้นหารากเหง้าของชุมชนผ่าน “พื้นที่แห่งความทรงจำ” ทำให้ชุมชนถูกขุดคุ้ย/รื้อค้น ในทุกมิติ

“พื้นที่ความทรงจำ” (sites of memory) ปริมณฑลของความรู้สึกนึกคิดและการจดจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตทั้งจากประสบการณ์ส่วนบุคคล รวมไปถึงความทรงจำร่วมของคนในสังคม (collective memory) โดยเฉพาะเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับชุมชนที่ได้ถูกถ่ายทอดจากผู้สูงอายุออกมาเป็น “มุขปาฐะ” โดยผ่านกระบวนการจัดกระทำ/ร้อยเรียง ออกมาในรูปของตัวบท (text) เพื่อเสนอแง่มุมต่างๆ ของชุมชนท้องถิ่น ทั้ง ความเชื่อ ประเพณี พิธีกรรม และการเปลี่ยนแปลงภูมิลักษณ์ของชุมชน

กระบวนการดังกล่าวทำให้ชุมชนท้องถิ่นถูกรื้อค้นอย่างละเอียดลออ โดยเชื่อว่า ”ชุมชน” คือ “หีบมหาสมบัติ” อันมีค่ายิ่ง ซึ่งมี”สมบัติล้ำค่า” ซุกซ่อนอยู่ การรื้อค้นชุมชนผ่านพื้นที่ความทรงจำในฐานะที่ชุมชนเป็น “หีบมหาสมบัติ” ดังกล่าว แล้วนำสมบัติแต่ละชิ้นออกมา “แยกประเภท/จัดระบบ/หมวดหมู่” รวมไปถึง “การถอดรหัส/ตีความ” เป็นไปอย่างเข้มข้นใน 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ชุมชนจึง “ถูกกระทำ” ในหลากหลายมิติ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าสมบัติแต่ละชิ้นที่ถูกขุดคุ้ยจาก “พื้นที่ความทรงจำ” เหล่านั้น จะถูกนำไปใช้โดยวัตถุประสงค์/เป้าหมายใด โดยเฉพาะในช่วงที่การพัฒนา “แนววัฒนธรรมชุมชน”(ยุกติ มุกดาวิจิตร, 2548) เข้ามายึดพื้นที่การพัฒนาคืนจากแนวคิดพัฒนาโดยรัฐที่มีมาแต่เดิม การสร้างพื้นที่ “ความหมาย” จึงถูกนำไปใช้ในมิติการพัฒนาอย่างหลากหลายยิ่ง นับตั้งแต่ทศวรรษ 2520 เป็นต้นมา

มิติของ “พื้นที่ความทรงจำ” ที่ผ่านการคัดแยกประเภทแล้ว นัยหนึ่งได้ถูกนำไปใช้เพื่อ ”สร้างความหมาย” ของชุมชนท้องถิ่นเพื่อยืนยันถึง “การมีอยู่จริง” ของชุมชนในอดีต ทั้งพยายามชี้ให้เห็นถึง “ความสำคัญยิ่ง” อันควรยกฐานะขึ้นมาเป็น “พื้นที่และชุมชนประวัติศาสตร์” อันเป็นประวัติศาสตร์ที่ตกหล่นจากการบันทึกในยุคของวาทกรรมการสร้าง “ประวัติศาสตร์รัฐ-ชาติ” นับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา ทั้งนี้การชี้ให้เห็นถึง “ความสำคัญที่ตกหล่น” และ “ถูกมองข้าม” นี้ ชุมชนท้องถิ่นจะได้มีพื้นที่ยืนในหน้าประวัติศาสตร์ โดยการสร้างความหมายใหม่ในกรอบของ “ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น” เพื่อทวงสิทธิ์ “การมีอยู่จริง(ที่ถูกมองข้าม)” จาก “ประวัติศาสตร์กระแสหลัก”

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาความแตกต่างระหว่าง “ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น” กับ “ประวัติศาสตร์กระแสหลัก” นั้น อาจมีวัตถุประสงค์ในการสร้างที่แตกต่างกัน แต่การนำไปใช้อาจมีนัยที่เหมือนกันหรือสอดคล้องกันหลายประการ เพราะการสร้างหรือเขียนประวัติศาสตร์ทั้งสองประเด็นเป็นการสร้างอย่างมีเป้าหมาย คือสร้างอดีตขึ้นมาเพื่อตอบสนองความจำเป็นของปัจจุบัน (J.D. Legge,1992 : 2-3) ทั้งการเขียนประวัติศาสตร์ได้แสดงให้เห็นว่า สรรพสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเกิดขึ้นด้วยความมุ่งหมายหรือเหตุผลใด (Sempronius Assellio, อ้างถึงใน Donald R. Kelly,1998 : 52)

การสร้างประวัติศาสตร์ไทย จึงเป็นกระบวนการสร้างอัตลักษณ์ผ่านสัญลักษณ์ทางสังคมบนร่องรอยของประวัติศาสตร์ การสร้างประวัติศาสตร์(ชาติไทย)กระแสหลักเป็นประดิษฐ์กรรมหนึ่งในกระบวนการสร้างรัฐ-ชาติ โดยการนำเอาเหตุการณ์ในอดีต ร่องรอยโบราณสถาน โบราณวัตถุ บันทึก จารึก ศิลปะ ฯลฯ มาเรียงลำดับเวลาจากเก่ามาหาใหม่โดยใช้สัญลักษณ์อันเกี่ยวเนื่องกับราชสำนัก (เมืองหลวง, ราชวงศ์, กษัตริย์ ฯลฯ) เป็นตัวตั้ง ทั้งนี้เชื่อว่าราชธานีในยุคสมัยต่างๆ นั้นคือศูนย์รวมความเป็นชาติ โดยการสร้างความหมาย “การมีจิตสำนึกร่วม” อันได้แก่ มีความภูมิใจร่วมกัน ชื่นชมในวีรกรรมของกษัตริย์คนเดียวกัน มีภาษาเป็นแบบเดียวกัน ฯลฯ เช่น ไม่ว่าคนไทยที่อยู่ภูมิภาคไหนของประเทศจะต้องมีความภาคภูมิใจร่วมกันว่า “สุโขทัย” หรือ “อยุธยา” คือเมืองหลวงของคนไทยทุกคนในอดีต ซึ่งในความเป็นจริงอาจมิได้เป็นเช่นนั้น เพราะคนไทยในชุมชนท้องถิ่นภาคใต้ในอดีตอาจไม่มีอะไรเลยที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับสุโขทัย หากจะมีความเชื่อมโยงอยู่บ้างก็เป็นไปในลักษณะ “รัฐต่อรัฐ” ดังกรณี สุโขทัยกับนครศรีธรรมราช ขณะเดียวกันผู้คนในท้องถิ่นทั้งสุโขทัยและนครศรีธรรมราช ต่างคนต่างอยู่ แต่ “สุโขทัย” ก็ถูกสร้างให้เป็นตัวแทนของ “ความเป็นชาติไทย” ที่ทำให้เราเข้าใจว่าในอดีตบรรพบุรุษของเราทุกคน ในทุกภูมิภาคก็ต่างอยู่ภายใต้พระบรมโพธิสมภารของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช มีกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ซึ่งเราเชื่อว่านี่คือ “ความจริง” และความจริงที่เราเชื่อนี้ได้ถูกนำไปใช้ในรูปของ “สัญลักษณ์” ไม่ว่าจะเป็น “ความเป็นเอกราช” “ความสงบร่มเย็น” “ความรักชาติ” ฯลฯ รวมทั้งประโยชน์อื่นๆ โดยเฉพาะในกระบวนการสร้างความเป็นชาติไทย

ในขณะที่ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น มักจะเลือกใช้ “ร่องรอยความทรงจำ” อิงกับบริบทของเหตุการณ์สำคัญ ภูมิลักษณ์ของชุมชน ขนบประเพณี ความเชื่อ พิธีกรรม โบราณสถาน โบราณวัตถุ รวมไปถึงประสบการณ์บุคคล ในเชิงเปรียบเทียบระหว่างอดีตกับปัจจุบัน มาเป็นประเด็นทางประวัติศาสตร์ ผ่านเรื่องเล่า (narrative) และถูกนำไปใช้เพื่อ “ประดิษฐ์สร้าง” ความเป็นท้องถิ่นและชุมชนที่มีอยู่ในอดีตให้มีชีวิตขึ้นมารับใช้ปัจจุบัน

ในท้องถิ่นภาคใต้ มิติของ “พื้นที่ความทรงจำ” ถูกยกระดับให้เป็นประเด็นสำคัญเช่นเดียวกับท้องถิ่นอื่นๆ ในประเทศ โดยเนื้อหาเรื่องราวที่อยู่เบื้องหลังนั้นเป็นความพยายามที่จะสร้าง/แสดง “อัตลักษณ์” ของชุมชนท้องถิ่นภาคใต้ด้วยการรื้อฟื้น “พื้นที่ความทรงจำ” ในอดีตผ่านเรื่องราวมุขปาฐะ ซึ่งอาศัยร่องรอยบริบทของอดีตมาสร้างความหมาย

การสร้างพื้นที่ชุมชนประวัติศาสตร์ภาคใต้ผ่านร่องรองความทรงจำนั้น ตั้งอยู่บนฐานคิดที่ว่าพื้นที่ทุกพื้นที่ที่เคยเป็นชุมชนในอดีตล้วนมี “ประวัติศาสตร์” และ “ความเป็นมา” การยกระดับความสำคัญของพื้นที่และชุมชน ซึ่งชี้ให้เห็นถึงอดีตอันรุ่งเรืองของตนเองในท้องถิ่นภาคใต้ จึงเป็นประเด็นหนึ่งใน “การประกอบสร้าง” ความเป็นชุมชน โดยแสดงให้เห็นว่า “ชุมชน” มีพัฒนาการและมีความสำคัญอันอยู่ในความทรงจำ ดังนั้นเรื่องเล่าจากความทรงจำเกี่ยวกับชุมชนจึงถูกร้อยเรียงขึ้นอย่างเป็นระบบ “พื้นที่” ของชุมชนเล็กๆ บางชุมชนซึ่งมิเคยปรากฏในกระบวนการสร้าง “ประวัติศาสตร์รัฐชาติ” มาก่อนจึงปรากฏขึ้นในรูปของ “ลายลักษณ์” และได้ถูกทำให้เป็น “พื้นที่พิเศษ” ซึ่งได้บรรจุเรื่องราวและเหตุการณ์ต่างๆ ในอดีตเข้าด้วยกันทั้งในแง่ของกายภาพ และเรื่องราวในมิติของสังคม

ในบทความนี้ มุ่งต้องการนำเสนอ “การสร้างพื้นที่และชุมชนประวัติศาสตร์ท้องถิ่นภาคใต้” ผ่าน “พื้นที่ความทรงจำ” ที่เกิดขึ้นโดยการนำมุขปาฐะ/คติชาวบ้าน/วัฒนธรรมชุมชน ฯลฯ มาร้อยเรียงให้ความหมาย ตลอดจน “การตีความ” ของนักวิจัยในโครงการยุววิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่นภาคใต้ ผ่านภาพ “ความรุ่งเรืองอันงดงาม/ประเพณีพิธีกรรมที่ประทับใจ/ความโศกเศร้าอันน่าสะพรึงกลัว ฯลฯ” ทั้งในแง่ของภูมิทัศน์ วิถีชุมชน ที่เคยรุ่งเรืองแล้วร่วงโรย โดยต้องการตอบคำถามว่า “พื้นที่ความทรงจำ” ได้ถูกนำไปใช้ ในการสร้าง “พื้นที่และชุมชนประวัติศาสตร์ภาคใต้” อย่างไร มีเงื่อนไขใดบ้าง อันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของชุมชนท้องถิ่นอย่างเป็นพลวัตอาจเป็นนัยหนึ่งที่สามารถนำมาอดีตมาเป็นบทเรียนที่จะพัฒนา และหาจุดยืนอันเหมาะสมต่อการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นภาคใต้ได้ในอนาคต

ท้องถิ่นภาคใต้ : อาณานิคมแห่งรัฐ และตัวตนของท้องถิ่น
พื้นที่ความทรงจำ : ภาพประกอบสร้าง กับ ศูนย์กลางที่เปลี่ยนไป
พื้นที่ความทรงจำ : ปฏิบัติการทางสังคม
จาก “พื้นที่ความทรงจำ” สู่ “พื้นที่และชุมชนประวัติศาสตร์”
พื้นที่อันเป็นปริมณฑลของความศักดิ์สิทธิ์
พื้นที่อันเกิดจากปรากฏการณ์ทางสังคม
พื้นที่อันเกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ
พื้นที่อันเป็นวิถีวัฒนธรรมชุมชน
บทสรุป
เอกสารอ้างอิง

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย