ปรัชญา อภิปรัชญา ญาณวิทยา จิตวิทยา ตรรกศาสตร์ >>

ปรัชญาไทย

ความเบื้องต้น
แหล่งอารยธรรมที่สำคัญของโลก
ความเป็นมาของชนชาติไทย
กลุ่มที่เชื่อว่าคนไทยมีถิ่นกำเนิดในถิ่นอื่นนอกจากดินแดนประเทศไทย
กลุ่มที่เชื่อว่า คนไทยมีถิ่นกำเนิดอยู่ที่ดินแดนประเทศไทยนี้เอง
วิวัฒนาการของสังคมไทยสมัยต่าง ๆ
ความเชื่อดั้งเดิมของชนชาติไทย
ความเชื่อก่อนการนับถือพระพุทธศาสนา
ความเชื่อเมื่อนับถือพระพุทธศาสนา
ความเชื่อของคนไทยสมัยใหม่
ชนชาติไทยกับปรัชญา
ภูมิปัญญาไทย หรือ แนวคิดไทย
ปรัชญาไทย
วิธีคิดของคน
วิธีคิดของคนไทย
ระบบปรัชญาไทย 3 สาขา

วิธีคิดของคนไทย

เมื่อพิจารณาจากวิธีคิดของโลกตะวันตก ก็พบว่า มีการแบ่งระดับพัฒนาการตามยุคสมัยและตามบริบทของสังคม นับแต่ขั้นที่ง่ายไม่ซับซ้อนมาถึงวิธีคิดที่ละเอียดเป็นระบบมากขึ้นอย่างปัจจุบัน หันกลับมามองวิธีคิดของคนไทย ซึ่งได้ให้ความสนใจวิธีคิดและระบบคิดนับแต่รับวัฒนธรรมตะวันตกมาจนปัจจุบัน ก็ควรที่จะจัดยุคของวิธีคิดในเชิงประวัติศาสตร์เอาไว้ เพราะวิธีคิดแก้ปัญหาของแต่ะสมัยย่อมมีความเหมาะสมแก้ปัญหาได้ในสมัยนั้น อาศัยฐานความเชื่อดั้งเดิม จากแง่มุมทางปรัชญา พุทธศาสนา ประวัติศาสตร์ วรรณคดี เศรษฐศาสตร์ และมานุษยวิทยา ในเรื่องนี้ สุริยา สมุทคุปติ์ และคณะได้แบ่งวิธีคิดของคนไทยดังนี้

  • วิธีคิดสมัยราชาธิปไตย วิธีคิดนี้ สมัยก่อนก็คงเป็นแบบคนพื้นเมืองในโลกตะวันตก คนไทยสมัยก่อน คิดแบบไตรภูมิ เชื่อในอำนาจบุญบารมี กรรมเก่า เป็นต้น ต่อมานับแต่สมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 (พ.ศ.2394-2453) ให้ความสนใจเรื่อง ความทันสมัย ความมีอารยธรรม และความศิวิไลซ์ แบบตะวันตก ทำให้คนไทยเปลี่ยนวิธีคิดแบบดั้งเดิม มาเป็นแบบสมัยใหม่ ใช้ปัญญาและเหตุผลเชิงวิทยาศาสตร์มาอธิบายข้อเท็จจริง ไม่อิงอภินิหาร ความเชื่อโชคลาง และความอัศจรรย์ลี้ลับตามความเชื่อดั้งเดิมมาเป็นหลัก ความคิดและความเชื่ออะไรที่ตรวจสอบความจริงตามแบบวิทยาศาสตร์มิได้ ก็จะถูกกล่าวหาว่า งมงาย ผลจากวิธีคิดแบบสมัยใหม่ ทำให้ประเทศไทยได้รับเอาวิทยาการโลกตะวันตกมาพัฒนาประเทศให้เป็นแบบตะวันตกนับแต่นั้นมา
  • วิธีคิดแบบชาตินิยมและรัฐนิยม เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากราชาธิปไตยมาเป็นระบอบประชาธิไปไตย (พ.ศ. 2475) แม้จะยังคงต้องการพัฒนาประเทศแบบตะวันตก แต่ผู้เป็นกำลังสำคัญในผลักดันความคิด ก็คือกลุ่มคณะราษฎร์ และรัฐบาล นักคิดที่มีอิทธิพลมาจนปัจจุบัน คือ หลวงวิจิตรวาทการ(กิมเหลียง วัฒนปรีดา) อาจเรียกว่า “วิธีการคิดแบบหลวงวิจิตร” มีหลักคิดเกี่ยวกับอุดมการณ์ชาตินิยม ให้ความสำคัญกับผู้นำ(เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย) และให้ความสำคัญกับความสำเร็จในชีวิตนี้ ต้องทำงาน ต้องต่อสู้ หลวงวิจิตรฯเขียนหนังสือหลายเล่ม เช่น วิธีทำงานและสร้างอนาคต กุศโลบาย เป็นต้น ให้หลักคิดในการทำงานว่า “อันที่จริง คนเขาอยากให้เราดี แต่เราเด่นขึ้นทุกทีเขาหมั่นไส้ จงทำดีแต่อย่าเด่นจะเป็นภัย ไม่มีใครอยากเห็นเราเด่นเกิน” ส. ศิวรักษ์ ให้ความเห็นว่า แนวคิดนี้ มันก็คือ อุดมการณ์ขุนนาง ที่ลดความสำคัญของสถาบันกษัตริย์ลงมาอยู่ใต้กฎหมาย


  • วิธีคิดที่ได้มาโดยกำเนิด(แบบอนุรักษ์นิยม) แนวคิดนี้ ได้หันกลับไปให้ความสำคัญกับสถาบันกษัตริย์ ศักดินาไทย พุทธศาสนาและศิลปวัฒนธรรมดั้งเดิมของไทย ผู้นำความคิดสำคัญ คือ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช นักหนังสือพิมพ์ หัวหน้าพรรคกิจสังคมและนายกรัฐมนตรี(2518) เสียชีวิต(2538) คึกฤทธิ์เขียนหนังสือหลายเล่ม เช่น สี่แผ่นดิน ไผ่แดง เป็นต้น เพื่อสะท้อนวิธีคิดแบบอนุรักษนิยม ผดุงอุดมการณ์ อำนาจและบทบาททางเศรษฐกิจการเมืองของสถาบันศักดินาไทย
  • วิธีคิดตามแนวสร้างสรรค์สติปัญญาอย่างไทย ตามแนวนี้ ผู้เสนอหลักการคือ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ (ส.ศิวรักษ์) มีความเห็นสอดคล้องกับ คึกฤทธิ์ในแนวอนุรักษ์นิยม แต่ต่างกันที่ ไม่เน้นระบบศักดินา ด้วยเห็นว่า เป็นความเหลื่อมล้ำทางสังคม เป็นความอยุติธรรม เป็นการเสียหายที่รับวัฒนธรรมตะวันตกโดยปราศจากการใคร่ครวญ ส.ศิวรักษ์ ปฏิเสธลัทธิทุนนิยม และสังคมนิยม ให้ความสำคัญกับพระพุทธศาสนาว่า เป็นหนทางที่เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ของประเทศไทยมากที่สุด
  • วิธีคิดตามแนวพุทธธรรม อันที่จริงวิธีคิดนี้ก็อยู่บนฐานพระพุทธศาสนา แต่นำมาตีความใหม่โดยพระสงฆ์นักปราชญ์ผู้โดดเด่นร่วมสมัย 2 รูป คือ พุทธทาสภิกขุ(เงื่อม อินฺทปญฺโญ) เจ้าสำนักสวนโมกขพลาราม อ.ไชยยา จ.สุราษฎร์ธานี และ พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตฺโต) เจ้าสำนักญาณเวศกวัน อ.พุทธมณฑล จ. นครปฐม ผู้ที่นำเสนอวิธีคิดแบบพุทธศาสนาอย่างชัดเจนเป็นระบบ คือ พระพรหมคุณาภรณ์ ในวรรณกรรมอมตะ “พุทธธรรม” ชี้รายละเอียดถึงกระบวนการคิดในทางพุทธศาสนาว่า เริ่มต้นจากสัมมาทิฏฐิ คิดเป็น แล้วเข้าสู่กระบวนการศึกษาตามหลักไตรสิกขา เพื่อฝึกฝนพัฒนาความคิดให้ถูกต้อง กระบวนการคิดที่ทำให้เกิดสัมมาทิฏฐิ ประกอบด้วย 2 ส่วนส่วนแรก ปรโต โฆสะ แปลว่า เสียงจากผู้อื่น หรือ การกระตุ้นชักจูงจากภายนอก ได้แก่ การสั่งสอน แนะนำ ถ่ายทอด โฆษณา คำบอกเล่า ข่าวสาร คำชี้แจงอธิบายจากผู้อื่น ตลอดจนการเรียนรู้เลียนแบบจากแหล่งต่างๆภายนอก เป็นปัจจัยภายนอก เรียกว่า วิธีการแห่งศรัทธา ส่วนที่ 2 โยนิโสมนสิการ แปลว่า การทำในใจโดยแยบคาย หรือคิดถูกวิธี หรือ แปลง่ายๆว่า ความรู้จักคิดหรือคิดเป็น หมายถึงการคิดอย่างมีระเบียบ หรือคิดตามแนวทางแห่งปัญญา เป็นปัจจัยภายใน เรียกว่า วิธีการแห่งปัญญา
  • วิธีคิดแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน วิธีคิดแบบสุดท้าย ได้รับความสนใจในช่วง พ.ศ. 2520 เป็นต้นมา มีกลุ่มนักปราชญ์ไทยรุ่นใหม่ อาทิ น.พ. ประเวศ วะสี ดร.เอกวิทย์ ณ ถลาง ดร.เสรี พงศ์พิศ เป็นต้น หันมาหาทางแก้ปัญหาสังคมไทยด้วยการหวนกลับไปพิจารณาภูมิปัญญาดั้งเดิม ด้วยความเชื่อว่า วิธีคิดของคนไทย มีสิ่งที่เรียกว่า ภูมิปัญญาหรือวัฒนธรรมชุมชน เป็นรากฐานที่สำคัญ เพราะสิ่งนี้คือ พลังและ ศักยภาพที่มีอยู่ในชุมชนและพร้อมที่จะนำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาหรือแก้ปัญหาต่างๆในสังคม

จากแนวคิดทั้ง 6 แบบ ก็พอเป็นหลักฐานให้เห็นว่า คนไทยคิดเป็นระบบ บางสมัย อาศัยความเชื่อดั้งเดิม จากฐานแห่งศรัทธาในศาสนา บางสมัยอาศัยวิทยาการสมัยใหม่ เหตุผลทางวิทยาศาสตร์ ผสมผสานกับหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาตีความเชิงสร้างสรรค์ และเสริมด้วยภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่น สร้างระบบคิดที่เป็นเอกลักษณ์ ระบบคิดไทยขึ้นมา มีนักคิดที่เรียกว่า นักปราชญ์ไทยต่างยุคต่างสมัย เช่น สมัยสุโขทัย พระยาลิไท ต้นกำเนิดแนวคิดไตรภูมิ สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นมีพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ พระสงฆ์ เช่น สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส และสามัญชน เช่น สุนทรภู่ นับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองมา ก็มี หลวงวิจิตรวาทการ ม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลเดช (แนวพระราชดำริ ทฤษฎีใหม่ เศรษฐกิจพอเพียง) ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ส. ศิวรักษ์ พุทธทาสภิกขุ พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตฺโต) และกลุ่มภูมิปัญญาไทย นายแพทย์ประเวศ วะสี นายโสภณ สุภาพงษ์ และปราชญ์ชาวบ้านหลายคน เป็นต้น

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย