สุขภาพ ความงาม อาหารและยา สมุนไพร สาระน่ารู้ >>

ผัก
(Vegetables)

หอมหัวใหญ่

 (Onion) Allium cepa L. W. group Common Onion (van der Meer and Leong, 1994)
วงศ์ LILIACEAE

ถิ่นกำเนิด และการแพร่กระจายทางภูมิศาสตร์
สันนิษฐานว่าเป็นประเทศทัดซิกิสถาน อัฟกานิสถาน และอิหร่าน และมีหลักฐานว่านำมาปลูกในประเทศอียิปต์เมื่อประมาณ 2,700 ปีก่อนคริสตศักราช หอมหัวใหญ่ถูกนำมาปลูกทางภาคเหนือและภาคตะวันตกของทวีปยุโรปโดยชาวโรมันเมื่อประมาณ 300 ปีก่อนคริสตศักราช และในยุคกลางราวศตวรรษที่ 16 หอมหัวใหญ่ถูกนำไปปลูกแพร่หลายในทวีปอเมริกาโดยโคลัมบัส และญี่ปุ่นได้นำพันธุ์หอมหัวใหญ่จากสหรัฐอเมริกาไปปลูกในศตวรรษที่ 19 นอกจากนี้หอมหัวใหญ่จากอียิปต์ยังมีการนำไปปลูกแพร่หลายในแอฟริกาด้วย ในปัจจุบันมีการปลูกหอมหัวใหญ่กันอย่างกว้างขวางทั่วโลก ระหว่างเส้นรุ้งที่ 5-60 องศาเหนือและใต้

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
เป็นพืชสองปี แต่นิยมปลูกเป็นพืชปีเดียวโดยใช้ส่วนของเมล็ด ทุกส่วนของลำต้นมีกลิ่นฉุนเมื่อถูกขยี้ รากเป็นรากพิเศษยาว 30 เซนติเมตร เจริญจากลำต้นใต้ดิน ลำต้นมีลักษณะสั้นและแบนอยู่บริเวณส่วนโคนของกาบใบ ใบมี 3-8 ใบ เรียงกันแบบสลับระนาบเดียว มีนวลจับที่ผิวใบ ส่วนยอดแผ่กว้าง กาบใบยาวแผ่กว้างคล้ายหลอดหุ้มใบที่อยู่ภายในไว้ แผ่นใบมีลักษณะเป็นทรงกระบอก ตรงกลางกลวง ยาว 50 เซนติเมตร ปลายเรียวแหลม ยาว 30-100 เซนติเมตร

หัวเกิดจากกาบใบที่มีการเก็บสะสมอาหารมาเรียงซ้อนกัน อยู่ทางด้านบนของลำต้น กาบใบด้านนอกสุดมีลักษณะเป็นแผ่นแบนและแห้ง ทำหน้าที่ห่อหุ้มส่วนต่างๆ ของหัวไว้ภายใน มีสีขาว ส้ม และแสด หัวมีลักษณะกลมจนถึงรูปไข่อาจมีเส้นผ่าศูนย์กลางถึง 15 เซนติเมตร มีขนาด สีสัน รูปร่าง และน้ำหนักแตกต่างกันไปตามพันธุ์ มีช่อดอก 1 ช่อถึงหลายช่อ ช่อดอกแบบซี่ร่ม รูปกลม เส้นผ่าศูนย์กลาง 2-8 เซนติเมตร มีดอกย่อย 50-2,000 ดอกย่อย ช่อดอกถูกหุ้มด้วยกาบซึ่งแตกออกเมื่อช่อดอกบานเป็น 2-4 แฉก ก้านดอกย่อยยาว 1-4 เซนติเมตร ดอกรูปทรงระฆัง หรือ รูปคนโท กลีบเลี้ยงและกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็น 6 กลีบ เรียงซ้อนกันเป็น 2 วง กลีบเลี้ยงและกลีบดอกเชื่อมรวมกันเป็นกลีบรวมยาว 3-5 มิลลิเมตร สีขาวปนเขียวจนถึงม่วง เกสรเพศผู้ 6 อัน เกสรเพศเมีย 3 อัน ก้านเกสรเพศเมียติดกัน มีลักษณะสั้นกว่าเกสรเพศผู้เมื่อดอกบาน ผลแบบแคปซูลรูปกลม เส้นผ่าศูนย์กลาง 4-6 มิลลิเมตร ผลแก่แตกกลางพู มี 6 เมล็ด สีดำ ผิวย่น ขนาดกว้าง 6 มิลลิเมตร ยาว 4 มิลลิเมตร


ภาพลำต้นใต้ดินของหอมหัวใหญ่ (คณะทำงานรวบรวมความรู้เกี่ยวกับผัก, 2541)


ภาพกาบใบและใบของหอมหัวใหญ่ที่โผล่พ้นดินขึ้นมา (สุรชัย, 2535)

การใช้ประโยชน์
รับประทานสดร่วมกับผักอื่นๆ ในอาหารประเภทสลัดและยำชนิดต่างๆ นำมาต้มเป็นซุปหรือทอด มีสรรพคุณช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด นอกจากนี้ยังมีการแปรรูปโดยนำมาทำเป็นผง แช่แข็ง ผสมในอาหารสำเร็จรูป และทำซอสพริก (กมล และคณะ, 2544)

คุณค่าทางอาหาร
หัวที่เจริญเติบโตเต็มที่มีส่วนที่รับประทานได้มากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ น้ำหนักแห้งของหัวประมาณ 7-20 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่รับประทานได้หนัก 100 กรัม ประกอบด้วยน้ำ 89-93 กรัม โปรตีน 1-2 กรัม คาร์โบไฮเดรต 5-9 กรัม พลังงาน 95-150 กิโลจูล น้ำหนักเมล็ด 3-4 กรัมต่อ 1,000 เมล็ด

การขยายพันธุ์
เป็นพืชสองปี (biennial) ไม่มีเนื้อไม้ มีลำต้นใต้ดินเป็นหัว (bulb) แต่มีการปลูกแบบพืชปีเดียว (annual) ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด พันธุ์ที่นิยมปลูก เช่น พันธุ์กราเน็กซ์

นิเวศวิทยา
หอมหัวใหญ่สามารถเจริญเติบโตและขยายขนาดของหัว ซึ่งเป็นลำต้นใต้ดินได้ดีในสภาพช่วงวันยาวและความเข้มแสงสูง ในเขตอากาศแบบร้อนชื้นสามารถปลูกหอมหัวใหญ่ได้ตั้งแต่บริเวณพื้นราบจนถึงที่ความสูง 1,000 เมตร จากระดับน้ำทะเล โดยนิยมปลูกกันในช่วงฤดูหนาวเนื่องจากการปลูกในฤดูฝนนั้นจะทำให้มีการเน่าเสียของใบและลำต้นเกิดขึ้นได้ง่าย หัวพันธุ์ที่นำมาปลูกนั้นต้องการอุณหภูมิต่ำ 5-10 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 1-2 เดือน เพื่อกระตุ้นการงอกของยอดอ่อน ส่วนการเพาะเมล็ดให้ได้ต้นกล้าสำหรับปลูกนั้นต้องการอุณหภูมิ 20-30 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ 70 เปอร์เซ็นต์ ดินปลูกควรมีค่าธาตุอาหารในปริมาณที่มากเพียงพอ ส่วนการปลูกเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์นั้น จะสามารถทำได้ในพื้นที่เฉพาะบางแห่งในเขตอากาศแบบกึ่งร้อนเท่านั้น

พื้นที่ปลูกใน ปี พ.ศ. 2547 ประมาณ 17,672 ไร่ ผลผลิต 88,500 ตัน (กรมส่งเสริมการเกษตร, 2548)

การเก็บเกี่ยว
จะกระทำเมื่ออายุ 90-150 วันหลังเพาะเมล็ด โดยการใช้มือถอนหัวขึ้นจากดินในช่วงฤดูแล้ง แล้ววางไว้บนแปลงปลูกเป็นเวลา 4-5 วัน จนกระทั่งใบเหี่ยว แล้วจึงตัดใบทิ้ง จากนั้นจึงบรรจุใส่กระสอบหรือถุงตาข่ายเพื่อเก็บรักษาไว้ใช้ประโยชน์ต่อไป

การส่งออก
ในปี พ.ศ. 2542 มีการส่งออกหอมหัวใหญ่แห้งและผง 41 เมตริกตัน มูลค่า 0.96 ล้านบาท และมีการนำเข้าเมล็ดพันธุ์จากต่างประเทศ 6.32 ตัน มูลค่า 23.62 ล้านบาท (กมล และคณะ, 2544) ปี พ.ศ. 2548 มีการส่งออกหัวสด ปริมาณ 18,604 ตัน มูลค่า 227.72 ล้านบาท (สำนักงานเศรษฐกิจเกษตร, 2548)

พืชสวนครัว
การแลกเปลี่ยนพันธุ์พืช
แหล่งผลิตผักที่สำคัญของประเทศไทย
ผักเศรษฐกิจของประเทศไทย
พริก
กระเทียม
หอมแดง
แตงกวา
ข้าวโพดฝักอ่อน
ถั่วฝักยาว
คะน้า
กะหล่ำปลี
มะเขือเทศ
ฟักทอง
ผักกาดขาวกวางตุ้ง,ผักกาดฮ่องเต้
ผักกาดเขียวกวางตุ้ง
ผักกาดเขียวปลี
ผักบุ้งจีน
ผักกาดหัว
หอมหัวใหญ่
ผักกาดหอม
กะหล่ำดอก
ฟัก, แฟง
มะระ
บวบ
ถั่วลันเตา
หน่อไม้ฝรั่ง
กระเจี๊ยบเขียว
ผักกาดขาวปลี
หน่อไม้ไผ่ตง
มะเขือยาว
ถั่วแระญี่ปุ่นหรือถั่วเหลืองฝักสด
เอกสารและสิ่งอ้างอิง

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย